บวบ ผักคุณประโยชน์สูง

20 มิถุนายน 2556 ไม้เลื้อย 0

คนไทยส่วนใหญ่นิยมปล่อยให้บวบเลื้อยตามรั้วหรือปล่อยให้เลื้อยพันไปตามต้นไม้ แล้วคอยเก็บผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก ส่วนบวบที่ไม่ได้เก็บจะปล่อยจนแก่แห้งเหลือแต่เส้นใยที่เรียกว่า รังบวบ และถูกนำมาใช้ในการอาบน้ำ ขัดถูภาชนะโดยไม่ต้องไปหาซื้อฟองน้ำให้สิ้นเปลือง บวบที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ได้แก่ บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม

บวบที่นิยมมีอยู่ 3 ชนิดคือ

  • บวบเหลี่ยม
  • บวบหอม
  • บวบงู

บวบเหลี่ยม
บวบเหลี่ยม เป็นพืชปีเดียว ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นเลื้อยพัน มีลักษณะเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม มือพันมีขนแตกแขนงเป็น 3 แฉก ใบมี 5-7 เหลี่ยม มีรอยเว้าตื้น แผ่นใบกว้างและยาว 10-25 เซนติเมตร มีขนสาก สีเขียวสด ช่อดอกเพศผู้ยาว 15-35 เซนติเมตร ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวเจริญออกจากซอกใบเดียวกันกับช่อดอกเพศผู้ ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ดอกบานเวลาเย็น มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ผลรูปกระบองมีเหลี่ยม 10 เหลี่ยม ยาว 15-50 เซนติเมตร กว้าง 5-10 เซนติเมตร จุกที่ปลายผลเกิดจากวงกลีบเลี้ยงและก้านเกสรเพศเมีย เมล็ดสีดำ รูปทรงรี ยาว 1-1.3 เซนติเมตร กว้าง 0.7-0.9 เซนติเมตร

boubleamkor

บวบที่มีรสอร่อยและคนนิยมรับประทานกันมากที่สุดคือ บวบเหลี่ยม ซึ่งจะผลิดอกออกผลสะพรั่งให้พวกเรากินกันได้ทุกฤดู ต่างไปจากบวบหอมที่หารับประทานได้เฉพาะช่วงหน้าฝน ในขณะที่บวบงูก็จะออกผลดกในช่วงปลายฝนต่อต้นฤดูหนาว บวบเหลี่ยมจึงเป็นตัวแทนของเหล่าบวบที่มีให้คนไทยบริโภคได้ครบทั้ง 3 ฤดูเลยทีเดียว

บวบเหลี่ยมเป็นชื่อที่คนภาคกลางเรียกกัน แต่ทางภาคเหนือจะมีสำเนียงใช้เรียกที่แตกต่างกันอย่างมาก เช่น หมักนอย มะนอยเหลี่ยม บางแห่งก็เรียกกันว่า มะนอยเลียม คนบางท้องถิ่นเรียกมะนอยเฉยๆ มีบ้างที่เรียกแปลกออกไปกว่านั้นอีก เช่น มะนอยข้อง มะนอยงู

ส่วนชื่อสามัญของเขาเรียกได้ทั้ง Angled Gourd หรือ Angled Loofah ก็ได้ แต่ชื่อทางพฤกษศาสตร์ มีอยู่เพียงชื่อเดียวเท่านั้น คือ Luffa acutangula Roxb. ซึ่งจัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกับแตงกวา แตงไทย ที่เคยเขียนถึงไปแล้วนั่นคือ วงศ์ Cucurbitaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
บวบเป็นไม้เถายาว โตเร็ว มีอายุประมาณ 1 ปี เป็นพืชตระกูลเดียวกับแตงทั้งหลาย แต่ว่าอยู่คนละสกุลกัน คือ แตงอยู่ในสกุล Cucumis แต่บวบอยู่ในตระกูล Luffa บวบมีลำต้นเป็นเหลี่ยมสัน ตามข้อมีมือที่ใช้เกาะเกี่ยวเป็นเส้นยาว ใบเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับกัน แผ่นใบเป็นรูปเหลี่ยมมีราว 5-7 เหลี่ยม ตามขอบใบมีรอยเว้าตื้นๆ ปลายใบค่อนข้างแหลม ส่วนโคนใบเว้าลึกเข้าด้านในจนดูคล้ายกับรูปหัวใจ ก้านใบยาวราว 4-9 ซม. และเป็นเหลี่ยมเหมือนกับลำต้น ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกตามง่ามใบ ทั้งแบบเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ โดยมีดอกทั้งตัวเมียและตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน สำหรับผลเป็นรูปทรงคล้ายกระบอกกลม ยาวราวๆ 20 ซม. ผิวมีเหลี่ยมเป็นเส้นไปตามความยาวของผล นับได้ 10 เหลี่ยมเท่ากันทุกลูก ลองท้าพิสูจน์ให้นับดูได้ โคนผลเรียวเล็กแล้วค่อยๆ กว้างออก ก่อนที่จะค่อยๆ แคบลงไปอีกครั้งจนไปบรรจบกันที่ปลายผลอย่างสวยงาม ให้ผลดกและงามยามหน้าฝน ขยายพันธุ์ง่ายโดยการใช้เมล็ด ชอบขึ้นตามที่รกร้าง หรือที่ชื้นแฉะตามริมคลอง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คนตามชนบทนิยมปลูกไว้ตามบ้าน เป็นได้ทั้งรั้ว ทั้งอาหาร

boubleamtoa

คุณค่าและคุณประโยชน์
ผลของบวบที่ยังอ่อนเอ๊าะ นั้นอร่อยมาก มีรสหวานนิดๆ ตามธรรมชาติ จะนำไปทำอาหารอะไรก็อร่อยเยี่ยมยอดทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นผัด ต้ม หรือ แกง อย่างเช่น ต้มจิ้มกับน้ำพริกรสจัด หรือจะผัดกับ ไข่ หมู กุ้ง ส่วนแกงที่นิยมทานกันคือ แกงส้ม แกงเลียง และแกงกับปลาแห้ง

ต้องยอมรับกันตรงๆ อย่างหนึ่งว่า บวบไม่ได้เป็นพืชผักที่มีวิตามินสำคัญอะไรมากมาย แต่เขาก็ชดเชยความด้อยตรงนี้ลงได้ด้วยความเด่นในเรื่องที่เป็นผักที่มีน้ำเยอะ คนโบราณเขาถือว่าบวบเป็นผักธาตุเย็น ช่วยคลายความร้อนได้ดี และมีคุณค่าทางพืชสมุนไพรสูง และที่มองข้ามไม่ได้คือ นอกจากจะมีเส้นใยสูงเป็นตัวชูโรงแล้ว บวบเหลี่ยมยังให้แร่ธาตุตัวสำคัญอย่างฟอสฟอรัสในปริมาณที่ค่อนข้างสูงหรือธาตุเหล็กที่ช่วยสร้างเม็ดเลือด รวมทั้งแร่ธาตุอีกหลายอย่างที่ช่วยเสริมสร้างฟันและกระดูกของเราได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

boubpol

เมื่อหันกลับมามองประโยชน์ทางยาของบวบเหลี่ยมแล้ว จะพบว่ามีมากมายไล่ตั้งแต่ผลอ่อนที่เรานำมาทำอาหารได้สารพัดเมนู นอกจากความหวานอร่อยที่ได้แน่ ๆ แล้วยังเป็นยาแก้ร้อนใน ช่วยระบายท้อง และช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ และบำรุ่งร่างกายได้เยี่ยมอีกด้วย

ในขณะที่ใบนอกจากจะใช้ต้มกับน้ำดื่ม เพื่อช่วยขับปัสสาวะได้ดีเหมือนกับผลแล้ว ยังช่วยแก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด ขับเสมหะ แก้ไข้ ม้ามโต และริดสีดวงทวาร ก็รวมทั้งยังถอนพิษได้ดีอีกด้วย ทั้งพิษแมลงสัตว์ กัด ต่อย แก้พิษคัน ส่วนผู้หญิงดื่มน้ำที่ต้มจากใบ ช่วยแก้ให้ระดูมาเป็นปกติได้

บวบหอม
บวบหอมเป็นหนึ่งในผักพื้นบ้านไทยที่ปรากฏการใช้ประโยชน์มากมายจากทุกส่วน และในตำรายาไทยยังได้ระบุสรรพคุณทางยาและการนำไปใช้อย่างชัดเจน บวบหอมแม้จะไม่จัดอยู่ในอันดับผักยอดนิยมในดวงใจของผู้บริโภค แต่ก็ถือเป็นผักพื้นบ้านที่ยังมีคนรู้จักและนำไปใช้บริโภค รวมถึงมีการปลูก และการจำหน่ายตามท้องตลาดทุกแห่งอย่างสม่ำเสมอ

boubhomtoa

ผลหรือลูกบวบคือส่วนที่เรานำมาใช้บริโภคเป็นผัก และนำไปประกอบอาหาร เช่น ผัดบวบใส่ไข่ แกงเลียง แกงหน่อไม้ แกงอ่อม ต้มลวกจิ้มน้ำพริก ลักษณะผลจะเป็นรูปทรงกระบอก กลม ยาวประมาณ 10 เซนติเมตรโดยเฉลี่ย บางครั้งเราจะเห็นบวบขนาดสั้นๆ บ้างวางจำหน่าย แต่มักจะพบในตลาดตามต่างจังหวัดมากกว่า บวบที่พบในตลาดในเมืองหรือตามห้างสรรพสินค้ามักเป็นบวบที่มีขนาดยาวมีไล่ เลี่ยกัน เพราะผู้ขายจะคัดสินค้าที่มีขนาดและรูปร่างที่ขายแล้วได้ราคาดี บวบที่วางจำหน่ายในตลาดต่างจังหวัดนั้นจะมีเสน่ห์มากกว่าบวบในตลาดเมือง ยังมีกลิ่นไอของความเป็นธรรมชาติเพราะเด็ดจากต้นใหม่แล้วนำมาขาย บ้างก็มีแมลงตัวเล็กๆ เกาะติดมาด้วย ในขณะที่บวบตามตลาดในเมืองจะมีสีเขียวสะอาดผ่านการชำระล้างมาแล้ว ใครที่ไปเดินตามตลาดต่างจังหวัดก็ลองสังเกตดู

บวบเขามีชื่อเสียงในเรื่องการเรียกน้ำนมแม่ลูกอ่อน ตำราอาหารสำหรับแม่ลูกอ่อนคลอดใหม่จะต้องมีแกงเลียงที่ต้องใส่บวบเป็นอาหารแทบทุกวัน โบราณเชื่อว่าแกงเลียงบวบจะช่วยเรียกน้ำนมแม่ แม่ลูกอ่อนยุคเก่ามักจะต้องได้กินแกงเลียง แม่ลูกอ่อนยุคใหม่ถ้าที่บ้านสมัยใหม่ก็คงอด เพราะมักจะจัดตารางอาหารการดูแลสุขภาพแม่หลังคลอดเป็นสไตล์ฝรั่งมากกว่า แต่ส่วนมากในชนบทก็ยังคงรักษาความเชื่อนี้อย่างเหนียวแน่น

จริงๆ แล้วที่โบราณที่บอกท่านสอนก็ล้วนกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ เพราะผลบวบมีสรรพคุณในการขับน้ำนมจริง ผลบวบมีรสหวาน ชุ่มเย็น มีสรรพคุณแก้ร้อนใน ทางด้านการแพทย์จีนจัดบวบอยู่ในอาหารประเภทหยินหรือเย็น เหมาะสำหรับฤดูร้อนจะได้ช่วยขับความร้อนคลายความร้อนในร่างกาย ดับร้อนถอนพิษ แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยคลายความร้อนในหมู่วัยรุ่นใจร้อนได้ไหม และยังช่วยระบายท้อง ขับลม ขับน้ำนม แก้เลือดออกตามทางเดินอาหาร แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ถ้าเราไม่ใช่แม่ลูกอ่อนต้องกินบวบเรียกน้ำนมแล้ว ก็ต้องเช็กดูตัวเองกันบ้างมีอาการร้อนใน มีลมจุกเสียด ระบบการขับถ่ายผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีต้องหาเมนูอาหารจากบวบมากิน

boubhomdok

นอกจากนี้ ส่วนอื่นๆ ก็ยังมีคุณค่าทางยาเพียบ ใบ มีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย สรรพคุณดับร้อนถอนพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ใบสดแก้กลากเกลื้อนบนหัว ใบแห้งบดเป็นผงละเอียดใช้ห้ามเลือด เถา แก้ไอ ขับเสมหะ เมล็ด รสขมหวานเล็กน้อย ขับเสมหะ ช่วยระบาย ขับพยาธิ ราก รสหวานสุขม แก้เจ็บคอ ต้มดื่มระบายท้องหรือใช้ล้างแผลที่เกิดการเน่าเปื่อยอักเสบ รังบวบ รสหวาน ช่วยดับร้อน ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม

บวบเป็นผักที่มีแร่ธาตุโดยรวมสูง ซึ่งมีประโยชน์ในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน อย่างนี้ลูกที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ก็จะได้รับประโยชน์และคุณค่าในสารอาหาร ตั้งแต่เล็กๆ อย่างที่โบราณมักกล่าวไว้เสมอว่า แม่กินอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น แม่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ลูกก็ฉลาดแข็งแรง แม่กินอาหารตามใจอยากตามใจปากที่ไม่เป็นประโยชน์ ลูกย่อมได้รับสิ่งที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน

boubhompouang

ในการนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคมีตำรับยาจากบวบหอม อาทิ

  • ขับปัสสาวะอักเสบ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ใบแห้ง 3-10 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ใบสดล้างน้ำให้สะอาดคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้รังบวบ 30 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำผึ้งเล็กน้อย
  • ช่วยขับน้ำนม ให้เอาผลขนาดกลางเผาจนเป็นถ่าน แล้วบดเป็นผงชงดื่มกับเหล้าเล็กน้อย หรือใช้บวบแก่ 1 ลูกตากในที่ร่มให้แห้ง บดเป็นผงชงกับเหล้า
  • แก้ไอ เอาเมล็ดบวบอบให้แห้งแล้วบดเป็นผง กินครั้งละ 9 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือเอาเถาบวบคั้นเอาน้ำ ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่นดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้รังบวบคั่วให้เกรียม แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำตามครั้งละ 2 ช้อน วันละ 3 ครั้ง
  • แก้ไอเรื้อรัง ใช้น้ำคั้นจากบวบสด ผสมน้ำผึ้งจิบ
  • แก้ไซนัสและริดสีดวงจมูก น้ำมูกไหลมีกลิ่นเหม็น ใช้เถาบวบใกล้รากยาวประมาณ 1 ศอก เผาเป็นถ่านแล้วบดเป็นผง ผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย และใช้ผงเป่าเข้าจมูก
  • แก้ปวดหัวเรื้อรัง หรือปวดหัวข้างเดียว ใช้รากบวบ 90 กรัม ต้มน้ำใส่เกลือตัวผู้ 3 เม็ด ดื่มต่างน้ำ
  • ขับพยาธิตัวกลม ใช้เมล็ดแก่รสหวานกินตอนท้องว่าง ผู้ใหญ่ใช้ 40-50 เมล็ด เด็กใช้ 30 เมล็ด
  • แก้หลอดลมอักเสบ ใช้เถาแห้ง 100-250 กรัม หั่นฝอยแช่น้ำจนพองตัว นำมาต้มนาน 1 ชั่วโมง กรองเอาน้ำพักไว้ แล้วเอากากต้มใหม่อีกครั้งนาน 1 ชั่วโมง กรองเอาน้ำ จากนั้นให้เอาน้ำที่ต้มได้ทั้ง 2 ครั้งผสมกันต้มจนเหลือน้ำ 150 มิลลิลิตร
  • จมูกอักเสบ ใช้รากหรือเถาบวบบริเวณใกล้ราก ยาว 90-150 เซนติเมตร ต้มน้ำดื่มวันละ 1 ครั้ง
  • บวบหอมทำหน้าที่เป็นทั้งอาหารและยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าลืมเลือกบวบหอมเป็นหนึ่งในเมนูเพื่อสุขภาพสักมื้อ

บวบงู
ลักษณะวิสัย บวบงูเป็นไม้เถาลำต้นเล็ก มีกิ่งก้านสาขามาก มีขนที่สั้นแต่นุ่มปกคลุม มือเกาะแยกเป็น 2-3 แขนง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปไข่กว้างรูปไต หรือรูป 5 เหลี่ยม กว้าง 12-18 ซม.ยาว 10-15 ซม. ดอกมีสีขาว ขอบใบมีรอยเว้ามน 3-7 รอย โคนใบเว้า มีขนทั้งสองด้าน ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย อยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็ก กลีบรองดอกมีฐานเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5กลีบ ปลายกลีบแผ่กว้างกว่าโคนกลีบ มีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวรูปขอบขนาน ดอกเพศเมีย  เป็นดอกเดี่ยวกลีบดอกและกลีบรองดอกเหมือนกันกับดอกเพศผู้ รังไข่รูปยาว ภายในมีเพียง 1ช่อง มีไข่อยู่จำนวนมาก ผล ทรงกระบอกยาว แหลมหัวแหลมท้ายยาวถึง 1เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. สีขาวอมเขียวอ่อนๆ  มีลายสีเขียวเป็นทางยาว ผลมักบิด และคดงอ มีลักษณะคลเายงู เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เมล็ด รูปไข่แบน กว้างประมาณ 0.8 ซม. ยาวประมาณ 1.2 ซม.

boubngu

ประโยชน์ของบวบงู
ผลอ่อน กินได้ เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้กระหายน้ำ ระบาย ขับพยาธิ ทำให้อาเจียน ลแะแก้ท่อน้ำดีอุดตัน เมล็ด เนื้อเมล็ดกินเป็นยยาเย็น ลดไข้และแก้ร้อนใน

boubngupol

คุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยา
คุณค่าทางอาหารในส่วนที่รับประทานได้ของบวบงู 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 16 กิโลแคลอรี น้ำ 96 กรัม โปรตีน 0.9 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.8 กรัม แคลเซียม 4 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 2 มิลลิกรัม เหล็ก 0.7 มิลลิกรัม และวิตามินซี 24 มิลลิกรัม ผลบวบงูใช้บำรุงร่างกาย แก้กระหายน้ำ ขับพยาธิ แก้อาการท่อน้ำดีอุดตัน

การปลูกบวบ
การเตรียมต้นกล้า

  1. นำปุ๋ยดินหมักชีวภาพ ดิน และแกลบดำ อย่างละเท่า ๆกัน ผสมกันแล้วกรอกลงถุงเพาะ
  2. หยอดเมล็ดบวบลงถุงเพาะ รดน้ำ จนบวบโตมีใบแท้ 2 ใบ จึงนำต้นกล้าไปปลูกได้

การเตรียมค้าง,ร้านและเตรียมหลุม

  1. ค้างที่จะทำคือ การสานไม้ไผ่ขัดแตะ ยกร้านสูงจากพื้นประมาณ 1.80 เมตร
  2. ปักหลักตรงหลุมปลูก เพื่อเป็นค้างผูกเถาบวบขึ้นสู่ร้าน ผูกปลายค้างติดร้านให้แน่น ไม่โยก
  3. หลุมปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ อย่างน้อย 1 บุ้งกี๋ต่อหลุม คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง ปลูกหลุมละ 1 ต้น
  4. หลุมควรห่างกันประมาณ 1.50 x 1.50 เมตร

การดูแล

  1. ขณะต้นกล้าที่ย้ายมา ยังเล็กอยู่ จะมีเต่าทองมาคอยทำลาย เจาะใบ ควรป้องกันโดยการล้อมกรอบ
  2. ต้นกล้าด้วยหนังสือพิมพ์ โดยปักหลัก 4 หลัก
  3. ควรใช้ต้นกล้วยมาผูกเถาของบวบ ติดค้างจนถึงร้านบวบ คอยปลิดแขนงออก ให้มียอดเถาเดียว ขึ้นร้าน แต่เมื่อขึ้นบนร้านให้มีหลายแนงยิ่งดี จะมีผลดก
  4. ควรเติมปุ๋ยหมักชีวภาพอยู่เสมอ ๆ ทุก ๆ 15 วัน และรดน้ำให้ชุ่ม
  5. ฉีดพ่นน้ำหมักสะเดา ทุกสัปดาห์
  6. ควรตัดผลบวบขณะอายุพอดี
  7. ขณะผลบวบหอมยังเล็ก มักถูกแมลงวันทองทำลาย ป้องกันโดยใช้หนังสือพิมพ์ห่อหุ้ม

boub

บวบสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศแบบร้อนชื้นที่อากาศค่อนข้างแห้งบนพื้นที่ราบจนกระทั่งที่ความสูง 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ไม่ทนทานต่อน้ำค้างแข็ง ฝนตกหนักมีน้ำท่วมขังและแรงกระแทกของฝนอาจทำอันตรายต่อการออกดอกและการติดผลได้ การปลูกในสภาพอากาศแห้งจึงได้ผลผลิตดีกว่าในช่วงที่มีฝนตก บวบบางสายพันธุ์ไม่ตอบสนองต่อช่วงวันในการออกดอก บางสายพันธุ์ต้องการช่วงวันวันสั้น บางสายพันธุ์ต้องการช่วงวันยาว บวบเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีแร่ธาตุสูง มีอินทรียวัตถุมาก ระบายน้ำได้ดี ค่า pH 6.5-7.5

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้เลื้อย

แสดงความคิดเห็น