การนวดฝ่าเท้าเป็นศิลปะที่ชาวจีนและอินเดียใช้วินิจฉัยและรักษาโรคมานามกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยน่าจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับการกดจุดฝังเข็ม ต่อมาความรู้นี้ได้แพร่หลายไปทั่วอเมริกา ยุโรป เป็นต้น
การนวดเท้าเป็นการนวดที่ส่วนต่าง ๆ ของเท้าเพื่อป้องกันและรักษาโรค การนวดเท้าสามารถนวดได้หลายส่วน เพื่อกระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ กัน ได้แก่ การนวดฝ่าเท้า หลังเท้าด้านในและด้านนอก เป็นต้น
การนวดฝ่าเท้า คือ การนวด หรือการกระทำที่ฝ่าเท้า เพื่อป้องกัน และรักษาโรคที่เกิดขึ้นในร่างกาย
ผลจากการนวดเท้า
อันดับแรก ต้องตรวจดูตำแหน่งที่มีปมใต้ผิวหนัง บริเวณเท้า เรียกปมนี้ว่า “Crystalline” หรือ “Gritt” อยู่ใต้ผิวหนังลึกลงไป ถ้าอยู่ตำแหน่งตรงใด ก็จะหมายถึง อวัยวะตามแผนผังบนฝ่าเท้านั้น มีปัญหา ซึ่งปมเหล่านี้ เมื่อกดลงไป จะรู้สึกเจ็บมาก แม้จะกดเบาๆ ก็ตาม
การกดเพื่อรักษา ใช้ขอบของนิ้วกดลงไป แล้วหมุนนิ้วตามเข็มนาฬิกา กดลงไปลึกๆ โดยมิทำให้เจ็บ แล้วเน้นจุดที่เจ็บอย่างสั้นๆ แล้วพัก ในการใช้นิ้วกด บางคนใช้กำมือ ให้นิ้วกางยื่นออกมา ใช้ข้อนิ้วกดแทนนิ้วหัวแม่มือ และบางรายใช้ไม้ ทำเป็นแท่งกากะบาด ใช้ปลายมนเรียบกดแทนนิ้ว เป็นเครื่องทุ่นแรง แต่กรณีดังกล่าว ต้องควบคุมน้ำหนักให้ดี อาจทำให้เจ็บมาก และเป็นอันตรายต่อเส้นเอ็นที่เท้าได้
ประโยชน์ของการนวดฝ่าเท้า
การนวดเท้าเป็นการกระตุ้น การทำงานของระบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถแก้ปัญหาพวกติดเชื้อ พวกผิดปกติของโครงสร้าง การอุดตันของลำไส้ ขาหักอุบัติเหตุ และได้ผลดีในบางกลุ่ม เช่น ท้องผูก หืด เครียด ปัญหาที่กระเพาะปัสสาวะ ปวดศรีษะ โรคไต นิ่วในถุงน้ำดี ไมเกรน หรือแม้แต่พวกไซนัส ปัญหาการอ้างถึงประสิทธิผล ในการรักษาโรคดังกล่าวนี้ เป็นที่ถกเถียงถึงประสิทธิผล ว่าจะเป็นจริงอย่างไร อย่างไรก็ตาม มีผู้พยายาม และอธิบายการทำงาน หรือผลจากการนวดฝ่าเท้านี้
- ช่วยส่งเสริมสุขภาพ โดยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง และระบบภูมิคุ้มกัน
- ช่วยป้องกันโรค เช่น ท้องผูก หัด ปวดศีรษะ ฯลฯ และช่วยล้างพิษและกำจัดของเสีย
- ช่วยทำให้การทำงานของร่างกายทั้งหมดสมดุล
- ช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต คือ ลดภาวะเครียดและทำให้เกิดการผ่อนคลายอย่างล้ำลึก
การทำงานหรือผลการนวดฝ่าเท้า
เป็นที่ยอมรับกันว่าอวัยวะในร่างกาย จะแสดงสัมพันธ์ กับบริเวณผิวหนัง ซึ่งมีปลายประสาท จากจุดร่วมเส้นประสาทเดียวกัน เช่น การมีปัญหาที่กระบังลม (Diaphragm) จะแสดงออกที่หัวไหล่ เป็นต้น เป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้ากระตุ้นที่ผิวหนัง ส่งผลต่ออวัยวะภายใน ซึ่งมีผลการวิจัยในสัตว์ทดลองมากมาย ที่พิสูจน์ทฤษฎีนี้
การทำงานของการนวดเท้า อยู่บนพื้นฐานหลักการว่า อวัยวะทั้งหมดของร่างกาย แสดงออกสัมพันธ์ กับบริเวณเท้าทั้งหมด ซึ่งอวัยวะส่วนใหญ่ อยู่บริเวณส้นเท้า และกระจายไปสู่ปลายเท้า ตามแผนภูมิบนฝ่าเท้า
ฝ่าเท้าสัมพันธ์ กับอวัยวะต่างๆ เมื่อกดไปบริเวณดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นอวัยวะต่างๆ ในกรณีนี้คือ ภาวะปกติ สำหรับกรณีที่ผิดปกติแล้ว เกิด “Crystls” ในเท้านั้น มิสามารถอธิบายได้ แม้จะมีการทดลองผ่าศพดู ก็ไม่พบอะไร เชื่อว่าน่าจะเป็นปม ของเนื้อเยื่อ เรียกว่า “Fibrositic nodules” ซึ่งปกติ ก็ไม่สามารถจะผ่าตรวจดูได้
อย่างไรก็ตาม การอธิบายในแผนปัจจุบัน อธิบายได้ยาก เพราะไม่มีการเชื่อมต่อ ของประสาท ระหว่างอวัยวะ กับบริเวณเท้า หรือแม้แต่จะพยายาม อธิบายโดยเส้น “เมอริเดียน” ของจีน ก็ยังอธิบายไม่ได้หมดทุกจุด เพราะบางเส้น ก็มิได้ผ่านไปที่เท้า จึงสรุปว่าการทำงาน ยังหาข้อสรุปไม่ได้ อาจเป็นพลัง หรืออะไรก็ได้
อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังมิได้พิสูจน์ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่เซลล์ที่เท้า สามารถหลั่งสารเคมี เช่นเดียวกับอวัยวะต่างๆ ที่มีจุดเริ่มต้นจากเซลล์ บริเวณเดียวกัน เมื่อเป็น Embryo เมื่อตอนแยกแบ่งตัว ส่วนหนึ่งไปเป็นส่วนหัว อีกส่วนไปเป็นส่วนหาง เซลล์ที่มาจากจุดเดียวกัน เมื่อถูกกระตุ้น จะหลั่งสารเดียวกันออกมา มากขึ้น และไปตามระบบไหลเวียน สารเคมีเหล่านั้น อาจมีส่วนทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดี หรือถูกกระตุ้นไปด้วย ปัจจุบันความเชื่อ เรื่องเซลล์หลั่งสารเคมี นับวันจะมีมากขึ้น เช่น การผ่าตัดสมองทิ้งไปทั้งซีกได้ โดยไม่เกิดอัมพาตแต่อย่างใด โดยเซลล์ดีๆ อีกข้างหนึ่ง ทำหน้าที่หลั่งสารเคมีออกมา กระตุ้นเซลล์ประสาทแทน การมีเซลล์เสียๆ ไม่ปกติ เสียอีกทำให้เป็นอัมพาตได้ ผู้เขียนจึงค่อนข้างเชื่อว่า ปม “Crystal” คือ สารบางอย่าง ที่หลั่งออกมา จากเซลล์อวัยวะภายใน ซึ่งผิดปกติ ป่วยเป็นโรค แล้วสารนั้น มาทำให้เซลล์ บริเวณเท้าเกิด Fibrotic nodule ขึ้น และเจ็บปวด เมื่อถูกกดไปด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นการนำการนวดฝ่าเท้ามาใช้ น่าจะเกิดประโยชน์อย่างดี ในกรณีกระตุ้นร่างกาย โดยเป็นการป้องกันโรค หรือส่งเสริมสุขภาพ ส่วนในการรักษานั้น คงต้องศึกษากันต่อไป
การนวดเท้าในแผนไทย
ในทฤษฎีการนวดไทยเรื่องเส้นสิบ มีเส้นที่แล่นไปที่เท้าหลายเส้น ได้แก่
- เส้นอิทา ปิงคลา สุมนา และกาลธารี แต่จุด และเส้นดังกล่าว บริเวณเท้า เมื่อขัดข้อง ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับเท้าโดยตรง ไม่ได้ไปเกี่ยวพัน กับอวัยวะอื่น เช่น แก้ลมข้อเท้า ร้อนหลังเท้า แก้ตะคริว แก้กล่อน เป็นต้น
- เส้นสหัสรังษี และทุวารี เป็นเส้นที่ไปที่เท้าด้วย เมื่อขัดข้องจะเกี่ยวข้องกับตาทั้งสองข้าง เช่น แก้ลม เสียวจักษุ แก้จักษุเพื่อกล่อน ลมแทงจักษุ แก้จักษุเพื่ออันฑพฤกษ์ แก้ลมจักษุเพื่อช้ำใน ความเชื่อพื้นบ้านไทย เมื่อเจ็บตา ฝุ่นเข้าตา ให้กลั้นลมหายใจ แล้วใช้น้ำรดหัวแม่เท้า จะหายเคืองตา นับเป็นเส้นที่แสดงความเชื่อมต่อ ระหว่างเท้ากับอวัยวะอื่น ที่ห่างกัน
- เส้นสิขิณี และสุขุมัง เป็นอีกสองเส้น ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวคือ เส้นสิขิณีไปที่เท้า มีผลต่อระบบปัสสาวะ ได้แก่ แก้ลมปัสสาวะดำ และลมปัสสาวะเหลือง ส่วนเส้นสุขุมัง แก้ร้อนเกินกำหนด แก้กระหายน้ำ แก้ลมแสยงขน แก้ลมทำให้เสียว แก้กองลมอติสาร จะเห็นได้ว่า แม้ไม่ระบุอวัยวะชัดเจน แต่ก็มีผลต่อระบบขับถ่าย และระบบอัตโนมัติอื่นๆ ที่มิได้เกี่ยวข้อง กับโรคของเท้าโดยตรง
นับว่าคนไทย มีเรื่องการนวด และการกดจุดบนเท้า ด้วยเช่นกัน มีการกดจุดที่อวัยวะหนึ่ง แล้วไปมีผลต่ออวัยวะ หรือระบบอื่นๆ ที่ห่างออกไป โดยมิสามารถอธิบาย ถึงประสาทที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แบบแพทย์แผนปัจจุบัน การนวดเท้าของไทย ไม่มีแผนที่เกี่ยวข้อง กับอวัยวะอย่างละเอียดแบบจีน แต่เป็นการนวดแบบโดยรวม กระตุ้นทั้งหมดตามแนวเส้นต่างๆ เป็นการกระตุ้นเส้นสาย ให้ลมเดินสะดวก โดยเริ่มที่ฝ่าเท้า หลังเท้า แล้วไปที่ขา เป็นต้น
ข้อปฏิบัติในการนวด
- ก่อนทำการนวดฝ่าเท้า ให้ทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ น้ำอุ่นหรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้ง
- การนวดเท้าจะเริ่มต้นที่เท้าซ้ายก่อน เนื่องจากเป็นตำแหน่งของหัวใจ เพื่อกระตุ้นการ ไหลเวียนเลือด
ในขณะนวดผู้นวดจะต้องโยกตัวตามจังหวะการลงน้ำหนัก การกด หรือการครูดแต่ละครั้ง เพื่อช่วยไม่ให้เกิดการปวดตามร่างกายของผู้นวด
- การกดจุดตามตำแหน่งจุดต่าง ๆ ควรหน่วง เน้น นิ่ง นับ 1-10
- ระหว่างการนวด ควรชะโลมครีมเป็นระยะ เพื่อการหล่อลื่นในการสัมผัส
- เท้าด้านใน หมายถึง บริเวณด้านข้างฝ่าเท้าด้านนิ้วหัวแม่เท้า ส่วนเท้าด้านนอก หมายถึง บริเวณด้านข้างฝ่าเท้าด้านนิ้วก้อย
ข้อควรปฏิบัติการนวดของผู้ถูกนวด
ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสมุนไพรหลังจากการนวด เพื่อขับของเสียในร่างกาย
ไม่ควรอาบน้ำ สระผม ดื่มน้ำเย็น หรือล้างทันทีหลังนวด ควรรออย่างน้อย 1 ชม.
ไม่ควรนวดเท้าในกรณี ดังนี้
- หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ควรรอประมาณครึ่งชั่วโมงไปแล้ว
- ร่างกายอ่อนเพลียมาก หรือเป็นไข้
- หญิงตั้งครรภ์
- ขณะมีประจำเดือน
- โรคหลอดเลือด/ หลอดน้ำเหลืองอักเสบหรืออุดตัน
การเตรียมเท้าก่อนการนวด
ทำความสะอาดเท้าของผู้ถูกนวด
ใช้ผ้าขนหนูพันห่อเท้าข้างขวาของผู้ถูกนวดก่อน (การห่อฝ่าเท้าเพื่อทำให้บริเวณเท้ามีความอบอุ่น และทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี)
เริ่มขั้นตอนในการนวด โดยการนวดเท้าซ้ายก่อนเสมอ
ขั้นตอนที่ 1
- ปั่นข้อเท้า 10 ครั้ง ใช้ส้นมือทั้งสองข้างล๊อคไว้ใต้ตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง แล้วดันส้นมือสลับกัน 2 ข้างให้ปลายเท้าสะบัดไปมาในลักษณะปั่นข้อเท้า
- ปั่นปลายเท้า 10 ครั้ง ทำมือเป็นรูปบัวตูมประกบไว้ที่ปลายเท้า แล้วดันมือสลับกัน 2 ข้างในลักษณะที่ปั่นปลายเท้า
- ลูบสลับมือที่ฝ่าเท้าและหลังเท้า 10 ครั้ง และครีมและบาล์มลงบนฝ่ามือทั้งสองข้าง แล้ววางมือบริเวณใต้ฝ่าเท้าและหลังเท้า ในลักษณะลูบเข้าหาตัวผู้นวด ทำซ้ำ 10 ครั้ง ขณะลูบมือ ต้องให้มือสัมผัสแนบฝ่าเท้าและหลังเท้า
- ลูบสลับมือที่เอ็นร้อยหวาย 10 ครั้ง วางฝ่ามือทั้ง 2 ข้างไว้ที่ส้นเท้าบริเวณเอ็นร้อยหวาย แล้วลูบสลับมือที่ละข้างมาทางส้นเท้าในลักษณะตบส้นเท้าเป็นการลูบเท้าเข้าหาตัวผู้นวด ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- ลูบแบบหัวแม่มือตั้งขึ้น 10 ครั้ง วางนิ้วหัวแม่มือจรดกันที่กึ่งกลางส้นเท้าในลักษณะตั้งขึ้น นิ้วทั้ง 4 อยู่ที่หลังเท้า ลูบมือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน จากส้นเท้าไปทางปลายเท้า ขณะลูบขึ้นมาถึงปลายเท้าให้ดันปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัวผู้ถูกนวด
- ฉีกฝ่าเท้า 10 ครั้ง วางนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างเกยกันที่ส้นเท้า นิ้วทั้ง 4 อยู่ที่หลังเท้า ฉีกนิ้วหัวแม่มือออกไปด้านข้างฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง โดยสลับนิ้วทุกครั้ง แล้วฉีกนิ้วหัวแม่มือไล่จากส้นเท้าขึ้นไปจนถึงเนินนิ้วเท้า แล้วไล่ลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- มะเหงกครูดฝ่าเท้า 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้าแอ่นขึ้น โดยให้ปลายเท้าดันเข้าหาผู้ถูกนวด มือขวากำเป็นมะเหงกคว่ำกดครูดตั้งแต่เนินนิ้วเท้าลงไปจนถึงส้นเท้า
- มะเหงกครูดเน้นนิ้วเท้า 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้าแอ่นขึ้นในลักษณะเดียวกับข้อ 7 มือขวากำเป็นมะเหงกคว่ำและใช้นิ้วหัวแม่มือแตะยึดไว้ข้างเน้นนิ้วหัวแม่เท้า ส่วนมะเหงกกดครูดจากเนินนิ้วก้อยกลับมาจนถึงเนินหัวแม่เท้าเทคนิค ใช้นิ้วหัวแม่มือเป็นจุดหมุนแตะยึดไว้ที่ข้างฝ่าเท้าไม่ให้หลุด ให้ทั้ง 4 สัมผัสเสมอกัน อย่าลงน้ำหนักลงที่นิ้วใดนิ้วหนึ่ง
- มะเหงดคาดคอนิ้วเท้า 10 ครั้ง วางมือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกันกับข้อ 8 แต่มะเหงกจะเลื่อนสูงขึ้นไปที่คอนิ้วเท้า กดมะเหงกครูดจากคอนิ้วก้อยไปจนถึงคอนิ้วหัวแม่เท้าขั้นตอนที่ 2
- มะเหงกครูดข้างเท้าด้านใน 10 ครั้ง มือขวาจับปลายเท้าเอียงให้เท้าด้านในหงายขึ้น มือซ้ายกำเป็นมะเหงกหงายคว่ำที่ข้างเท้าด้านในตั้งแต่นิ้วหัวแม่เท้าจนถึงส้นเท้า
- มะเหงกครูดปาดปลายเท้า 5 ครั้ง ใช้มือซ้ายจับนิ้วเท้าไว้ มือขวากำเป็นมะเหงกคว่ำ แต่ใช้มะเหงกที่นิ้วชี้ครูดปาดปลายนิ้วเท้าตั้งแต่หัวแม่เท้าไปจนถึงนิ้วก้อย ลักษณะคล้ายปอกผลไม้ แล้วปาดครูดย้อนกลับในลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่นิ้วก้อยกลับไปจนถึงนิ้วหัวแม่มือ
- มะเหงกครูดเซาะร่องนิ้วเท้า 5 ครั้ง ใช้มือซ้ายจับนิ้วหัวแม่เท้าไว้ มือขวากำเป็นมะเหงกคว่ำ แต่ใช้มะเหงกที่นิ้วชี้ครูดข้างนิ้วหัวแม่เท้า ข้างนิ้วชี้ 5 ครั้ง ครูดข้างนิ้วตั้งแต่นิ้วหัวแม่เท้าไปจนถึงนิ้วก้อย
- มะเหงกครูดข้างเท้าด้านนอก 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้าเอียงให้ด้านนอกหงายขึ้น มือขวากำมะเหงกคว่ำครูดที่ข้างเท้าด้านนอก ตั้งแต่นิ้วก้อยไปจนถึงส้นเท้า
- มะเหงกครูดเซาะร่องนิ้วเท้า 5 ครั้ง ทำเหมือนกันในข้อ 12 แต่ครูดย้อยกลับตั้งแต่นิ้วก้อยไปจนถึงนิ้วหัวแม่เท้า
- มะเหงกครูดเจาะข้อนิ้วเท้า 5 ครั้ง มือซ้ายจับหัวแม่เท้าให้แอ่นขึ้น มือขวากำเป็นมะเหงกโดยใช้มะเหงกที่นิ้วชี้แตะข้อนิ้ว และครูดข้อนิ้วลงตามแนวตั้ง ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน โดยครูดคอนิ้วตั้งแต่นิ้วหัวแม่เท้าไปจนถึงนิ้วก้อย ทำซ้ำนิ้วละ 5 ครั้ง แล้วทำย้อนกลับตั้งแต่นิ้วก้อยมาจนถึงนิ้วหัวแม่เท้า
- มะเหงกครูดปาดข้อนิ้วเท้า 5 ครั้ง วางมือในลักษณะเดียวกับข้อ 15 แต่เปลี่ยนเป็นครูดปาดคอนิ้วหัวแม่เท้าตามแนวนอน ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน โดยครูดปาดข้อนิ้วเท้าตั้งแต่นิ้วหัวแม่เท้าไปจนถึงนิ้วก้อย ทำซ้ำนิ้วละ 5 ครั้ง แล้วทำย้อนกลับตั้งแต่นิ้วก้อยมาจนถึงนิ้วหัวแม่เท้า
- มะเหงกครูดอ้อมเนินนิ้วหัวแม่เท้า 10 ครั้ง มือซ้ายประคองนิ้วหัวแม่เท้า มะเหงกนิ้วชี้แตะง่ามร่องระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ แล้วกดครูดจากเนินนิ้วนิ้วหัวแม่เท้าโค้งอ้อมเนินนิ้วเท้าไปทางด้านใน
- มะเหงกครูดเนินนิ้วเท้ามาด้านนิ้วก้อย 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ17 ใช้มะเหงกกดครูดจากเนินนิ้วชี้ไปทางเนินนิ้วก้อย ครูดเป็นแนวตรง
- มะเหงกครูดฝ่าเท้า 3 แนว แนวละ 5 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 17
– ใช้มะเหงกนิ้วชี้กดครูดเป็นแนวยาวที่กึ่งกลางฝ่าเท้า จากใต้เนินนิ้วกลางไปจนถึงส้นเท้า ทำซ้ำ 5 ครั้ง
– ใช้มะเหงกนิ้วชี้กดครูดเป็นแนวยาวจากใต้เนินนิ้วหัวแม้เท้าไปจนถึงส้นเท้า ทำซ้ำ 5 ครั้ง
– ใช้มะเหงกนิ้วชี้กดครูดเป็นแนวยาวจากใต้เนินนิ้วก้อยไปจนถึงส้นเท้า 5 ครั้ง
- มะเหงกครูดฝ่าเท้าสลับฟันปลา ขึ้น-ลง 5 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 17 ใช้มะเหงกนิ้วชี้กดครูดขวางสลับฟันปลาจากส้นเท้าจนถึงเนินนิ้วเท้า
- มะเหงกครูดรูปตัว V คว่ำที่ส้นเท้า 5 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 17 โดยใช้มะเหงกนิ้วชี้กดครูดเฉียงลงบริเวณเหนือส้นเท้า ในลักษณะรูปตัว V คว่ำ โดยเฉียงไปทางด้านนอก 5 ครั้ง
- มะเหงกครูดเจาะส้นเท้า 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 17 โดยใช้มะเหงกนิ้วชี้กดครูดลงเป็นแนวตรงให้ทั่วบริเวณส้นเท้า (บริเวณนี้เป็นส่วนที่หนา สามารถลงน้ำหนักได้มากกว่าจุดอื่น)ขั้นตอนที่ 3 การนวดเท้าด้านใน-ด้านนอก
- นิ้วหัวแม่มือครูดข้างนิ้วหัวแม่เท้า 10 ครั้ง แตะครีมลงที่เท้าด้านในผสานนิ้วขวาผู้นวดไปที่รองเท้าทุกนิ้ว แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือขวาของผู้นวดครูดด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้าของผู้ถูกนวด
- มะเหงกครูดอ้อมเนินนิ้วหัวแม่เท้า 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 1 ใช้นิ้วหัวแม่มือขวาของผู้นวด ครูดอ้อมเนินหัวแม่เท้าของผู้นวด โดยใช้ทั้ง 4 นิ้วเป็นจุดหมุน
- มะเหงกครูดเท้าด้านใน 10 ครั้ง มือขวาจับปลายเท้าเอียงให้เท้าด้านในพลิกหงายขึ้นมือซ้ายกำเป็นมะเหงกคว่ำ กดครูดตั้งแต่ข้างนิ้วหัวแม่เท้าไปจนถึงข้างส้นเท้า โดยให้นิ้วหัวแม่มือซ้ายประคองอยู่ใต้ฝ่าเท้า
- มะเหงกครูดใต้ตาตุ่มด้านใน 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 25 ใช้นิ้วหัวแม่ซ้ายแตะที่กลางส้นเท้าเป็นจุดหมุน กำมือซ้ายเป็นมะเหงกคว่ำ กดคลึงใต้ตาตุ่มเป็นแนวโค้งไปทางเอ็นร้อยหวาย
- มะเหงกครูดเอ็นร้อยหวายด้านใน 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 26 ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายแตะส้นเท้า กำมือซ้ายเป็นมะเหงกคว่ำครูดข้างเอ็นร้อยหวายไปจนถึงส้นเท้า ในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวด โดยลงน้ำหนักที่ข้อนิ้วทั้ง 4 นิ้ว
- มะเหงกครูดเอ็นร้อยหวาย 10 ครั้ง มือขวาจับกลางเท้ายกส้นชี้เท้าขึ้นให้ฝ่าเท้าตั้งตรงมือซ้ายกำเป็นมะเหงกหงาย โดยให้ร่องนิ้วชี้กับนิ้วกลางอยู่ระหว่างเอ็นร้อยหวาย ครูดตั้งแต่เอ็นร้อยหวายมาทางส้นเท้า ในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวด ในลักษณะที่ครูดตามเส้นเอ็นร้อยหวายให้ทำมือโค้งตามส้นเท้า
- มะเหงกครูดเท้าด้านนอก 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้า เอียงให้เท้าด้านนอกพลิกหงายขึ้น มือขวากำเป็นมะเหงกคว่ำกดครูดตั้งแต่ข้างนิ้วก้อยไปจนถึงส้นเท้า โดยให้นิ้วหัวแม่มือขวาประคองอยู่ที่ใต้ฝ่าเท้า
- มะเหงกครูดใต้ตาตุ่มด้านนอก 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 29 ใช้นิ้วหัวแม่มือขวา แตะที่กลางส้นเท้าเป็นจุดหมุนกำมือซ้ายเป็นมะเหงกคว่ำกดคลึงใต้ตาตุ่มเป็นแนวโค้งไปทางเอ็นร้อยหวาย
- มะเหงกครูดเอ็นร้อยหวายด้านนอก 10 ครั้ง มือทั้ง 2 ข้างอยู่ในลักษณะเดียวกับข้อ 30 ใช้นิ้วหัวแม่มือขวาแตะที่ส้นเท้ากำมือขวาเป็นมะเหงกคว่ำ ครูดข้างเอ็นร้อยหวายไปจนถึงส้นเท้าในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวด
- มะเหงกครูดเอ็นร้อยหวาย 10 ครั้ง มือซ้ายจับกลางเท้ายกขึ้นให้ฝ่าเท้าตั้งตรง มือขวากำเป็นมะเหงกหงาย โดยให้ร่องนิ้วชี้กับนิ้วกลางอยู่ระหว่างเอ็นร้อยหวาย ครูดตั้งแต่เอ็นร้อยหวายลงมาทางส้นเท้าในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวด
- มะเหงกวนหลังเท้าให้ทั่ว มือซ้ายจับปลายเท้าคว่ำลง ให้หลังเท้าตึง มือขวากำเป็นมะเหงกคว่ำ ครูดวนจากข้อเท้ามาทางปลายเท้า วนให้ทั่วหลังเท้า
- มะเหงกคาดหลังเท้า 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้าคว่ำลง มือขวากำเป็นมะเหงกตั้ง ครูดบนหลังเท้าในลักษณะเป็นแนวขวาง จากด้านหัวแม่เท้าไปทางด้านนิ้วก้อย
- มะเหงกครูดหลังเท้า 10 ครั้ง มือซ้ายจับใต้ฝ่าเท้า มือขวากำเป็นมะเหงกกดครูดบนหลังเท้า ตั้งแต่ข้อเท้าไปจนถึงปลายนิ้วเท้า
- ใช้ข้อนิ้วชี้เกาโคนเล็บ นิ้วละ 5 ครั้ง (ไปและย้อนกลับ) มือซ้ายประคองใต้ฝ่าเท้า นิ้วหัวแม่มือขวาแตะใต้นิ้วหัวแม่เท้า แล้วงอนิ้วชี้ข้างขวาให้ข้อแรกของนิ้วชี้เกาบริเวณโคนเล็บหัวแม่เท้า ทำเช่นนี้ทุกนิ้วตั้งแต่นิ้วหัวแม่เท้าไปจนถึงนิ้วก้อย นิ้วละ 5 ครั้ง จากนั้นทำย้อนกลับจากนิ้วก้อยมาจนถึงนิ้วหัวแม่มือ
- มือลูบโอบหลังเท้า 10 ครั้ง วางมือทั้ง 2 ข้างลงบนหลังเท้า โดยให้ 4 นิ้วโอบอยู่บนหลังเท้า บริเวณข้อเท้านิ้วหัวแม่มือแนบอยู่ที่ส้นเท้า ลูบมือขึ้นมาจนถึงปลายนิ้วเท้าในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวดจนนิ้วชี้ 2 ข้างชิดกัน
- ใช้นิ้วมือกดร่องนิ้วหัวแม่เท้า-นิ้วก้อย นับ 1-10 ปล่อย วางมือทั้ง 2 ข้าง โดยให้นิ้วทั้ง 4 ข้างซ้ายอยู่ระหว่างร่องนิ้วหัวแม้เท้ากับนิ้วชี้ นิ้วทั้ง 4 ข้างขวาอยู่ระหว่างร่องของนิ้วนางกับนิ้วก้อย ส่วนนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง ประคองอยู่ใต้ฝ่าเท้า
- มือลูบแบบคีบ 10 ครั้ง กำมือและวางนิ้วชี้ทั้ง 2 ข้างลงบนหลังเท้าบริเวณข้อเท้า ลูบมือขึ้นมาจนถึงปลายเท้า ในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวด นิ้วก้อยจะสัมผัสขอบเท้าด้านนอกและด้านในตลอด ลูบจนนิ้วชี้ทั้ง 2 ข้างชิดกัน
- นิ้วมือลูบอ้อมใต้ตาตุ่ม 10 ครั้ง วางนิ้วหัวแม่มือทั้งสองไว้ที่หลังเท้า บริเวณโคนนิ้วกลาง ครูดนิ้วหัวแม่มือพร้อมกันลงมาที่ข้อเท้า แล้วครูดอ้อมใต้ตาตุ่มทั้งสองด้านจนนิ้วหัวแม่มือชนกันที่บริเวณเอ็นร้อยหวาย
- มะเหงกตั้งถูสลับใต้ตาตุ่ม 10 ครั้ง กำมือทั้ง 2 ข้างในลักษณะมะเหงกตั้งแตะไว้ที่ใต้ ตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง ถูสลับขึ้นลง 10 ครั้ง
- นิ้วหัวแม่มือครูดข้างตาตุ่มและวนรอบตาตุ่มด้านใน 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้าเอียง ให้เท้าด้านในหงายขึ้น ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดครูดใต้ตาตุ่มเป็นแนวตรงขึ้นไปทางหลังเท้า 10 ครั้ง แล้ววนเป็นวงกลมรอบตาตุ่มตามเข็มนาฬิกา ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- นิ้วหัวแม่มือครูดข้างตาตุ่มและวนรอบตาตุ่มด้านนอก 10 ครั้ง มือขวาจับปลายเท้าเอียงให้เท้าด้านอกพลิกหงายขึ้น ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดครูดเป็นแนวตรงจาดเอ็นร้อยหวายอ้อมตาตุ่มขึ้นไปทางหลังเท้า ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้ววนเป็นวงกลมรอบตาตุ่มตามเข็มนาฬิกา ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- นิ้วหัวแม่มือครูดข้อเท้าเป็นแนวตรง 10 ครั้ง มือซ้ายจับปลายเท้าให้คว่ำลง ใช้นิ้วหัวแม่มือขวาครูดกึ่งกลางหลังเท้าเป็นแนวตรง จากหลังเท้าผ่านข้อเท้าขึ้นไปเล็กน้อย ทำซ้ำ 5 ครั้ง เปลี่ยนเป็นมือขวา กดครูดเป็นแนวตรงลักษณะเดียวกัน ทำซ้ำ 5 ครั้ง
- นิ้วหัวแม่มือถูสลับมือที่ข้อเท้า 10 ครั้ง วางเท้าให้อยู่ในลักษณะเดียวกันกับข้อ 44 หัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง ชิดกันในลักษณะตรงกันข้ามกับบริเวณข้อเท้า แล้วกดครูดนิ้วหัวแม่มือสลับกัน 2 ข้างในลักษณะดันเข้าหากัน
- ลูบมือสลับที่ฝ่าและหลังเท้า 10 ครั้ง วางมือบริเวณใต้ฝ่าเท้าและหลังเท้า แล้วลูบสลับ มือมาทางปลายเท้าในลักษณะลูบเข้าหาตัวผู้นวด ขณะสลับมือต้องให้มือสัมผัสแนบฝ่าเท้าและหลังเท้าขั้นตอนที่ 4
- กดจุด 26 จุด กดลงน้ำหนัก หน่วง เน้น นิ่ง นับ 1-10 แล้วปล่อย การกดจุดให้เรียงลำดับไปตามหมายเลขที่กำหนดไว้ตามภาพ ไม่กดสลับกันไปมา พอกดจุดเสร็จเรียบร้อยแล้วลูบสลับมือที่ฝ่าเท้าและหลังเท้า 10 ครั้ง ดังข้อ 46
จุดที่ 1 โพรงอากาศกระดูกหน้าผาก ให้กดที่บริเวณปลายนิ้วหัวแม่เท้า
จุดที่ 2 ขมับ (กกหู) ให้กดที่บริเวณข้างนิ้วหัวแม่เท้าด้านนอก
จุดที่ 3 ต่อมใต้สมอง ให้กดที่บริเวณกึ่งกลางนิ้วหัวแม่เท้า
จุดที่ 4 จมูก ให้กดที่บริเวณข้างนิ้วหัวแม่เท้าด้านใน
จุดที่ 5 โพรงอากาศหน้าผาก ให้กดที่บริเวณปลายนิ้วชี้
จุดที่ 6 โพรงอากาศหน้าผาก ให้กดที่บริเวณปลายนิ้วกลาง
จุดที่ 7 โพรงอากาศกระดูกหน้าผาก ให้กดที่บริเวณปลายนิ้วนาง
จุดที่ 8 โพรงอากาศกระดูกหน้าผาก ให้กดที่บริเวณปลายนิ้วก้อย
จุดที่ 9 คอ ให้กดที่บริเวณโคนนิ้วหัวแม้เท้าด้านใน
จุดที่ 10 ตา ให้กดที่บริเวณระหว่างร่องหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้
จุดที่ 11 ตา ให้กดที่บริเวณนิ้วชี้กับนิ้วกลาง
จุดที่ 12 หู ให้กดที่บริเวณนิ้วกลางกับนิ้วนาง
จุดที่ 13 หู ให้กดที่บริเวณนิ้วนางกับนิ้วก้อย
จุดที่ 14 ต่อมธัยรอยด์ ให้กดที่บริเวณข้างเนินนิ้วหัวแม้เท้า
จุดที่ 15 จุดรวมประสาท ให้กดที่บริเวณใต้เนินนิ้วกลาง
จุดที่ 16 ต่อมหมวกไต ให้กดที่บริเวณห่างจากจุดรวมประสาทมาประมาณ 1 เซนติเมตร
จุดที่ 17 ไต ให้กดที่บริเวณกึ่งกลางฝ่าเท้าห่างจากจุดต่อมหมวกไตลงมา 1 เซนติเมตร
จุดที่ 18 อัณฑะหรือรังไข่ ให้กดที่บริเวณกึ่งกลางส้นเท้า
จุดที่ 19 กระเพาะอาหาร ให้กดที่บริเวณใต้เนินนิ้วหัวแม้เท้า
จุดที่ 20 ตับอ่อน ให้กดที่บริเวณห่างจากจุดกระเพาะอาหารลงมา 1 เซนติเมตร
จุดที่ 21 ลำไส้เล็กส่วนบน ให้กดที่บริเวณ ห่างจากจุดตับอ่อน 1 เซนติเมตร
จุดที่ 22 กระเพาะปัสสาวะ ให้กดที่บริเวณส้นเท้าเฉียงไปทางด้านข้างของเท้าด้านใน
จุดที่ 23 หัวใจ(เท้าซ้าย) หรือตับ(เท้าขวา) ให้กดที่บริเวณกึ่งกลางใต้เนินระหว่างร่องนิ้วนางกับนิ้วก้อย
จุดที่ 24 ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง ให้กดที่บริเวณห่างจากจุดหัวใจ 3 เซนติเมตรและแนวเดียวกับจุดไต
จุดที่ 25 ลำไส้ใหญ่ขาลง (เท้าซ้าย) หรือลำไส้ใหญ่ขาขึ้น (เท้าขวา) ให้กดที่บริเวณห่างจากลำไส้ใหญ่ส่วนขวางลงมา 1 เซนติเมตร
จุดที่ 26 ลำไส้ใหญ่ส่วนตรง (เท้าซ้าย) หรือไส้ติ่ง (เท้าขวา) ให้กดที่บริเวณส้นเท้าเฉียงไปทางด้านข้างของเท้าด้านนอกขั้นตอนที่ 5
- มือขวากดนวดบริเวณเข่า มือซ้ายจับปลายเท้าไว้ มือขวาเอาบาล์มและครีมทาที่ใต้ข้อพับ และบริเวณเข่า แล้วใช้นิ้วโป้งกดจุดเข่าใต้ลูกสะบ้าเข่า จุดข้างใต้ลูกสะบ้าเข่าทั้งซ้ายและขวา และจุดนาคบาทในลักษณะ ค่อยๆ กดน้ำหนักเพิ่มไปทีละน้อยจนได้น้ำหนักที่ต้องการก็นิ่งไว้ พอประมาณ (ซึ่งศัพท์ทางแผนไทยเรียกว่า หน่วง เน้น นิ่ง) จากนั้นใช้นิ้วมือขวา 4 นิ้ว ช้อนใต้ข้อพับเข่า นวดในลักษณะคล้ายควัก และใช้นิ้ว 4 นิ้วมือขวานวดเหนือเข่าลูบเข้าด้านใน และลูบออกด้านนอก อย่างละ 5 รอบ
- มือขวากดนวดบริเวณเข่าและกดจุดใต้เข่า เปลี่ยนมือขวาจับปลายเท้าไว้ แล้วใช้มือซ้าย 4 นิ้วช้อนใต้ข้อพับเข่าในลักษณะคล้ายควัก ใช้นิ้วมือซ้ายนวดเหนือเข่าลูบออกด้านนอก และลูบออกด้านในอย่างละ 5 ครั้ง จากนั้นใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางทั้ง 2 มือกดจุดใต้ข้อพับเข่า
- ลูบสันหน้าแข้งด้านนอกและด้านใน 5 รอบ แตะครีมลงบนสันหน้าแข้งทั้งด้านในและด้านนอก มือซ้ายจับส้นเท้ายกขึ้นมือขวานวดหน้าแข้งด้านนอก ตั้งแต่ใต้ขาพับจนถึงเอ็นร้อยหวายในลักษณะลูบไปนวดไป แล้วเปลี่ยนมาทำที่กล้ามเนื้อน่อง เปลี่ยนเป็นมือขวาจับส้นเท้ายกขึ้นมือซ้ายนวดหน้าแข้งด้านในตั้งแต่ใต้ขาพับจนถึงเอ็นร้อยหวายในลักษณะลูบไปนวดไป
- นิ้วหัวแม่มือครูด 3 แนวหน้าแข้งด้านใน แนวละ 5 รอบ มือขวาจับปลายเท้าเอียงให้ขาด้านในหงายขึ้น แล้วใช้นิ้วมือซ้าย 4 นิ้ว ประคองข้างหน้าแข้งด้านนอก นิ้วหัวแม่มือกดครูดขึ้นเป็นแนวตรงจากเอ็นร้อยหวายถึงขาพับ
แนวที่1 ข้างร่องกระดูกสันหน้าแข้งด้านใน
แนวที่ 2 แนวตาตุ่ม
แนวที่ 3 แนวเอ็นร้อยหวาย
- นิ้วหัวแม่มือครูด 3 แนวหน้าแข้งด้านนอก แนวละ 5 รอบ
แนวที่ 1 ข้างร่องกระดูกสันหน้าแข้งด้านนอก
แนวที่ 2 แนวตาตุ่ม
แนวที่ 3 แนวเอ็นร้อยหวาย
- นิ้วชี้ครูดร่องสันหน้าแข้งด้านนอก 3 รอบ มือซ้ายจับปลายเท้าเอียงเข้าด้านใน งอนิ้วชี้ มือขวาให้ลงน้ำหนักที่นิ้วชี้กดครูดไปตามร่องสันหน้าแข้งด้านนอก ตั้งแต่ข้อเท้าไปจนถึงปลายเข่า ทำซ้ำ 3 ครั้ง ให้นิ้วโป้งประคองกระดูกสันหน้าแข้งด้านใน
- นิ้วชี้กดเป็นจังหวะ ไล่ลงเป็นระยะ ๆ 3 รอบ วางมือทั้ง 2 ข้างในลักษณะเดียวกับข้อ 53 ลงน้ำหนักที่นิ้วชี้กดไปตามร่องสันหน้าแข้งด้านนอก โดยไล่เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ใต้เข่าลงไปจนถึงข้อเท้า
- กดก้างปลาหน้าแข้งด้านนอก ทำซ้ำ 5 รอบ มือขวาจับปลายเท้าเอียงไปทางปลายเท้า ด้านใน นิ้วหัวแม่มือซ้ายอยู่ข้างกระดูกหน้าแข้งด้านนอก 4 นิ้วประคองหน้าแข้งด้านใน จากนั้นกดครูดนิ้วหัวแม่มือลงบนกระดูกหน้าแข้งด้านนอกเป็นแนวขวาง แต่กดขึ้นอย่างเดียว 5 รอบ
- กดก้างปลาหน้าแข้งด้านใน ทำซ้ำ 5 รอบ มือขวาจับปลายเท้าเอียงไปทางด้านนอก นิ้วหัวแม่มือขวาอยู่ข้างกระดูกหน้าแข้งด้านนอก 4 นิ้วประคองหน้าแข้งด้านนอก แล้วกดครูดนิ้วหัวแม่มือลงบนกระดูกหน้าแข้งด้านในเป็นแนวขวาง ในลักษณะกดลงอย่างเดียว 5 รอบ
- มือนวดใต้ข้อพับเข่า 5 รอบ ตั้งเข่าผู้ถูกนวดขึ้น ให้ฝ่าเท้าวางบนเข่าของผู้นวด มือทั้ง 2 ข้าง นวดใต้ข้อพับเข่าสลับมือกัน โดยลงน้ำหนักที่นิ้วมือทั้ง 4
- ตบสลับมือใต้ข้อพับเข่า 5 รอบ ตั้งเข่าในลักษณะเดิม ใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 ของทั้ง 2 ข้าง ตบเบา ๆ สลับมือกันที่บริเวณใต้ข้อพับเข่า โดยลงน้ำหนักที่ปลายนิ้วทั้ง 4
- มือครูดใต้น่องเอ็นร้อยหวาย 5 รอบ ตั้งเข่าในลักษณะเดิม ใช้ปลายนิ้วกลางกับนิ้วนาง กดครูดบริเวณกลีบน่องจากใต้ข้อพับเข่าไปตามแนวเอ็นร้อยหวายไปจนถึงข้อเท้า โดยให้นิ้วหัวแม่มือประคองไว้ที่กระดูกหน้าแข้งทั้ง 2 ข้าง จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง ลูบจากข้อเท้าขึ้นไปตามหน้าแข้งจนถึงใต้เข่า
- มะเหงกคลึงหน้าแข้งด้านนอก-ด้านใน 5 รอบ กำมือตั้ง 2 ข้างในลักษณะมะเหงกตั้ง แล้ววางนิ้วหัวแม่มือประคองไว้ที่สันหน้าแข้ง ใช้มะเหงกคลึงเป็นวงกลมที่น่องจากใต้ข้อพับเข่าถึงที่ข้อเท้า ลงน้ำหนักที่มะเหงก
- มะเหงกตั้งกดหน้าแข้งด้านนอก-ด้านใน 5 รอบ กำมือในลักษณะเดิมเหมือนข้อ 13 ใช้มะเหงกกดข้างหน้าแข้งด้านนอกและด้านในเป็นระยะ ๆ จากใต้ข้อพับถึงข้อเท้า โดยลงน้ำหนักที่มะเหงก
- มือลูบน่องและหน้าแข้งด้านนอก-ด้านใน 5 รอบ มือซ้ายจับปลายเท้า ใช้ฝ่ามือลูบไป ตามน่องด้านนอก ทำซ้ำ 5 รอบ จากนั้นใช้ฝ่ามือซ้ายลูบขึ้นไปตามแนวหน้าแข้งด้านใน แล้วลูบลงมาตามน่อง ทำซ้ำ 5 รอบ
- ยกส้นเท้าขึ้นมือลูบน่องด้านนอก 5 ครั้ง ด้านใน 5 ครั้ง มือซ้ายจับส้นเท้ายกขึ้น ใช้ฝ่า มือขวาลูบไปตามแนวด้านนอก โดยลงน้ำหนักที่ปลายนิ้วทั้ง 4 ทำซ้ำ 5 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นมือขวาจับส้นเท้ายกขึ้นใช้ฝ่ามือซ้ายลูบไปตามแนวน่องด้านใน ทำซ้ำ 5 ครั้ง
- นิ้วหัวแม่มือครูดร่องนิ้วเท้าไป-กลับ มือซ้ายจับที่กลางฝ่าเท้า โดยให้นิ้วมือทั้ง 4 นิ้วอยู่บนหลังเท้า นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ฝ่าเท้าใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดครูดระหว่างซอกนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ในลักษณะดึงเข้าหาตัวผู้นวด ทำซ้ำเช่นเดิมโดยเลื่อนไปที่ละซอกนิ้ว จนถึงระหว่างซอกนิ้วนางกับนิ้วก้อย แล้วทำย้อนกลับมาจนถึงระหว่างซอกนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้
- มือกระตุกปลายนิ้วเท้าไปกลับ
- ปั่นข้อเท้า 10 ครั้ง
- ปั่นปลายเท้า 10 ครั้ง
- หมุนข้อเท้า หมุนเป็นวงกลม
- กำมือหลวมทุบหน้าแข้งด้านนอกทุบลงเป็นระยะ
- ทุบฝ่าเท้า มือซ้ายจับปลายเท้าแอ่นขึ้น โยให้ปลายเท้าดันเข้าหาตัวผู้ถูกนวด มือขวากำ เป็นกำปั้น แล้วใช้ด้านหลังกำปั้นทุบเบา ๆ ให้ทั่วฝ่าเท้า
- ห่อผ้า
- แกะผ้าพันเท้าขวาออก นวดเหมือนเท้าซ้ายทุกอย่าง แล้วห่อผ้าเหมือนเดิมฃขั้นตอนที่ 6 การกระตุ้นเท้า ก่อนแกะผ้าพันเท้าออกและเช็ดครีม
- นวดนอกผ้าบริเวณฝ่าเท้าก่อน วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง ชนกันที่ส้นเท้า นิ้วมือทั้ง 4 ประคองหลังเท้าลงน้ำหนักที่นิ้วหัวแม่มือกดทั่วฝ่าเท้า
- คลึงหลังเท้าแกะผ้าที่ปลายนิ้วเท้าออก ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง นวดคลึงให้ทั่วหลังเท้า โดยนิ้วหัวแม่มือทั้ง 4 ประคองอยู่ที่ฝ่าเท้า
- ดึงนิ้วเท้า มือซ้ายจับอยู่ที่กลางฝ่าเท้า โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่บนหลังเท้า นิ้วมือทั้ง 4 อยู่ที่ฝ่าเท้า ใช้นิ้วหัวแม่มือขวาคลึงโคนนิ้วแล้วดึงนิ้ว ทำซ้ำที่ละนิ้วจนครบทุกนิ้ว
- นวดหน้าแข้ง ใช้นิ้วซ้ายจับปลายเท้าเอียงไปทางเท้าด้านใน ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดนวดให้ทั่วบริเวณหน้าแข้งด้านนอก
- แกะผ้าออกเช็ดครีม แกะผ้าพันเท้าออกไว้บนฝ่าเท้าด้านซ้าย ใช้ผ้าเช็ดเข่า ใต้ขาพับเข่า ขณะเช็ดครีมที่น่องให้นวดไปด้วย แล้วเปลี่ยนผ้ามาวางไว้บนฝ่ามือขวา ทำซ้ำเช่นเดิม วางผ้าบนฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง แล้วเช็ดครีมตามใต้ฝ่าเท้า หลังเท้า นิ้วเท้า ง่ามเท้า และจมูกเล็บ
- ทุบหน้าแข้ง ปั่นข้อเท้า ปั่นปลายเท้า หมุนข้อเท้า ทุบข้อเท้า แล้วทาแป้ง เพื่อไม่ให้เหนอะหนะ