ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมลดโลกร้อนนวชีวัน

10 ตุลาคม 2559 แหล่งเรียนรู้ 0

ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมลดโลกร้อนนวชีวันเป็นผลพวงที่เกิดจากไร่นวชีวัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2542 โดยเริ่มต้นเป็นลักษณะงานอดิเรก เพราะยังเป็นมนุษย์เงินเดือน มีงานประจำต้องทำอยู่ในกรุงเทพฯ จึงต้องทำเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติและต้องพึ่งธรรมชาติเป็นหลักในการดูแล ถึงแม้ตอนที่เริ่มต้น พื้นที่บริเวณไร่จะถูกปล่อยให้รกร้างไม่ได้ทำการเกษตรมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก่อนหน้านั้นบริเวณไร่เคยถูกใช้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานหลายปี ทำให้สภาพดินเสื่อมและเสียจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมาก ระบบนิเวศในพื้นที่บริเวณไร่จึงเสื่อมโทรม ต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อให้สารเคมีที่ตกค้างในดินย่อยสลายไป พร้อมกับฟื้นฟูสภาพดินควบคู่กันไป เพราะเราต้องการทำเกษตรธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นวิธีการลดปัญหาโลกร้อนที่ง่ายที่สุดและถูกที่สุดที่มนุษย์มีอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่มีการใช้สารเคมีการเกษตรอีกเลย ต้องมีการทดลองปลูกพืชชนิดต่างๆ เพื่อทดลองให้เห็นผลว่าพืชชนิดใดเหมาะสมกับดินและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยไม่ได้มุ่งผลทางเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ไร่กลายเป็นพื้นที่ทดลองหรือศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติเพื่อมุ่งแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมโดยปริยาย

soonnavachewanho

ช่วงระยะแรกๆ ภายในบริเวณไร่นวชีวัน นอกจากไม้ผลโดยเฉพาะมะขามหวานที่ติดมากับที่ดินบางส่วนแล้ว เราได้เลือกปลูกไม้ยืนต้นและพืชท้องถิ่น หรือพืชที่สามารถต้านทานแมลงโรคพืชในบริเวณนั้นได้ดี โดยจะเน้นการรักษาสภาพแวดล้อมให้เป็นธรรมชาติ ปลูกพืชหลากหลายชนิดคละปนกันไปเพื่อให้มีสภาพคล้ายป่าธรรมชาติที่มีพืชพันธุ์หลากหลายชนิดขึ้นอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันและกัน เป็นการเกษตรที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Eco-Farm แปลเป็นภาษาไทยเอาเองว่า ระบบนิเวศเกษตร ต่อมาเมื่อได้มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติมากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิธีการทำเกษตรแบบดั่งเดิมหลากหลายวิธี ทำให้เข้าใจถึงการทำงานของระบบชีวภาพในธรรมชาติ และในที่สุดจึงได้ประมวลความรู้เหล่านี้เข้าเป็น ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ ทำให้เกิดเป็นระบบทำการเกษตรแบบองค์รวมที่ให้ผลมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมือนระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างของดินด้วยกระบวนการธรรมชาติ เพื่อให้ดินมีคุณภาพดีเหมือนดินในป่าธรรมชาติ รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อกระบวนการชีวภาพและการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตทั้งใต้ดินและบนดิน ตลอดจนพลังชีวภาพต่างๆ ในธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรง ต้านทานโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ดี วิธีการของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพยังเป็นวิธีการทำเกษตรที่สามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน (Climate Friendly Agriculture Method) ด้วย เพราะดินที่อุดมสมบูรณ์จะสามารถดึงและกักเก็บคาร์บอนจากอากาศไว้ในดินได้มากกว่าต้นไม้ในป่าหลายเท่า จึงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่ง่าย ต้นทุนต่ำ และได้พืชผักอินทรีย์ที่ปลอดภัยเป็นอาหารที่มีคุณภาพสำหรับคนได้อีกด้วย

เมื่อต้นปี 2553 เราได้ซื้อที่นาเพิ่ม และเริ่มทำนาปลูกข้าวหอมนิลอินทรีย์ด้วยวิธีนาโยนควบคู่กับการประยุกต์วิธีการทำนาระบบน้ำน้อย หรือระบบแกล้งข้าว (System of Rice Intensification SRI) ภายใต้หลักการระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ ซึ่งได้ผลผลิตรอบแรกราว 600-700 กก./ไร่ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เพราะอัตราผลผลิตโดยทั่วไปของข้าวหอมนิลจะอยู่ที่ 250-450 กก./ไร่ และในปีที่สองสามารถเพิ่มผลผลิตได้เป็น 800 กก./ไร่ จนสามารถทำให้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงที่ไม่เคยสนใจและไม่เชื่อเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อน เริ่มหันมาสนใจศึกษาและทดลองปรับเปลี่ยนมาทำนาโยนที่ลดการใช้สารเคมีและลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้ รวมทั้งยังสามารถเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้นอกจากจะสามารถปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้แล้ว ยังมีเงินเหลือเก็บในปีแรกที่เริ่มหันมาทำนาโยนกึ่งอินทรีย์ด้วย ถึงแม้ชาวบ้านจะยังไม่กล้าปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัวก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสู่การปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัวต่อไป และเป็นจุดเริ่มของการสร้าง กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

การจัดการเรียนรู้หลักสูตร การดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อปี 2554 ศูนย์การเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงนวชีวัน (ชื้อเดิม) ภายใต้มูลนิธินวชีวัน ได้เข้าร่วมเป็นโครงการเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ทางไกลเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยโครงกานี้เป็นการผนึกกำลังและบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการศึกษา รวมกว่า 45 แห่ง เพื่อร่วมกันดำเนินการจัดการเรียนรู้ทางไกล หลักสูตร การดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรม เพื่อความอยู่ดีมีสุข ความเข้มแข็งและมั่นคงของชุมชน สังคม และประเทศไทย อีกทั้งเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษาในปี 2554 ด้วย

soonnavachewanplang

และในปี 2556 เราได้เข้าร่วมเป็นองค์กรภาคี และเป็นพื้นที่นำร่อง ในโครงการการเพิ่มศักยภาพชุมชนด้านเกษตรปลอดภัยด้วยกระบวนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ศูนย์ศึกษาและเสริมสร้างศักยภาพการจัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาหารปลอดภัยจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคผ่านระบบธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์โดยไม่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง และให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้

ปัจจุบันทั้งไร่และนา รวมทั้งโรงสีขนาดเล็กของศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมลดโลกร้อนนวชีวัน ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล IFOAM และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ EU-Equivalent ของสหภาพยุโรป, COR ของประเทศคานาดา ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐาน NOP (USDA) ของสหรัฐอเมริกา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เนื่องจากศูนย์การเรียนรู้ฯ นวชีวัน ดำเนินงานภายใต้มูลนิธินวชีวัน ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ จึงมีเป้าหมายในขั้นแรกที่จะเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วยผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ

soonnavachewanna

ผลผลิตของศูนย์การเรียนรู้ฯ นวชีวันที่ออกสู่ตลาดแล้ว ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวเพื่อสุขภาพ รวมถึง ข้าวเจ้าหอมนิลอินทรีย์ (Organic Aromatic Black Rice or Black-Jasmin Rice [Hom-nin rice]) และ ข้าวหอมมะลิแดงอินทรีย์ หรือ (Organic Red Jasmin Rice) ผัก ผลไม้ และเมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์หลายชนิด

soonnavachewankaw

ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค (อินทรีย์) จากนวชีวัน ผลผลิตรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล สั่งซื้อได้ จัดส่งให้ถึงบ้าน ยังมีผลผลิตออร์แกนิคสดอีกหลายชนิด อย่างผักชายา และผักผลไม้พื้นบ้านตัวอื่นๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ชาและเครื่องดื่มสมุนไพรอีก 20 ชนิด หรือสนใจจะไปเยี่ยมชม เก็บผักอินทรีย์จากแปลงเอง ได้เชิญได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมลดโลกร้อนนวชีวัน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดย มกท. ACT-IFOAM Accredited, EU, Canada (COR) USDA-NOP Equivalent
อบรมการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
อบรมการทำนาโยน
ผลิตภัณฑ์ ข้าวหอมนิลอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิแดงอินทรีย์ ผัก/ผลไม้/เมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์ ชาสมุนไพรอินทรีย์ กล้วยอบไอน้ำอินทรีย์ กระเทียมดำอินทรีย์
Email: KnowledgeCenter@NawaChiOne.org

soonnavachewanmap

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น