น้ำนมราชสีห์ สมุนไพรต้านเชื้อ

26 กรกฏาคม 2558 สมุนไพร 0

น้ำนมราชสีห์เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่รกร้าง ชายป่า ท้องนา และในพื้นที่โล่งจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร ถือเป็นพืชที่มี Growth hormone สูงเมื่อนำมาใช้เลี้ยงปลาหรือเป็ด จะช่วยทำให้เป็ดออกไข่ดี ส่วนปลาก็เจริญเติบโตได้ดี โดยยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ น้ำยางจากต้นสามารถนำมาใช้ทารักษาหัวสินบนใบหน้าได้ สรรพคุณทางยาจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย และช่วยในการสมานแผล และสารสกัดจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะต่อเชื้อ Staphylococcus

ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia hirta L.
วงศ์ Euphorbiaceae
ชื่ออื่น นมราชสีห์, ผักโขมแดง(ไทย), หญ้าน้ำหมึก(พายัพ); ไต่ปวยเอี่ยงเช่า, ปวยเอี้ยง(จีน); Asthma Weed.

ลักษณะต้น
น้ำนมราชสีห์เป็นพืชปีเดียวดาย ขนาดเล็ก มียางสีขาวเหมือนน้ำนม แตกกิ่งก้านสาขาจากโคนต้นใกล้ดินตั้งขึ้น หรือแผ่ออกไป ก้านสีออกแดง ๆ มีขนสีน้ำตาลเหลือง ลำต้นยาว 15-40 ซ.ม. ใบออกตรงข้ามกัน ลักษณะรี ๆ คล้ายปีกแมลง ยาว 1-4 ซ.ม. ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบโค้งเข้าไม่เท่ากัน ขอบใบมีรอยหยักเล็ก ๆ คล้ายฟันเลื่อย กลางใบมักมีจุดสีม่วงแดง เห็นเส้นกลางใบและเส้นใบชัด ๆ ออกใกล้โคนใบอีก 3-4 เส้น ท้องใบมีขนสีน้ำตาลเหลือง ช่อดอกออกจากซอกใบ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยออกเป็นกระจุกแน่นเป็นกลุ่มกลม ๆ 2-3 กลุ่ม มีสีเขียวปนม่วงแดง กลุ่มหนึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอกหรือมีก็สั้นมากเกสรตัวผู้มีหลายอันอยู่บนฐานดอก รังไข่มี 1 อัน ลักษณะทรงกลมออกสามเหลี่ยม มีก้านยื่นออกมาจากกลางดอก ที่ปลายมียอดเกสรตัวเมียเป็นเส้นสีแดงสั้น ๆ 3 เส้น ผลลักษณะทรงกลมออกสามเหลี่ยม มีรอยแยก 3 รอย ผลยาวประมาณ 1.5 ม.ม. ออกดอกตลอดปี มักพบขึ้นเองริมทาง ข้างถนนและที่รกร้างทั่วไป

nomratchasiy nomratchasis nomratchasiking

การเก็บมาใช้
ทั้งต้น เก็บในฤดูร้อน ล้างสะอาด ตากแห้ง เก็บเอาไว้ใช้หรือใช้สด

ลักษณะยาแห้ง
ทั้งต้นและรากแห้งยาว 15-20 ซ.ม. รากฝอยหงิกงอ ก้านกลมกว้าง 1-3 ม.ม. งอเล็กน้อย สีน้ำตาลแดง มีริ้วรอยตื้น ๆ และมีจุด เห็นข้อชัดเจน มีขนหยาบ ๆ สีเหลือง เนื้อแข็งหักได้ง่าย เนื้อในสีขาวตรงกลางมีรู มีใบมากม้วนขดงอ ซอกใบมีช่อดอก มีดอกหนาแน่น มีกลิ่นอ่อน ๆ เฉพาะตัว

nomratchasid

สรรพคุณ
ทั้งต้น รสฉุน เปรี้ยว เย็นจัด ใช้แก้พิษ ขับน้ำนม แก้ผดผื่นคัน ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ฝีในปอด มีพิษบวมแดง ฝีที่เต้านม ขาเน่าเปื่อย

วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นแห้ง 6-10 กรัม(สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง หรือตำพอก

ตำรับยา

  1. แก้บิดมูกเลือด ใช้ทั้งต้นแห้ง 15-25 กรัม บิดถ่ายเป็นเลือดให้ผสมน้ำตาลทราย บิดถ่ายเป็นมูกให้ผสมน้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำต้มสุกตุ๋นเอาน้ำกิน
  2. แก้เบาขัด หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ต้นสด 20-60 กรัม ผสมน้ำต้มกินวันละ 2 ครั้ง
  3. แก้ฝีมีหนองลึก ๆ ใช้ใบสด 1 กำมือ ผสมเกลือ และน้ำตาลแดงอย่างละเล็กน้อยตำพอก
  4. แก้ฝีในปอด ใช้ต้นสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาน้ำครึ่งแก้ว ผสมน้ำดื่ม
  5. แก้ฝีที่เต้านม ใช้ต้นสด 60 กรัม ร่วมกับเต้าหู้ 120 กรัม ต้มกิน และใช้ต้นสด 1 กำมือ ผสมเกลือเล็กน้อยตำผสมน้ำร้อนเล็กน้อยพอกบริเวณที่เป็น
  6. แก้เด็กเป็นตานขโมย (ผอม พุงโร ก้นปอด) ใช้ต้นสด 30 กรัม กับตับหมู 120 กรัม ตุ๋นกิน
  7. แก้เด็กศีรษะมีแผลเปื่อยเน่า มีน้ำเหลือง ใช้ต้นสด 1 กำมือ ต้มเอาน้ำชะล้างแผล
  8. แก้ขาเน่าเปื่อย ใช้ต้นสด 100 กรัม แช่ในแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งลิตร 3-5 วัน เอาไว้ทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ
  9. แก้บาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดขยี้หรือตำพอกแผล ห้ามเลือด
  10. ยางใช้กัดหูด ตาปลา ใช้ยางขาวทาที่เป็นบ่อย ๆ

ความเป็นพิษ: ทั้งต้นมีน้ำยาง มีสารพิษ คือ เรซินัส บลิสเตอร์ และฟลาโวนอยด์ ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง หากกินเข้าไปทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หากสัตว์กินเข้าไปอาจเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าทำให้แห้งหรือผ่านการต้ม พิษจะหมดไป

nomratchasidok

รายงานผลทางคลินิกของจีน
1. แก้ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย ใช้ทั้งต้นวันละ 30-160 กรัม ต้มน้ำแบ่งให้กินเป็น 3 ครั้ง หรือทำเป็นยาเม็ดกินครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หรือ ใช้ทำเป็นยาฉีด (1 ม.ล.เทียบเท่ายาสด 5 กรัม) ฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 2 ม.ล. วันละ 3 ครั้ง

มีบางรายงานว่าใช้ต้นนี้ ร่วมกับเอี้องเพ็ดม้า(Polygonum Chinensis L.) และห่งบ๋วยเช่า(Pteris multi-fida Poir., พวกเฟิร์นเงิน) อย่างละ 16 กรัม ทำเป็นตำรับยา ต้มสกัดเอาน้ำมาเคี่ยวให้ข้น นำไประเหยให้แห้ง บดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ด (1 เม็ดนี้เนื้อยานี้ 0.6 กรัม) ผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 3 เม็ด เด็กอายุ 7-12 ขวบ ครั้งละ 2 เม็ด เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ครั้งละ 1 เม็ดกินวันละ 4 ครั้งติดต่อกัน 5 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา
จากการรักษาคนไข้ 2,000 รายที่เป็นบิดจากแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน และลำไส้อักเสบได้ผลประ-มาณ 90 เปอร์เซ็นต์
จากการรักษาคนไข้เป็นบิดจากแบคทีเรียจำนวน 1,743 ราย อาการอุจจาระเป็นมูกเลือดจะหายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด 1 วัน ระยะนานที่สุด 9 วัน ที่หายภายใน 3 วัน มีจำนวน 78 เปอร์เซ็นต์
ระยะเวลาที่ไข้ลดเป็นปกติเร็วที่สุด 6 ชั่วโมง ระยะนานที่สุด 4 วัน ที่อาการไข้ลดภายใน 1 วัน มีจำนวน 68 เปอร์เซ็นต์
อุจจาระเป็นปกติอย่างเร็วที่สุด 2 วัน อย่างช้าที่สุด 10 วัน หากหลังการกินยาแล้วยังคงถ่ายไม่หยุด ให้กินยาเพิ่มขึ้นอีกได้ ยังไม่พบอาการข้างเคียง

nomratchasibai

2. แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นสด 120 กรัม กิ๊กแก้ (Platycodon grandiflorum (Jacq) A.D.C.) 10 กรัม ใส่น้ำ ต้ม 2 ชั่วโมง คั้นเอาน้ำมาต้มอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำไประเหยให้เหลือ 60 ม.ล.(4ช้อนโต๊ะ) กินครั้งละ 20 ม.ล. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน ติดต่อกัน 10 วันเป็นหนึ่งรอบของการรักษา ให้กินติดต่อกัน 2 รอบ จากการสำรวจในคนไข้ 128 ราย ใช้ยานี้แล้วได้ผล อาการโรคนี้หาย 33 ราย (25.8%) ได้ผล อาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด 36 ราย(28.1%) อาการดีขึ้นดีขึ้น 45 ราย(35.2%) ถ้านำเอาต้นนี้มาปรุงเป็นตำรายา ใช้แก้อาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอมีเสมหะ ปอดชื้น เสียงแหบ ในระยะเริ่มแรกจะรักษาได้ผลดี ในพวกที่เป็นโรคหอบหืดและในคนไข้ที่มีอายุมากได้ผลไม่ดีนัก ในรายที่เป็นโรคเรื้อรัง ร่างกายอ่อนแอ ผลการรักษา จะยิ่งน้อยลง หากคนไข้มีอาการเวียนศีรษะ เป็นหวัด ก็ยังคงกินยานี้ต่อไปได้

ข้อสังเกต : ตำรับบางแห่งกล่าวว่า บางคนอาจแพ้ ทำให้ท้องเสีย แก้โดยใช้ชะเอม 10 กรัม ดอกสายน้ำผึ้ง 13 กรัม น้ำสะอาด 1 ถ้วยครึ่ง ต้มให้เหลือ 1 ถ้วยดื่ม

ผลทางเภสัชวิทยา
สารสกัดจากต้นนี้ มีฤทธิ์กดหัวใจและการหายใจ และทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว
ในการทดลองทางเภสัชวิทยา ชี้ให้เห็นว่าต้นนี้ใช้แก้ในกรณีกล้ามเนื้อเรียบหดตัว อย่างน้อยก็กล้ามเนื้อเรียบของระบบทางเดินหายใจ อย่างมีเหตุผล ทำให้หายใจได้ดีขึ้น ในกรณีหายใจขัดเนื่องจากหืดหรือเนื้อเยื่อพองบวม
หนูตะเภาตัวเมียในระยะที่ให้นม เมื่อกินต้นนี้ จะทำให้มีน้ำนมมากขึ้น และต้นนี้มีสารบางตัวที่ทำให้ถ่ายได้
สารสกัดจากทั้งต้นบางรายงานว่า ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค แต่มีบางรายงานว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในความเข้มข้น 1:5 และ 1:60

nomratchasiton

หมายเหตุ
ในฟิลิปปินส์ ใช้ใบแห้ง ผสมกับดอกลำโพงแห้ง มวนเป็นบุหรี่สูบแก้หืด
ยางขาว ใช้เป็นยาเกี่ยวกับประสาทความรู้สึก ใช้กัดหูด ตาปลา (ในอินเดียใช้หยอดตา แก้เยื่อตาอักเสบ เป็นแผลที่กระจกตา)
ราก ใช้แก้อาเจียน ใช้เป็นยาให้กินระหว่างเป็นไข้

ทั้งต้น ใช้เป็นยาสงบประสาทและทำให้นอนหลับได้สนิท ต้มน้ำให้หญิงมีน้ำนมน้อยกิน ทำให้มีน้ำนมมากขึ้น ใช้แก้อาการหายใจขัดเนื่องจากหืด และใช้ห้ามเลือด นอกจากนี้อาจบดเป็นผง ผสมน้ำสวนแก้ท้องผูก ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสียเรื้อรัง บิดเรื้อรังและเฉียบพลัน ใช้ขับพยาธิและแก้กลาก

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น