ถั่งลิสง พืชอายุวัฒนะ

25 กุมภาพันธ์ 2557 ไม้ใต้ดิน 0

ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางการบำรุงร่างกายสูงกล่าวกันที่ช่วยให้มีอายุยืน จนได้รับสมญานามว่า พืชอายุวัฒนะ ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงประมาณ ๓๐% จะเป็นรองก็แต่ถั่วเหลืองเท่านั้น ปริมาณโปรตีนในถั่วลิสงสูงกว่าในข้าวสาลี ๑ เท่า สูงกว่าข้าว ๓ เท่า เมื่อเทียบกับไข่ไก่ นมวัว เนื้อสัตว์แล้ว ก็ไม่ด้อยกว่ากัน ในถั่วลิสงเป็นโปรตีนที่ร่างกายสามารถดูดชึมไปใช้ได้ง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ถึง ๙๐% นอกจากนี้ ถั่วลิสงยังประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ๘ ชนิด ในอัตราที่เหมาะสม ถั่วลิสงยังมีไขมัน วิตามิน บี ๒ โคลีน (choline) กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว เมธิโอนีน (Methionine) และวิตามิน เอ-บี-อี-เค แคลเชียม เหล็ก และธาตุอื่นๆ

การบริโภคน้ำมันถั่วลิสงเป็นประจำ จะทำให้โคเลสเตอรอลในตับสลายตัวเป็นกรดน้ำดี (bileacid) ไม่เพียงแต่ลดโคเลสเตอรอลลงเท่านั้น ยังเป็นการป้องกันหลอดเลือดตีบ และโรคหัวใจของคนในวัยกลางวันและวัยสูงอายุได้

toalisongmaled

ถั่วลิสงเป็นพืชที่ทุกคนกินดี เด็ก ๆ กินแล้วเสริมความจำ ช่วยในการเจริญเติบโต ส่วนคนแก่ช่วยบำรุงร่างกาย นอกจากนี้ยังนำถั่วลิสงมาปรุงเป็นตำรับยารักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Arachis hypogaea L. คำว่า Arachis ภาษากรีก หมายถึง legume และ hypogaea หมายถึงใต้ดิน
ชื่อภาษาไทย : ถั่วลิสง ถั่วดิน หรือถั่วใต้ดิน
ชื่อภาษาอังกฤษ : peanut, groundnut
ชื่ออื่น : ถั่วคุด (ประจวบคีริขันธ์), ถั่วดิน (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), ถั่วยี่สง (ภาคกลาง)

toalisongtons

การจำแนกทางพฤษศาสตร์ (botanical classification) วิธีนี้แบ่งเป็น 2 sub-species คือ

  1. Arachis hypogaea spp. hypogaea พวกนี้ไม่มีดอกบนต้นหลัก (main stem) บนแขนงมีดอก 2 ข้อ เว้น 2 ข้อ เป็นพันธุ์หนัก เมล็ดมีระยะพักตัว (dormancy) มักเป็นพุ่มเลื้อย ฝักมี 2 เมล็ด ขนาดใหญ่ พวกนี้ได้แก่ประเภทเวอร์จิเนีย (Virginia)
  2. Arachis hypogaea spp. fastigiata มีดอกบนต้นหลักและกิ่ง ฝักเกิดเป็นกระจุกที่โคนต้น เมล็ดไม่พักตัว มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพวกแรก แบ่งออกได้เป็น 2 พวกย่อยๆ คือ พวกวาเลนเซีย ฝักยาวมี 3-4 เมล็ด และสแปนนิชฝักสั้นมี 2 เมล็ด

แบ่งตามลักษณะทรงต้น

  • ประเภทต้นตรง (erect type) มีทั้งวาเลนเซีย สแปนนิช และเวอร์จิเนีย ฝักจะเป็นกระจุกที่โคนต้น
  • ประเภทเลื้อยหรือกิ่งเลื้อย (runner or semi-spred type) เป็นพวกเวอร์จิเนีย ฝักระจายตามข้อของลำต้น

ราก : เป็นระบบรากแก้ว (tap root system) ซึ่งมีราก 3 ชนิด คือ
รากแก้ว รากแขนง และ รากฝอย ที่รากถั่วลิสงมีปมของแบคทีเรียพวก Rhizobium sp

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

ใบ : เป็นใบรวม (compound leaves) มีรูปกลมรี ปลายใบมน แต่ละใบขนาดประมาณ 3×4 ซม. แต่ละชุดใบมีใบย่อย 2 คู่แบบ pinnate ก้านใบรวม (petiole) มีความยาว 3-7 ซม. ที่โคนมีหูใบ 2 อัน

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

ดอก : เป็นดอกช่อแบบ spicate ดอกมีขนาดเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เป็นพวก cleistogamy ฐานช่อดอกเรียกว่า bract (หรือ cataphyll) ดอกเป็นแบบผีเสื้อ (papilionate) มีส่วนต่าง ๆ เป็นลำดับนอกสุดถึงชั้นในสุด ดังนี้
กลีบดอก ประกอบด้วยกลีบดอกชั้นนอก 1 กลีบ ชั้นกลาง 2 กลีบ และชั้นในสุด 2 กลีบ ภายในกลีบดอกชั้นในสุด มีอับเกสรตัวผู้ 10 อัน (มีลักษณะกลม 4 อัน รูปไข่ 4 อัน และอีก 2 อันเป็นหมัน) และมีเกสรตัวเมีย ซึ่งประกอบด้วย ยอดเกสรตัวเมีย ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่
เมื่อดอกได้รับการผสมเรียบร้อยแล้ว จะพัฒนาเป็นรูปร่างยาว โดยการยืดตัวของท่อ hypanthium การยืดตัวนี้เกิดจากการยืดตัวของเนื้อเยื่อพวก intercalary meristem ซึ่งอยู่ที่ฐานของรังไข่ ก้านยาวนี้มีปลายแข็งเรียกทั้งหมดว่า เข็ม (peg)

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

เมล็ด : เมล็ดของถั่วลิสงมีเยื้อหุ้มสีต่าง ๆ กัน ขนาดเมล็ดขึ้นอยู่กับชนิดของถั่ว

คุณค่าทางโภชนาการ
ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของอาหารประเภทโปรตีนและพลังงาน เพราะมีโปรตีนประมาณร้อยละ 25-30 ไขมันร้อยละ 45-50 และคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 20 โปรตีนในถั่วลิสงมีปริมาณเทียบเท่ากับถั่วเขียว ถั่วแดง และถั่วดำ แต่ต่ำกว่าถั่งเหลือง และมีกรดอะมิโน lysine, theonine และ methionine ที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทำให้สุกปริมาณยิ่งน้อยลงอีกประมาณ 15, 11 และ 10 ตามลำดับ การใช้ความร้อนสูงตั้งแต่ 145 องศาเซลเซียสขึ้นไปมีแนวโน้มทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง แต่การทำให้สุกก่อนมีความจำเป็นเพราะความร้อนจะช่วยทำลาย trypsin inhibitor การใช้ความร้อนชื้น เช่น ต้มหรือนึ่งที่อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส หรือใช้ความร้อนแห้ง เช่น คั่วหรืออบที่อุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียส จะทำลาย trypsin inhibitor ได้เช่นกัน

toalisongplog

พันธุ์ถั่วลิสงที่ปลูกแพร่หลายและพันธุ์ที่แนะนำใหม่ ๆ มีดังนี้

  • พันธุ์ไทนาน 9 เป็นพวกสแปนนิช ปลูกแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน ฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น มี 1-3 เมล็ด แต่ส่วนมากมี 2 เมล็ด (ลักษณะที่แตกต่างจากพันธุ์อื่น (เช่น ขอนแก่น 60-1) คือลายฝักไม่ชัดเจน) เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีชมพู เมล็ดมีขนาดประมาณ 40 กรัม/100 เมล็ด
  • พันธุ์ ส.ข.38 เป็นพวกวาเลนเซีย พุ่มตั้งตรง เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงจัด ขนาดเมล็ดประมาณ 40 กรัม/100 เมล็ด
  • พันธุ์ลำปาง ลักษณะทั่วไปเหมือน ส.ข.38 แต่เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีชมพูเป็นพวกวาเลนเซีย

นอกจากนี้ยังมีถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ ๆ ที่พัฒนา และแนะนำเกษตรกรปลูก คือ

ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 5
ลักษณะเด่น

  • มีขนาดเมล็ดโตกว่า หรือมีน้ำหนัก 100 เมล็ด สูงกว่าพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 60-1 ร้อยละ 17 และ 7 ตามลำดับ
  • สามารถปรับตัวและให้ผลผลิตได้ดีกว่าพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 60-1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกในฤดูแล้งที่ใช้น้ำชลประทาน ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 60-1 ร้อยละ 12 และ 7 ตามลำดับ
  • มีระดับการเป็นโรคยอดไหม้ร้อยละ 12.8 ซึ่งต่ำกว่า พันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 60-1 ซึ่งเป็นโรค ร้อยละ 20.6 และ 16.3 ตามลำดับ

ลักษณะประจำพันธุ์
มีเส้นลายบนฝักเห็นได้ชัด เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีชมพูเข้ม ลำต้นสีเขียวอ่อน ใบสีเขียว ดอกสีเหลือง ทรงพุ่มกว้าง ติดฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น อายุถึงออกดอก 20-28 วัน อายุถึงเก็บเกี่ยว 85-115 วัน จำนวนฝัก/หลุม 24 ฝัก จำนวนเมล็ด/ฝัก 2 เมล็ด น้ำหนัก 100 เมล็ด 51.1 กรัม ผลผลิตฝักแห้ง 304 กก./ไร่

ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 4
ลักษณะดีเด่น

  • ให้ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 586 กก./ไร่ ให้ผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ย 270 กก./ไร่ และผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย 171 กก./ไร่
  • มีน้ำหนัก 100 เมล็ดเท่ากับ 47 กรัม
  • ทนทานต่อโรคโคนเน่าปานกลาง

ลักษณะประจำพันธุ์
ฝักยาว 3.9 ซม. กว้าง 1.5 ซม. มีเส้นลายฝักเห็นได้ชัดเจน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูเข้ม ลำต้นสีเขียวอมม่วง ใบสีเขียว ดอกสีเหลือง ลักษณะทรงพุ่มตั้งตรง ลักษณะการติดฝักเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น อายุถึงออกดอก 21-25 วัน อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน จำนวนเมล็ด/ฝัก 3 เมล็ด 100 เมล็ด หนัก 47 กรัม เปอร์เซ็นต์กะเทาะ 63.4 เปอร์เซ็นต์ ในเมล็ดแห้งมีโปรตีน 28.7 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมัน 46.4 เปอร์เซ็นต์

ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 60-3
ลักษณะเด่น

  • ขนาดเมล็ดและฝักโตกว่าพันธุ์ที่ใช้แนะนำอยู่เดิมโดยมีขนาดโตกว่าพันธุ์ไทนาน 9 ร้อยละ 76 โดยน้ำหนัก
  • ผลผลิตทั้งฝักแห้งเฉลี่ย 378 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ไทนาน 9 ร้อยละ 21
  • เมล็ดแห้งมีปริมาณโปรตีนร้อยละ 24.8 และน้ำมัน ร้อยละ 49.3
  • ต้านทานต่อโรคราสนิม และโรคใบจุด ดีกว่าพันธุ์ไทนาน 9
  • ต้านทานต่อหนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น ดีกว่าพันธุ์ไทนาน 9

ลักษณะประจำพันธุ์
จัดเป็นพวก Virginia มีทรงต้นเป็นพุ่มแผ่ (simi-spreading) ติดฝักค่อนข้างกระจายไปตามกิ่งที่โน้มลงติดดิน ถ้าต้องการไม่ให้ฝักกระจายจนเกินไป ต้องปรับระยะปลูกให้ได้ 60×10 ซม. จำนวน 1 ต้น/หลุม ดอกสีเหลือง ออกดอกแรกเมื่ออายุประมาณ 35 วันหลังงอก เก็บเกี่ยวฝักได้เมื่ออายุ 110-120 วัน ฝักมีขนาดโตกว่าพันธุ์ไทนาน 9 มีเส้นลายบนฝักและจะงอยปากเห็นได้ชัดเจน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู และสีส้มอ่อน เมื่อเก็บรักษาไว้นานเกิน 1 เดือน จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล มีน้ำหนัก 100 เมล็ด 76.2 กรัม

ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 60-2
ลักษณะดีเด่น

  • ฝักยาวและโต รูปร่างค่อนข้างตรง มีจำนวนฝักที่มี 3 เมล็ด/ฝักสูง และมีขนาดเมล็ดโตกว่าพันธุ์ สข.38
  • ผลผลิตฝักสด 572 กก./ไร่ และฝักแห้ง 266 กก./ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ สข.38 ร้อยละ 12 และ ร้อยละ 8 ตามลำดับ
  • มีฝักที่มี 3-4 เมล็ด ร้อยละ 59.38
  • มีฝักที่มี 1-2 เมล็ด ร้อยละ 40.62
  • ในเมล็ดมีโปรตีน ร้อยละ 27.43 และน้ำมัน ร้อยละ 44.29

ลักษณะประจำพันธุ์
จัดเป็นพวก Valencia มีทรงต้นเป็นพุ่มตรง (bunch) ติดฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น ดอกสีเหลืองออกดอกแรกเมื่อมีอายุประมาณ 27 วันหลังงอก เก็บเกี่ยวฝักสดได้เมื่ออายุ 85-90 วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยวฝักแก่เต็มที่ 95-105 วัน ฝักยาวโตและรูปร่างตรงกว่าพันธุ์ สข.38 มี 2-4 เมล็ด/ฝัก เส้นลายบนฝักและมีจะงอยปากเห็นได้ชัดเจน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูและเมื่อเก็บรักษาไว้เกิน 1 เดือน จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล น้ำหนัก 100 เมล็ด หนัก 40.7 กรัม

ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 60-1
ลักษณะดีเด่น

  • ขนาดเมล็ดและฝักโตกว่าพันธุ์ไทนาน 9
  • ให้ผลผลิตสูงเช่นเดียวกับพันธุ์ไทนาน 9
  • ผลผลิตทั้งฝักแห้งเฉลี่ย 273 กก./ไร่ ส่วนในฤดูแล้ง 303 กก./ไร่ และฤดูฝน 250 กก./ไร่
  • ในเมล็ดมีโปรตีน ร้อยละ 28.19 และน้ำมัน ร้อยละ 43.32

ลักษณะประจำพันธุ์
จัดเป็นพวก Spanish มีทรงต้นเป็นพุ่มตรง (bunch) ติดฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น ดอกสีเหลือง ออกดอกแรกเมื่ออายุประมาณ 23 วันหลังงอก เก็บเกี่ยวฝักสดได้เมื่ออายุ 95-105 วัน ฝักยาวและโตกว่าพันธุ์ไทนาน 9 มี 2 เมล็ด/ฝัก เส้นลายบนฝัก เห็นได้ชัดเจน แต่จะงอยปาก เห็นไม่เด่นชัดเยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู และเมื่อเก็บรักษาไว้เกิน 1 เดือน จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 100 เมล็ด หนัก 45.92 กรัม

ฤดูปลูก
เนื่องจากเป็นพืชไม่ไวแสง จึงปลูกได้ทั้งปีขอให้มีน้ำ ควรจะกะระยะปลูกให้ช่วงถั่วลงเข็มเป็นช่วงที่ดินมีความชุ่มชื้น ผลผลิตจะได้ดี ฤดูปลูกมี 4 ช่วงใหญ่ ๆ คือ

  • ต้นฤดูฝน ช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม เก็บเกี่ยวช่วงกันยายน-ตุลาคม ผลผลิตสูงแต่คุณภาพไม่ดี เพราะความชื้นสูง โรคแมลงมาก
    ปลายฤดูฝน ช่วงสิงหาคม-กันยายน เก็บเกี่ยวช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม ผลผลิตต่ำ แต่คุณภาพดี เมล็ดโตสวย แดดจัดตากถั่วได้ดี โรคแมลงน้อย แต่เก็บเกี่ยวยาก เพราะว่าดินแข็ง
  • ฤดูแล้งอาศัยชลประทาน มักปลูกหลังเก็บข้าวแล้ว ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวช่วงเมษายน-พฤษภาคม ได้ผลผลิตสูงสุด เพราะว่าน้ำดี โรคแมลงก็น้อย
  • ฤดูแล้งไม่มีการชลประทาน ช่วงไม่เกินพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวราวกุมภาพันธ์ มักทำในนาลุ่ม ดินเก็บความชื้นได้ดี ได้ผลในบางท้องที่เท่านั้น ผลผลิตต่ำที่สุด

ชนิดของดินปลูกและการเตรียมดิน
ถั่วลิสงเป็นพืชให้ฝักในดินจึงต้องปลูกในดินร่วน ร่วนปนทรายระบายน้ำดี เพื่อการติดฝักและเก็บเกี่ยวจะได้ง่าย สภาพน้ำไม่ขัง ฝักจะให้สีตามดินปลูก ฝักสีสวยราคาดี ไม่ควรปลูกในดินสีดำ มีอินทรียวัตถุเกิน 2% หรือ ดินเหนียว pH 5.5-7.0 (ดีที่สุด 6.8)

toalisongplug

การเตรียมดินเหมือนพืชไร่ทั่ว ๆ ไป โดยไถกำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง หว่านปูนขาว (ถ้าจำเป็น) หรือปุ๋ย แล้วพรวนอีกครั้ง (หากใส่ปูนขาว ควรใส่ก่อนปลูกราว 15 วัน) แล้วทำการคราดปรับระดับกันน้ำขัง ทำทางระบายน้ำกันน้ำขัง

การใส่ปุ๋ยและปูนขาว
ถั่วลิสงมีความปรวนแปรในการตอบสนองต่อธาตุอาหารในดินและปุ๋ยที่ใส่มาก อาจเป็นเพราะคุณสมบัติทางกายภาพของดินปลูก การปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้

ถั่วลิสงมีความต้องการธาตุอาหารในระดับต่ำ โดยถั่วลิสง 300 กก./ไร่ ต้องการไนโตรเจน 19-20 กก. ฟอสฟอรัส 2 กก. โพแทสเซียม 5-6 กก./ไร่ อย่างไรก็ดี กสิกรมักไม่นิยมใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นการปลูกหมุนเวียนกับพืชอื่น เช่น ข้าว และข้าวโพด ก็ใส่ปุ๋ยแก่ข้าว และข้าวโพด ให้ถั่วลิสงได้รับปุ๋ยตกค้าง ถ้าจะใส่ปุ๋ยที่มีในท้องตลาด ก็แนะนำว่าให้ใส่ปุ๋ย

ปูนอาจใช้ปูนขาว (CaO) หรือยิปซั่ม (CaSO4) ซึ่งจะให้กำมะถันด้วย ทำให้เมล็ดเต็ม เพิ่มเปอร์เซ็นต์การกระเทาะเล็กน้อย ควรใส่ปูนขณะเตรียมดินก่อนปลูก 15-20 วัน โดยหว่านทั่วแปลงแล้วไถกลบ ถ้าจะใส่เพื่อให้ถั่วได้รับแคลเซี่ยม ควรใส่ระยะออกดอกหรือลงเข็มโดยโรยข้างแถวแล้วพรวนกลบ อย่างไรก็ดี กสิกรที่ปลูกถั่วลิสงในประเทศไทยยังไม่นิยมใส่ปูนขาว ซึ่งเป็นการลงทุนสูง และปฏิบัติงานได้ยาก ถ้าใส่หินฟอสเฟตแทนก็สามารถปรับสภาพดินได้บ้าง และเป็นการได้ธาตุฟอสฟอรัสแก่ถั่วลิสง

วิธีปลูก
มีการปลูก 2 วิธี คือ ปลูกด้วยเมล็ด และ ปลูกด้วยฝัก การปลูกด้วยเมล็ด ควรใช้เมล็ดกระเทาะใหม่ ๆ ส่วนการปลูกด้วยฝัก นิยมในกรณีพันธุ์ไทนาน 9 เท่านั้น ให้เอาฝักแช่น้ำไว้ 1 คืน ถึง 1 วัน ก่อนใช้ปลูก จะให้ผลดี

ระยะปลูก แล้วแต่ท้องถิ่น ถั่วลิสงมีความสามารถในการให้ผลผลิตทดแทนได้ดี ทำให้ผลผลิตไม่ต่างกันมากนัก ระยะปลูกทั่วไปนิยม 30-50 x 20 ซม. จำนวน 2 ต้น/หลุม ฤดูแล้งนิยม 30×20 ซม. กรณีพันธุ์เลื้อย ระยะปลูกควรมากกว่า 50×20 ซม.

toalisongplang

การดูแลรักษา
ถ้ามีปัญหาเสี้ยนดินและปลวก ป้องกันโดยโรย Aldrex, 40% WP. อัตรา 1 กก./ไร่ ก่อนปลูก จะคุมได้ตลอดฤดูปลูก หรืออาจจะโรยพร้อมกับกลบโคนในระยะถั่วลงเข็มก็ได้ กรณีวัชพืชอาจฉีดพ่นด้วยอะลาคลอร์ (alachlor) ก่อนหลังปลูกใหม่ ๆ ก็จะคุมวัชพืชได้ประมาณ 1 เดือน

ควรปลูกซ่อมภายใน 7-10 วันหลังปลูก ปกติไม่ต้องถอนแยก ยกเว้นจะมีต้นกล้ามากกว่า 2 ต้น/หลุม

ตลอดฤดูปลูกควรดายหญ้า 2-3 ครั้ง แล้วแต่ความมากน้อยของวัชพืช แต่ห้ามพรวนดินหลังถั่วลงเข็มแล้ว ให้พูนโคนสูง 10-15 ซม. จะช่วยให้ถั่วติดฝักดีขึ้น เร็วขึ้น และพร้อมกันหากน้ำท่วมต้องรีบระบายออกอย่าปล่อยให้ท่วมอยู่นานกว่า 3 วัน เพราะจะเสียหายมาก ให้น้ำเมื่อเห็นว่าใบเริ่มเหี่ยว ม้วนใบตอนบ่าย

toalisongs

การเก็บเกี่ยว
ถั่วจะแก่ไม่พร้อมกัน จึงเก็บเกี่ยวเมื่อถั่วส่วนใหญ่แก่และก่อนฝักจะหลุดจากขั้ว ทั่วไปเก็บเมื่อถั่วมีอายุ 90-120 วัน ซึ่งจะมีลักษณะ ใบเริ่มเหลืองและร่วง เมื่อถอนดูฝักจะแข็ง ลายฝักชัดเจน เมล็ดเต็ม วิธีเก็บเกี่ยวอาจใช้การถอนหากดินอ่อน หรือใช้จอบขูดกรณีดินแข็ง หลังจากถอน ใช้มือปลิดฝักจากต้น หรือการนวดด้วยวิธีที่เหมาะสม ช่วงการถอนและนวดจะเป็นช่วงที่มีการสูญเสียมาก ต้องระวังเป็นพิเศษ หากเก็บเกี่ยวช่วงฝนตก ปลิดฝักไม่ทันให้เอาผึ่งแดดไว้ โดยกองผึ่งเป็นวงให้ฝักอยู่ด้านนอกของกอง

toalisongsuan

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ใต้ดิน

แสดงความคิดเห็น