บัว เป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็น เหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบบัว
ชื่อสามัญ : Water lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphaea lotus L.
ชื่อวงศ์ : NYMPHAEACEAE
ชื่ออื่นๆ : บัวแดง สัตตบรรณ บัวสายสีชมพู โกมุท ลินจง เจตบุตร
บัวสาย (อังกฤษ: water lily) ชื่อสกุล Nymphaea เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่ง มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว หรือเหง้า ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อที่เจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด บางชนิดมีใบใต้น้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว มีขอบใบทั้งแบบเรียบ และแบบคลื่น ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียด หรืออาจจะไม่มขน ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีทั้งชนิดที่บานกลางคืน และบานกลางวัน บางชนิดมีกลิ่นหอม มีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไป มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “อุบลชาติ” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อุบลชาติล้มลุก ได้แก่ บัวผัน บัวเผื่อน บัวสาย และจงกลนี ดอกจะชูพ้นน้ำ และขอบใบหยัก และอุบลชาติยืนต้น ได้แก่ บัวฝรั่ง ดอกจะเป็นรูปถ้วยลอยเหนือผิวน้ำ มีขอบใบเรียบ
ลักษณะร่วมกันของบัวสายแต่ละชนิดก็คือ มีก้านใบและก้านดอก เป็นสายอ่อนและไม่มีหนาม ลอกเปลือกได้ โดยเฉพาะก้านดอกมีคำเรียกเฉพาะว่า สายบัว เมื่อปอกหรือลอกเอาเปลือกออกแล้วใช้เป็นผักได้ นับเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมอย่างหนึ่งของชาวไทย โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เช่น ลุ่มน้ำในภาคกลาง เป็นต้น
สายบัวได้จากบัวหลายชนิด แต่สายบัวที่ชาวไทยนิยมนำมาบริโภค เป็นผักมากที่สุดมาจากบัวที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า บัวสาย นั่นเอง
บัวสายมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Nymphaea lotus Linn. Var. pubescens Hook. F. et Th. ใบเป็นแผ่นกลม ขอบใบเป็นยัก ดอกมีสีแดง(ชมพูแก่) หรือขาว (พันธุ์ดอกขาวเรียกว่าสัตตบรรณ) บัวสายนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย จึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาเนิ่นนาน ซึ่งนอกจากใช้เป็นผักแล้ว ยังนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบในภาษาไทยอีกด้วย
ลักษณะ :
พืชล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวแตกออกจากเหง้า ก้านใบยาว แผ่นใบยาวรูปทรงกลม ไม่ยกสูงขึ้นเหนือน้ำ ขนาดผ่านศูนย์กลางประมา 30 ซม. ฐานใบเว้าลึก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ผิวด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขนนุ่ม ดอก เป็นดอกเดี่ยว บานเต็มที่กว้างได้ถึง 15 ซม. ก้านดอกคล้ายก้านใบ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวคล้ำปนน้ำตาง รูปปลายหอกแคบ กว้างประมาณ 2.5 ซม. ยา 6-7.5 ซม. กลีบดอกขนาดและลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง สีชมพูเข้ม สีขาว หรือสีม่วงแดง เกสรเพศผู้จำนวนมาก เป็นเส้นแบน สั้นกว่ากลีบดอก อับเรณูเป็นร่อง ตามแนวขนาน เกสรเพศเมียติดบนรังไข่ ผล เป็นผลสด ภายในมีเมล็ดกลม ขนาดเล็กจำนวนมาก
สายบัว : ผักพื้นบ้านจากแหล่งน้ำ
ในอดีตเมื่อปลายฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม น้ำก็จะเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมท้องทุ่งในเขตที่ ลุ่มภาคกลาง หลังจากนั้นพืชน้ำชนิดต่างๆก็จะงอกงามขึ้นมาเองมากมาย และหลายชนิดใช้เป็นผักได้ดีเช่นบัวสาย เป็นต้น ชาวบ้านจะพายเรือออกไปในทุ่งแล้วเลือกเก็บสายบัวจากดอกบัว จากดอกบัวที่ยังตูมอยู่ ออกแรงดึงเบา ๆ สายบัวก็หลุดจากเหง้า หากน้ำลึกก็จะได้สายบัวยาวจนต้องนำมาขดเป็นวงกลม ๆ คล้ายงู หากยังไม่ใช่ก็นำไปลอยน้ำเก็บไว้ได้หลายวัน โดยไม่แห้งเหี่ยวหรือเน่าเสีย
เมื่อนำสายบัวมาใช้เป็นผักก็ต้องลอกเอาเปลือกหุ้มออก แล้วเด็ดดอกทิ้ง ก้านดอกที่ได้จะถูกเด็ดเป็นชิ้นๆ ใช้กินเป็นผักสด ผักดอง แกงส้ม หรือแกงกะทิ ฯลฯ ก็ได้ นอกจากนั้นยังทำขนมได้อีกด้วย
ตอนผู้เขียนเป็นเด็กชอบออกไปเก็บสายบัวสายชนิดหนึ่งที่ชาวสุพรรณเรียกว่า ดอกบรรจง สายบัวของดอกบรรจงมีขนาดเล็กกว่าสายบัวปกติ แต่มีคุณสมบัติพิเศษคือ สายบรรจงจะมีกลิ่นหอม เมื่อนำมาทำขนมจะมีกลิ่นหอมซึ่งขนมสายบัวธรรมดาไม่มี แต่เนื่องจากสายบรรจงหา ได้ยากและมีขนาดเล็กกว่าสายธรรมดา กว่าจะหาเก็บสายบรรจงมาได้มากพอทำขนม จึงเสียเวลามากกว่าเก็บสายบัวหลายเท่า ผู้ใหญ่จึงไม่นิยมใช้สายบรรจงมาทำขนมให้เด็ก ๆ กิน นอกจากเด็ก ๆ จะเก็บมาให้เอง
นอจากขึ้นเองตามท้องทุ่งแล้ว สายบัวยังขึ้นได้ในหนองบึงหรือคูน้ำข้างถนน แม้แต่บ่อน้ำในบ้านก็ขึ้นได้ดี ข้อจำกัดก็คือหากระดับน้ำตื้น ก็จะได้สายบัวสั้น
การนำมาใช้ประโยชน์
สามารถนำเอา บัวสายมาปลูก เพื่อประดับ ตามสระน้ำ ได้อีกด้วย และสามารถนำมารับประทาน เป็นอาหาร ได้ด้วย
“บัว” ถือเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ มีดอกสวยงามที่เราใช้บูชาพระ และนอกจากนั้นส่วนต่างๆของบัวก็ยังสามารถนำมาประกอบอาหาร เป็นของมีประโยชน์บำรุงร่างกายได้ดีอีกด้วย
ส่วนประกอบของบัวที่หลายๆคนมักจะจำสับสน หรือเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกันเสมอก็คือ “สายบัว” และ “ไหลบัว” โดยสายบัวนั้น คือก้านของดอกบัวสาย เวลานำมากินต้องลอกเปลือกนอกออกก่อน โดยสีของสายบัวจะออกสีน้ำตาล นิยมนำมาแกงต้มกะทิ กินสดๆหรือลวกจิ้มน้ำพริก
ส่วนไหลบัวหรือหลดบัวนั้นเป็นหน่อของบัว หรือส่วนที่งอกขึ้นมาและจะเจริญเป็นลำต้นใหม่ต่อไป สีของไหลบัวจะเป็นสีขาว ไหลบัวที่เรานิยมนำมากินนั้นเป็นบัวหลวง หรือบัวบูชาพระ และจะมีความกรอบกว่าสายบัว นิยมนำมาทำแกงส้ม หรือผัดน้ำมันกับเนื้อสัตว์ต่างๆ
สรรพคุณ
ในสายบัว 100 กรัม จะพบแคลเซียม 8.00 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม ที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันของเราให้แข็งแรง และมีสารเบต้าแคโรทีน ที่ต้านโรคมะเร็งในลำไส้ สรรพคุณยาไทย บัวสายมีรสจืด ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย
คุณประโยชน์ของสายบัวและไหลบัวก็แตกต่างกันไป สายบัวจะช่วยลดอาการเกร็งของลำไส้และกระเพาะ ลดความเครียดทางสมอง บรรเทาอาการท้องผูก ขับปัสสาวะ ดับพิษร้อนในกาย ส่วนไหลบัวเป็นยารสเย็นจืด แก้อ่อนเพลียและบำรุงหัวใจ มีเส้นใยอาหารมาก จึงช่วยแก้โรคท้องผูกได้
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน, สมุนไพร
สรรพคุณที่ว่านี้มันของดอกบัวหลวงไม่ใช่หรอครับ ลงผิดรึเปล่าครับ ขอแหล่งอ้างอิงด้วยขอบคุณครับ
ตรวจสอบข้อมูล และปรับปรุงแก้ไขส่วนสรรพคุณแล้ว ขอบคุณครับ