ถั่วที่นิยมปลูกเพื่อปรับปรุงดินโดยเฉพาะมีหลายชนิด เช่น ถั่วพร้า ถั่วขอ ถั่วมะแฮะ ฯลฯ ถั่วเหล่านี้รับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยม ในความไม่นิยมนี้จึงเป็นที่น่าเสียดายที่เรามองข้ามถั่วมะแฮะแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน (คิดจากส่วนที่บริโภค 100 กรัม เมล็ดสดมีโปรตีน 70% และ 19.2% ในเมล็ดแห้ง) มีกรดอมิโนจำเป็นเทียบเท่ากับถั่วเหลือง นอกจากนั้นยังมี วิตามินบีสูง
ชาวบ้านทั่วทุกภาคของไทยมักปลูกไว้ในสวนครัวตามบ้านต้นสองต้น หรือปลูกแซมในไร่นา และรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยการปลูกปีต่อปี เรียกชื่อต่างๆ กันไป ถั่วแฮ มะแฮะ ถั่วแระ ถั่วแม่ตาย ถั่วแรด มะแฮะต้น ถั่วแฮ่ ส่วนใหญ่กินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ภาคอีสานกินกับเมี่ยงข่า ปลาร้าสับและนิยมนำมาตำเหมือนส้มตำ ยังไม่นิยมรับประทานเมล็ดแห้งมากนัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cajanus cajan (Linn.) Millsp.
ชื่อพ้อง Cajanus indicus Spreng.
วงศ์ Fabaceae
ชื่ออื่นๆ ถั่วแระ ถั่วแระผี ถั่วแม่ตาย (กลาง) ถั่วแรด (ชุมพร); มะแฮะ มะแฮะต้น ถั่วแระต้น (เหนือ) ถั่วแรด (ชุมพร)
ลักษณะทั่วไป
ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดย่อม ลำต้นตั้งตรง สูง 1-3.5 เมตร ผิวลำต้นเกลี้ยง สีเขียวหม่น ลำต้นแก่มีสีม่วงแดง มักแตกเป็นร่องสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนานแกมใบหอก ใบมีขนาดเล็ก ปลายใบแหลม คล้ายใบขมิ้นต้น ผิวใบทั้งสองด้านมีขนสีขาวนวล กว้าง 1-3.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-10 เซนติเมตร ดอกช่อ คล้ายดอกโสน ออกที่ซอกใบ รูปดอกถั่ว กลีบดอกสีเหลืองมีขอบสีน้ำตาลแดง ผลเป็นฝักแบนยาว สีม่วงเข้มปนเขียว เป็นห้องๆ มีขน เมล็ดเท่าเมล็ดถั่วเหลือง ฝักและเมล็ดเหมือนถั่วเหลือง ฝักหนึ่งแบ่งออกเป็น 3-4 ห้อง ข้างในมีเมล็ดกลม แบนเล็กน้อย ห้องละ 1 เมล็ด มักปลูกเป็นอาหาร ใช้ฝักแก่ต้มกินเหมือนถั่ว หรือกินฝักสดเป็นผัก มีรสฝาด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีทั้งถั่วแระขาวและถั่วแระแดง สามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพแวดล้อม
ถั่วมะแฮะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนกึ่งแห้งแล้ง ปริมาณฝน 500 – 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ทนต่อสภาพแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ๆ สามารถทนแล้งได้ยาวนานถึง 6 เดือน การปรับเข้าสภาพแวดล้อมได้กว้างมากขึ้นได้ระดับความสูง 0 -1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลเจริญเติบโรได้ดี บนดินหลายชนิด แต่ดินร่วนที่มีการระบายน้ำจะได้ผลผลิตใบและเมล็ดสูงไม่ทนต่อสภาพน้ำแช่ขัง ความเป็นกรดเป็นด่างของดินระหว่าง 4.5 – 8 มีระบบรากแก้วและรากแขนงจำนวนมากและหยั่งลึกสามารถดูธาตุฟอสฟอรัสได้ดี จึงทำให้เกิดการหมุนเวียน ธาตุฟอสฟอรัสจากดินชั้นล่างสู่ผิวดิน โดยทั่วไปถั่วมะแฮะมักปลูกในลักษณะพืชไร่ เพื่อเก็บเมล็ดมากกว่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น ลำต้นและกิ่งใช้เป็นชื้อเพลิงปัจจุบัน
วิธีการปลูก
การปลูกถั่วมะแฮะควรเตรียมดินอย่างดี แล้วปลูกถั่วมะแฮะโดยใช้เมล็ดโดยตรง ไม่มีความจำเป็นต้องคลุกเชื้อไรโซเบียม หรือแช่เมล็ดก่อนปลูกควรปลูก ช่วงต้นฤดูฝน ขณะดินมีความชื้นพอเพียง (พฤษภาคม – มิถุนายน)
อัตราเมล็ดที่ใช้ปลูก การปลูกแบบหว่านเพื่อไถกลบใช้เมล็ดประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกเป็นหลุมใช้เมล็ด 2-4 กิโลกรัมต่อไร่
การใช้ประโยชน์
ใบของถึ่งมะแฮะจึงนำมาใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้เป็นอย่างดี จึงนิยมปลูกเป็นพืชแซม เช่น แซมกับธัญญพืช แซมกับถั่วลิสง โดยใช้ถั่วลิสง 6 แถว แซมด้วย ถั่วมะแฮะ 1 แถว ใช้เป็นพืชร่มเงากับพืชยืนต้นในช่วงแรก ๆ 2 – 3 ปี เช่น ไม้ผล ชา กาแฟ โกโก้ ในภาคเหนือใช้ถั่วมะแฮะปลูกร่วมกับกระถินในอัตราเมล็ด 1 : 1 แล้วนำไปโรยเป็นแถวขวางความลาดเท ระยะห่างของแถวตามค่าต่างระดับในแนวดิ่ง 1 – 3 เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งถั่วมะแฮะจะโตได้เร็วกว่ากระถินในระยะ 1 – 2 ปีแรกหลังจากนั้นถั่วมะแฮะจะตายคงเหลือแต่แนวกระถินเป็นแนวถาวรต่อไป ถั่วมะแฮะสามารถใช้เป็นพืชอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีนในอาหารสัตว์ ลำต้นใช้เป็นฟืนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงได้
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ รากและเมล็ด ขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเหลือง หรือแดง แก้ไข้ ถอนพิษ ต้นและใบขับลมลงเบื้องต่ำ รักษาโรคเส้นเอ็นพิการ (อาการปวดเมื่อย เสียว ตามตัว ใบหน้า ศีรษะ) ฝักต้มหรือฝักสด แก้ท้องร่วง ใบ ใช้แก้ไอ แก้ท้องเสีย น้ำคั้นจากใบ ใส่แผลในปากหรือหู
ยาพื้นบ้าน ใช้ ทั้งต้น 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง รักษาอาการตกเลือด ไข้ทับระดู ทั้งฝัก รสมันเฝื่อนเล็กน้อย บำรุงร่างกาย บำรุงกระดูก เส้นเอ็น ราก รสเฝื่อน แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปัสสาวะน้อย ขับปัสสาวะ ใบ ขับลมลงเบื้องต่ำ แก้เส้นเอ็นพิการ
ป้ายคำ : ปุ๋ยพืชสด