ธนาคารแรงงาน เป็นรูปแบบธนาคารแรงงานที่มีการสะสมและแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานของสมาชิก โดยพัฒนารูปแบบมาจากประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างการแขกเกี่ยวข้าว
ธนาคารแรงงาน ต.บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนการวิจัยโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุลตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชัยภูมิ (พ.ศ.2550-2553) ในพื้นที่ 17 จังหวัด จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งใน 17 จังหวัดซึ่งมีนายสมโภชน์ หมู่หมื่นศรี อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอำเภอเมืองชัยภูมิ เป็นหัวหน้าโครงการ กระบวนการทำงานเน้นการจัดการเรียนรู้ของชาวบ้านโดยใช้บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน การสร้างเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้านชุมชน เน้นการผลิตเพื่อการบริโภคภายใน โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน สุขภาวะ และปัญหาอื่นๆ ของพื้นที่
จังหวัดชัยภูมิดำเนินการในพื้นที่ 12 ตำบล โดยบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีนวัตกรรมชุมชนเกิดขึ้น จากการต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่ นายเสนอ นราพล กำนันตำบลบ้านบัว ผู้ก่อตั้ง ธนาคารแรงงานบ้านบัวหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบัว เปิดเผยว่าที่มาของการก่อตั้งธนาคารแรงงาน มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งกิจกรรมหลักที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนได้ดำเนินการ คือ การจดบัญชีรับ-จ่าย ครัวเรือน ซึ่งที่บ้านบัว หมู่ 1 เมื่อปี 2550-51 ที่ผ่านมานั้น มีคนจดบัญชีเพียงแค่ 9 รายเท่านั้น แต่ก็เป็น 9 รายที่มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะมีการนำข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และแรงงานหายากมาตั้งวงพูดคุยกัน ประกอบกับข้อมูลครัวเรือนของตำบลบ้านบัว จำนวน 600 ราย นั้น ค่าจ้างแรงงานเป็นอันดับที่ 5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 22 รายการ จากการหารือ และได้ข้อสรุปว่าจะกลับไปใช้วิธีลงแขกแบบรุ่นพ่อแม่ โดยมาช่วยกันทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน แต่ใช้แรงงานของตนแลกเปลี่ยนกัน
ธนาคารแรงงานบ้านบัว จึงเกิดขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 12 ราย และขยายเป็น 40 รายในปัจจุบัน ระบบการบริหารจัดการของธนาคารแรงงาน มีการสรรหาบุคคลากรมาบริหารจัดการ โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกลงมติให้กำนันเสนอ นายนราพล เป็นประธาน และนางหนูทัด บริบูรณ์ เป็นผู้จัดการ ซึ่งหน้าที่ของผู้จัดการจะต้องเป็นคนวางระบบ จัดสรรแรงงานให้ลงตัวกับวันและเวลาที่กำหนด โดยกิจกรรมจะเกิดขึ้นอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูดำนำ (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) และช่วงฤดูเกี่ยวข้าว (เดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม) ผู้จัดการธนาคารแรงงานจะมีบทบาทในการวางตัวบุคคลและคอยติดตามประสานงานกับทางสมาชิก เพื่อให้ระบบการวางงานเป็นไปได้โดยไม่ติดขัด
ผลที่ได้รับจากการจัดตั้งธนาคารแรงงาน
การขยายผล ขณะนี้ได้ขยายธนาคารแรงงานออกไปอีก 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ โดยประยุกต์หลักการเป็นแต่ละคนจะได้รับค่าจ้างวันละ 100 บาท โดยแต่ละคนจะห่อข้าวไปกินเอง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานโดยทั่วไปอย่างต่ำวันละ 150 250 บาท / วัน จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มครัวเรือนเล็กๆ จนมาถึงการก่อตั้งกลุ่มเป็นธนาคารแรงงานของบ้านบัว ทำให้เห็นภาพของการรู้จักตัวตน และเป็นบทพิสูจน์ของการพึ่งพาตนเอง ไม่รอคอยการแก้ไขปัญหาจากภายนอก เป็นการแก้ไขปัญหาของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
ที่มาข้อมูล: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ป้ายคำ : ภูมิปัญญา