ธนาคารหมู่บ้าน รากฐานเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง

22 มิถุนายน 2557 ศาสตร์พระราชา 0

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ
ในหลวงทรงพระราชทานแก่ข้าราชการ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปว่า
แนวทางแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินเกษตรกร ควรจัดให้มีกองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน โดยวิธีออมทรัพย์ร่วมกัน เพื่อสาธิตการบริหารจัดการเงินและการบัญชีแก่ชาวบ้าน ส่งเสริมการจัดตั้งร้านค้าสาธิตหมู่บ้าน เพื่อฝึกด้านการจัดการตลาด ควรริเริ่มทำธุรกิจชุมชนในหมู่บ้านให้เข้มแข็ง และ แพร่หลาย เพื่อพัฒนาสู่ ระบบหมู่บ้านสหกรณ์ ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต

ขอน้อมนำแนวพระราชทานฯ ใส่เกล้าฯ สู่การปฏิบัติ 5 ขั้น

  • ขั้น ที่ 1 จัดตั้ง ธนาคารหมู่บ้าน
  • ขั้น ที่ 2 สาธิตบริหารการเงิน-การบัญชี
  • ขั้น ที่ 3 จัดตั้ง ร้านค้าสาธิตหมู่บ้าน
  • ขั้น ที่ 4 ส่งเสริมเศรษฐกิจหมู่บ้านให้เข้มแข็ง
  • ขั้น ที่ 5 เพื่อพัฒนาสู่ ระบบหมู่บ้านสหกรณ์ทั่วราชอาณาจักร

ธนาคารหมู่บ้าน รากฐานเศรษฐกิจของคนกระแสบน
จากตำบลที่ทุรกันดาร ชุกชุมไปด้วยโจรผู้ร้ายและไข้ป่า ชาวบ้านมีฐานะยากจนต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน แต่เมื่อเริ่มมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งธนาคารตามแนวพระราชดำริขึ้นมา เริ่มต้นด้วยคนเพียง 17 คน มีเงินรวมกันไม่ถึง 5,000 บาท เวลาผ่านไปเพียง 10 ปีให้หลัง ธนาคารหมู่บ้านก็เติบโตขยายไปสู่ธุรกิจชุมชนต่างๆ ครอบคลุมทั้งตำบล ทั้งร้านค้าชุมชน ร้านเกษตร ศูนย์รับซื้อน้ำยาง ธุรกิจสวนยางพารา ฯลฯ มีเงินทุนหมุนเวียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท และยังมีสวัสดิการดูแลสมาชิกทุกคน จนกลายเป็นตำบลต้นแบบของจังหวัดระยอง

ตำบลกระแสบน อยู่ในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม บางส่วนเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 49,250 ไร่ แบ่งออกเป็น 14 หมู่บ้าน ในอดีตพื้นที่แถบนี้เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ รัฐบาลจึงได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนเพื่อตัดไม้ เมื่อป่าไม้เริ่มหมดไปในราวปี 2510 จึงเริ่มมีชาวบ้านจากทั่วสารทิศเช่น พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ฯลฯ รวมทั้งชาวบ้านในภาคตะวันออก เข้ามาจับจองที่ดินทำกิน บ้างก็เปลี่ยนมือซื้อขายกันในราคาไร่ละ 50 บาท ทำไร่มันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่ ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหย่อมๆ กลุ่มใครกลุ่มมัน การเดินทางติดต่อกับโลกภายนอกก็แสนลำบาก เพราะเป็นพื้นที่ทุรกันดาร มีรถสองแถววิ่งเข้า-ออกระหว่างตำบลกับอำเภอแกลงวันละเที่ยว

ต่อมาในราวปี 2521 มีการตัดถนนจากอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีมายังอำเภอแกลง เรียกว่า ถนนสายบ้านบึง-แกลง ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น เพระมีถนนราดยางผ่านปากทางเข้าสู่หมู่บ้าน เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นจึงทำให้มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยกันหนาแน่นมากขึ้น ปัจจุบันมีประชากรทั้งหมดประมาณ 7,375 คน จำนวน 3,524 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง มะม่วง ขนุน ฯลฯ

บ้านคลองป่าไม้ : ธนาคารตามแนวพระราชดำริ

ปัญญา สำลี ผู้นำชุมชนรุ่นบุกเบิก เล่าทบทวนถึงความเป็นมาว่า ตนเองเข้ามาอยู่อาศัยในตำบลกระแสบนในช่วงปี 2518 ตอนนั้นราคาซื้อขายที่ดินมือเปล่าตกราคาไร่ละ 1,000 บาท ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก เพราะเป็นพืชที่ทนแล้งเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ ต่อมาในราวปี 2526 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีการปลูกยางพารา และปลูกผลไม้ ต่างๆ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ฯลฯ โดยชาวบ้านที่มีพื้นเพเป็นคนในจังหวัดระยองเป็นคนริเริ่มปลูก

หลังจากมีการปลูกยางพาราในตำบลกระแสบนกันมากขึ้น แต่ราคายางกลับตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน ในปี 2536 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. จึงได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันซื้อขายยาง เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ โดยมีการตั้งกลุ่มประมูลยางขึ้นมา เริ่มแรกมีสมาชิกประมาณ 100 รายเศษ มีกรรมการบริหารกลุ่มจำนวน 13 คน

การรวมกลุ่มของชาวสวนยางในตำบลกระแสบนนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น เช่น ร่วมกันเรียกร้องให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดระยอง (รพช.) ทำถนนราดยางเข้าสู่หมู่บ้าน เพราะถนนเดิมเป็นลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ ฝุ่นคลุ้งกระจาย เวลาเข้าออกหมู่บ้านแต่ละที ไม่ว่าลูกเล็กเด็กแดงยันคนแก่คนเฒ่า กลายเป็นฝรั่งหัวแดงกันไปหมด

tanakarnmobanpay

ต่อมาในปี 2541 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดระยองได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านในตำบลกระแสบนจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้นมา โดยทาง รพช.มีโครงการส่งเสริมอาชีพและรายได้ของชาวบ้าน มีการขุดสระน้ำเพื่อเลี้ยงปลาและปลูกพืช เมื่อเห็นว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีหนี้มีสิน ไม่มีแหล่งทุนเป็นของตัวเอง รพช.จึงใช้บ้านคลองป่าไม้ หมู่ที่ 6 เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน โดยใช้แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักยึดในการบริหารจัดการธนาคารหมู่บ้าน ดังพระราชดำริตอนหนึ่งว่า…

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกร ควรให้มีการจัดระบบเงินทุนหมุนเวียนขึ้นในลักษณะศูนย์สาธิตบริหารการเงิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของราษฎรให้ได้ ถ้าสามารถหารูปแบบการสาธิตเป็นผลสำเร็จ ควรนำไปเผยแพร่ขยายทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยในลักษณะเป็นเศรษฐกิจหมู่บ้านและพัฒนาต่อไปเป็นระบบหมู่บ้านสหกรณ์ในอนาคต

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2541 ธนาคารหมู่บ้านจึงได้เปิดดำเนินการขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ บ้านคลองป่าไม้ เปิดรับสมาชิกในตำบลกระแสบนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่จำกัดอายุ มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 17 คน กำหนดให้สมาชิกถือหุ้นอย่างต่ำคนละ 1 หุ้นๆ ละ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 หุ้น กำหนดออมเดือนละ 1 ครั้ง สิ้นปีก็จะนำผลกำไรมาปันผลให้สมาชิกร้อยละ 6 บาท ส่วนสมาชิกที่กู้เงินจะเสียดอกเบี้ยร้อยละ 12 บาทต่อปี โดยมีเงินออมรวมกันครั้งแรกจำนวน 4,850 บาท

ปัญญา สำลี ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารหมู่บ้านฯ เล่าว่า ธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริบ้านคลองป่าไม้ ในช่วงที่เริ่มก่อตั้งยังมีชาวบ้านให้ความสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่มากนัก แต่กรรมการธนาคารฯ ซึ่งมีอยู่ 5 คนก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ บอกปากต่อปาก ในไม่ช้าก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเดือนละ 5-6 ราย ทำให้กลุ่มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

tanakarnmobanch

เราไม่เร่งให้กลุ่มโตเร็ว ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ใครอยากจะสมัครเป็นสมาชิกก็เข้ามา แต่เป็นในรูปแบบ เข้ายาก ออกง่าย เพราะก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกก็ต้องมีการพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจกันก่อน หากจะเข้ามาเพื่อกู้เงินอย่างเดียวเราก็ไม่รับ แต่เมื่อเป็นสมาชิกแล้วหากอยากจะลาออกก็ง่าย ปัญญากล่าว

จากสมาชิกในช่วงก่อตั้งจำนวน 17 คน เมื่อครบสิ้นปีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 50 ราย เงินออมในธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 บาท ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2542 คณะกรรมการธนาคารและสมาชิกจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อขยายขอบข่ายการช่วยเหลือสมาชิกออกไป โดยมีการจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์สมาชิกขึ้นมาในเดือนนั้น กำหนดให้สมาชิกที่กู้ยืมเงินต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ รายละ 200 บาท เมื่อมีสมาชิกรายใดเสียชีวิต กองทุนฯ ก็จะจ่ายเงินทดแทนให้ (ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯ 166 ราย มีเงินกองทุน 41,168 บาท) เมื่อสิ้นปี 2542 ธนาคารหมู่บ้านมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 148 ราย

ต่อมาในเดือนมกราคม 2543 เมื่อดำเนินงานมาได้ 1 ปี 6 เดือน ธนาคารหมู่บ้านจึงได้นำผลกำไรจากการดำเนินกิจการมาจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการให้แก่สมาชิก ปีแรกมีเงินกองทุนประมาณ 40,000 บาท ช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตรรายละ 1,000 บาท ช่วยค่ารักษาพยาบาลสมาชิกที่เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลคืนละ 200 บาท เสียชีวิตรายละ 3,000 บาท ฯลฯ

ขยายฐานสู่ธุรกิจชุมชน

จากธนาคารหมู่บ้านที่เริ่มก่อตั้งในปี 2541 ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ชาวตำบลกระแสบนก็มีธุรกิจชุมชนต่อยอดออกไปอีกมากมาย เช่น จัดตั้งศูนย์รับซื้อน้ำยางพาราขึ้นมา เปิดร้านค้าชุมชน ร้านค้าเกษตร ฯลฯ ผลกำไรก็แบ่งปันให้สมาชิก และใช้เป็นทุนในการขยายกิจการต่อไป

ปัญญา สำลี เล่าต่อไปว่า หลังจากธนาคารหมู่บ้านเริ่มเติบโตมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ มีเงินทุนสำรอง และมีผลกำไรมากขึ้นในแต่ละปีแล้ว ตนและคณะกรรมการธนาคารฯ จึงได้มาปรึกษาหารือกัน และมีความเห็นร่วมกันว่า ควรจะนำเงินที่งอกเงยออกมาไปลงทุนในกิจการอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน ผลกำไรที่ได้ก็จะหมุนเวียนนำไปพัฒนาตำบลต่อไป โดยดูจากพื้นฐานของชาวบ้านในตำบลซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกยางพารากันมาก แต่ถูกโรงงานรับซื้อน้ำยางเอาเปรียบกดราคา บางครั้งก็ถูกโกงน้ำหนัก

ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งศูนย์รับซื้อน้ำยางพาราขึ้นมาในเดือนเมษายน 2544 โดยธนาคารหมู่บ้านได้ร่วมลงทุนเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ จากนั้นจึงเปิดรับซื้อน้ำยางพาราจากชาวบ้าน โดยเปิดรับซื้อทุกวัน ตั้งแต่ 6 โมงถึง 11 โมงเช้า แล้วรวบรวมน้ำยางส่งไปจำหน่ายให้แก่บริษัทที่รับซื้อ บริษัทจะให้ค่าจัดการเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 9 บาทจากราคาน้ำยางที่รับซื้อ ซึ่งค่าจัดการที่ได้รับนี้ ศูนย์ฯ จะแบ่งให้ชาวบ้านกิโลกรัมละ 3 บาท ส่วนที่เหลือ 6 บาทจะใช้เป็นค่าบริหารจัดการและนำไปปันผล เช่น ให้ค่าแรงชาวบ้านที่มาช่วยทำงานกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ค่ารถบรรทุกน้ำยางไปส่งโรงงานกิโลกรัมละ 2 บาท ปันผลให้สมาชิกกิโลกรัมละ 40 สตางค์

ในช่วงปีแรกที่จัดตั้งศูนย์รับซื้อน้ำยาง กลุ่มของเรามีสมาชิกกว่า 40 ราย ขายน้ำยางรวมกันได้เงินประมาณปีละ 20 ล้านบาท ช่วยให้ชาวบ้านขายน้ำยางได้มากกว่าเดิมถึงกิโลฯ ละ 3 บาท และไม่ถูกโกงน้ำหนักด้วย นอกจากนี้เราก็ยังนำผลกำไรที่เหลือเข้ากลุ่มเพื่อเป็นทุนสำรอง และยังมีสวัสดิการให้แก่สมาชิกด้วย เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยคืนละ 200 บาท เสียชีวิตช่วยรายละ 4,000 บาท ปัญญากล่าว

ปัจจุบันสมาชิกศูนย์รับซื้อน้ำยางพาราลดลงเหลือเพียง 14 ราย เนื่องจากมีโรงงานบางแห่งเปิดรับซื้อขี้ยางจากชาวบ้านแล้วให้ราคาดีกว่า เพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง จากเดิมชาวบ้านจะนำน้ำยางพารามาขายให้แก่ศูนย์ฯ แล้วศูนย์จะรวบรวมเพื่อนำไปส่งให้บริษัท แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านจะนำน้ำยางมากวนด้วยน้ำกรด ทิ้งเอาไว้ให้แข็งตัวก็จะได้ ขี้ยาง นำไปขายให้แก่โรงงานส่งออกตลาดต่างประเทศเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์ยางต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศูนย์รับซื้อน้ำยางมีรายได้จากการขายน้ำยางประมาณปีละ 7 ล้านบาทเศษ มีทุนสำรองหมุนเวียนประมาณ 400,000 บาท

ร้านค้าชุมชน : อำไพ พันชะนะ ผู้จัดการร้านค้าชุมชน กล่าวว่า ร้านค้าชุมชนก่อตั้งขึ้นมาในปี 2545 โดยใช้ทุนในการดำเนินการจากธนาคารหมู่บ้านจำนวน 80,000 บาท เพื่อซื้อสินค้ามาจำหน่าย และเปิดรับสมาชิกร้านค้าชุมชนโดยไม่ต้องเสียค่าสมัครเมื่อถึงสิ้นปีก็จะนำผลกำไรจำนวน 20-25% มาปันผลให้แก่สมาชิก (ปีใดมีผลกำไรมากก็จะจัดสรรให้ 25 %) หากสมาชิกรายใดซื้อสินค้าจากร้านค้าชุมชนมากก็จะได้รับเงินปันผลมาก โดยจะมีการลงบันทึกเอาไว้ เมื่อถึงสิ้นปีก็จะมีการคำนวณยอดซื้อของสมาชิกแต่ละราย

ผลกำไรจำนวน 50% จะแบ่งให้แก่ผู้จัดการร้านค้า และส่วนที่เหลือ 25 % จะนำมาเป็นทุนสำรองหมุนเวียน นอกจากนี้ยังจัดสรรนำมาเป็นกองทุนสวัสดิการร้านค้าสำหรับสมาชิกด้วย เช่น ช่วยรักษาพยาบาลสมาชิกที่เข้าโรงพยาบาลคืนละ 200 บาท เสียชีวิตรายละ 2,000-4,000 บาท (ตามจำนวนอายุการเป็นสมาชิก) สินค้าที่ขายก็มีทั้งของกินของใช้ เช่น ข้าวสาร ปลาแห้ง ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา
ไข่ เครื่องดื่ม ไอสครีม ฯลฯ สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ถ่านไฟฉาย สมุด ดินสอ น้ำมันดีเซล-เบนซิน ฯลฯ เปิดขายตั้งแต่เวลา 05.30-20.00 น.ทุกวัน

เมื่อผ่านปีแรกไปแล้วก็มีชาวบ้านสมัครเข้าเป็นสมาชิกร้านค้ามากขึ้น เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมา จากเริ่มแรกมีสมาชิกประมาณ 70 ราย มียอดขายในช่วงที่เปิดร้านค้าใหม่ๆ ประมาณวันละ 4,000 บาท สมาชิกก็ขยายเป็น 100 กว่าราย ยอดขายก็กลายเป็นวันละหมื่นบาท ผู้จัดการร้านค้าชุมชนกล่าว

tanakarnmobanrayong

ปัจจุบันร้านค้าชุมชนมีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 307 ราย มียอดขายประมาณวันละ 20,000 บาทเศษ ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2554 มีรายได้ทั้งหมด 8,740,555 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรสุทธิ 1,283,815 บาท ปันผลให้สมาชิก 203,299 บาท อุดหนุนกองทุนสวัสดิการ 40,000 บาท และเป็นทุนสำรอง 278,532 บาท ร้านค้าเกษตร : วิทยา สำลี ผู้จัดการร้านเกษตร กล่าวว่า ร้านค้าเกษตรจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านจะต้องไปซื้ออุกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ รวมทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ จากร้านค้าภายนอก ปีหนึ่งๆ เป็นเงินรวมกันนับล้านบาท ดังนั้นในปี 2547 จึงได้เปิดร้านค้าเกษตรขึ้นมา โดยใช้เงินทุนจากธนาคารหมู่บ้านจำนวน 160,000 บาทมาดำเนินการ สินค้าที่ขายได้แก่ ปุ๋ยต่างๆ ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ท่อพีวีซี อุปกรณ์ในการทำสวนยาง ฯลฯ

ส่วนยอดขาย หากเป็นช่วงหน้าแล้งไม่ได้กรีดยาง จะขายได้ไม่ถึงวันละ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูปลูกพืชไร่จะขายได้วันละ 40,000-50,000 บาท โดยเฉพาะปุ๋ยจะขายได้มาก แต่หากใครจะขอเครดิตซื้อเงินเชื่อเราก็จะให้ แต่จะดูจากความจำเป็น ดูประวัติ ไม่ได้กำหนดวงเงิน คนที่สมัครเป็นสมาชิกร้านค้าเกษตรก็จะมีสวัสดิการเหมือนกับร้านค้าชุมชน สิ้นปีก็จะนำผลกำไรจำนวน 25% มาปันผลให้สมาชิก ผู้จัดการรายค้าเกษตรกล่าว

ปัจจุบันร้านค้าเกษตรมีสมาชิกจำนวน 180 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 340,000 บาท สิ้นปี 2554 มีรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมด 1,067,703 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรสุทธิ 163,206 บาท

ผลักดันยางพาราให้เป็นธุรกิจครบวงจร

ปัจจุบันยางพารากลายเป็นพืชเนื้อหอม ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเกษตรกรต่างหันมาปลูกยางพารากันยกใหญ่ เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว มีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีความต้องการใช้ยางพาราสูง จึงเป็นปัจจัยผลักดันให้ยางพาราซึ่งแต่เดิมมีราคากิโลกรัมละ 20 กว่าบาท ขยับขึ้นไปเป็น 50-60 บาท และเกิน 100 บาทในปัจจุบัน

ที่ตำบลกระแสบนก็เช่นเดียวกัน จากการปลูกยางพาราในช่วงแรกๆ ประมาณปี 2526 ซึ่งมีผู้ปลูกเพียงไม่กี่ราย พื้นที่ปลูกไม่กี่ร้อยไร่ ต่อมาจึงขยับขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ ตามราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งหมดประมาณ 55 % จากพื้นที่ทั้งหมดในตำบล 49,250 ไร่ สร้างรายได้เข้าตำบลไม่ต่ำกว่าปีละ 20 ล้านบาท จนนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์รับซื้อน้ำยางพาราขึ้นมา แล้วขยายไปสู่การประมูลยางแผ่น และธุรกิจปลูกสวนยาง

การประมูลยางแผ่น แต่เดิมชาวบ้านจะรวบรวมยางแผ่นไปขายที่โรงงานในลักษณะต่างคนต่างขาย และไม่ได้คัดแยกเกรดให้ละเอียด ทำให้ทางโรงงานรับซื้อยางในราคาต่ำ ต่อมาในปี 2537 ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันปรับปรุงคุณภาพยางแผ่นขึ้นมา แล้วคัดเกรดยางแผ่นออกมาตามคุณภาพ ไม่ใช่ขายคละเกรดแบบเดิม ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น จากนั้นเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้นมาในปี 2541 แล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดตั้งเป็นศูนย์ประมูลยางแผ่นที่บ้านคลองหวาย หมู่ที่ 12 เพื่อรับซื้อยางแผ่นจากชาวบ้าน แล้วขายให้บริษัทยางด้วยการประมูลผ่านทาง สกย. โดยชาวบ้านที่นำยางมาขายผ่านศูนย์ฯ จะถูกหักเงินร้อยละ 1 บาทเพื่อนำมาเป็นค่าบริหารจัดการ

ศูนย์รับซื้อยางแผ่นจะเปิดบริการเดือนละ 2 ครั้ง โดยศูนย์จะรวบรวมยางแผ่นจากชาวบ้านในตอนเช้า แล้วคัดเกรดยางแผ่นออกมาตามคุณภาพ ว่ามียางแผ่นเกรดไหน ปริมาณกี่ตัน จากนั้นจึงโทรศัพท์แจ้งไปทาง สกย. แล้วสกย.ก็จะแจ้งปริมาณและเกรดยางแผ่นให้บริษัทเอกชนทราบ หากพ่อค้าหรือบริษัทรายใดประมูลราคาได้สูงสุด สกย.ก็จะโทรฯ แจ้งให้ชาวบ้านทราบ วิธีนี้จะทำให้ชาวบ้านขายยางได้ราคาดี และไม่ต้องเสียเวลาขนยางไปขายเองด้วย ส่วนเงินพ่อค้าก็จะโอนมาให้ผ่านบัญชีธนาคาร เป็นการค้าขายที่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งชาวสวนก็จะต้องผลิตยางให้ได้คุณภาพด้วย ปัญญา สำลี กล่าว

ธุรกิจปลูกสวนยาง เริ่มต้นในปี 2553 หลังจากเห็นว่ายางพารามีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ คณะกรรมการธนาคารหมู่บ้านฯ จึงได้ปรึกษาหารือกัน แล้วแจ้งให้สมาชิกที่ประชุมใหญ่รับทราบว่าจะนำเงินจากธนาคารหมู่บ้านฯ ที่มีสำรองอยู่และเหลือจากการกู้ยืมมาลงทุนให้เกิดดอกผล โดยจะนำไปซื้อสวนยางในตำบลที่มีคนต้องการขายจำนวน 40 ไร่ ราคา 2.4 ล้านบาท เมื่อสมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบจึงได้เปิดระดมหุ้นจากสมาชิก หุ้นละ 100 บาท คนหนึ่งสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 50,000 บาท ได้เงินลงหุ้นจากสมาชิกทั้งหมด 1.3 ล้านบาทเศษ สมาชิกทั้งหมด 64 ราย เงินค่าสวนยางส่วนที่เหลือก็ใช้เงินจากธนาคารหมู่บ้านจำนวน 1.1 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ในปี 2554 ยังซื้อสวนยางแปลงที่ 2 เนื้อที่ 11 ไร่ ราคา 1.8 ล้านบาท โดยใช้เงินจากธนาคารหมู่บ้านทั้งหมด

สวนยางแปลงแรกเนื้อที่ 40 ไร่ จะเริ่มกรีดยางได้ในปี 2555 นี้ ส่วนแปลงที่ 2 สวนยางมีอายุได้ 3 ปี อีกประมาณ 3-4 ปีจึงจะเริ่มกรีดได้ หากกรีดยางได้ทุกแปลงแล้ว ในพื้นที่ 1 ไร่จะกรีดยางได้ประมาณวันละ 2.5 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนหนึ่งกรีดยางได้ 15 วัน เดือนหนึ่งจะได้ยางไร่ละ 37.5 กิโลกรัม รวมพื้นที่สวนยางทั้งหมด 40 ไร่ จะได้ยางเดือนละประมาณ 1,500 กิโลกรัม ราคาขายขั้นต่ำกิโลกรัมละ 100 บาท จะมีรายได้ทั้งหมดประมาณเดือนละ 150,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วก็จะมีรายได้เกือบ 100,000 บาทต่อเดือน โดยในปีหนึ่งๆ จะกรีดยางได้ประมาณ 8 เดือน

สำหรับแผนธุรกิจที่ต่อเนื่องกับสวนยางพารานั้น ปัญญา สำลี กล่าวว่า ทางคณะกรรมการและชาวบ้านมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตยางแผ่นและแปรรูปยางพาราขึ้นมา เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะสามารถทำรายได้สูงกว่าการขายน้ำยางหรือขายยางแผ่นเพียงอย่างเดียว เช่น หากขายน้ำยางหรือยางดิบจะได้เงินสูงสุดกิโลกรัมละไม่เกิน 200 บาท แต่หากนำไปผลิตเป็นถุงมือยางก็จะขายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 800 บาท หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 4 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม การผลิตและการแปรรูปยางพารามีรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ในการบริหารงานมากมาย ซึ่งชาวบ้านยังขาดความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้ แต่หากมีความพร้อมเมื่อไหร่ก็จะสามารถลงมือทำตามแผนงานได้ทันที

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดสารเคมี

แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลกระแสบนจะใช้ปุ๋ยและสารเคมีในสวนยางพาราและสวนผลไม้มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ก็มีความพยายามของเกษตรกรบางส่วนที่จะหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้ดินฟื้นตัวจากสารเคมีที่สะสมอยู่ในเนื้อดิน

สรรเสริญ วงษ์จันทร์ ประธานกลุ่มทรัพยากรลุ่มน้ำประแสร์ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในตำบลกระแสบนเริ่มมีการรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในปี 2550 โดยเริ่มจากหมู่ที่ 12 บ้านคลองหวาย และต่อมาได้ขยายไปยังหมู่ที่ 7 บ้านเขาผักกูด โดยใช้เงินจากธนาคารหมู่บ้านจำนวน 70,000 บาท เพื่อนำไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตปุ๋ย และซื้อวัตถุดิบต่างๆ เพื่อนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ เช่น เปลือกมันสำปะหลัง ขี้วัว ขี้ไก่ ฯลฯ นำมาคลุกเคล้ากับสารเร่ง พด. โดยจะผลิตปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ได้ปุ๋ยครั้งละ 100 ตัน นำมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกและชาวบ้านทั่วไปในราคาตันละ 2,500 บาท ถูกกว่าปุ๋ยเคมีที่ขายกันตันละหมื่นบาทเศษ

ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จะนำไปใส่ในสวนผลไม้ ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ฯลฯ รวมทั้งใส่เป็นปุ๋ยเสริมให้แก่สวนยางพาราในช่วงกลางปีด้วย แม้ว่าในตอนแรกจะเห็นผลช้า แต่จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว เพราะจะเกิดจุลินทรีย์และไส้เดือนในดินมากมาย ทำให้ดินดีขึ้น ไม่มีสารพิษตกค้าง

นอกจากนี้ก็ยังผลิตสารชีวภาพเพื่อใช้กับยางพารา ป้องกันไม่ให้หน้ายางพาราที่กรีดติดเชื้อรา โดยจะใช้เปลือกมังคุดที่มีฤทธิ์ในการป้องกันเชื้อรา มาหมักรวมกันกับ บอระเพ็ด ลูกหมาก และน้ำตาลทรายแดง จากนั้นจึงนำน้ำสมุนไพรชีวภาพที่หมักได้มาทาหน้ายางพาราเพื่อกำจัดเชื้อรา ทำให้หน้ายางไม่เสีย และช่วยให้เปลือกยางนิ่มกรีดยางได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสวนยางพาราซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักและใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาเสริมนั้น ปัจจุบันสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสวนยางผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อส่งให้แก่ชาวสวนยาง โดย สกย.จะรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่าย จากเดิมที่ชาวสวนยางเคยซื้อปุ๋ยเคมีจากร้านค้าในแบบถุงสำเร็จซึ่งจะได้ปุ๋ยที่ไม่เต็มสูตร หรือได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพไม่ครบถ้วน ซึ่งในปี 2554 นี้ สกย.ได้อนุมัติให้กลุ่มเกษตรกรสวนยางตำบลกระแสบนผลิตปุ๋ยเคมีจำนวน 500 ตัน โดยซื้อแม่ปุ๋ยเพื่อนำมาผสมเองให้ได้คุณภาพครบถ้วนตามสูตร แล้วนำมาบรรจุลงกระสอบๆ ละ 50 กิโลกรัม ซึ่งจะได้ทั้งหมด 10,000 กระสอบ เพื่อนำไปส่งให้แก่ชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการกับ สกย.ต่อไป โดยกลุ่มเกษตรสวนยางจะได้ค่าตอบแทนกระสอบละ 50 บาท

กองทุนที่ดินและการแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย

ถึงแม้ว่ายางพาราจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวบ้านมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ แต่เมื่อแห่ปลูกกันมากๆ ราคาก็อาจจะตกต่ำโดยชาวบ้านไม่ทันได้ตั้งตัว และอาจจะทำให้ชาวบ้านต้องเป็นหนี้เป็นสิน ที่ดินต้องพลอยหลุดมือไปด้วย ขณะเดียวกันครอบครัวที่ขยายออกไปทำให้ที่ดินในตำบลไม่เพียงพอที่จะทำกิน ดั้งนั้น ทางคณะกรรมการของแต่ละหมู่บ้านจึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลที่ดินทำกินในตำบล เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่อไป

วินัย สนธิ กำนันตำบลกระแสบน กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลทำให้ทราบว่า ชาวบ้านในตำบลไม่มีที่ดินทำกิน โดยต้องเช่าที่ดินทำกินจำนวน 519 ครอบครัว และขาดแคลนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของตนเอง จำนวน 216 ราย ดั้งนั้นคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านจึงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการจัดตั้งกองทุนที่ดินขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านที่จะเข้าร่วมโครงการสมทบเงินเข้ากองทุนที่ดินรายละ 100 บาทต่อเดือน โดยในเบื้องต้นจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินอยู่อาศัยจำนวน 216 รายก่อน ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงพบว่ามีพื้นที่ของกรมชลประทานที่บริเวณตำบลชุมแสง เขตอำเภอ วังจันทร์ จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่เศษ

เรามีตัวอย่างการจัดสรรที่ดินของกรมชลประทานเพื่อให้ชาวบ้านเข้าทำกินที่บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกรายแล้ว จึงเห็นว่าที่ดินในตำบลชุมแสงที่กรมชลประทานไม่ได้ใช้ประโยชน์น่าจะนำมาจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้ เราจึงได้คุยกับทางกรมชลประทาน ภูมิภาคที่ 6 ซึ่งดูแลพื้นที่นั้นอยู่เพื่อขอใช้พื้นที่ และได้ทำโครงการเสนอไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนด้วย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตำบลกระแสบน กำนันวินัยกล่าว

tanakarnmobann

โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยดังกล่าว ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช.ไปแล้วในปี 2554 จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อรองรับชาวบ้านจำนวน 216 ราย โดยจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 1 ไร่ ซึ่งในเบื้องต้นทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้อนุมัติงบประมาณมาแล้วจำนวน 110,000 บาท เพื่อใช้ในการสำรวจข้อมูลต่างๆ เช่น การถือครองที่ดิน และการจัดประชุมฝึกอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน หลังจากนั้นจึงจะเสนอเรื่องเพื่อขอใช้ที่ดินจากกรมชลประทานต่อไป

สภาองค์กรชุมชนแม้ยัง คล่องแคล่ง แต่จะเดินหน้าต่อไป

คมเดช วงศ์ทิน รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกระแสบน เล่าถึงบทบาทของสภาฯ ว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลก่อตั้งในเดือนสิงหาคม 2551 โดยมีกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วมจัดตั้งจำนวน 19 กลุ่ม ปัจจุบันเพิ่มเป็น 18 กลุ่ม มีสมาชิกสภาฯ ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านหมู่ต่างๆ หมู่ละ 4 คน รวมเป็น 48 คน ที่ผ่านมาสภาฯ เป็นเวทีให้ชาวบ้านได้นำทุกเรื่องทุกปัญหามาพูดคุยกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาหลักและชาวบ้านให้ความสนใจ

ในช่วงแรกการขับเคลื่อนงานของสภาองค์กรชุมชนยังคล่องแคล่ง ยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นงบประมาณ เราก็ต้องชี้แจงว่า สภาองค์กรเป็นเวทีให้ชาวบ้านมาพูดคุย เสนอปัญหา แล้วช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่จะเอาเงินเป็นตัวตั้ง เพราะสภาฯ ไม่มีเงิน ไม่มีงบประมาณ ดังนั้นจึงต้องเอาเรื่องที่ชาวบ้านให้ความสนใจและเป็นเรื่องสำคัญเข้ามาพูดคุย เช่น เรื่องกองทุนสวัสดิการ เรื่องที่ดินมาคุยกันก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะดึงหน่วยงานใด ดึงงบประมาณจากที่ใดมาสนับสนุนชาวบ้านได้ จึงทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจบทบาทของสภาฯ เริ่มเข้าใจ รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลฯ กล่าว

สำนวน คล่องแคล่ง ตามสำเนียงของชาวระยองฮิ มีความหมายว่า เดินไม่ถนัด หรือเดินแบบ กะโผลกกะเผลก แต่รองประธานสภาองค์กรชุมชนฯ ก็ยืนยันว่า คณะกรรมการสภาฯ ทั้งหมด ตลอดจนที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ จะร่วมกันขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนให้เดินหน้าต่อไป ด้วยก้าวย่างที่มั่นคง แข็งแรง ไม่คล่องแคล่งหรือสะดุดหกล้มเสียก่อน

บทสรุป : 14 ปีของธนาคารหมู่บ้าน

จากเดือนมิถุนายน 2541 จนถึงปลายปี 2554 เป็นช่วงเวลาก้าวขึ้นสู่ปีที่ 14 ของธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริบ้านคลองป่าไม้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีถึงการสร้างวินัยการออมเงินให้แก่ชาวบ้าน ตลอดจนลูกเล็กเด็กแดงได้เป็นอย่างดี เด็กๆ หลายคนมีเงินเก็บออมไว้เป็นทุนการศึกษาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ส่วนสมาชิกที่สมัครตั้งแต่รุ่นแรกๆ ก็มีเงินฝากหลายหมื่นบาท บางคนที่ขยันเก็บออมก็มีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท เงินที่พวกเขาร่วมกันออมก็นำไปให้ชาวบ้านกู้ยืมใช้จ่ายในยามจำเป็น ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ ดอกผลก็นำมาแบ่งปันกัน เมื่อมีเงินเหลือจึงนำไปลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้ธนาคารและกลุ่มต่างๆ แตกราก แตกใบออกไป สมดังคำขวัญของธนาคารหมู่บ้านฯ ที่กล่าวว่า…

ส่งเสริมการออม พร้อมเป็นแหล่งเงินทุน เกื้อหนุนสวัสดิการ ขยายงานเศรษฐกิจชุมชน

ปัจจุบันธนาคารหมู่บ้านมีสมาชิกทั้งหมด 532 คน เปิดทำการทุกวันที่ 2 ของเดือน ให้สมาชิกกู้ยืมเงินได้หลายประเภท เช่น กู้ฉุกเฉินไม่เกิน 9,000 บาท กู้สามัญไม่เกินร้อยละ 90 ของทุนเรือนหุ้น กู้ระยะกลาง ไม่เกิน 3 เท่าของทุนเรือนหุ้น แต่ไม่เกิน 84,000 บาท กู้ระยะยาว ไม่เกิน 5 เท่าของทุนเรือนหุ้น แต่ไม่เกิน 150,000 บาท ชำระคืนภายใน 42 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 บาทต่อปี
รายงานสถานะการเงินของธนาคารหมู่บ้านฯ เมื่อสิ้นปี 2554 ระบุว่า ยอดทุนเรือนหุ้นมีจำนวน 7,889,955 บาท เงินฝากออมทรัพย์ 3,275,878 บาท ยอดรวมเงินกู้ 9,127,275 บาท มีรายได้หลังจากหักค่าใช้จำนวน 993,890 บาท รวมแล้วมียอดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งดอกผลเหล่านี้นอกจากจะปันให้สมาชิกและนำไปลงทุนแล้ว ยังจัดสรรเป็นเงินกองทุนสวัสดิการสมาชิกธนาคารหมู่บ้านอีก ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 347,266 บาท กองทุนนันทนาการสำหรับฝึกอบรมและดูงานจำนวน 290,399 บาท และยังจัดสรรเป็นค่าของขวัญให้สมาชิกจำนวน 50,000 บาท

และกองทุนสวัสดิการนักเรียนจำนวน 10,000 บาท ซึ่งกองทุนสวัสดิการนักเรียนนี้ ธนาคารหมู่บ้านเริ่มสมทบตั้งแต่ปี 2551 เพื่อช่วยเหลือนักเรียนบ้านคลองป่าไม้ที่เจ็บป่วย เช่น นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 200 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 43,308 บาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากสวัสดิการจากธนาคารหมู่บ้านและสวัสดิการกองทุนต่างๆ แล้ว ชาวตำบลกระแสบนยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2550 โดยสมาชิกจะต้องสมทบเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 731 คน มีเงินกองทุนสวัสดิการจำนวน 678,218 บาท

ปัญญา สำลี ประธานธนาคารหมู่บ้านฯ กล่าวว่า ความยั่งยืนของธนาคารหมู่บ้านมาจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทุกคน โดยเฉพาะกรรมการธนาคารที่มีความเข้มแข็ง มีความซื่อสัตย์ บริหารงานด้วยความโปร่งใส มีการตรวจสอบบัญชีอย่างถูกต้อง
มีการกระจายผลประโยชน์และสวัสดิการให้สมาชิกอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ต้องยอมรับว่า ในช่วงแรกๆ คนที่เป็นสมาชิกก็อยากจะได้เงิน ได้สวัสดิการ แต่เรามองมากกว่านั้น เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยได้ช่วยเหลือกัน ธนาคารจึงเป็นเครื่องมือในการรวมคน รวมเงินเพื่อนำมาช่วยเหลือกัน และช่วยพัฒนาความสามารถของชาวบ้าน ให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้และมีความเข้มแข็ง ซึ่งต่อไปธนาคารหมู่บ้านจะจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติด้วย ส่วนร้านค้าชุมชนต่อไปเราก็จะนำระบบบาร์โค้ด และเครื่องพิมพ์ใบเสร็จมาใช้ เพื่อให้สามารถเช็คสต็อกสินค้าและตรวจสอบยอดซื้อขายได้สะดวก ประธานธนาคารหมู่บ้านฯ กล่าวในตอนท้าย

ที่มา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น