ธรรมรักษา เพิ่มสิริมงคล

ธรรมรักษาเป็นพืชอวบน้ำยืนต้น มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ลำต้นเหนือดิน เรียกว่า ลำต้นเทียม ธรรมรักษาสามารถปลูกได้ดีในดินที่เป็นกรดไปจนถึงด่างเล็กน้อย (pH ประมาณ 5.4-6.2) ดินควรเป็นดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำดี

ชื่อสามัญ. Heliconia Undecided
ชื่อวิทยาศาสตร์. Heliconia spp.
ชื่อพื้นเมือง. ต้นธรรมรักษา ก้ามกุ้ง สร้อยกัทลี

ลักษณ์ทั่วไป
ธรรมรักษาเป็นพืชล้มลุกข้ามฤดูหรือหลายฤดู เป็นชนิดเล็กที่มีความสูง 0.6 2 เมตร ขยายกอเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ลำต้นใต้ดินแบบเหง้า (Rhizome) คล้ายขิง ส่วนเหนือดินเรียกว่าลำต้นเทียม ซึ่งประกอบด้วย กาบใบเรียงซ้อนสลับกันคล้ายกาบกล้วย ใบมีลักษณะคล้ายใบกล้วย ลักษณะของกอแบ่งออก เป็น 2 ลักษณะคือ กอแน่น กอลักษณะนี้ เหง้าจะมีข้อชิดกันทำให้หน่อใหม่เกิดชิดโคนต้นเดิมจึงทำให้กอมี ลักษณะแน่น กอขยายกว้าง กอลักษณะนี้เหง้าจะมีข้อห่างกันทำให้หน่อเกิดใหม่เกิดห่างต้นเดิมกอขยายกว้าง อย่างรวดเร็ว ช่อดอกจะเกิดขึ้นที่กลางลำต้นเทียม ช่อดอกประกอบด้วย ก้านช่อดอก (Peduncle) ก้านต่อระหว่าง ใบประดับ (Rachis) ใบประดับ (Bract) ซึ่งรองรับดอกอยู่ เรียงสลับกันเหมือนรูปเรือ ใบประดับ อาจอยู่ในระนาบเดียวกันหรือต่อกันก็ได้แล้วแต่พันธุ์ ใบประดับมีหลายสี (แดง, ชมพู, เหลือง, และแสด) ภายในกลีบประดับจะมีดอกคล้ายดอกกล้วยเล็ก ๆ เรียงกันอยู่แถวเดียว ดอกนี้เรียกว่า ดอกจริง ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ และกลีบดอก 3 กลีบ ทั้งหมดนี้ จะหลอมติดกันเป็นหลอดภายในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ซึ่งจะเจริญเพียง 5 อัน อีก 1 อันเป็นหมัน รังไข่ อยู่ใต้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ภายในมี 3 ช่องเป็นผลนุ่ม เมล็ดคล้ายเมล็ดกล้วย แข็ง ผลสุกมีสี น้ำเงิน ถ้าเป็นชนิดที่มาจากทวีปอเมริกา และมีสีแดงถ้ามาจากหมู่เกาะแปซิฟิก

tammaraksabai tammaraksachor

เนื่องจากช่อดอกตั้งมีลักษณะคล้ายปักษาสวรรค์ (Strlitzia regimae หรือ Bird of paradise) จึงมีการเรียกชื่อผิดอยู่เสมอ ธรรมรักษาชนิดนี้มีหลายพันธุ์ เช่น แซสซี (Sassy สีชมพูโคนสีครีม) , เลดี้ได (Lady di สีแดงเข้ม) , ฟูเซีย (Fuchsia สีแดงม่วง) , พาราคีท (Parakeet โคนกลีบประดับสีเหลืองครีม ปลายสีแดงหรือชมพู) และลูกผสมของซิตาคอรัม เช่น โกลเดนทอร์ซ (Golden Torch สีเหลือง) ซึ่งนิยมปลูกตัดดอกขายในปัจจุบันเพราะมีกลีบดอกหนา และสีสดใส ลักษณะอวบน้ำยืนต้น (Herbaceous Perenial)

การกระจายพันธุ์
ตามธรรมชาติจะพบ ตั้งแต่ Tropic of Cancer ในตอนกลางของประเทศเม็กซิโก จนถึง Tropic of Capicorn ในอเมริกาใต้ และรวมทั้งเกาะในแถบแคริบเบียน ธรรมรักษาส่วนมากจะพบในเขตชื้นหรือแฉะแต่ก็พบบ้างในบริเวณที่มีช่วงแล้ง ระดับความสูงที่พบนั้นพบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึง 1,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แต่จะเจริญได้สมบูรณ์ที่สุดที่ระดับต่ำกว่า 460 เมตร นอกจากนี้ยังพบธรรมรักษาในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ จากหมู่เกาะซามัว ไปจนถึงเกาะซาลาเวซี ซึ่งอยู่กลางหมู่เกาะอินโดนีเซีย ปัจจัยยังไม่ทราบว่าการกระจายพันธุ์จากทวีปอเมริกาไปยังหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ เมื่อหลายล้านปีก่อน เกิดขึ้นโดยวิธีใด ปัจจุบันความนิยมปลูกธรรมรักษามีมากขึ้น จึงพบอยู่ทั่วไปในเขตร้อนของโลก รวมทั้งในแอฟริกาและเอเซียด้วย

ต้นธรรมรักษานั้น เป็นไม้ล้มลุกที่มีมากมายหลายพันธุ์ แต่ที่ชาวไทยถือว่า เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการปลูก เพื่อเพิ่มสิริมงคล คือ พันธุ์แคริเบีย พันธุ์ชิตาคอริม พันธุ์ซาร์เตซี และพันธุ์เพนดุลา
ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้นั้น มีความหมายไปในทางที่ดี เพราะธรรมรักษาหรือธรรมะนั้น คือการรักษาในสิ่งที่ดีงาม หรือ ผู้ที่มีคุณธรรมซึ่งควรแก่การเคารพบูชา
ดังนั้น ธรรมรักษา จึงหมายถึง การช่วยคุ้มครองรักษาให้แคล้วคลาด จากภัยอันตรายทั้งปวง และคนในบ้าน ก็จะมีคุณธรรมอันดีงามเสมอไป

tammaraksadoks tammaraksadok

ดอกของต้นไม้ชนิดนี้ ชาวไทยนิยมนำมาใช้บูชาพระ เพราะเชื่อว่า เป็นดอกไม้ที่เหมาะสำหรับบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ชาวพุทธทั้งหลายนิยมบูชา
คนโบราณเชื่อกันว่า หากครอบครัวใด ที่ปลูกต้นธรรมรักษาเอาไว้ในบริเวณบ้าน สมาชิกทุกคนภายในบ้าน ก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครองแคล้วคลาดจากอันตราย คนในครอบครัวจึงมีแต่ความสงบสุข

tammaraksatons

ความเชื่อ ปลูกต้นธรรมรักษาไว้ประจำบ้าน จะช่วยคุ้มครองและรักษา ให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านและผู้อาศัย เพราะธรรมรักษาเป็นไม้มงคลนาม นอกจากนี้ยังได้นำดอกของธรรมรักษา มาประกอบในพิธีบูชาพระได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะธรรมรักษา หรือ ธรรมะ คือการรักษาในสิ่งที่ดีงาม มีคุณธรรมซึ่งควรเคารพและบูชา ดังนั้นจึงเชื่อว่า การรักษาธรรมะ หรือ ธรรมรักษา คือ การช่วยคุ้มครองรักษานั้นเอง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นธรรมรักษาไว้ทางทิศใต้หรือทิศตะวันออกก็ได้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทางดอกให้ปลูกในวันพุธ

พันธุ์

  1. ธรรมรักษาชนิดดอกตั้ง ได้แก่ พันธุ์แซสซี, เลดี้ได, แอนโดรมีดา, ฟูเซีย, พาราคีท, ฮอลิเดย์, โกลเด้นทอร์ช, จาไมก้า, บั๊กกี้, คริสต์มาสส้ม-เหลือง, คาริเบีย
  2. ธรรมรักษาชนิดดอกห้อย ได้แก่ พวกชาร์เตซี พันธุ์เซ็กซี่พิงค์, พวกเพนดูลาพันธุ์ไบร์ทเรด, พวกคอลลินเซียน่า เป็นต้น

การขยายพันธุ์

  1. ใช้เมล็ด : นำเมล็ดที่สุก เอกส่วนที่เป็นเนื้อออก เพาะในกระบะลึกเท่ากับความหนาของเมล็ด เมล็ดจะงอกภายใน 2 สัปดาห์
  2. การแยกกอ : แยกกอให้มีลำต้นเทียมและเหง้าติดอยู่ 1-2 ต้น ทำความสะอาด จุ่มยาฆ่าเชื้อรา นำไปชำในถุงพลาสติกที่ใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำได้ดี ชำในที่ร่มรำไร ประมาณ 4-6 สัปดาห์ รากใหม่เริ่มงอก
  3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ : ทำให้ได้ธรรมรักษาที่ปลอดโรค ในปริมาณมากในเวลาไม่นาน

tammaraksakla

การปลูกและการดูแลรักษา
การเตรียมแปลง เตรียมแปลงโดยทำคันร่องหรือใช้คันร่องไม้ผลเดิม แปลงกว้าง 2-3 เมตร ความยาวตามขนาดของพื้นที่ มีการไถพรวนตากดิน ยกแปลงกว้าง 1-1.5 เมตร
ระยะปลูก ระยะปลูก1.5 เมตร สำหรับพันธุ์เล็กและ 2-3 เมตร สำหรับพันธุ์ที่ใหญ่ขึ้น ปลูกเหง้าลึกประมาณ 3-4 เมตร

การให้ปุ๋ย ช่วงแรกของการเจริญเติบโตควรใส่ปุ๋ยคอก เร่งการเจริญเติบโตและแตกกอ ช่วงการออกดอกใส่ปุ๋ยเร่งดอกและในสภาพดินด่างควรเพิ่มธาตุเหล็กและแมงกานีส

การให้น้ำ ธรรมรักษาเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบแฉะ ถ้าให้น้ำไม่เพียงพอใบพืชจะม้วน คุณภาพดอกลดลง ส่งผลให้อายุการปักแจกันลดลง ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีแหล่งน้ำบริบูรณ์ตลอดปี

tammaraksaton

การให้แสง พันธุ์ธรรมรักษาที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้กลางแจ้ง มีความต้องการแสง 70-100% เพราะว่าจะมีผลต่อการออกดอกและสีของดอก

อุณหภูมิ ธรรมรักษาแต่ละพันธุ์ต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกันออกไป เช่น ต้องการอุณหภูมิที่ 21-35 องศาเซลเซียส และจะหยุดการเจริญเติบโตที่ 10 องศาเซลเซียส

การตัดแต่งและการรื้อปลูกใหม่ มีการตัดแต่งหลังปลูก 2 ปี โดยการฟันต้นทั้งหมดในระดับผิวดิน หน่อจะแตกใหม่ในปีถัดมา ควรขุดเหง้าทั้งหมดขึ้น เตรียมดินและแปลงใหม่

การให้ดอก ภายในเวลา 8-10 สัปดาห์ หลังปลูกหรือต้นสูงมีใบประมาณ 4-5 ใบ ก็จะให้ดอกหรืออายุของต้นประมาณ 1 ปี

ศัตรูพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
มักพบเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ ด้วงกินใบ และหนอนใน H.psittacorum มักจะพบเพลี้ยอ่อนและมด จะพบไร เวลาอากาศแห้ง แต่แมลงไม่เป็นปัญหาสำคัญของธรรมรักษา

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
การตัดดอก สำหรับดอกใหญ่จะเก็บเกี่ยวเมื่อกลีบประดับเปิดดอกได้ประมาณ 2 ใน 3 กลีบ ดอกเล็กเมื่อกลีบประดับเปิดดอก 1-2 กลีบ ประเภทดอกใหญ่ลอกกาบใบออกให้เหลือ 3 ใบ และตัดก้านให้เหนือช่อดอก 1-2 นิ้ว ดอกเล็กควรตัดให้เหลือใบยอดไว้ 1-2 ใบ และควรตัดในช่วงเช้า หลังจากตัดดอกควรแช่ดอกในอ่างน้ำนาน 1-3 ชั่วโมง

tammaraksaleang

การปักแจกัน ดอกธรรมรักษามีขนาดแตกต่างกันมาก ดังนั้น ในการปักแจกันจึงควรเลือกใช้ตามความเหมาะสม ดอกใหญ่นิยมใช้ปักแจกันในห้องโถง โรงแรม อายุการปักแจกัน 14-15 วัน เปลี่ยนน้ำและตัดปลายก้านทุก ๆ 3 วัน สารส่งเสริมคุณภาพมีผลน้อยกับธรรมรักษา แต่ควรใช้สารกันการคายน้ำหรือสารเคลือบใบ สามารถยืดอายุการปักแจกันไปอีกประมาณ 6-7 วัน

การบรรจุหีบห่อ บรรจุในกล่องกระดาษรองพื้นด้วยแผ่นพลาสติก รองดอกเป็นชั้นด้วยกระดาษหั่นฝอย ฉีดน้ำให้ชื้น หรือสวมดอกในถุงพลาสติกแล้วบรรจ ุกล่องดอกใหญ่บรรจุกล่อง 20 ดอก ดอกเล็กมัดเป็นกำ ๆ ละ 15-20 ดอก เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส

ที่มา กรมส่งเสริมการเกษตร
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ดอกไม้ประดับ

แสดงความคิดเห็น