ถั่วลิสงนาชอบขึ้นในสภาพไร่ มีลำต้นแผ่คลุมดิน ใบกลมแตกออกในด้านตรงกันข้าม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีในนาหว่านข้าวแห้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Alysicarpus vaginalis (Linn.) DC.
วงศ์ : Papilionoideae
ชื่อสามัญ : alice clover, buffalo clover , one leaved clover
ชื่ออื่น : ถั่วลิสงนา หญ้าปล้องหวาย (ชลบุรี) คัดแซก (ปราจีนบุรี) หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ (อ่างทอง)
ลักษณะ
ถั่วลิสงนาเป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียวหรือสองปี ถั่วลิสงนาเป็นพืชที่มีความผันแปรทางพันธุกรรมมาก ลำต้นตั้งตรง (erect) หรือเจริญขึ้นไปในแบบเป็นเส้นโค้งจากแนวราบก่อนเล็กน้อยแล้วจึงค่อยๆ ตั้งตรง (ascending) มีกิ่งก้านสาขามาก สูง 40 120 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 3.5 4.5 มิลลิเมตร ลำต้นมีขนนุ่มปกคลุมปานกลาง กลุ่มลำต้นตั้งตรง จะมีขนาดใบกว้าง 2.5 3.3 เซนติเมตร ยาว 3.9 4.5 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1.0 1.3 เซนติเมตรเช่น LP 040 , LP 201, LP 210, SN 077, PC 068, PC 094 และ PC 168 เป็นต้น และอีกกลุ่มลำต้นจะเจริญแผ่คลุมดิน (spreading หรือ prostrate) แตกกิ่งก้านสาขามาก เลื้อยคลุมดินยาว 30 100 เซนติเมตร กิ่งเล็กๆ มีขนสั้นๆปกคลุม เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 1.5 2.6 มิลลิเมตร ใบกว้าง 1.0 1.2 เซนติเมตร ยาว 1.0 2.4 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.6 0.9 เซนติเมตร นักพฤกษศาสตร์บางท่านแยกกลุ่มนี้ออกเป็น A. vaginalis var. nummularifolius เช่น LP 010, SN 024, SN 125, PC 001, PC 087 และ PC 223 เป็นต้น ทั้งสองกลุ่มมีใบแบบใบเดี่ยว (simple) ใบมีรูปร่างต่างกัน เช่น รูปกลม (globose) รูปไข่ (ovate) รูปรี ( elliptic) รูปขอบขนาน (oblong) รูปขอบขนานแกมไข่ (ovate-oblong) จนถึงรูปหอก (lanceolate) หูใบเป็นแผ่นบางใส ช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme) ออกดอกตรงซอกใบหรือยอด กลีบดอกสีม่วง สีแดง สีแดงแกมชมพูถึงสีขาวแกมน้ำตาลหรือสีขาวแกมชมพูอมส้ม ฝักรูปทรง กระบอก มีรอยคอดและหักได้เป็นข้อๆข้อละ 1 เมล็ด ออกดอกและติดเมล็ดช่วง กันยายนถึงเดือนธันวาคม
ประโยชน์ : ตัดเลี้ยงโค กระบือ ม้า หรือปล่อยสัตว์แทะเล็ม ใช้เป็นพืชคลุมดิน เป็นยารักษาโรค ใช้รากต้มคั้นเอาน้ำ แก้อาการจุกเสียด (Ridley, 1922) แก้ไอ (Burkill, 1966)
คุณค่าทางอาหาร สำหรับอาหารสัตว์ ถั่วลิสงนาอายุประมาณ 45 วันมีวัตถุแห้ง 26 – 36 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 18.1 – 23.4 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.31 – 0.36 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 1.79-2.27 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 1.19-4.8 เปอร์เซ็นต์ ADF 33.2 – 46.1 เปอร์เซ็นต์ NDF 43.1 – 61.2 เปอร์เซ็นต์ DMD 41.3-59.3 เปอร์เซ็นต์ (โดยวิธี nylon bag) ลิกนิน 8.4 – 18.5 เปอร์เซ็นต์ เฮมิเซลลูโลส 11.66 – 13.63 เปอร์เซ็นต์ เซลลูโลส 22.76 – 23.96 เปอร์เซ็นต์ อายุ 75-90 วัน มีโปรตีน 14.6-19.6 เปอร์เซ็นต์ ไนเตรท 47.5-749.5 พีพีเอ็ม ออกซาลิก แอซิด 27.7 – 638.3 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แทนนิน 0.11 – 0.16 เปอร์เซ็นต์ มิโมซีน 0.42 – 0.87 เปอร์เซ็นต์ ไม่พบไนไตรท์
ที่มา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา
ป้ายคำ : หญ้า