บ้านดงบัง หมู่บ้านสมุนไพร

7 กุมภาพันธ์ 2557 แหล่งเรียนรู้ 1

ศูนย์ผลิตวัตถุดิบสมุนไพรครบวงจรบ้านดงบัง หมู่ 6 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลดงขี้เหล็ก มีพ่อใหญ่แก้ว มุกดา ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านที่ผู้คนในชุมชนเคารพ ย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๘๐ ปีที่แล้ว เดิมพื้นที่บ้านดงบังเป็นป่าใหญ่ อาชีพในตอนนั้น ส่วนใหญ่เน้นในการทำนา ต่อมาได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นชาวสวนไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากการประกอบ อาชีพเกษตรกรรมแล้ว ความรู้ด้านหมอยาจากพ่อใหญ่แก้ว มุกดา ยังได้รับการถ่ายทอดมายังลูกชาย คือ นายแดง มุกดา และนายสุรินทร์ คูณสุข ที่เป็นลูกเขย ปัจจุบันความรู้ด้านหมอยาได้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นที่สาม คือ นายสมัย คูณสุข ผู้นำกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน

บ้านดงบัง” มีประวัติการก่อตั้งเมื่อราว 80 ปีที่แล้ว โดยคนรุ่นแรกเป็นชาวไทย-ลาว พากันอพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นป่าหนาทึบ ด้วยการบุกเบิกประกอบอาชีพทำไร่นา และเก็บของป่าขายมาหลายสิบปี

ต่อมาพัฒนาเป็นการทำสวนผลไม้ ราวปี 2517 มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร “กลุ่มเกษตรกรดงขี้เหล็ก” และหันมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับพื้นที่ใกล้เคียง แหล่งจำหน่ายสำคัญคือตลาดนัดสวนจตุจักร

ส่วนสมุนไพรนั้น ถือเป็นภูมิรู้พื้นบ้าน ที่คนในท้องถิ่นปลูกและใช้กันมานานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน กระทั่งเมื่อปี 2526 เภสัชกรหญิงสุภาภรณ์ ปิติพร ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ครั้งนั้นมาประจำยังโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมีภารกิจหนึ่งคือการนำสาธารณสุขมูลฐาน เผยแพร่แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

เมื่อมาถึงหมู่บ้าน เภสัชกรหญิงสุภาพรณ์ เริ่มสนใจ และตั้งต้นศึกษาเรื่องสมุนไพรอย่างจริงจัง จนสามารถคิดค้นเป็นตัวยา เพื่อใช้ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กระทั่งต่อมา ทั้งยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของโรงพยาบาลได้รับความสนใจขึ้นเป็นลำดับ

ปี 2543 หมู่บ้านดงบัง จึงก่อตั้ง “กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง” เพื่อปลูกสมุนไพรในแนวทางเกษตรอินทรีย์เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบแก่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สมุนไพรไร้สารป้อน “อภัยภูเบศร” และเมื่อกระแสตอบรับแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพิ่มสูงขึ้นทุกที ผู้ประกอบการต่างลุกขึ้นมาผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาหนึ่งที่ตามมา คือการใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มผลผลิต

banndongbangstep

สมุนไพรของกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ได้รับการรับรองจาก “สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรี, มกท.” (International Federation Organic Agriculture Movement, IFOAM)

บริหาร-จัดการกลุ่มสมุนไพร
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในนาม “มูลนิธิ” ไม่เพียงรับซื้อสมุนไพรจากหมู่บ้านดงบัง ในฐานะผู้ผลิตสินค้าสุขภาพ แต่ยังทำงานพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน เพราะสมุนไพรที่ซื้อจากหมู่บ้านดงบังนั้น ทางมูลนิธิฯ ยังส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ คำแนะนำ เพื่อช่วยเสริมภูมิปัญญาโบราณที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมของชาวบ้าน

banndongbangp

ส่วนด้านราคานั้น จะเป็นการตกลงร่วมกันของสองฝ่าย โดยพิจารณาจากต้นทุนรายจ่าย และรายได้ที่เหมาะสมสำหรับชาวบ้านดงบัง ซึ่งมูลนิธิฯ ยืนยันว่า เป็นระดับราคาที่ไม่ขึ้นลงตามท้องตลาด และเป็นราคาซึ่งสูงกว่าที่เอกชนรายอื่นจะยอมจ่าย
ทิพากร พุ่มฤทธิ์ ประธานกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง บอกว่า เธอมีสมาชิกในกลุ่มอยู่ 30 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์รวม 101 ไร่ 3 งาน รับปลูกสมุนไพรให้กับทางมูลนิธิฯ เป็นหลัก ที่เหลือส่งขายที่อื่นบ้าง แต่ไม่มาก โดยทางมูลนิธิฯ แจ้งจำนวนรับซื้อสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเข้ามาเป็นประจำทุกเดือน จากนั้นจะแบ่งโควตาให้สมาชิกแต่ละรายไปจัดหาวัตถุดิบ
วัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มา จะนำมาผ่านกรรมวิธีตาก และอบแห้งร่วมกัน ในโรงตากสมุนไพรพลังแสงอาทิตย์ ก่อนจะนำเข้าโรงบด และกรรมวิธีอื่นๆ ที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน โดยเป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของหมู่บ้าน

banndongbangtak banndongbangoop

ทางกลุ่มมีการแบ่งโครงสร้างการบริหารกลุ่ม ประกอบด้วย ฝ่ายเพาะปลูก ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายแปรรูป ฝ่ายควบคุมการผลิต และฝ่ายขาย โดยรายได้ที่สมาชิกแต่ละรายได้รับ จะหัก 5 เปอร์เซนต์ เป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของสมาชิกอยู่ที่ราว 15,000 บาทต่อเดือน

สินค้าสุขภาพแบรนด์ “ดงบัง”
ล่าสุด กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังเพิ่มมูลค่าสมุนไพร โดยการผลิตอาหารและยา อาทิ น้ำมันเหลือง ลูกประคบ วัตถุดิบสำหรับอบตัว น้ำพริกหญ้าปักกิ่ง ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์เป็นสูตรที่ชาวบ้านคิดค้นและใช้กันเองมาแต่ดั้งเดิม แต่รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากทางมูลนิธิฯ เพื่อสามารถนำบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน
นายแพทย์วิชาญ เกิดวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า ผลิตภัณฑ์ของบ้านดงบังจะเป็นของที่ชาวบ้านผลิตเองได้ ไม่ต้องใช้กรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน

banndongbangkla banndongbangherb

“ตอนนี้วางในร้านค้าของหมู่บ้านไว้จำหน่ายให้กับคนที่เข้ามาศึกษาดูงานในหมู่บ้าน ในอนาคตคงต้องมีการรับรองมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ แต่ที่จริงชาวบ้านผลิตตามการแนะนำของเรา ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานทั่วไปอยู่แล้ว”
นายแพทย์วิชาญบอกว่า ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน นี้ ทาง “อภัยภูเบศร” จะนำสินค้าเพื่อสุขภาพไปออกงาน ก็จะพ่วงผลิตภัณฑ์แบรนด์ “ดงบัง” ไปวางจำหน่ายเปิดตัวในงานเป็นครั้งแรกด้วย

ชูท่องเที่ยวเสริมรายได้

ในส่วนงานด้านการท่องเที่ยว ทิพากร พุ่มฤทธิ์ ประธานกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง บอกว่า ที่ผ่านมา หมู่บ้านดงบังกลายเป็นพื้นที่ดูงาน ทั้งด้านสมุนไพร เกษตรอินทรีย์ หมู่บ้านสำหรับดูงานการบริหารจัดการชุมชน ที่ผ่านมาจึงมีการกำหนดวันสำหรับดูงาน จันทร์-พุธ-ศุกร์ และงดรับแขกในช่วงเข้าพรรษา

“เราวางแผนและกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับการดูงาน ที่มีผู้เข้าร่วม 1-50 คน และ 50 คนขึ้นไป โดยคิดค่าศึกษาดูงานรายคน ค่าอาหาร และค่าวิทยากร รวมทั้งค่าที่พัก”

เมื่อชุมชนเข้มแข็ง บ้านดงบัง จึงได้รับคัดเลือกเป็น หมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ พร้อมกับพัฒนาเป็น หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ของจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านดงบัง ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพรเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ส่งเสริมและสนับสนุนภูมิปัญญาด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทยในจังหวัดปราจีนบุรี ให้มีมาตรฐานสู่ระดับสากล โดยมีขอบเขตของสินค้าและบริการดังนี้

  • เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยมุ่งเน้น สมุนไพรเกษตรอินทรีย์
  • จัดศูนย์การเรียนรู้สวนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์
  • ให้บริการด้านสปา การนวด อบ ประคบด้วยสมุนไพร
  • บริการที่พักแบบ Home Stay สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านผู้ปลูกสมุนไพร
  • ศูนย์เพาะชำและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าสมุนไพร
  • ศูนย์จำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์

จำนวนสมาชิกและบ้านพักในชุมชน บ้านพักจำนวน 4 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้หลังละประมาณ 10 คน ( กลุ่มผลิตสมุนไพรมีทั้งหมด 15 คน )

banndongbangs

กิจกรรมที่น่าสนใจ / แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง / เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

  • ชมและเรียนรู้เรื่องสมุนไพรใกล้ตัว เรียนรู้การแพทย์แผนไทยศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านผู้ปลูกสมุนไพร พักผ่อนบรรยากาศสวนสมุนไพรและไม้ดอกไม้ประดับ
  • แหล่งเรียนรู้เรื่องสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ แหล่งเพาะชำและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าสมุนไพร( มาเรียนรู้ดูงานเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกรุณาติดต่อล่วงหน้า )
  • ให้บริการด้านสปา การนวด อบ ประคบด้วยสมุนไพร
  • ศูนย์จำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ไม้ดอกไม้ประดับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าสมุนไพร และสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
  • ชมพิพิธภัณฆ์การแพทย์แผนไทยและเลือกซื้อของฝากผลิตผลจากวัตถุดิบของบ้านดงบังที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
  • ศึกษาเส้นทางของการแพทย์ทางเลือก สมุนไพร จาก บ้านดงบัง สู่เส้นทางการผลิตที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ที่ตั้ง : หมู่ที่ 6 บ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
การเดินทาง :
รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 305 (กรุงเทพฯ- รังสิต-องครักษ์ นครนายก) หรือถนนทางหลวงหมายเลข 33 (กรุงเทพฯ สระบุรี- บ้านนา นครนายก ) ออกจากตัวเมืองนครนายก มุ่งหน้าไปยังปราจีนบุรีกบินทร์บุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวขวาที่หลักกิโลเมตรที่ 165
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-7600-8842, 0-7087-5039 (มีที่พักแบบโฮมสเตย์)

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ www.tat.or.th

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

1 ความคิดเห็น

  1. บันทึก มิถุนายน 14, 2018 ใน 16:11

    ขอรบกวนถามชื่อวิทย์ ของหญ้าปักกิ่งด้วยค่ะ ว่าใช่ M. loriformis ไม๊คะ เพราะจะใช้ทดลองทางวิทย์ ค่ะ
    ขอบคุณมากค่ะ
    สุภาพร
    (ปล. M. bracteata จะเหมือน M. loriformis มาก )

แสดงความคิดเห็น