ถั่วเขียว บำรุงผิวพรรณ ดูดจับไขมัน ลดรอยเหี่ยวย่น

3 มิถุนายน 2556 พืชผัก 0

ถั่วเขียวเป็นพืชวงศ์ถั่วเช่นเดียวกับถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วแขก และถั่วพู ผลของพืชวงศ์นี้มีลักษณะเฉพาะ เรียกว่า ฝักแบบถั่ว ถั่วเขียวมีถิ่นกำเนิดแถบอินเดีย เมียนมาร์ และไทย ซึ่งพบว่ามีการปลูกถั่วเขียวกันมาเนิ่นนานแล้ว

การเก็บเมล็ดถั่วเขียว นิยมเก็บทั้งฝักด้วยมือ แล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นจึงสีเอาเมล็ดออกจากฝักด้วยเครื่องหรือเขย่าผ่านรูตะแกรง

นอกจากนำเมล็ดถั่วเขียวแห้งไปปรุงอาหารแล้ว ที่นิยมมาก คือ เพาะเมล็ดถั่วเขียวเป็นถั่วงอก กินเป็นผัก ถั่วงอกมีวิตามินซีสูงกว่าเมล็ดถั่ว ดังนั้นการกินถั่วงอกกับอาหารพวกถั่วและธัญชาติจึงช่วยเสริมวิตามินซีที่ขาดไปในอาหารดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ชื่อไทย ถั่วเขียว
ชื่อสามัญ Mung Bean, Green Bean, Green Gram, Golden Gram
ชื่อพฤกษศาสตร์ Vigna radiata (L.) R. Wilcz.
ชื่อวงศ์ FABACEAE
แหล่งกำเนิดและการกระจายพันธุ์ อินโดนีเซีย อินเดีย

ถั่วเขียวเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยกว่าพืชไร่อื่นหลายชนิด สามารถใช้ในระบบปลูกพืช เช่น ทดแทนข้าวนาปรัง ปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสพภัยแล้ง ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร เพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ช่วย บำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง ถั่วเขียวใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตแป้งวุ้นเส้น เพาะถั่วงอก และประกอบอาหารอื่นๆ ปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถั่วเขียวในประเทศ และส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

toakewpan

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุหนึ่งปี แตกกิ่งก้านมาก มีใบห่างๆ ใบเรียงเวียน ใบประกอบแบบขนนก มี 3 ใบย่อย ใบตั้ง รูปไข่ถึงรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ช่อดอกแบบช่อกระจะ จำนวนดอกน้อยอยู่บริเวณปลายช่อ ดอกแบบดอกถั่ว สีเหลือง เมล็ดรูปกึ่งกลม สีเขียว

toakewdokban

พันธุ์ถั่วเขียว

พันธุ์ชัยนาท 72

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 24 เมษายน 2543
ลักษณะทางการเกษตร :

  • ความสูงต้นเฉลี่ย 66 ซม.
  • อายุเก็บเกี่ยว 63 วัน
  • จำนวนฝัก/ต้น 15 ฝัก
  • น้ำหนัก 1,000 เมล็ดหนัก 66 กรัม
  • ปลูกได้ในทุกฤดูและในทุกภาคของประเทศไทย

ลักษณะดีเด่น :

  1. ให้ผลผลิตเฉลี่ย 212 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ชัยนาท 36 ร้อยละ 4.4 ส่วนในฤดูแล้ง ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนให้ผลผลิต 222, 240 และ 187 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ ชัยนาท 36 ร้อยละ 7.8, 5.7 และ 1.6 ตามลำดับ
  2. มีความต้านทานปานกลางต่อหนอนแมลงวันเจาะลำต้น (ในสภาพธรรมชาติ) โดยให้ ผลผลิต 135 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ชัยนาท 36 ร้อยละ 26.2
  3. เสถียรภาพในลักษณะผลผลิต อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่มีเสถียรภาพของลักษณะ น้ำหนัก 1000 เมล็ด ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ชัยนาท 36 แสดงว่าสายพันธุ์ CNM 8709-5 มีความสามารถที่จะปลูกได้ในทุกสภาพแวดล้อม

พันธุ์ชัยนาท 36
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 25 ตุลาคม 2534
ลักษณะทางการเกษตร :

  • ผลผลิตเฉลี่ย 216 กิโลกรัมต่อไร่
  • น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 72.6 กรัม
  • วันดอกแรกบาน 35 วัน
  • จำนวนฝักต่อต้น 14 ฝัก
  • จำนวนเมล็ดต่อฝัก 11 เมล็ด
  • ความสูงของต้น 51 เซนติเมตร
  • อายุเก็บเกี่ยว 67 วัน
  • คะแนนโรคใบจุดสีน้ำตาล 1.2
  • องค์ประกอบทางเคมีของเมล็ด (% ต่อน้ำหนัก)
  • แป้ง 51.0 เปอร์เซ็นต์
  • โปรตีน 24.1 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะดีเด่น :

  1. ให้ผลผลิต 216 กก./ไร่ สูงกว่า พันธุ์กำแพงแสน 1 ร้อยละ 4,พันธุ์กำแพงแสน 2 ร้อยละ 12 และพันธุ์ชัยนาท 60 ร้อยละ 6
  2. ขนาดเมล็ดใหญ่ 172.6 กรัม/1,000 เมล็ด
  3. ทนทานดินด่าง เมื่อปลูกในดินด่างให้ผลผลิตสูงกว่า พันธุ์กำแพงแสน 1 และพันธุ์ กำแพงแสน 2 ร้อยละ 22 และ 155 ตามลำดับ

พันธุ์กำแพงแสน 1 (มก.)
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 11 เมษายน 2529
ลักษณะทางการเกษตร :

  • มีช่อฝักอยู่เหนือทรงพุ่ม
  • ต้านทานปานกลางต่อโรคใบจุดสีน้ำตาลและโรคราแป้ง แต่อ่อนแอปานกลางต่อดินด่าง
  • อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 67 วัน
  • ผลผลิตเฉลี่ย 208 กิโลกรัมต่อไร่
  • น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 64 กรัม

ลักษณะดีเด่น :

  1. ทรงต้นเตี้ย พุ่มใบเล็กกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์แนะนำในปัจจุบัน ทำให้การหักล้มน้อยกว่าฝักชูขึ้นเหนือใบ ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย
  2. ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง1 ร้อยละ 37 ผลผลิตโดยเฉลี่ย 201.6 กิโลกรัมต่อไร่ แนวโน้มผลผลิต เพิ่มขึ้นถ้าเพิ่มอัตราปลูก ส่วนอายุเก็บเกี่ยว น้ำหนักเมล็ดและองค์ประกอบทางเคมี ในเมล็ดมีค่าใกล้เคียงกับพันธุ์อู่ทอง 1
  3. สามารถต้านทานโรคราแป้งและใบจุดได้ดีกว่าพันธุ์อู่ทอง 1
  4. ปลูกได้ทั้งต้นฝน ปลายฝน และฤดูแล้ง ปลูกได้ทุกภาคในประเทศไทย
  5. แนวโน้มถ้าเป็นพันธุ์นี้จะให้น้ำหนักถั่วงอกมากกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 เมื่อเพาะจากเมล็ดหนักเท่า ๆ กัน

พันธุ์กำแพงแสน 2 (มก.)
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 11 เมษายน 2529
ลักษณะทางการเกษตร :

  • มีช่อฝักอยู่เหนือทรงพุ่ม
  • ต้านทานต่อโรคใบจุดสีน้ำตาลและต้านทานปานกลางต่อโรคราแป้ง แต่อ่อนแอต่อดินด่าง
  • อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 67 วัน
  • ผลผลิตเฉลี่ย 193 กิโลกรัมต่อไร่
  • น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 59 กรัม

ลักษณะดีเด่น :

  1. ทรงต้นเตี้ย พุ่มใบเล็กกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 ทำให้การล้มน้อยกว่าฝักชูขึ้นเหนือใบ ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย
  2. ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 ร้อยละ 32 ผลผลิตโดยเฉลี่ย193.9 กิโลกรัม ต่อไร่ แนวโน้มผลผลิตเพิ่มขึ้นถ้าเพิ่มอัตราปลูก เช่นเดียวกับพันธุ์กำแพง แสน 1 ส่วน อายุเก็บเกี่ยว น้ำหนักเมล็ดและองค์ประกอบทางเคมีในเมล็ด มีค่าใกล้เคียงกับพันธุ์อู่ทอง 1
  3. สามารถต้านทานโรคราแป้ง และใบจุดได้ดีกว่าพันธุ์อู่ทอง 1
  4. ปลูกได้ทั้งต้นฝน ปลายฝน และฤดูแล้ง ปลูกได้ทุกภาคในประเทศไทย
  5. แนวโน้มถั่วเขียวพันธุ์นี้จะให้นำหนักถั่วงอกมากกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 เมื่อเพาะจาก เมล็ดหนักเท่า ๆ กันเช่นเดียวกับพันธุ์กำแพงแสน 1

พันธุ์ชัยนาท 60
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 30 กันยายน 2530
ลักษณะดีเด่น :

  1. อายุสั้นกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 ประมาณ 7 วัน
  2. ช่อฝักอยู่เหนือทรงพุ่มเด่นชัด ดูแลและเก็บเกี่ยวสะดวก
  3. ให้ผลผลิตสูงกว่าถั่วเขียวพันธุ์ อู่ทอง 1 ในปลายฤดูฝน
  4. ต้นเตี้ย และทรงพุ่มแคบ เหมาะสำหรับใช้ในระบบปลูกพืช

ลักษณะทางการเกษตร :

  • ลำต้นแข็งสีเขียว ใบเขียวเข้ม
  • ช่อฝักอยู่เหนือทรงพุ่มประมาณ 72 %
  • จำนวนฝักต่อต้น ประมาณ 11-12 ฝัก ฝักละ 9-10 เมล็ด
  • เมล็ดสีเขียว
  • สีของตาขาว
  • อายุถึงวันออกดอกแรก 33 วัน
  • น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 61 กรัม
  • ทรงพุ่มแคบ เตี้ย ตั้งตรง
  • วันที่ฝักแรกแก่ประมาณ 47 วัน
  • อายุถึงวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 52 วัน
  • ต้านทานต่อการหักล้ม ต้นสูง ประมาณ 50.5 ซม.

ผลผลิตต่อไร่ :

  • ในสถานี 219 กิโลกรัม และในไร่กสิกร 175 กิโลกรัม
  • องค์ประกอบทางเคมีของเมล็ด (% ต่อน้ำหนัก) :
  • มีคาร์โบไฮเดรท 40.5% และโปรตีน 20.6%
  • ความต้านทานต่อโรคและแมลง :
  • ไม่ต้านทานโรคใบจุด และราแป้ง

ข้อจำกัด :
เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มแคบ ต้องใช้อัตราปลูกมากกว่าปกติ ใช้เมล็ดพันธุ์ 7 – 10 กก./ไร่ จึงจะได้ผลผลิตดี ควรปลูกต้นฤดูฝน เดือนเมษายน-พฤษภาคม

พันธุ์พิษณุโลก 2
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 19 มกราคม 2533
ลักษณะดีเด่น :

  1. ขนาดเมล็ดใหญ่กว่าพันธุ์อู่ทอง 2 เฉลี่ย 5 กรัม/100 เมล็ด
  2. ทรงต้นโปร่ง ตั้งตรง
  3. อายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 ประมาณ 9 วัน
  4. ให้ผลผลิตระดับเดียวกับพันธุ์อู่ทอง 2 คือ 190 กก./ไร่

เนื่องจากมีอายุสั้นจึงสามารถปลูกได้ตั้งแต่ ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน นอกจากนั้นสามารถปลูกได้ดีในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวในเขตชลประทานด้วย และจากการที่มีทรงพุ่มแคบ จึงแนะนำให้ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา 5-7 กก./ไร่

พันธุ์ มทส.1
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์แนะนำ
วันที่รับรอง : 16 มิถุนายน 2542
ลักษณะดีเด่น :

  1. มีลักษณะตรงตามรูปแบบ (ideotpe) ที่กำหนด เป็นพันธุ์ที่ฝักส่วนใหญ่หรือทั้งหมดอยู่ เหนือทรงพุ่ม ฝักสุกพร้อมกันทั้งชุด มีช่อใหญ่ (จำนวนฝักต่อช่อสูง)
  2. มีเปลือกฝักเหนียวไม่แตกง่าย เปลือกของพันธุ์ MB107-3 มีลักษณะละเอียด เหนียว เมื่อมีฝนระยะเก็บเกี่ยวก็สามารถป้องกันน้ำซึมผ่านเข้าไปในฝักได้ และฝักไม่แตก จึงสามารถรอเก็บเกี่ยวได้ดีกว่า
  3. มีเมล็ดโต มีขนาดโตเฉลี่ยกว่า 7 กรัมต่อ 100 เมล็ด จากผลการทดลองพบว่า มีขนาด 7.33 กรัมต่อ 100 เมล็ด ในขณะที่พันธุ์กำแพงแสน 1 ให้ผลผลิต 6.44 กรัมต่อ 100 เมล็ด ซึ่งยังผลให้อัตราถั่วงอกสูงและมีความสวยงามดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ
  4. ผลผลิตสูง ผลผลิตโดยเฉลี่ยสูงอยู่ในระดับเดียวกับพันธุ์กำแพงแสน 1 และสูงกว่า พันธุ์กำแพงแสน 2 มอ 1 และชัยนาท 60
  5. ต้านทานโรค พบว่าต้านทานต่อโรคใบจุด และโรคราแป้งดีกว่าพันธุ์ส่งเสริมอื่น ๆ ทุก พันธุ์ คือเป็นโรคบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงเหมือนพันธุ์อื่น ๆ

ข้อจำกัด :
พันธุ์ดังกล่าวนี้มีต้นเตี้ยกว่าพันธุ์อื่น ๆ การเก็บเกี่ยวโดยการปลิดฝักอาจไม่สะดวก

พันธุ์ มอ.1
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 19 ธันวาคม 2531
ลักษณะดีเด่น :

  1. ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 254 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 ประมาณ 22% และสูงกว่าพันธุ์ กำแพงแสน 1 ประมาณ 10%
  2. ขนาดเมล็ดเท่ากับพันธุ์อู่ทอง 1
  3. ต้านทานต่อการหักล้ม และต้านทานต่อโรคใบจุดสูงกว่าทุกพันธุ์ แนะนำให้ปลูกใน ภาคใต้ โดยเฉพาะ การปลูกในนาก่อนการปลูกข้าว และการปลูกแซมระหว่างแถว ยางพาราปลูกใหม่

ลักษณะทางการเกษตร :
ทรงต้นฝักชูได้ระเบียบเหนือระดับใบ เมล็ดเขียวผิวมัน ฝักยางสม่ำเสมอทั้งต้น ฝัก แยกสุกได้ 2 ชุด อายุเก็บเกี่ยว(ภาคใต้) 82 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 254 กก./ไร่ ความยาว ของฝัก 11 ซม. ขนาดเมล็ด 7.10 กรัม/100 เมล็ด สูง 55 ซม.
พื้นที่แนะนำ :
เหมาะสำหรับปลูกในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในนาก่อนการปลูกข้าว และการปลูกแซมระหว่างแถวยางพาราปลูกใหม่

พันธุ์อู่ทอง 1
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 06 ธันวาคม 2519
เมล็ดขนาดใหญ่ค่อนข้างสม่ำเสมอและผิวมัน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ออกดอกและติดฝักชุดแรกภายในเวลาเกือบพร้อมกัน และออกดอกเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 80- 85 % ของทั้งต้น) จึงทำให้ฝักแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ในเวลาเดียวกัน อายุเก็บเกี่ยวสั้น (ประมาณ 65-70 วัน) นอกจากนี้ ฝักที่แก่แล้วยังเหนียวไม่แตกง่าย จึงทำให้เก็บเกี่ยวฝักทั้งหมดได้ไม่เกิน 2 ครั้ง (ส่วนพันธุ์พื้นเมืองต้องเก็บกี่ยว 6-7 ครั้ง) และยังทำให้การเก็บเกี่ยวโดยตัดทั้งต้นมาตากแดดและนวดเช่นเดียวกันกับถั่วเหลืองได้ สามารถทุ่นแรงงานในการเก็บเกี่ยว ในด้านผลผลิตปรากฏว่า ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเล็กน้อย มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชเช่นเดียวกับถั่วเขียวพันธุ์พื้นเมือง แต่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี
ลักษณะทางการเกษตร :

  • ผลผลิต 150 – 200 กิโลกรัม/ไร่
  • โคนต้นมีสีม่วง ทรงต้นเป็นพุ่ม แตกกิ่งก้านสาขาดี
  • ใบค่อนข้างใหญ่ มีสีเขียวเข้ม
  • ก้านใบมีสีม่วง
  • ดอกแรกบานเมื่ออายุประมาณ 35 วัน ออกดอกเป็นชุด ชุดแรกจะติดฝักภายในเวลา 5-7 วัน ดอกชุดที่ 2 จะเริ่ม เมื่อฝักแรกเริ่มแก่
  • จำนวนฝัก 15-25 ฝักต่อต้น
  • เมล็ด 8 – 18 เมล็ดต่อฝัก น้ำหนัก 1,000 เมล็ดหนัก 60 – 65 กรัม
  • ความต้านทานโรค : ไม่ต้านทานต่อโรคใบจุด

พันธุ์อู่ทอง 2
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง
วันที่รับรอง : 15 ธันวาคม 2521
ลักษณะดีเด่น :

  1. ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์
  2. เมล็ดโตมีขนาดสม่ำเสมอ
  3. จำนวนเมล็ดสีน้ำตาลหรือสีแดง ซึ่งตลาดไม่ต้องการมีน้อยกว่า

การปลูก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

toakewyod

  • ดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทราย
  • ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มากกว่า 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี
  • ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร
  • ค่าความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 5.5-7.0
  • อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 25-35 องศาเซลเซียส
  • ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 500-1,000 มิลลิเมตรต่อปี

ฤดูปลูก
การปลูกในฤดูฝน ในสภาพไร่ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ต้นฤดูฝน (เมษายน-พฤษภาคม) และปลายฤดูฝน (สิงหาคม-กันยายน)

toakewon

การปลูกในฤดูแล้ง ในสภาพนา มี 2 วิธี

  • ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน (ธันวาคม-มกราคม)
  • ปลูกโดยอาศัยความชื้นในดิน และไม่มีการให้น้ำชลประทาน (ธันวาคม-มกราคม)

การเตรียมดิน
การปลูกในฤดูฝน ในสภาพไร่ เตรียมดินโดยไถ 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหล ของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง

toakewplan

การปลูกในฤดูแล้ง ในสภาพนา มี 2 วิธี

  • ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน ให้เตรียมดินปลูกเช่นเดียวกับในฤดูฝน
  • ปลูกโดยอาศัยความชื้นในดิน และไม่มีการให้น้ำชลประทาน ต้องเตรียมดินให้ละเอียด โดยไถดิน 1-2 ครั้ง หว่านเมล็ด แล้วพรวนกลบ

วิธีการปลูก
ปลูกด้วยเมล็ดที่มีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมสำหรับถั่วเขียว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เคยปลูกถั่วเขียวมาก่อน

  • การปลูกแบบเป็นแถว ใช้เมล็ดอัตรา 3-4 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวน 2-3 ต้นต่อหลุม หรือโรยเป็นแถวให้ได้จำนวนต้น 10-15 ต้นต่อเมตร ซึ่งจะได้จำนวน 32,000 -48,000 ต้นต่อไร่
  • การปลูกแบบหว่าน ใช้เมล็ดอัตรา 5-6 กิโลกรัมต่อไร่ หลังหว่านเมล็ด พรวนกลบทันที ในฤดูฝน ควรมีการขุดร่องระบายน้ำเพื่อกันน้ำท่วมแปลง

การดูแลรักษา

toakewplug

การให้ปุ๋ย

  • ถ้าดินมีความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนมาร์ลหรือหินปูนบดอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบก่อนปลูกประมาณ 10-15 วัน
  • ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ หลังจากไถพรวนดินให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วอัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่
  • ถ้าในดินมีอินทรียวัตถุมากกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มากกว่า 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี
  • ถ้าในดินมีอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ต่ำ ให้ปุ๋ยรองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยข้างแถวหลังถั่วเขียวงอก 10-15 วัน แล้วพรวนดินกลบ ในกรณีที่ปลูกแบบหว่าน ใส่ปุ๋ยแบบหว่านพร้อมกับการเตรียมดิน
  • ถ้าในดินขาดธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่พบในดินด่างสีดำ เช่น ดินชุดตาคลี อาการที่พบคือ ใบยอดที่แตกออกมาใหม่มีสีเหลืองซีดแต่เส้นกลางใบยังคงมีสีเขียว ถ้าขาดรุนแรงใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดจนเกือบขาว ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง หรือไม่ได้ผลผลิต ให้ใช้พันธุ์ทนทาน ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 36 และชัยนาท 72 หรือพ่นเหล็กซัลเฟต (ความเข้มข้น 0.5%) อัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่ พ่นเมื่อต้นถั่วเขียวอายุ 20, 30 และ 40 วันหลังงอก

toakewfag

การให้น้ำ

  • การปลูกในฤดูแล้งโดยการให้น้ำชลประทาน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุก 10-14 วัน และหยุดให้น้ำเมื่อถั่วเขียวเจริญเติบโตถึงระยะฝักแรกเปลี่ยนเป็นสีดำ
  • การปลูกในฤดูฝน หากมีฝนทิ้งช่วงเกิน 10-14 วัน ควรมีการให้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะออกดอกถึงระยะติดเมล็ด

การเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ถั่วเขียวเป็นพืชที่มีการสุกแก่ของฝักไม่พร้อมกัน อายุเก็บเกี่ยวของถั่วเขียวขึ้นอยู่กับพันธุ์ ความชื้นดินและสภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อถั่วเขียวมีฝักสุกแก่ 80 เปอร์เซ็นต์ และครั้งที่ 2 หลังจากเก็บเกี่ยวครั้งแรกประมาณ 14 วัน

วิธีการเก็บเกี่ยว

  • ใช้มือปลิดฝักแก่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำ

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

  • นำฝักถั่วเขียว ไปผึ่งแดดเพื่อให้ความชื้นฝักและเมล็ดลดลงเหลือประมาณ 11-13 เปอร์เซนต์ การกะเทาะฝักถั่วเขียว
  • บรรจุฝักในถุงหรือกระสอบ ใช้ไม้ทุบ
  • กองฝักถั่วเขียวสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ใช้รถแทรคเตอร์เล็กที่ปล่อยลมยางรถให้อ่อนย่ำบนลานนวด ใช้ความเร็วรอบของเครื่องต่ำ เพื่อลดการแตกหักของเมล็ด
  • ใช้เครื่องกะเทาะฝัก ที่มีความเร็วรอบ 550 รอบต่อนาที

ทำความสะอาดเมล็ดด้วยวิธีร่อนและฝัด แล้วนำเมล็ดไปผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นหรือประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์
บรรจุเมล็ดในกระสอบป่านที่สะอาด เพื่อเก็บรักษาหรือส่งจำหน่าย
การเก็บรักษา

  • โรงเก็บต้องเป็นอาคารโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันความเปียกชื้นจากฝนและน้ำท่วมได้ ไม่มีแมลง หนู สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์เลี้ยงเข้ารบกวน ถ้าเป็นพื้นซีเมนต์ให้หาวัสดุรองกระสอบป่าน เช่น ไม้ไผ่ หรือแคร่
  • ทำความสะอาดโรงเก็บ ก่อนนำเมล็ดเข้าเก็บรักษาทุกครั้ง และทำความสะอาดตลอดระยะเวลาที่เก็บรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสอบปริมาณแมลงและเมล็ดเสียหาย หากพบแมลง ให้กำจัดตามคำแนะนำ

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

โรคใบจุดสีน้ำตาล
พบแผลบนใบเป็นจุดสีน้ำตาลค่อนข้างกลม ขอบแผลไม่สม่ำเสมอตรงกลางแผลมีสีเทา ขนาด 1-5 มิลลิเมตร ทำให้ใบเหลืองแห้งและร่วงหล่นไป ในช่วงระยะออกดอกถึงเริ่มติดฝัก ถั่วเขียวเป็นโรคใบจุดสีน้ำตาลมากและรุนแรงมากขึ้นในระยะก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตอย่างมากโดยทำให้ฝักลีบ และขนาดเมล็ดเล็กลง

โรคราแป้ง
เข้าทำลายในระยะกล้าอาจทำให้ต้นกล้าตาย แต่ถ้าเชื้อราเข้าทำลายในระยะออกดอกจะทำให้ต้นแคระแกร็น ติดฝักน้อย ฝักและเมล็ดมีขนาดเล็กลง ฝักที่มีเชื้อราสีขาวคล้ายผงแป้งขึ้นคลุมฝักจะบิดเบี้ยว แคระแกร็น และเมล็ดไม่สมบูรณ์ เชื้อราแพร่ระบาดโดยลม ระบาดในช่วงอากาศแห้ง-เย็น ป้องกันได้โดยการใช้พันธุ์ชัยนาท 36 ซึ่งมีความต้านทานปานกลาง

โรคเน่าดำ
พบการระบาดของโรคเน่าดำในทุกระยะการเจริญเติบโตและทุกส่วนของถั่วเขียว พบระบาดมากในฤดูฝน โดยเฉพาะในสภาวะที่ฝนทิ้งช่วงนาน 14-21 วันการป้องกันกำจัดโดยใช้เมล็ดพันธุ์ปราศจากโรค คลุกเมล็ดก่อนปลูก

โรครากเน่าโคนเน่า
รากเน่าเป็นสีน้ำตาล โคนต้นส่วนที่ติดดินและผิวนอกของรากรอบๆโคนต้นเน่าเป็นแผลสีน้ำตาล ในแปลงมีความชื้นสูงอาการของโรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว

โรครากปม
เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม ต้นถั่วเขียวมีการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบน้อยกว่าต้นปกติ ใบเหลืองซีดคล้ายอาการขาดธาตุอาหาร รากของถั่วเขียวบวมพองโตเป็นปมทั้งส่วนของรากฝอยและรากใหญ่บริเวณโคนต้น ระบาดมากในช่วงไดูฝน ในสภาพดินมีความชื้นสูง

แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

หนอนแมลงวันเจาะลำต้น
ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันขนาดเล็ก วางไข่ในเนื้อเยื่อของใบ หนอนจะชอนไชไปกัดกินเนื้อเยื่อแกนกลางลำต้น หรือเนื้อเยื่อรอบๆ ลำต้นในระดับผิวดิน ทำให้เนื้อเยื่อลำต้นเน่าเปื่อย
เพลี้ยไฟ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนต่างๆ ของพืช ทำให้ใบหงิกงอบิดเบี้ยวแห้งกรอบ ดอกร่วง ติดฝักน้อยระบาดในฤดูแล้ง หรือในฤดูฝนที่เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง
หนอนกระทู้ผัก ตัวหนอนมีสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อนมีจุดสีดำ 2 จุดด้านข้าง ทำลายถั่วเขียวโดยกัดกินใบ ดอก และฝักอ่อน ในเวลากลางวันมักหลบซ่อนในดินระบาดทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช

หนอนเจาะสมอฝ้าย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามส่วนต่าง ๆ ของพืช ตัวหนอนมีสีต่าง ๆ กัน ได้แก่ เขียว เหลือง เทา และน้ำตาลเข้ม มีขนรอบตัวและมีแถบสีดำพาดยาวตามด้านข้างลำตัว ทำลายถั่วเขียวโดยกัดกินใบ ดอก เจาะฝักและกัดกินเมล็ดภายในฝักพบระบาดมากในฤดูแล้ง

หนอนเจาะฝักมารูค่า
ทำความเสียหายกับถั่วเขียวโดยสร้างใยมาพันช่อดอกแล้วอาศัยอยู่ภายในกัดกินเกสรดอก และกลีบดอกจนหมดแล้วเคลื่อนย้ายไปเจาะกัดกินดอกอื่น ๆ ต่อไป

มวนเขียวข้าวและมวนเขียวถั่ว
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายถั่วเขียวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช พบการระบาดเมื่อถั่วเขียวเริ่มติดฝักอ่อนแล้ว ทำให้ฝักอ่อนบิดงอ ฝักลีบไม่ติดเมล็ด

ด้วงถั่วเขียว
เป็นด้วงปีกแข็งขนาดเล็ก เข้าทำลายเมล็ดโดยวางไข่ที่ผิวเมล็ด หนอนเป็นระยะเดียวที่ทำลายเมล็ด เมื่อฟักออกจากไข่ แล้วเจาะเข้าไปอาศัยและกัดกินเนื้อภายในเมล็ด และเข้าดักแด้อยู่ภายในจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย จึงเจาะรูกลมออกมาภายนอก

หนู
ทำลายโดยขุดเมล็ดกินก่อนงอก กัดต้นอ่อน และเจาะกินเฉพาะเมล็ดอ่อนภายในฝัก หนูที่พบมีหลายชนิด ได้แก่ หนูพุกใหญ่ หนูพุกเล็ก หนูนาใหญ่ หนูนาเล็ก หนูบ้านท้องขาว หนูหริ่งนาหางยาว และหนูหริ่งนาหางสั้น เป็นต้น ระบาดรุนแรงในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีอาหารอื่น

toakewdok

การป้องกันกำจัดวัชพืช
ไถดิน 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง ก่อนปลูกถั่วเขียว
กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่อถั่วเขียวอายุ 15-20 วัน หรือก่อนถั่วเขียวออกดอก
คลุมดินด้วยเศษซากวัชพืชหรือฟางข้าวทันทีหลังปลูก
ในกรณีที่การป้องกันกำจัดวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจเลือกใช้วิธีพ่นสารกำจัดวัชพืช ตาม

วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

ชนิดวัชพืช

  • วัชพืชฤดูเดียว
    เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

    1. ประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา และหญ้าดอกขาว เป็นต้น
    2. ประเภทใบกว้าง ได้แก่ ผักยาง ผักโขม ปอวัชพืช ผักเบี้ยหิน สาบแร้งสาบกา ผักคราดหัวแหวน หญ้ากำมะหยี่ เทียนนา และกะเม็ง เป็นต้น
  • วัชพืชข้ามปี
    เป็นวัชพืชที่ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยต้น ราก เหง้า หัว และไหลได้ดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

    1. ประเภทใบแคบ เช่น หญ้าแพรก หญ้าตีนติด และหญ้าชันกาด เป็นต้น
    2. ประเภทใบกว้าง เช่น ไมยราบเครือ สาบเสือ และตดหมูตดหมา เป็นต้น
    3. ประเภทกก เช่น แห้วหมู และกกดอกตุ้ม

การป้องกันกำจัด

  • ไถดิน 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง ก่อนปลูกถั่วเขียว
  • กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่อถั่วเขียวอายุ 15-20 วัน หรือก่อนถั่วเขียวออกดอก
  • คลุมดินด้วยเศษซากวัชพืชหรือฟางข้าวทันทีหลังปลูก
  • ในกรณีที่การป้องกันกำจัดวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจเลือกใช้วิธีพ่นสารกำจัดวัชพืช
  • การใช้สารกำจัดวัชพืชในถั่วเขียว

การแปรรูป

การเพาะถั่วงอกในอุตสาหกรรมขนาดย่อม

  1. การเลือกเมล็ดถั่วเขียว ควรเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดีไม่ใหม่หรือเก่าเกินไปและเป็นเมล็ดที่ไม่ถูกฝนในระยะการเก็บเกี่ยว ไม่เป็นโรคหรือแมลงทำลาย อายุเก็บรักษาประมาณ 3-6 เดือน เพราะเมล็ดใหม่จะมีเมล็ดแข็งประมาณ 5-20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเก่าจะเป็นเมล็ดที่เสื่อมคุณภาพ
  2. ภาชนะเพาะถั่วงอก ที่เหมาะสม ควรเป็นภาชนะที่มีผิวเรียบทรงกระบอก หรือมีปากภาชนะที่มีผิวเรียบทรงกระบอกหรือมีปากภาชนะแคบเล็กน้อย เพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่ในการงอก ทำให้ถั่วงอกมีลักษณะอวบอ้วนมากขึ้น และภาชนะควรมีสีดำหรือสีทึบเพื่อป้องกันแสงสว่าง ทำให้ถั่วงอกมีสีขาว ประการสำคัญภาชนะต้องสะอาดก่อนนำไปเพราะถั่วงอกทุกครั้ง
  3. การเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ ควรแช่เมล็ดก่อนเพาะ เพื่อช่วยเร่งให้ระยะเวลาการเพาะถั่วงอกเร็วขึ้นในชั่วโมงแรกของการแช่น้ำควรเลือกเมล็ดที่พองตัวอย่างรวดเร็วออกก่อน เพราะเป็นเมล็ดอ่อน เมล็ดที่ถูกแมลงทำลาย เมล็ดที่เสื่อมคุณภาพ และเมล็ดแตก เมล็ดเหล่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้ถั่วงอกเน่าได้
  4. น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการงอกของเมล็ด ควรเป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำประปาหรือถ้าเป็นน้ำบาดาลต้องปล่อยทิ้งให้เย็นและตกตะกอนก่อนน้ำมาใช้รดถั่วงอก การให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และให้ในปริมาณที่มากพอ
  5. ระยะเวลาในการเพาะถั่วงอก ปกติจะใช้เวลาเพาะประมาณ 3-4 วัน ซึ่งระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิภาชนะเพาะ และวัสดุเพาะ
  6. ลักษณะของถั่วงอก การเพาะถั่วงอก ในสภาพอากาศหนาว ในภาชนะปากแคบ หรือภาชนะดินเผา ถั่วงอกจะมีลักษณะค่อนข้างอ้วน รากสั้น และการเพาะในทรายถั่วงอกจะมีสีขาว
  7. การใช้สารเคมีกับถั่วงอก สามารถใช้สารที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ สารส้ม หรือน้ำมะนาว แช่ถั่วงอกเพื่อช่วยให้ถั่วงอกกรอบ มีสีขาว แต่ไม่ควรใช้สารฟอกขาว เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ โซดาไฟ ฟอร์มาลีน เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น