ทอง ธรรมดา ทำเกษตรให้รวย อย่าทำไล่ แต่แนะให้ทำสวนกระแส

ทอง ธรรมดา หรือ นายวีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ เกษตรกรที่มีความรักในธรรมชาติและมองเห็นธรรมชาติคือสิ่งสำคัญ จึงเป็นสิ่งดลใจให้ทำการเกษตรและหาประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติมานานกว่า 20 ปี โดดเด่นด้านการปลูกมะนาวไร้เมล็ดจนสามารถสร้างผลผลิตส่งออกไปประเทศไต้หวัน เป็นเกษตรกรที่มีความคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการเกษตรของตนด้วยเทคนิคต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นจนเป็นที่รู้จักของปราชญ์และเกษตรกรจากหลายที่หลายถิ่น เป็นนักเขียนคอลัมน์โดยใช้นามปากกา อาจารย์ทอง ธรรมดา

ในภาวะปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน กำลังเดินเข้าสู่วิกฤติ อาหารและพลังงานเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น ขณะที่ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นที่ดินทำการเกษตรลดลง ทรัพยากรเสื่อมโทรม เป็นโจทย์ที่กำลังท้าทายสำหรับคนในวงการเกษตร และคนที่เห็นว่าเกษตรเป็นฐานที่สำคัญในการพึ่งพาตนเอง รูปแบบการทำเกษตรแบบผสมผสานแบบประณีตจึงเป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความสนใจและให้ความสำคัญ หนังสือเล่มนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาจากหนังสือ เกษตรประณีต 1 ไร่พึ่งตนเอง ให้มีความแตกต่างที่มีการพัฒนาเทคนิควิธีการและการจัดการให้ผลผลิตสูงขึ้นจนสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในพื้นที่อันจำกัด เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติจะสามารถพึ่งตนเองทางอาหารได้สำเร็จ

นายวีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวิสาหกิจชุมชนเพชรพิมาย อำเภอพิมายจังหวัดนครราชสีมา และ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 53 ที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ อาจารย์ทอง ธรรมดา ได้ทดลองและคิดค้นวิธีการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตมากกว่า 20 กิโลกรัมต่อ ไร่ และได้คุณภาพแป้งมัน 30% โดยสามารถใช้ได้กับพันธุ์สำปะหลังทุกพันธุ์

เทคนิคการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตดี
อาจารย์ทอง ธรรมดา ได้ทดลองและคิดค้นวิธีการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตมากกว่า 20 กิโลกรัมต่อ ไร่ และได้คุณภาพแป้งมัน 30% โดยสามารถใช้ได้กับพันธุ์สำปะหลังทุกพันธุ์
วิธีการปลูกมันสำปะหลังที่ดีที่สุดนั้น นายวีรยุทธฯ บอกว่าการปลูกมันสำปะหลังควรจะปลูกช่วงต้นฤดูฝน (ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม)เพราะจะทำให้มันสำปะหลังเติบโตอย่างต่อเนื่องและต้องเตรียมแปลงดินสำหรับเพาะปลูกให้พร้อมด้วยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักโดยใช้กากอ้อยผสมกับกากมันสำปะหลังอย่างละ 1,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ (กากอ้อยผสมกับกากมันสำปะหลังทดลองแล้วได้ผลดีที่สุด)ขั้นตอนต่อไปต้องคัดเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สมบูรณ์นำท่อนพันธุ์ไปแช่ในน้ำยาเร่งราก (มีขายตามท้องตลาดทั่วไป) จากนั้นก็นำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังไปตัดเพื่อเตรียมเพาะปลูกโดยจะต้องตัดท่อนพันธุ์ให้เฉียง 45 องศา
เพราะการตัดท่อนพันธุ์เฉียงจะให้ผลผลิตมากกว่าการตัดท่อนพันธุ์ตรงๆจากนั้นนำท่อนพันธุ์ที่ตัดแล้วไปปักลงบนดินโดยจะต้องปักท่อนมันให้เอียงทำมุมกับพื้นดิน 45 องศาด้วยเช่นกันทั้งนี้เพื่อให้ผลผลิตมันสำปะหลังเจริญเติบโตได้เต็มที่และเมื่อปลูกได้ระยะเวลาเดือนที่ 2 เข้าสู่เดือนที่ 3ก็ให้ใส่ปุ๋ยบำรุงราก โดยใช้อัตราส่วน 30 กิโลกรัม ต่อ ไร่ซึ่งช่วงระยะเวลา 3เดือนแรกที่ปลูกมันสำปะหลังแล้วจะต้องดูแลไม่ให้หญ้าหรือวัชพืชขึ้นรก เพราะว่าหญ้าและวัชพืชจะไปแย่งอาหารของมันสำปะหลัง

tongtammada_mun

การทดลองปลูกวิธีดังกล่าวเกษตรกรจะใส่ปุ๋ยเพียงแค่ครั้งเดียวและทำรุ่น (กำจัดวัชพืช) เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นและจากการทดลองมาเกือบ 10 ปีพบว่า วิธีนี้สามารถให้ผลผลิตมันสำปะหลังมาก15 ถึง 23 กิโลกรัม ต่อ ไร่โดยที่เกษตรกรใช้งบประมาณในการลงทุนไม่แตกต่างไปจากการปลูกแบบเดิม หากเกษตรกรรายใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวิสาหกิจชุมชนเพชรพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เทคนิคการปลูกมะนาวจากกิ่งชำให้ติดลูกดก
คุณวีระยุทธ ศรีเลอจันทร์ หมอดิน อ.พิมาย ผู้ปลูกมะนาวไร้เมล็ด ให้คำแนะนำ ถึงเทคนิควิธีการปลูกมะนาวด้วยการจัดระบบรากก่อนปลูกว่า ให้เริ่มจากการขุดหลุมให้มีความกว้าง 50 ซ.ม. ลึก 1 ศอก แล้วนำปุ๋ยคอก 1 กระสอบ มาเทลงหลุมแล้วนำฟางมาคลุมทับ รดน้ำให้ชุ่ม 5 วัน ก่อนจะนำกิ่งชำมาปลูก ซึ่งก่อนที่จะนำกิ่งชำมาปลูก ต้องตรวจสอบดูที่ระบบรากก่อน โดยนำกิ่งชำไปแช่น้ำล้างดินออกให้หมด เพื่อดูระบบรากว่ารากว่าขดมากหรือไม่ ถ้ารากขดให้จัดระบบรากก่อนปลูก โดยการยืดรากให้แผ่ออกให้มากที่สุดจึงจะนำลงหลุมปลูกได้ เพราะการจัดระบบรากก่อนปลูกจะทำให้รากมะนาวแผ่กระจาย หากินได้ดีกว่าปลูกทั้งๆ ที่มีรากขด และจากประสบการณ์ที่ใช้วิธีการจัดระบบรากกิ่งชำก่อนปลูกมานาน ทำให้รู้ว่าการจัดระบบรากมีส่วนช่วยให้มะนาวโตเร็วขึ้น และให้ผลผลิตดีขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้จัดระบบราก แต่ ถ้าพบว่ากิ่งชำมีรากแค่ 2-3 ราก ก็ไม่ควรนำมาปลูกเพราะจะทำให้ต้นโตช้า กินอาหารได้น้อย สำหรับเวลาที่เหมาะสมในการปลูกมะนาว ก็คือ ช่วงเย็นตอนที่มีแดดอ่อนๆ เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรนำฟางมาคลุมปากหลุมแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การปลูกมะละกอ
การปลูกมะละกอจากแปลงตัวอย่าง เขาปลูกหลุมละ 3 ต้น จะเลือกที่เป็นกระเทยไว้ อีก 2 ต้นตัดทิ้ง เพื่อคัดเลือกเพศ มีตัวผู้ ตัวเมีย และกระเทย กระเทยจะมี 3 อย่าง ในต้นเดียวคือ

  1. พันธุ์อีลองกาตา มีลักษณะ ลูกยาวและสวยไม่มีร่อง
  2. เพนเทินเดรีย มีลักษณะ ลูกอ้วนท้ายอ้วน
  3. อิเตอร์มิเดีย มีลักษณะ ลูกเบี้ยว

เพราะฉะนั้นจะไม่รู้เพศตอนที่ลูกมะละกอออกมา บางทีเหลือไว้ต้นหนึ่งแต่ดันกลายเป็นลูกเบี้ยว แต่อีกสองต้นตัดทิ้งไปแล้ว ถ้าจะปล่อยให้ต้นโตไปพร้อมๆ กันทั้ง 3 ต้นก็ไม่ได้เพราะพื้นที่ไม่พอ พื้นที่แคบไปมันจะไปแย่งกันโต ต้นตั้งสวนกันขึ้น จึงทำการโน้มต้นลงไปเพื่อให้มีเวลาในการเลือกสายพันธุ์ นี่ก็เป็นภูมิปัญญาที่ได้ทดลองทำแล้วได้ผลสำเร็จจริง

ข้อแนะนำสำหรับการปลูกมะละกอ
หากยังไม่ชำนาญให้ทำตอนบ่ายเพราะถ้าทำตอนเช้าต้นมะละกอจะสดเกินไป ถ้าไปโน้มต้นแรงๆ อาจทำให้ต้นหักได้ แต่ช่วงบ่ายต้นมะละกอจะเหี่ยวเนื่องลำต้นมีการคายน้ำออกบ้าง ทำช่วงบ่ายจะดีกว่า ช่วงที่คักเลือกเพศ จะต้องมีความระมัดระวังเรื่องของเพลี้ยตัวออนกินใบมะละกอ และจะทำให้เกิดโรคไวรัสวงแหวน โรคใบด่าง และโรคอื่นๆ ได้ ควรปลูกในช่วงเข้าพรรษา เพราะนับไปอีก 6 เดือน จะได้ขายผลผลิตที่ได้ราคาดี มะละกอดิบจะมีราคาแพงในช่วงเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ควรวางแผนให้ดีในการปลูกด้วย
จากตัวอย่างแปลงเพาะปลูกมะละกอแบบโน้มต้นนั้น ต้นกล้าที่ปลูกไว้ 3 ต้น พอปลูกไปแล้ว มีการทำการโน้มต้น ต้นออกผลแล้วมาดูว่าต้นไหนออกลูกสวย ก็จะตัดต้นที่ไม่สวยออก เอาแต่ต้นที่มีลูกสวยยาวนั่น หรือการเลือกสายพันธุ์มะละกอ ก็คือพันธุ์ อีลองกาตา
มะละกอ เป็นพืชอวบน้ำจะชอบดินทรายมากกว่า ถ้าเป็นดินเหนียวน้ำขังจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบรากเน่าโคนเน่า วิธีแก้โรคเพลี้ย โรคใบด่าง โดยทำการโน้มต้น และใช้สมุนไพร เช่น ยาสูบ บอระเพ็ด ต้มเอาน้ำมาทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำมาฉีดต้นมะละกอได้

การปลูกมะละกอโน้มต้น
แบบนี้วิธีการคือ ต้นมะละกอที่ตั้งขึ้นนั้น สามารถโน้มไปแต่ละทิศได้ตามต้องการ โดยการโน้มต้นทีละนิดๆ พักทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ต้นมะละกอปรับตัว แต่หากโน้มมากต้นจะหักหรือโค่นได้ ในการโน้มนั้นหลังจากที่เราได้โน้มต้นมะละกอแล้ว ใช้หลักตอกลงไปในดินแล้วใช้เชือกฟางมัดต้นมะละกอให้ติดกับหลักที่ตอกไว้ หรือดัดแปลงทำการใช้เชือกดึงรั้งต้นไว้ วิธีนี้ต้นมะละกอจะไม่โค้งเบี้ยวแน่นอน เพราะเมื่อต้นเติบโตขึ้นอีกครั้ง ลำต้นจะตั้งขึ้นมาเองแบบธรรมชาติ ถ้าไม่พอใจเราสามารถโน้มลงมาได้อีกเรื่อยๆ การโน้มต้นนั้นจะผูกติดกับไม้ไว้ประมาณ 2 เดือน และสามารถเอาไม้ออกได้เลย อย่าลืมใช้ไม้ค้ำยันกรณีดินไม่แน่น หรือป้องกันปัญหาต้นโค่นจากลมพายุ จากนั้นเราก็รอเลือกเพศ และดูแลเรื่องปุ๋ยบำรุงดิน ให้น้ำสามวันครั้งพอประมาณ ต้นมะละกอจะไม่ชอบน้ำชื้นน้ำแฉะ พอต้นได้อายุประมาน 5 เดือนจะเริ่มมีดอกมีผลอ่อน ต้น 6 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย
ข้อดีของการปลูกมะละกอแบบโน้มต้น
ทำให้เรามีเวลาในการเลือกพันธุ์มะละกอ เก็บเกี่ยวผลผลิตง่าย ต้นไม่สูง

การปลูกมะละกอต้นเอน
มะละกอเลื้อย เป็นเทคโนโลยีของไต้หวันที่ต้องการแก้ปัญหาโรคใบด่างวงแหวนในมะละกอ และช่วยลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของพายุไต้ฝุ่นเพราะมะละกอเติบโตในแนวตั้ง เวลามีพายุทำให้ต้านลมไม่ได้ จึงหักโค่นเสียหาย จากหนังสือ พันธ์พืช เทคโนโลยีและการจัดการพืชสวนในไต้หวัน โดยผู้เขียน กาญจนา สุทธิกุล อธิบายไว้ (โดยอ.หนี เจิ้น จู) มี 5 วิธี แต่จะขอคัดลอกมาให้อ่านแค่วิธีเดียว เพราะดูแล้วน่าจะเข้าใจและทำได้ง่ายคือ การดัดตั้งแต่ต้นยังเล็ก (Early training) ใช้กับมะละกอที่อายุยังน้อย สูงสักประมาณ 10 ซม. แล้วเอาก้อนหินทับโคนต้นให้เอนไปด้านใดด้านหนึ่ง (ในความเห็น จขกท. น่าจะเป็นทิศตะวันออก) จากนั้นปล่อยให้ลำต้นส่วนปลายสูงขึ้นตามปกติ พร้อมกับใช้เชือกตรึงให้ลำต้นส่วนโคนเอนลงในทิศทางเดิม วิธีนี้เป็นการบังคับให้ลำต้นทำมุมกับแนวดิ่ง ประมาณ 45-60 องศา สำหรับในไทยวิธีนี้น่าจะช่วยในการเก็บผลผลิตได้ง่ายขึ้น และลดความเสียหายจากผลช้ำได้เยอะ

สูตรน้ำหมักหัวข่าป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
นายวีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ เจ้าของรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 2553 ได้แนะนำเทคนิคการทำน้ำหมักด้วยหัวข่าเพื่อกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นสูตรง่ายๆเกษตรกรสามารถทำใช้เองได้ โดยนำหัวข่าแก่ที่ปลูกไว้ตามท้องไร่ ปลายนา มาเป็นส่วนประกอบสำคัญเพราะสรรพคุณทางยาของข่ามี รสฉุน-เผ็ดร้อน จึงเหมาะแก่การนำมาทำเป็นน้ำหมักกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ตลอดจนพืชสวนต่างๆที่โดนศัตรูพืชเล่นงาน สูตรนี้ใช้กำจัดได้ผลดีมาก พูดง่ายๆสรรพคุณ 108
สูตรน้ำหมักหัวข่าป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

  1. หัวข่าแก่สับละเอียด 5 กิโลกรัม
  2. ยาสูบตราวัวชนกัน 10 ห่อ ห่อละ 5 บาท (ความฉุนของยาเส้นศัตรูพืชไม่ชอบ)
  3. กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม (ช่วยการย่อยสลาย ในช่วงของการหมัก)
  4. เหล้าขาขวดใหญ่ 1 ขวด (เพิ่มความร้อนและฉุนศัตรูพืชกลัวมาก)
  5. น้ำส้มสายชู 1 ขวด (ช่วยการย่อยสลาย ในช่วงของการหมัก)
  6. น้ำยาล้างจาน 1 ขวดเล็ก(ออกฤทธิ์เหมือนสารจับใบ)
  7. น้ำ 10 ลิตร
  8. ถังหมัก 1 ถัง

วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดเทลงใส่ถังหมัก ขนาด 200 ลิตร แล้วเติมน้ำเปล่า 100 ลิตร ลงไปในถังหมัก จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ทิ้งไว้ในถังหมัก 15-20 วัน กรองเอาแต่น้ำก็สามารถนำมาใช้ได้

อัตราการใช้
ใช้น้ำหมักที่ได้ 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 10 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงที่มีการระบาดของศัตรูพืช ทุกๆ3-4 วัน ก็เห็นผลแล้ว

เทคนิคการปลูกและดูแลรักษาพริกขี้หนูเพิ่มผลผลิต แบบฉบับ อ.ทอง(ธรรมดา)
นายวีรยุทธ ศรีเลอจันทร์หรืออาจารย์ทอง (ธรรมดา) เจ้าของรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้แนะนำถึงวิธีการปลูกพริกให้ได้ผลผลิตดีและได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด ไว้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่สนใจดังนี้ การปลูกพริกควรมีการวางแผนการปลูกที่ดี และควรจะลงมือปลูกในช่วงต้นฤดูฝน (ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม) ช่วงนี้พริกจะได้รับน้ำฝนทำให้เจริญเติบโตได้ดีไม่เหี่ยวเฉาตาย เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะน้ำฝนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดทางธรรมชาติ

การเตรียมดิน :
ครั้งที่ 1 ไถปั่นเศษวัชพืช 1 ครั้ง
ครั้งที่ 2 ไถพรวณ ประมาณ 1-2 ครั้ง

โดยพื้นที่ ที่ปลูกต้องระบายน้ำทิ้งได้ดี เพื่อป้องกันน้ำที่จะท่วมขังในช่วงฤดูฝน เตรียมแปลงดินสำหรับเพาะปลูกให้พร้อมด้วยการใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1.5-2 ตัน/ไร่ แล้วไถดะกลบให้ดินลึกประมาณ 10-12 นิ้ว และตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตร 15-15-15 หรือ 25-7-7 อัตรา 30-50 กก. /ไร่ แล้วไถแปรขวางรอยเดิม

วิธีการปลูก :

  1. ระยะห่างระหว่างแถว 75 เซนติเมตร
  2. ระยะห่างระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร
  3. ปลูกหลุมละ 2-3 ต้น จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 7,500-9,000 ต้นจะใช้เมล็ดประมาณ 1-1.5 กิโลกรัมต่อไร่
  4. ให้ปลูกเป็นลักษณะแถวคู่
  5. นำกล้าพันธุ์ลงปลูก กลบดิน หลังจากนั้นดูแลและให้ปุ๋ย

การดูแลหลังการปลูก :
เนื่องจากหญ้าและวัชพืชจะไปแย่งอาหารของพริก และจากการทดลองปลูกโดยวิธีดังกล่าวเกษตรกรจะใส่ปุ๋ยเพียงแค่ครั้งเดียวและทำรุ่น (กำจัดวัชพืช) เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ระยะที่พริกขาดน้ำไม่ได้ คือ ระยะ 7 วันแรกหลังการปลูกเป็นระยะที่พริกกำลังงอก ควรให้น้ำอย่างเพียงพอ แต่ไม่มากจนเกินไปถ้าพริกขาดน้ำช่วงนี้จะทำให้การงอกไม่ดีจำนวนต้นต่อพื้นที่ก็จะน้อยลงจะทำให้ผลผลิตลดลงไปด้วย ระยะที่พริกจะขาดน้ำไม่ได้อีกช่วงหนึ่ง คือ ระยะออกดอก-ติดผลการขาดน้ำในช่วงนี้จะมีผลทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่ดี ติดเมล็ดไม่เต็มถึงปลายฝัก หรือ ติดเมล็ดเป็นบางส่วน ซึ่งฝักที่ได้จะขายได้ราคาต่ำ ส่วนการให้น้ำ เนื่องจากพริกชอบความชื้นแต่ไม่ชอบน้ำขัง จึงไม่ควรให้น้ำมากหรือปล่อยให้ดินแห้งผาก ควรคลุมดินบริเวณทรงพุ่มด้วยเศษฟางหรือเศษวัชพืชเสมอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้น และปล่อยให้วัสดุเหล่านั้นย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยต่อไป โดยปกติถ้าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ควรให้น้ำทุก 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพของต้นพริกและสภาพอากาศ แต่ช่วงที่ควรให้น้ำถี่ขึ้นคือช่วงที่พริกกำลังงอก และช่วงออกดอก โดยปกติพริกจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 90-120 วัน หลังปลูก แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็นอายุการเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ควรรีบส่งโรงงานหรือจำหน่ายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำหากขาดน้ำจะมีผลต่อเมล็ดและน้ำหนักได้หลังจากเก็บผลผลิตในฤดูกาลนั้นแล้ว ให้ตัดป่นต้นพริกย่อยลงในแปลง เพื่อเตรียมการปลูก ในครั้งต่อไป หมักไว้ 15-30 วัน จึงปลูกพริกรุ่นใหม่ หรือปลูกพืชอื่นๆหมุนเวียนต่อจากพริกอีกทีหนึ่ง

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

2 ความคิดเห็น

  1. Joployball
    บันทึก กรกฏาคม 24, 2556 ใน 15:33

    ผมชอบแนวคิดแบบนี้มากเลย ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

  2. ดาว
    บันทึก กันยายน 18, 2556 ใน 22:27

    ชอบค่ะ มือใหม่แต่อยากเก่งค่ะ

แสดงความคิดเห็น