ธนาคารกิ่งไม้ใบไม้

28 พฤษภาคม 2557 ภูมิปัญญา 0

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก ด้วยความที่มีวัฒนธรรมประเพณีดีงาม รวมไปถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีหลากหลาย จึงทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง และปัญหาหมอกควัน อันเนื่องมาจากการเผาขยะ เศษกิ่งไม้ใบไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถกำจัดได้ทัน ส่งผลให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น เกิดความเสื่อมโทรมทางทัศนียภาพ และปัญหาหมอกควันพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ตั้งธนาคารใบไม้นำผลิตปุ๋ยหมัก ชุมชนเงินสะพัด-ลดหมอกควัน
จากเดิมทีชาวบ้านส่วนใหญ่ใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ยึดอาชีพด้านการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ส่วนใบไม้มักจะเผาทิ้ง ทำให้เกิดหมอกควัน และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ปัจจุบันหลังจาก “คำมูล เมืองใจ” หรือ “พ่อหลวงคำมูล” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านดง ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ ดำเนินโครงการธนาคารใบไม้แล้ว เพื่อนำใบไม้ไปผลิตปุ๋ยหมัก นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสามารถลดหมอกควันได้เป็นอย่างดี คนในชุมชนได้รวมตัวกัน ทำให้เกิด โครงการธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ จัดทำแผน จัดการเศษกิ่งไม้ใบไม้ รวมไปถึงการทำกิจกรรมธนาคารกิ่งไม้ด้วย

คำมูล บอกว่า ยึดอาชีพเกษตรกรปลูกมันฝรั่ง และรวบรวมผลผลิตมันฝรั่งของลูกบ้านโรงงานมากว่า 12 ปี ทั้งตนและลูกบ้านทำเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมีมาตลอด ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลผลิตตกต่ำ กระทั่งเดือนมีนาคม 2552 ได้ฟังนโยบายและแนวคิดในการทำโครงการธนาคารใบไม้ของ โชคดี อมรวัฒน์ นายอำเภอไชยปราการ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของบุคคลต้นแบบที่มีผลงานดีเด่นระดับภาค ตามโครงการนายอำเภอของประชาชนระดับภาค ประจำปี 2552 รู้สึกว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก เพราะเป็นการปลุกสร้างจิตสำนึกไม่ให้คนเผาใบไม้ และหาวิธีการนำใบให้เกิดประโยชน์

SANYO DIGITAL CAMERA

“โครงการธนาคารใบไม้ ถือเป็นการสอดคล้องกับโครงการปุ๋ยชีวภาพ 44 หมู่บ้านที่เราทำกันอยู่แล้ว และเรากำลังประสบปัญหาวัตถุดิบที่จะมาผสมปุ๋ยชีวภาพขาดแคลน จึงมองว่าใบไม้นี่แหละคือวัตถุดิบชั้นดี ผมจึงเรียกประชุมคณะกรรมการชุมชนอย่างเร่งด่วน เราตกลงกันว่าจะจัดตั้งธนาคารใบไม้ในชุมชนขึ้นมาที่หมู่ 5 บ้านดง ต.แม่ทะลบ เราถือฤกษ์วันที่ 12 เมษายน 2552 เป็นวันแรกที่เรารับซื้อใบไม้จากคนในชุมชน โดยนำเงินจากโครงการเอสเอ็มอีที่เหลือราว 3 หมื่นบาท มาเป็นทุนรับซื้อใบไม้ เพื่อนำเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยในราคากระสอบละประมาณ 7 กก.ในราคา 5 บาท” คำมูล กล่าว

พ่อหลวงคำมูล บอกอีกว่า ปกติชาวบ้านทิ้งใบไม้หรือไม่ก็เผากัน หลังจากตั้งธนาคารใบไม้ในหมู่บ้านแล้ว ทำให้ชาวบ้านรวมมือเป็นอย่างดี ทุกวันนี้จึงมีการผลิตปุ๋ยหมักที่ใช้ใบไม้เป็นส่วนผสมด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมัก คือ นำใบไม้ไปบ่มกับมูลโค-กระบือ ในอัตราส่วนผสมมูลโค-กระบือ 300 กก. และใช้สารเร่งพด.1 ประมาณ 1,000 กก. ใบไม้ 1,000 กก. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 5 กก. หมักไว้ 3 เดือน แล้วนำเข้าเครื่องสับบด จากนั้นให้หมอดินอาสาตรวจสอบดูว่าธาตุอาหารในปุ๋ยที่ผลิตออกมาได้ครบถ้วนหรือไม่

ต้นทุนการผลิตปุ๋ยหมักจากใบไม้รวมค่าแรงด้วย ตกราคา กก.ละ 3 บาท นำไปจำหน่ายให้เกษตรกรในราคา กก.ละ 6 บาท ทำให้ชุมชนเรามีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในกลุ่ม และนำกำไรไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านโดยไม่ต้องรบกวนชาวบ้านเหมือนสมัยก่อน นอกจากนี้ ทุกวันนี้มีชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจัดหาใบไม้เป็นวัตถุดิบมาให้โรงปุ๋ย และสามารถซื้อปุ๋ยในราคาถูกด้วย และที่สำคัญ ใบไม้ที่ไร้ค่ากลายมาเป็นของมีค่าที่พี่น้องชาวบ้านดงต่างหวงแหน ส่งผลให้ตอนนี้กว่าร้อยละ 90 ชาวบ้านไม่มีการเผาขยะอีกแล้ว

tanakarnbaimaig

“บางคนไม่เข้าใจ จึงมีคำถามว่า ทำไมการเผาใบไม้ไปเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน ก็อธิบายว่า การเผาใบไม้ 1 กอง จะเกิดควัน และในควันไฟจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปอยู่บนชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก กั้นไม่ให้ความร้อนขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศได้ ก็จะทำให้ความร้อนกลับมาสู่โลกที่เราอยู่ร้อนขึ้น และจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกิดโรคระบาด ชาวบ้านจึงเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” คำมูลกล่าว

โครงการธนาคารขยะ นอกจากที่สร้างรายได้ นำไปพัฒนาหมู่บ้านแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดใน อ.ไชยปราการปัจจุบัน ปัญหาหมอกควันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นนั่นเอง

ชุมชนต้นแบบที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
มีวิธีจัดการปัญหาการเผาป่า และลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิธีง่ายๆ และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม
สาเหตุของการเกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนหนึ่งมาการเผาวัชพืชริมทาง ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง รวมถึงการเผาขยะจำพวกใบไม้กิ่งไม้ของคนในชุมนุม ทำให้สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงปัญหาหมอกควัน ที่สร้างผลกระทบในหลายๆ ด้าน ต่อมาจึงได้จัดตั้งเป็น ธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย

tanakarnbaimain tanakarnbaimaid

ชาวบ้านต่างเร่งช่วยกันคัดแยกใบไม้แห้ง และกิ่งไม้ออกจากกัน ซึ่งใบไม้แห้งนั้น จะนำไปผสมกับมูลวัว และทิ้งระยะเวลาไว้จนได้ปุ๋ยหมัก ก่อนนำปุ๋ยหมักที่ได้ ไปแบ่งปันให้สมาชิกในชุมชน โดยชาวบ้านที่นำขยะมาฝากกับธนาคาร จะได้ปุ๋ยหมกตอบแทนในอัตราแลกเปลี่ยนกิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนกิ่งไม้ทั้งหมดที่เหลือ ก็จะนำไปเผาเป็นถ่านไร้ควัน หรือทำน้ำส้มควันไม้

ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้เข้ามาร่วมในโครงการธนาคารกิ่งไม้ ใบไม้ ต่างขานรับเป็นอย่างดี โดยชาวบ้านต่างบอกว่า สามารถลดปัญหาขยะ และยังลดการเผาขยะ ตัวชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน ได้เช่นเดียวกัน

SANYO DIGITAL CAMERA

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น