ทัศน์ กระยอม ผู้สำเร็จได้เพราะ 5 พระ

จากประสบการณ์เป็นบทเรียน พ่อทัศน์ กระยอม จึงเปลี่ยนความคิดตนเอง โดยยึดหลักธรรมะ หลักอิทธิบาท4 และหลักอัตตาหิ อัตตโน นาโถ “เลิกเชื่อคนอื่น หันมาเชื่อภูมิปัญญาชาวบ้าน” ลงมือทำการเกษตรแบบผสมผสาน ขุดสระน้ำ ปลูกกล้วยเป็นหลัก ปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ รู้จักออม “ไม่ประมาทว่าเงินน้อย ไม่คอยแต่วาสนา” ให้ถือหลัก 5 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระมหากษัตริย์ และ พยายาม

พ่อทัศน์มีความคิดว่าการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันทำให้เด็กทิ้งถิ่น เพราะสอนให้ พึ่งเงิน พึ่งตลาด และพึ่งคนอื่น ทางแก้ไขคือ พ่อแม่ควรสอนเด็กเพิ่มเติมในยามว่าง เช่น สอนทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกผักสวนครัว การแปรรูปอาหาร และทำของใช้ เช่น จักสาน แห สวิง กระด้ง กระจาด ทำให้สามารถลดรายจ่าย ฝึกเด็กให้รู้จักออม ให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง และการพึ่งพากันเอง เห็นความสำคัญของดิน น้ำ ป่า ครอบครัว ชุมชน และสังคม ขณะนี้มีการจัดค่ายรักถิ่นปีละครั้ง

6 รู้ที่พึงมี…พ่อทัศน์บอกว่า

  • รู้เรื่องที่คิด
  • รู้กิจที่ทำ
  • รู้คำที่พูด
  • รู้จุดประสงค์
  • รู้ตรงความจริง
  • รู้สรรพสิ่งทั้งปวง

เมื่อพิจารณาดูแล้วพบว่า 6 รู้ของพ่อทัศน์ กระยอมนั้น เริ่มจากการมี “สติ” รู้เท่าทันตนเอง

พ่อทัศน์ กระยอม ปราชญ์ชาวบ้าน 108 หมู่ที่ 6 บ้านโสกน้ำขาว ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ผู้ขยายผลด้านเกษตรกรรมพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ผู้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก และตั้งชมรมอุ้มชูไทอีสานขึ้น เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน

พ่อทัศน์ กระยอม เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2471 เกิดที่บ้านโคกใหญ่ อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เกิดมาไม่ได้ใช้นามสกุล สุมัง ตามพ่อแม่ เนื่องจากพ่อเป็นนักเลง ท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ กว่าจะพบกันก็ตอนแก่ และขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว ตอนเด็ก ๆ จึงต้องอยู่กับตาและยาย และใช้นามสกุล กระยอม ตามนามสกุลของตาตอนเด็ก ๆ เป็นคนมีอุปนิสัยหนีคนและไปบวชเณรตั้งแต่อายุ 7 ปี จนสอบได้นักธรรมตรี เมื่ออายุ 11 ปี ได้สึกออกมาเรียนต่อจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วสืบทอดวิชาหมอยา และหมอธรรมจากคุณตา แล้วอาศัยความรู้ทางยา และทางธรรมะ ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของคนจนในหมู่บ้านเป็นที่เคารพยกย่องของคนในหมู่บ้าน ได้แต่งงานกับแม่ม่งจนมีลูกชายด้วยกันห้าคน ต่อมาภรรยาคนแรกเสียชีวิต จึงได้แต่งงานกับภรรยาคนใหม่กินอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และมีลูกสาวด้วยกันอีก 5 คน

25 มิถุนายน 2510 พ่อทัศน์ได้พาชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ติดกับโสกน้ำขาว และตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านโสกน้ำขาว ด้วยความที่เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มีวิชาความรู้ด้านหยูกยา และธรรมะ ในการช่วยเหลือผู้คน ทำให้ชาวบ้านศรัทธา และพร้อมใจกันตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้พาชาวบ้านพัฒนาบ้านเมือง เช่น ตัดถนนหนทาง โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจนชาวบ้านรักใคร่ ยามใดที่เดินผ่านพ่อทัศน์เมื่อกำลังเกี่ยวข้าวจะมาช่วยทันที โดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ หรือจ้างวาน

เสียคนเพราะเจ้านาย

หลังจากเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ 5-6 เดือน มีเจ้านายจากอำเภอหลายคนเข้าไปตรวจเยี่ยมท้องที่ เจ้านายบอกให้หาเหล้ามาให้กิน และสั่งให้นั่งดื่มเป็นเพื่อนพ่อทัศน์ปฏิเสธอ้างเป็นหมอธรรมต้องรักษาศีล ดื่มเหล้าไม่ได้ เจ้านายบอกว่าไม่เป็นไร นิมนต์หมอในใจไปนั่งรอข้างวงเหล้าก่อน แล้วค่อยนิมนต์มาเข้าตัวใหม่ก็ได้ ความกลัวร่วมกับความไม่รู้ว่าเจ้านายจะว่าอย่างไรหรือจะมีอันตราย หรือเปล่าทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและคนในชุมชนทำให้พ่อทัศน์ไม่กล้าขัดคำชักชวนของเจ้านายเริ่มดื่มเหล้าจนติด เสื่อมลงเรื่อย ๆ เสียผู้เสียคนจนชาวบ้านเรียกว่าผู้ใหญ่ขี้ เพราะติดเหล้า ไม่มีใครมาช่วยงานพ่อทัศน์อีกต่อไป

ปี 2513 ในแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 3 และ 4 พ่อทัศน์ได้พาตนเอง ครอบครัว และชุมชน ไปสู่บ่วงกรรมของหนี้สิน ด้วยการกู้เงิน ธกส. การขาดข้อมูล ขากการคิดวิเคราะห์ และเกิดความโลภ ทำให้นำเงินกู้ ธกส. มาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายผิดวัตถุประสงค์ ทำให้จ่ายหนี้และดอกเบี้ยคืนไม่ได้ เป็นผลให้ลำบากมาก ยากจนข้นแค้น บางปีต้องไปขอทานข้าวมากิน

นอกจากเจ้านายแล้ว ลูกยุของเพื่อน ๆ ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดลงสมัครเป็นกำนัน 2 ครั้ง หมดนาไป 2-3 ทุ่ง ความล้มเหลวทำให้เป็นหนี้จึงไปทำไร่ข้าวโพดที่อื่น 2 ปี กลับมาอีกครั้งชาวบ้านพากันทำบัญชีหางว่าวเรียกร้องให้ผู้ใหญ่บ้านกลับมาอยู่ในบ้านของตนเอง เมื่อคิดทบทวนเรื่องทั้งหมดที่ผ่านมาเชื่อมโยงกันจึงคิดได้ว่าตนเองเสียคนเพราะคนอื่นไปเชื่อคนภายนอก ละเมิดศีลธรรม ตั้งแต่วันนั้นจึงหยุดดื่มเหล้า ตั้งอกตั้งใจทำงานช่วยเหลือประชาชน พาชุมชมรวมกลุ่ม และเรียนรู้ในการดำเนินกิจกรรมธนาคารข้าว ทำโอ่งน้ำ ทำส้วม ออมทรัพย์ เป็นต้น จนได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่น ได้รับการสนับสนุนให้ไปดูงานต่างประเทศ

วิ่งตามเงิน เดินเข้ากองไฟ
วิ่งตามธรรมะ เย็นฉ่ำชื่นใจ

แผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึง 7 เอาเงินเป็นตัวตั้ง และประสบความสำเร็จในการหลอกล่อให้คนอยากได้เงินเร็ว ๆ มาก ๆ และง่าย ๆ พ่อแม่สมัยก่อนจะสอนให้ลูกหาอยู่หากิน เช้าขึ้นมาต้องไปไร่ไปนาหาผักหาปลา ทุกวันนี้สอนให้ไปหาเงิน ตื่นเช้าขึ้นมาจึงนั่งรถซื้อของที่เอามาขายในหมู่บ้าน อยากแต่จะไปกรุงเทพฯ ทิ้งลูกไว้กับตายาย คนที่อยู่บ้านก็ไม่ได้ตั้งใจอบรมสั่งสอน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูที่โรงเรียน พอลูกโตก็ให้ลูกไปเป็นกรรมการในเมือง วนเวียนกันอยู่แบบนี้ วิถีชีวิตแบบนี้ทำให้ครอบครัวแตกกระจาย ชุมชนล่มสลายลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง ละเมิดศีลธรรม และทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ

ปี 2532 พ่อทัศน์ และครอบครัวจึงเริ่มออกมาอยู่นา เพราะอยู่บ้านถูกชวนออกไปทำเรื่องอื่นหมดเวลาไปวัน ๆ การไปอยู่นาทำให้มีเวลามากขึ้นในการเรียนรู้จากธรรมชาติ เริ่มขุดสระด้วยมือ เพื่อกักเก็บน้ำ ผ่านไป 2-3 เดือน เริ่มกักเก็บน้ำได้เมื่อมีน้ำจึงเริ่มปลูกกล้วย 30 กอ ค่อยเป็นค่อยไป เรียนรู้จนเข้าใจแล้วเริ่มปลูกต้นไม้ และเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่กินได้ใช้ได้ แจกญาติพี่น้องได้ เหลือกินเหลือแจกก็ขายไปผสมผสานกัน ค่อย ๆ ถอยห่างออกจากพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าว ปอ มัน การวิ่งตามธรรมะ หรือธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาและความสุขอย่างมาก

พ่อทัศน์ กระยอม ได้ทดลองปลูกกล้วยจนมั่นใจ และฟันธงวิเคราะห์ให้ฟังถึงผลดีด้านเศรษฐกิจว่า ลองปลูกกล้วยระยะห่าง 4 เมตร 1 ไร่ จะปลูกกล้วยได้ถึง 100 กอ พอเข้าปีที่ 2 กล้วย 1 กอ จะออกเครือได้อย่างน้อย 3 เครือ ไร่หนึ่ง ๆ จะมีกล้วยไม่น้อยกว่า 5 หวี ก็จะได้กล้วยไร่ละไม่น้อยกว่า 1,500 หวี หากขายได้หวีละ 5 บาท ก็จะได้เนื้อกล้วยถึงไร่ละ 7,500 บาท ซึ่งยังไม่รวมใบกล้วย ปลีกล้วย และหน่อกล้วย อย่างไรก็ตามหากปลูกกล้วยทั่วประเทศอย่างเดียวจำนวนมาก ๆ ก็จะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดอีก จึงต้องเสริม ขิง ข่า ตะไคร้ และพืชผักผลไม้ระยะสั้น ๆ รอบต้นกล้วยนับร้อยนับพันชนิด รวมทั้งระหว่างกล้วยแต่ละต้นหาไม้ยืนต้นที่หลากหลายทั้งผัก เช่น ขี้เหล็ก สะเดา ผักติ้ว ไม้ยืนต้นที่เป็นผลไม้ เช่น กะท้อน ขนุน มะขาม และไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ใช้สอย เช่น ประดู่ มาคร่า แดง จิก กุง เป็นต้น สลับกันจะได้กล้วย 100 ต้น และต้นไม้ใหญ่ถึง 100 ต้นต่อไร่ เมื่อต้นไม้ยืนต้นโตขึ้นก็สามารถย้ายกล้วยไปปลูกที่อื่นการทำเช่นนี้นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยให้ได้ผลผลิตระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ไม่ต้องลงทุนเพาะพันธุ์กล้วย พันธุ์ต้นไม้ยืนต้นก็มีอยู่แล้วในพื้นที่ สามารถเอาหน่อ เอาเมล็ดพันธุ์จากไม้ยืนต้นที่แม่พันธุ์สวยและแข็งแรงมาเพาะกล้าไม้ไปปลูก ทำให้ไม่เสียเงินซื้อพันธุ์ไม้ เหลือขายก็ใช้วิธีเอาพันธุ์ดีมาต่อกิ่งหรือติดตาหรือเปลี่ยนยอดกับต้นตอ ในที่สุดก็ได้ผลผลิตพันธุ์ดีไว้รับประทาน เหลือขายรวมทั้งได้เนื้อไม้เป็นบำนาญชีวิตในระยะยาว

จากชมรมอุ้มชูไทอีสานสู่เครือข่ายปราชญ์ ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานที่พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง 1 ล้านครอบครัวทั่วอีสาน

ความสำเร็จของพ่อทัศน์ กระยอม มิได้จำกัดความยินดีไว้เฉพาะในครัวเรือนของตนเอง หากได้ขยายเครือข่ายในอำเภอแวงน้อยถึง 11 หมู่บ้าน และมีการประชุมปรึกษาหารือกันทุกเดือนมาตั้งแต่ปี 2532 และนอกจากจะขยายผลด้านเกษตรกรรมพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองแล้ว ยังได้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก

6 มีนาคม 2534 พ่อทัศน์ และผู้นำอีสานอีกหลายคนได้พากันไปดูงานที่ประเทศลาว 8 คืน ระหว่างดูงานได้ปรึกษาหารือ เพื่อหาแนวทางขยายเครือข่ายให้อีสานอยู่รอด ในที่สุดได้ตั้งชมรมอุ้มชูไทอีสานโดยมี
1. พ่อบุญศรี สีสูง เป็นธาตุไฟ
2. พ่อผาย สร้อยสระกลาง เป็นธาตุดิน
3. พ่อทัศน์ กระยอม เป็นธาตุน้ำ
4. พ่อหนูเย็น เป็นธาตุลม
โดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนมีสัญญาใจต่อกันที่จะไปขยายเครือข่ายการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง อย่างกว้างขวาง เพื่อมาถักทอกันในอนาคต

ปี 2538 ศาตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้จัดเวทีปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ขึ้นที่บ้านพ่อสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ และได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาของประชาชาติ หลังจากการประชุมในครั้งนั้นได้มีการประชุมกันต่อเนื่องทุก 6 เดือน ภายใต้การจัดการของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาอีสาน และมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น

ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมหภาคในเดือนพฤษภาคม 2540 และความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของภาคอีสาน และของสังคมไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานได้มองเห็นร่วมกันว่า การประชุม 6 เดือนต่อครั้ง น่าจะไม่ทันการในการแก้ปัญหาของภาคอีสาน และของชาติบ้านเมือง ดังนั้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา จึงเกิดการประชุมสัญจร เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานทุกเดือน ภาคใต้การบริหารจัดการของมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1) เพื่อสร้างองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
2) เพื่อส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และพัฒนาผู้นำเหล่านี้ขึ้นเป็นปราชญ์ชาวบ้านรุ่นต่อไป ในการเป็นแบบอย่างของคนรุ่นหลัง
3) เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง 1 ล้านครอบครัวในภาคอีสานภายใน 18 ปี

การรวมตัวกันดังกล่าวเปิดกว้างให้พหุภาคีที่สนใจเข้าร่วมได้ทั้งในรูปแบบของการมาร่วมประชุม การสนับสนุนทุนทรัพย์ การให้ข้อเสนอแนะเป็นต้น และยังได้จัดประชุมใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำองค์ความรู้ออกเผยแพร่ต่อผู้สนใจ

นอกจากนั้น เครือข่ายฯ ยังได้สร้างหลักสูตรวิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองภาคประชาชนหรือเรียกย่อ ๆ ว่า วปอ.ภาคประชาชน โดยหวังผลในการพัฒนาผู้นำชุมชนที่ทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงทุกข์ของแผ่นดินสาเหตุ ทางเลือก การวิเคราะห์ตนเอง ผู้อื่น การขยายเครือข่ายโดยเป็นภาคทฤษฎี 4 วัน และตระเวนไปตามศูนย์ของปราชญ์ชาวบ้านอีก 3 วัน ขณะนี้รุ่นที่ 1 ดำเนินการไปแล้ว 40 คน และผู้นำที่พ่อทัศน์ส่งมาอบรม เช่น พ่อหนูเคน และคุณอดิศร ได้กลายเป็นแกนนำคนสำคัญในการขยายเครือข่ายและขยายกิจกรรมในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองของอำเภอแวงน้อยออกไปอย่างกว้างขวาง

เด็กรักถิ่น 1 ล้านคนในภาคอีสาน

การเรียนการสอนในปัจจุบันทำให้เด็กทิ้งถิ่น เพราะสอนให้พึ่งเงิน พึ่งตลาด พึ่งคนอื่น จึงพึ่งตนเองไม้ได้ ทางแก้ไขคือพาพ่อแม่เด็กมาโสกัน เรียนรู้การพัฒนาเด็กควบคู่ไปกับระบบของโรงเรียน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของโรงเรียนแต่เพียงแห่งเดียว พ่อแม่เด็กจะสอนเด็กเพิ่มเติมในยามว่าง เช่น สอนทำการเกษตรผสมผสาน สอนการทำผักสวนครัว สอนการแปรรูปอาหารและของใช้ เช่น จักสาน แห สวิง กระด้ง กระจาด ทำให้ลดรายจ่าย สอนให้เด็กรู้จักการออม บนกรอบคุณค่า อย่าประมาทเงินน้อย อย่าคอยแต่วาสนา ทำให้เด็กรักถิ่นของบ้านโสกน้ำขาวเริ่มก่อตัวขึ้น และพัฒนาขึ้นตามลำดับ ขณะนี้เริ่มมีการจัดค่ายรักถิ่น ปีละครั้งเพื่อเรียนรู้ ความสำคัญของการพึ่งตนเอง และการพึ่งพากันเอง ความสำคัญของดิน น้ำ ป่า ความสำคัญของครอบครัว ชุมชน และสังคม

เลิกเชื่อคนอื่น หันมาเชื่อภูมิปัญญาชาวบ้าน

นักวิชาการทำการเกษตรเจ๊งมามากต่อมาก แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านทำการเกษตรไม่เคยเจ๊ง ทั้งนี้ เพราะเรามีของดีอยู่แล้วในถิ่นฐานเป็นของดีที่มีคุณค่า มีความรักความเอื้ออาทรต่อเผ่าพันธุ์ให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข พร้อมด้วยคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดี จึงควรมีคนรุ่นใหม่หยุดคิด และหยุดเชื่อคนอื่น หันกลับมาเชื่อภูมิปัญญาชาวบ้านบ้านเราดีกว่า พ่อทัศน์กล่าวปิดท้ายอย่างมั่นใจ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น