ฤดูกาลที่แปรเปลี่ยนไปตามกลไกธรรมชาติที่ปรับสมดุลให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ถูกกระทำโดยน้ำมือมนุษย์ โลกร้อนขึ้น อากาศแปรปรวน…
น้ำเป็นปัจจัยหลักหนึ่งในการทำการเกษตร บนพื้นฐานเกษตรยั่งยืนแล้วในพื้นที่ใช้การปลูกต้นไม้ช่วยเก็บน้ำเป็นหลัก การเก็บน้ำลงดินในพื้นที่จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ
ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้สมบูรณ์ เพราะธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดมีหน้าที่ในการเติมน้ำลงดิน โดยนำน้ำที่มีบนดินลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็ว เพราะโดยทั่วไป น้ำที่อยู่บนผิวดินกว่าจะซึมซับลงในชั้นดินแต่ละชั้นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชั้นผิวดินมีอากาศแทรกอยู่ ทำให้การซึมซับน้ำลงดินได้ช้า
การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเปิดช่องผิวดินเพื่อการเติมน้ำลงใต้ดินโดยตรงในระดับบนสุดของเปลือกโลกชั้นผิวดิน โดยน้ำที่เติมลงสู่ใต้ดินเป็นน้ำเหลือใช้และน้ำที่เกินจากความต้องการ เช่น น้ำฝน ที่ตกลงมาบนพื้นดินจำนวนมากเกินกว่าที่บ่อใช้รองรับน้ำฝนได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากสะสมนานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสุขภาพของผู้คนในชุมชน
หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด คือการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน แต่ไม่ทะลุชั้นดินเหนียวลงไปสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ โดยมีเป้าหมายสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดการไหลบ่าของน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การเก็บน้ำด้วยวิธีนี้ จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง แต่กรณีพื้นที่ใกล้เคียงกับระบบปิดนี้มีบ่อน้ำตื้นหรือบ่อน้ำซับ ความชุ่มชื้นของดินจะส่งผลทำให้น้ำในบ่อดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือในบางพื้นที่สามารถขุดบ่อน้ำตื้นได้ในระดับไม่เกิน 2-3 เมตร อาจจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี
แนวคิดนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและปัญหาขาดแคลนน้ำหรือสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย ปกติแล้วพื้นที่การเกษตรแต่ละปีมักจะมีฝนตกอยู่ 5-6 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่ จะรับน้ำฝนที่ตกลงมาได้ราว 2,500 ลูกบาศก์เมตร น้ำฝนที่ตกจากที่สูงไหลลงพื้นที่ต่ำ พื้นที่สูงจึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ต่ำกลายเป็นแหล่งรวมน้ำฝนจนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่การเกษตรจึงช่วยเก็บน้ำส่วนเกินลงสู่ใต้ดิน นอกจากลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่การเกษตรอีกด้วย
ลงมือทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในสวน
1. ขุดบ่อวงกลม ขนาดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และระดับน้ำท่วมขัง โดยมากมักมี ขนาดสัดส่วนกว้าง 1 เท่าและลึก 1.5 เท่าของความกว้างระเช่น ขุดบ่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร พร้อมทั้งขุดตรงกลางเป็นสะดือลึกประมาณ 20 เซนติเมตร
2. นำเศษวัสดุมาใส่ในบ่อแทนดินที่ขุดออกไป เช่น กรวดแม่น้ำ หิน ฯลฯ ซึ่งเป็นวัสดุแข็งที่ไม่เป็นพิษต่อดินและน้ำ โดยใส่ในหลุมสะดือพอเต็มก่อน
3. ใส่ท่อ พีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว ตรงกลางบ่อให้ปลายด้านบนสูงพ้นระยะน้ำท่วมถึง เพื่อเป็นท่อระบายอากาศ แล้วจึงนำวัสดุแข็งใส่จนจะเต็มบ่อ
4. การใส่วัสดุควรเว้นระยะขอบบ่อไว้ราว 30-50 เซนติเมตร ใส่ตาข่ายตาถี่วางบนปากหลุม เพื่อป้องกันการอุดตัน หลังจากนั้นใช้ทรายและหินกรวดกลบปิดปากบ่อ ให้น้ำไหลลงไปและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านบนบ่อได้ตามปกติ วิธีนี้ไม่สามารถสูบน้ำจากบ่อขึ้นมาใช้ได้ น้ำที่ถูกเก็บลงสู่ชั้นใต้ดินจะเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน
การเติมน้ำลงดินในสวน อาจจะขุดบ่อทุกๆ 50-100เมตร ตามปริมาณการไหลของน้ำและความลาดเอียงของพื้นที่
เมื่อเรานำน้ำใต้ดินมาใช้ ก็ควรเติมน้ำลงดิน เพื่อความสมดุลของการใช้งาน และความยั่งยืนของธรรมชาติ
ป้ายคำ : จัดการน้ำ