นาขั้นบันได

6 สิงหาคม 2557 ภูมิปัญญา 0

การทำนาขั้นบันไดเป็นการทำนาบนพื้นที่สูงโดยการขุดปรับพื้นที่สภาพไร่ซึ่งเคยใช้ปลูกข้าวไร่หรือพืชไร่อื่นๆ ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่นา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว และสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่สูง

แม่กลางหลวง หรือบริเวณลุ่มน้ำแม่กลาง หรือเรียกตามภาษาถิ่นว่า “แม่กลางคี” ตั้งอยู่ในเขตอ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ มีชาวกระเหรี่ยง ปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ ที่ยังคงยึดถือความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีพื้นบ้านแบบดั้งเดิม หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา อันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของดอยอินทนนท์ และชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพการเกษตร และยังได้ทำการเกษตรปลุกข้าวแบบนาขั้นบันได ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวง ซึ่งในอดีตนั้น ในหลวงทรงเสด็จมายังโครงการหลวงอินทนนท์ ซึ่งตอนนั้นป่าแถบนี้ยังมีสภาพเสื่อมโทรม เพราะชาวบ้านยังคง ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย แต่หลังจากในหลวงท่านเสด็จ มาให้ความรู้และแนะนำอาชีพแก่ชาวบ้านแถวนี้ สภาพป่าก็เริ่มดีความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น นาขั้นบันไดของแม่กลางหลวง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวครั้งแรก จากภาพยนต์ หนึ่งใจเดียวกัน โดยสถานที่ถ่ายทำหลัก อยู่ที่แม่กลางหลวง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภาพนาขั้นบันได ก็เป็นภาพที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น

nakanbundaikaw nakanbundaiplang nakanbundaitungnakanbundais

1. การคัดเลือกพื้นที่
่ควรพิจารณาเลือกพื้นที่ที่ไม่มีความลาดชันมากนัก เนื่องจากการขุดปรับพื้นที่ทำได้ค่อนข้างยากและจะได้พื้นที่ปลูกข้าวในกระทงนาที่แคบ การทำงานได้ไม่สะดวก และควรเลือกพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถทำระบบส่งน้ำมายังแปลงนาได้ หรือจัดหาน้ำมายังแปลงนาได้ในอนาคต

2. การขุดปรับพื้นที่นาขั้นบันได
การขุดปรับพื้นที่นาขั้นบันไดสามารถทำได้โดยใช้แรงงานคน หรือใช้เครื่องจักรกล แต่ในบางพื้นที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องจักรกลเนื่องจากไม่มีถนนเข้าสู่พื้นที่ การใช้แรงงานคนเป็นวิธีการที่เหมาะสมในหลายพื้นที่และเจ้าของนามีความภาคภูมิใจผลงานที่ตนได้ดำเนินการเอง รวมทั้งมีความเอาใจใส่ที่จะบำรุงรักษาเมื่อเกิดการชำรุด การขุดปรับพื้นที่นาสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  • 2.1.การขุดดินจากล่างขึ้นบน เป็นการขุดดินจากขอบแปลงด้านล่างขึ้นไปทำเป็นคันนาเหนือจุดที่ขุดดิน พร้อมทั้งปรับแปลงให้มีความสม่ำเสมอ การขุดปรับพื้นที่นาแบบนี้มีข้อดีคือโครงสร้างของดินในแปลงนาจะถูกรบกวนน้อย หน้าดินจะไม่ถูกเคลื่อนย้ายจึงทำให้ยังรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเดิมไว้ได้ สามารถทำให้น้ำขังในแปลงนาได้เร็วขึ้น
  • 2.2. การขุดดินจากบนลงล่าง เป็นการขุดดินจากส่วนบนของแปลงที่สูงกว่ามาถมส่วนล่างของแปลงที่ต่ำกว่าเพื่อปรับให้แปลงนามีความสม่ำเสมอ การขุดปรับพื้นที่นาโดยวิธีนี้สามารถทำได้ง่ายเกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคย และสามารถใช้เครื่องจักรกลได้ แต่การขุดปรับพื้นที่นาโดยวิธีนี้มีข้อจำกัดคือ หน้าดินส่วนบนของแปลงนาจะถูกตัดออกไปเหลือแต่ดินชั้นล่างความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ จึงทำให้การเจริญเติบโตของข้าวในระยะแรกไม่ค่อยดี ส่วนหน้าดินที่ตัดออกไปจะถูกนำไปถมในส่วนล่างของแปลงนาและปรับเป็นคันนา จึงทำให้ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ส่วนล่างเจริญเติบโตได้ดีกว่า การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดยการขุดเอาดินชั้นบนของกระทงนาที่อยู่เหนือขึ้นไปนำไปใส่แปลงนาที่อยู่ด้านล่างปรับระดับให้สม่ำเสมอ การปรับพื้นที่ในแปลงนาให้สม่ำเสมอทำได้โดยการปล่อยน้ำเข้าในแปลงแล้วปรับพื้นที่ให้น้ำท่วมพื้นที่ในแปลงให้สม่ำเสมอกัน หรือถ้าไม่สามารถปล่อยน้ำเข้าแปลงได้ก็ใช้การสังเกตและค่อยๆปรับระดับให้สม่ำเสมอ

3. การปรับปรุงบำรุงดิน
นาขั้นบันไดหลังจากปรับพื้นที่เสร็จใหม่ๆความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงจะไม่สม่ำเสมอ โครงสร้างของดินยังไม่เหมาะสมในการทำนา ดังนั้นจะต้องปรับปรุงบำรุงดินโดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ โดยการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด นอกจากนี้จะต้องมีการปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดิน และเพิ่มเติมธาตุอาหาร เช่น ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตามค่าการวิเคราะห์ดิน

nakanbundaikla

4. การปลูกข้าว
ในปีแรกๆของการขุดปรับพื้นที่เป็นนาขั้นบันได บางพื้นที่ไม่สามารถขังน้ำได้จึงต้องปลูกข้าวไร่โดยการหยอดเป็นหลุม แต่ในพื้นที่ที่สามารถปรับและขังน้ำได้ก็สามารถปลูกข้าวโดยวิธีปักดำ แต่ควรใช้ระยะปักดำให้ถี่ขึ้นเนื่องจากข้าวจะแตกกอน้อย โดยอาจใช้ระยะปักดำ 20 x 20 ซม. จำนวนกล้า 3-5 ต้นต่อจับ

5. การใส่ปุ๋ย
นาขั้นบันไดบนพื้นที่สูงควรเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรโดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งสามารถหาได้ในท้องถิ่น หรือเกษตรกรสามารถผลิตเองได้ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น ในกรณีที่ไม่เพียงพออาจใช้ปุ๋ยเคมีเสริมเท่าที่จำเป็น

6. การให้น้ำ
เพื่อลดปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และกระจายน้ำให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง การบริหารจัดการน้ำโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน(ระบบแก่เหมือง) จะทำให้การทำนาขั้นบันไดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7. การป้องกันกำจัดโรค และแมลง
ข้าวนาขั้นบันไดส่วนมากใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีความต้านทานต่อโรคในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมีการระบาดของแมลงบางชนิดได้แก่ เพลี้ยอ่อนในดิน เพลี้ยกระโดดหลังขาว และแมลงบั่ว ซึ่งจะต้องมีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูต่างๆ ตามคำแนะนำ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย

8.การควบคุมวัชพืช
การขังน้ำในแปลงนาสามารถลดปัญหาวัชพืชได้ระดับหนึ่ง ถ้าหากยังมีวัชพืชก็ใช้แรงงานคนถอน แต่ในแปลงนาที่ไม่สามารถขังน้ำได้วัชพืชเป็นปัญหาสำคัญในการปลูกข้าว ดังนั้นการเตรียมดินโดยการไถพรวน การขุดพรวนดินในระยะแรกของการเตรียมดินจะช่วยลดปัญหาวัชพืช แต่หลังจากปลูกข้าวแล้วจะต้องกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังข้าวงอก 20 25 วัน และอีกครั้งหนึ่งหลังข้าวงอก 40- 45 วัน ถ้าพบว่ายังมีวัชพืชรุนแรงอาจกำจัดวัชพืชอีกครั้งหนึ่งได้

nakanbundaitak

ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
http://www.brrd.in.th

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น