นุ่นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 1015 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ผลอ่อนสีเขียวลักษณะยาวๆคล้ายผลแตงกวา แต่มีขนาดใหญ่กว่า เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อข้างในเป็นปุยและมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียว มีหนามสั้นๆที่โคนต้น กิ่งทอดขนานกับพื้น ทิ้งใบในฤดูแล้ง ดอกสีขาวนวล ผลทรงรูปกระสวย ออกผลช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceiba pentandra (L.)Gaertn.
วงศ์ : Bombacaceae
ชื่อสามัญ : White silk cotton tree
ชื่ออื่น : ง้าว งิ้วน้อย งิ้วสร้อย งิ้วสาย (เหนือ)
ลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตร ลำต้นกลม ผิวเรียบ แตกกิ่งรอบต้น ขนานกับพื้นดิน ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 5-7 ใบ แผ่นใบรูปรีแกมรูปหอก ขนาด 2.5 – 4 x 8 – 14 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม ดอกออกเป็นกระจุกอัดกันแน่นที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวนวล ผลรูปกระสวย หัวท้ายเรียวแหลม ผิวเรียบ ขนาด 5 x 10-15 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกออกเป็น 5 แนว เมล็ดรูปร่างกลม สีน้ำตาลดำ มีเส้นใย สีขาวหุ้มเมล็ด
ประโยชน์
นุ่นเป็นพันธุ์ไม้นำเข้าจากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในป่าเขตร้อนของประเทศเปรู มีปลูกในประเทศไทยเพื่อใช้ปุยจากผลทำหมอนและที่นอน ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม นอกจากนี้เมล็ด สกัดเป็นน้ำมันพืช กากที่เหลือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ไส้นุ่น ใช้เพาะเห็นฟาง เนื้อไม้นุ่น ทำกระสวนทอผ้า เยื่อกระดาษ ส้นรองเท้า ราก ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
ไม้ยืนต้น ผลัดใบในฤดูแล้ง ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ลำต้นสูงใหญ่ เปลาตรง แผ่พุ่มกว้างบริเวณยอด พบหนามตามโคนต้น ลำต้นมีสีเขียว สูง 8-30 เมตร ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ ใบย่อย 5-9 ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 1.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-16 เซนติเมตร ปลายรูปหอกเรียวแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบเรียวแหลม ก้านใบและเส้นใบมีสีน้ำตาลแดง ก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ก้านใบร่วมยาว 8-20 เซนติเมตร ดอกช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ ขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ยาว 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง กลีบดอกติดกันที่ฐาน กลีบด้านนอกเป็นสีขาวนวล และมีขน ด้านในสีเหลือง เกสรตัวผู้ 5-6 อัน ก้านเกสรตัวเมียไม่แยก ผลเป็นฝักยาวรี แห้งแตก รูปขอบขนาน กว้าง 2 นิ้ว ยาว 4-5 นิ้ว ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง แตกเป็น 5 พู เมล็ดจำนวนมาก สีดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ด เป็นปุยนุ่น นำมายัดใส่หมอน ที่นอน ฝักอ่อนมากๆที่เนื้อยังไม่เปลี่ยนเป็นปุยนุ่น ใช้เป็นอาหารได้ โดยรับประทานสด หรือใส่แกง
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ
ตำรายาไทย ใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ แก้ไข้ เปลือกต้น รสเย็นเอียน แก้ไข้ แก้บิด แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ทำให้อาเจียน บำรุงกำหนัด ต้มดื่มแก้หืด แก้หวัดในเด็ก ต้มร่วมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาล ดื่มขับปัสสาวะ ใช้ได้ดีในรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดอกแห้ง แก้ไข้ แก้ปวด ราก รสจืดเอียน ต้มน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิดเรื้อรัง แก้ท้องเสีย ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ แก้พิษแมลงป่อง ตำคั้นเอาน้ำดื่ม แก้เบาหวาน เมล็ด รสเอียนมัน น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ยางไม้ รสฝาดเมา เป็นยาบำรุงกำลัง ฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้ระดูขาวมากเกินไป ใบ รสเย็นเอียน ตำพอกแก้ฟกช้ำ เผาไฟ ผสมหัวขมิ้นอ้อยและข้าวสุก พอกฝี ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้โรคเรื้อน ตำกับหัวหอม ขมิ้น ผสมน้ำดื่มแก้ไอ แก้เสียงแหบ แก้หวัดลงท้อง แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ ใบอ่อนรับประทานแก้เคล็ดบวม ผลอ่อน รสหวานฝาดเย็น เป็นยาสมาน ราก คั้นเอาน้ำ ทานแก้โรคเบาหวาน
สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้นหรือใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ เชื้อรา และยีสต์ในหลอดทดลอง และสารสกัดบิวทานอลจากเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ของสัตว์ทดลอง
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้อ่อน ทำเยื่อกระดาษ และบดทำไส้ในไม้อัดได้ ผลแก่มีขนยาวหุ้มเมล็ด เรียก นุ่น ใช้ยัดหมอนและที่นอน น้ำมันจากเมล็ด เป็นยาระบาย
เอกสารอ้างอิง
นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ธนุชา บุญจรัส, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วิชิต เปานิล, อาทร ริ้วไพบูลย์.
สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน):กรุงเทพมหานคร, 2543.
ชูศรี ไตรสนธิ, ปริทรรศน์ ไตรสนธิ : พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2547
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง