บอระเพ็ด ขมเป็นยา

28 เมษายน 2556 สมุนไพร 0

บอระเพ็ดเป็นไม้เลื้อยที่พบโดยทั่วไปตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและสามารถปลูกได้ง่าย แม้แต่ตัดเถาไปห้อยตามต้นไม้ก็ยังงอกรากลงดินได้ คนไทยทุกภาคเชื่อว่าบอระเพ็ดเป็นยาบำรุงสุขภาพเป็นยาอายุวัฒนะบำรุงกำลังช่วยขับน้ำย่อยทำให้เจริญอาหาร คนโบราณหาทางกินบอระเพ็ดได้หลายวิธี เช่น ใช้ดองน้ำผึ้งกินเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะกินแล้วร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ผู้ป่วยเบาหวานพบว่าการกินร่วมกับยาแผนปัจจุบันสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ดีมาก (แต่ไม่ได้งดยาแผนปัจจุบัน) บางคนผมร่วงกินผงบอระเพ็ดวันละ 400 ถึง 800 มิลลิกรัม(1 ถึง 2แคปซูล) สัก 1 เดือนผมมีแนวโน้มที่จะดกหนาตามปกติ บางคนที่ผมหงอกก่อนวัยกินแล้วพบว่าผมหงอกน้อยลง

borapedton

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f.& Thomson
วงศ์ : Menispermaceae
ชื่ออื่น : เครือเขาฮอ (หนองคาย) จุ่งจิง (เหนือ) เจตมูลหนาม (หนองคาย) ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน(สระบุรี) หางหนู(สระบุรี อุบลราชธานี) จุ้งจาลิงตัวแม่ เจตมูลย่าน
ชื่อพ้อง : Tinospora tuberculata Miers, Tinospora rumphii Boerl., Tinospora nudiflora Kurz.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เลื้อย เนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวถึง 15 เมตร เถากลม ขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มเปลือกของเถาบางลอกออกได้ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมาก เปลือกเถาคล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส เถามีรสขมจัด สีเทาแกมเหลือง มีรากอากาศคล้ายเส้นด้ายยาว กลม ยาว สีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักเป็นรูปหัวใจ รูปไข่กว้าง หรือรูปกลม กว้าง 6-12เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร โคนเรียวแหลมยาว ปลายจักเป็นรูปหัวใจลึก หรือตื้น เนื้อคล้ายแผ่นกระดาษบาง มักมีต่อม ใบด้านล่างบางครั้งพบต่อมแบนตามโคนง่ามของเส้นใบ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือมี 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบอีก 1-3 คู่ ก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร บวมพอง และเป็นข้องอ ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งแก่ๆที่ไม่มีใบ มักออกดอกเมื่อใบหลุดร่วงหมด มี 2-3 ช่อ เล็กเรียว ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่ต่างดอก ช่อดอกเพศผู้ ยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกมี 1-3 ดอก ติดเป็นกระจุก ดอกเพศผู้ มีก้านดอกย่อยเล็กเรียว ยาว 2-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน วงนอกมี 3 กลีบ รูปไข่ หนาที่โคน ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร วงในมี 3 กลีบ รูปไข่กลับ มีก้านกลม หรือโคนแหลม ยาว 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบวงนอกเท่านั้นที่เจริญขึ้น รูปใบหอกกลับแคบ แบน ไม่มีตุ่ม ยาว 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบวงในลดรูป เกสรเพศผู้มี 6 อัน ยาว 2 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย ยาว 2-6 มิลลิเมตร ดอกส่วนมากเกิดเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ปลอมมี 6 อัน เป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 3 อัน ทรงรี ยาว 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูสั้นมาก ผลออกเป็นช่อ มีก้านช่อยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีก้านผลเป็นรูปกึ่งปิรามิด ยาว 2-3 มิลลิเมตร ใต้ลงมาเป็นกลีบเลี้ยงที่ติดแน่น รูปไข่ ยาว 2 มิลลิเมตร โค้งกลับ ผลสด เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้ม ทรงรี ยาว 2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในสีขาว ทรงรี กว้าง 7-9 มิลลิเมตร ยาว 11-13 มิลลิเมตร ผิวย่นเล็กน้อย หรือเกือบเรียบ มีสันที่ด้านบนชัด มีช่องเปิดรูปรีเล็กที่ด้านบน พบตามป่ารุ่น ป่าที่ถูกแผ้วถาง ป่าผลัดใบผสม ตามริมรั้ว ออกดอกปลายเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม

borapedtoa

ชิงช้าชาลี ( บอระเพ็ดตัวผู้ )

  • เถา รสขม สรรพคุณ แก้พิษฝีดาษ แก้ไข้เหนือ ไข้เพื่อโลหิต แก้ฝีกาฬ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุเจริญอาหาร ทำให้เลือดเย็น แก้มะเร็ง
  • ใบ รสขมเมา สรรพคุณ ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้มะเร็ง
  • ดอก รสขมเมา สรรพคุณ ขับพยาธิในท้อง แก้รำมะนาด ปวดฟัน แก้แมลงเข้าหู

บอระเพ็ด ( บอระเพ็ดตัวเมีย )

  • เถา รสขม สรรพคุณ แก้พิษฝีดาษ ไข้เหนือ ไข้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้เนื้อเย็น แก้สะอึก บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ
  • ใบ รสขมเมา สรรพคุณ ฆ่าพยาธิไส้เดือน ฆ่าแมลงเข้าหู แก้รำมะนาด ปวดฟัน
  • ลูก รสขม สรรพคุณ แก้ไข้ แก้เสมะเป็นพิษ
  • ราก สรรพคุณ แก้ไข้สูงมีอาการเพ้อคลั่ง

สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ เถา มีรสขมจัดเย็น แก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร ต้มดื่มเพื่อให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย แก้สะอึก แก้มาลาเรีย เป็นยาขับเหงื่อ ดับกระหาย แก้ร้อนในดีมาก แก้อหิวาตกโรค แก้ท้องเสีย ไข้จับสั่น ระงับความร้อน ทำให้เนื้อเย็น แก้โลหิตพิการ ใช้ภายนอกใช้ล้างตา ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส ใบ มีรสขมเมา เป็นยาพอกบาดแผล ทำให้เย็นและบรรเทาอาการปวด ดับพิษปวดแสบปวดร้อน พอกฝี แก้ฟกช้ำ แก้คัน แก้รำมะนาด ปวดฟัน ฆ่าแมลงที่เข้าหู ฆ่าพยาธิไส้เดือน แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง บำรุงน้ำดี ราก มีรสขม เป็นยาช่วยให้เจริญอาหาร ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ รากอากาศ รสขมเย็น แก้ไข้ขึ้นสูงมีอาการคลั่งเพ้อ ดับพิษร้อน ถอนพิษร้อน ถอนพิษไข้ เจริญอาหาร ผล รสขม แก้ไข้ แก้เสมหะเป็นพิษ ทุกส่วนของพืช ใช้แก้ไข้ เป็นยาบำรุง แก้บาดทะยัก โรคดีซ่าน ยาเจริญอาหาร แก้มาลาเรีย
ตำราอายุรเวทของอินเดีย ใช้ เถา เป็นยาแก้ไข้ เช่นเดียวกับชิงช้าชาลี กล่าวไว้ว่า แก้ไข้ดีเท่ากับซิงโคนา แก้ธาตุไม่ปกติ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้อาการเกร็ง

borapedhang

สรรพคุณบอระเพ็ดที่ชาวบ้านใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ การตำบอระเพ็ดทั้งใบและต้นคั้นน้ำผสมน้ำซาวข้าวชโลมผมทิ้งไว้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศรีษะ แก้ผมหงอกก่อนวัย แก้รังแค รายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า บอระเพ็ดมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งการมีฤทธิ์เช่นนี้ก็สามารถ ป้องกันความชราของเซลล์ต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ที่บอระเพ็ดจะมีประโยชน์ต่อเส้นผมอย่างที่โบราณเขาเชื่อกันจริง ๆ

วิธีการใช้ตามภูมิปัญญาไทย

  1. ใช้เถาบอระเพ็ดหั่นตากแห้ง แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกกลอนกินก่อนนอน วันละ 2-4 เม็ด ใช้เป็นยาอายุวัฒนะใช้เถาสดดองเหล้าความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาของยาที่เตรียม
  2. กินบอระเพ็ดสดวันละ 2 องคุลีทุกวัน เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร และป้องกันไข้มาเลเรีย
  3. เป็นยาขมแก้ไข้ นำเถาบอระเพ็ดมาตากแห้งบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินวันละ 3 เวลาก่อนอาหารถ้าบรรจุแคปซูล กินวันละ 2-3 เวลา หรือใช้เถาสดยาว 2-3 คืบ (30-40 กรัม) ใส่น้ำท่วมยานำไปต้มแล้วดื่มหรือต้มเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ต้มจนเหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ 2-3 ครั้งเมื่อมีไข้ (ยุวดี จอมพิทักษ์, 2532)
  4. ใช้เถาหรือต้นสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม) ตำแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำโดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนเวลาช่วยลดไข้
  5. ใช้รากและเถา ตำผสมมะขามเปียกและเกลือหรือดองเหล้ารับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา แก้ไขลดความร้อน (ยุวดี จอมพิทักษ์, 2532)
  6. ใช้เถาที่โตเต็มที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผงใช้ผงครั้งละ 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนดื่ม วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น หรือใส่ในแคปซูลเพื่อให้สะดวกในการใช้ ใช้รักษาโรคเบาหวาน

วิธีใช้บอระเพ็ดเป็นยาอายุวัฒนา
เนื่องจากว่าส่วนต้นของบอระเพ็ด มีความขมมาก จะรับประทานสดสด คงไม่ไหม ต้องมีวิธีปรุงยาสมุนไพรไทยก่อน ขอแนะนำสามวิธีดังนี้

  1. ใช้เถาบอระเพ็ดหั่นแล้วตากแห้ง จากนั้นบดเป็นผงผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานก่อนนอนวันละ 3-5 เม็ด
  2. สำหรับคนที่ไม่แพ้แอลกลอฮอร์ ใช้เถาสดดองเหล้า โดยจะใช้บอระเพ็ดสดประมาณ 2 ขีดหั่นเป็นข้อใส่ในโถเหล้า ส่วนการดื่มให้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชาก่อนอาหารเย็น
  3. วิธีนี้ง่ายที่สุด คือนำบอระเพ็ดตากแห้ง แล้วนำมาบดใส่แคปซูล ทานวันละ 2-3 แคปซูลโดยทานก่อนอาหารเช้า เย็น (อาจทานเช้าเย็น มื้อละแคปซูล หรือเช้า 1 เย็น 2 ก็ได้)

วิธีใช้บอระเพ็ดเป็นยาบรรเทาไข้ ลดความร้อน

ใช้เถาแก่สด หรือต้นสด ประมาณ 15-20 เซนติเมตร (30-40 กรัม) ตำให้แหลกและคั้นเอาน้ำดื่ม (อย่าลืมใส่ถุงมือตอนคั้นนะครับ ขมติดมือไม่รู้ด้วย )หรือต้มกับน้ำโดยใช้ น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ
ใช้เถาสด ดองเหล้าโรง แนะนำ 20 ดีกรีก็พอ รับประทานเพียงครั้งละ 1 ช้อนชา

borapeds

ผลงานการวิจัย

  1. ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดพบว่าสารสกัดจากลำต้นบอระเพ็ดด้วย 95% เอธานอล มีฤทธิ์ทำให้ oral glucose tolerance (OGT) ของหนูขาวปกติดีขึ้นเมื่อเปรียบกับกลุ่มควบคุมโดยระดับน้ำตาลจะลดลง 12.15% และ 12.84% หลังจากป้อนสารสกัดให้กับหนูขาว 4 และ 6 ชั่วโมงตามลำดับ อย่างไรก็ตามสารสกัดดังกล่าวไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวปกติในทุก ๆ ความเข้มข้นที่ใช้ทดลอง (กัลยาและคณะ,2541) สารสกัดจากชั้นน้ำของลำต้นบอระเพ็ดสามารถลดระดับกลูโคสในเลือดและเพิ่มระดับ insulin ในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมแต่ไม่มีผลในหนูปกติ(Noorandcroft,1989) กลไกในการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากบอระเพ็ดพบว่าออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการหลั่ง insulin ที่เบตาเซลล์ทำให้เบตาเซลล์มีความไวต่อความเข้มข้นของ Ca2+ ภายนอกเซลล์ส่งเสริมให้เกิดการสะสมของ Ca2+ใน เซลล์และทำให้เกิดการหลั่งของ insulin โดยไม่รบกวนการดูดซึมของกลูโคสจากทางเดินอาหารและไม่รบกวนการนำกลูโคสเข้า peripheral cell
  2. ฤทธิ์ลดไข้มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของสารสกัดจากชั้นน้ำของลำต้นบอระเพ็ดในหนูขาวเพศผู้ที่ถูชักนำให้เกิดไข้ด้วยวัคซีนไทฟอยด์ขนาด 0.6ml./ตัวพบว่าสารสกัดบอระเพ็ดขนาด 300,200,100 mg./kg. น้ำหนักตัวสามารถลดไข้ได้หลังป้อนสารสกัดบอระเพ็ดในชั่วโมงที่1,2 และตามลำดับแต่มีประสิทธิภาพอ่อนกว่า แอสไพริน (บุญเทียมและคณะ,1994)
  3. ฤทธิ์ช่วยเจริญอาหารเนื่องจากความขมของบอระเพ็ดจึงสามารถใช้เป็นยาที่ทำให้เจริญอาหารได้ (รุ่งระวีและคณะ,2529)
  4. ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของบอระเพ็ดพบว่าสารสกัด 3 ชนิด ได้แก่ N-trans-feruloyltyramine, N-cisferuloyltyramine, secoisolariciresinol มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่า BHT ซึ่งใช้เป็นสารมาตรฐาน (Cavin et al.,1997)
  5. ฤทธิ์ ในการต้านมาลาเรียมีรายงานการ ศึกษาฤทธิ์ในการต้านมาลาเรียของสารสกัดในชั้นเมธานอลและคลอโรฟอร์มพบว่าไม่มีฤทธิ์ในการต้านมาลาเรีย (Rahman etal.,1999)
  6. ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียมีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากใบและลำต้นในชั้นเอธานอลของบอระเพ็ดต่อเชื้อ Staphylococcus aureus beta-Streptococcus gr.A Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa พบว่าสารสกัดจากชั้นเอธานอลของลำต้นบอระเพ็ดมีฤทธิ์ในการต้าน betastreptococcus gr.A (Laorpaksa et al., 1988) พิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษ(Chavalittumrong,1997)

  • การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันจากการศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดด้วยเอธานอลของลำต้นบอระเพ็ด โดยให้ทางปากแก่หนูถีบจักรพบว่าเมื่อให้สารสกัดในขนาด 4g ต่อน้ำหนักหนู 1 kg. (g./kg.) หรือเทียบเท่ากับลำต้นแห้ง 28.95 g./kg. ไม่ทำให้เกิดอาการพิษ
  • การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง จากการศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดด้วยเอธานอลโดยการกรอกสารสกัดของบอระเพ็ดขนาดต่าง ๆ แก่หนูขาว ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า สารสกัดในขนาด 0.02 g/น้ำหนักหนู 1 kg./day (g./kg./day) ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดที่ใช้ในคนไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตหรือการกินอาหารของหนู และไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยาหรือค่าทางชีวเคมีของซีรั่ม รวมทั้งไม่ทำให้เกิดพยาธิสภาพของอวัยวะภายในต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมแต่หนูที่ได้รับสารสกัดในขนาด1.28 g./kg./day หรือ 64 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนมีอัตราการเกิด bile duct proliferationและ focal liver cell hyperplasia รวมทั้งมีค่าของเอนไซม์ alkaline hosphatase และ alanine aminotransferase และ ค่าครีอะตินินสูงกว่ากลุ่มควบคุมแสดงให้เห็นว่าสารสกัดบอระเพ็ดในขนาดต่ำ เช่น ขนาดที่ใช้ในคนไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใด ๆ ในสัตว์ทดลองแต่ในขนาดที่สูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของตับและไตได้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น