หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1

8 กันยายน 2558 จุลินทรีย์ 0

Probiotics เป็นจุลินทรีย์ธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ พบได้ในลำไส้ของสัตว์ทั่วไป สามารถนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อผลิตเป็นสินค้าเสริมสุขภาพได้ เช่น Lactobacillus ที่ใช้ในการผลิตนมเปรี้ยวและโยเกริต เป็นต้น ในลำไส้ของสัตว์น้ำก็มีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์หลายขนิดเช่นกัน ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย โดยเฉพาะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบความหนาแน่นสูง

หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1)

ตั้งแต่ ปี 2551 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครได้ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศไทย โดยนักวิชาการของกรมประมงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกจุลินทรีย์ในกลุ่ม Bacillus 3 ชนิด คือ B. subtilis, B. megaterium และ B. licheniformis ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ใช้สำหรับบำบัดสารอินทรีย์ที่ตกค้างสะสมในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ บรรจุซองละ 100 กรัม โดยมีปริมาณ Bacillus spp.ไม่ต่ำกว่า106cfu/กรัม มีการควบคุมคุณภาพโดยการสุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาเพาะเชื้อและนับจำนวนโคโลนี ตลอดจนตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อชนิดอื่นๆ ในทุกรุ่นการผลิต

pm1labop pm1lab pm1labs

วิธีใช้

  • ขั้นตอนที่ 1 การขยายปริมาณจุลินทรีย์ นำหัวเชื้อจุลินทรีย์จำนวน 1 ซอง (100 กรัม) มาผสมกับน้ำสะอาด (น้ำจืดหรือน้ำกร่อยที่สะอาด) จำนวน 250 ลิตร อาหารกุ้งทะเลจำนวน 0.5 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 0.5 ลิตร คนให้เข้ากัน ปิดฝาถัง จากนั้นเติมอากาศเบาๆ ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 36 ชั่วโมง จะได้จุลินทรีย์ขยายที่พร้อมนำไปบำบัดสารอินทรีย์ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  • ขั้นตอนที่ 2 การทำให้จุลินทรีย์ขยายพันธุ์ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นำจุลินทรีย์ที่ขยายปริมาณแล้ว ไปฉีดหรือราดพื้นบ่อที่ตากแห้ง ในอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ จากนั้นไถพรวนเพื่อกลับหน้าดิน แล้วราดจุลินทรีย์ขยายซ้ำอีกครั้งในอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ ตากแดดให้แห้งแล้วไถพรวนจนสารอินทรีย์ถูกย่อยสลายดีเรียบร้อยแล้ว จึงเตรียมการเพาะเลี้ยงในขั้นตอนต่อไป

การเก็บรักษา เก็บไว้ในตู้เย็น หรือในที่ร่ม ได้นานประมาณ 10 เดือน

การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) และน้ำหมักสับปะรด

จุลินทรีย์ Bacillus จัดเป็นแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นท่อนกลมยาว (rod-shaped) เคลื่อนที่ได้ ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแหล่งคาร์บอน และได้พลังงานจากการออกซิไดซ์สารรีดิวส์พวกสารอินทรีย์และอนินทรีย์ (Chemoautotrophic) สามารถสร้างสปอร์ ที่สามารถทนต่อยาฆ่าเชื้อทั่วไปและอุณหภูมิสูงได้ดี (ต่ำกว่า 100 C) จึงได้นำคุณลักษณะนี้มาใช้ในการจำแนกบาซิลลัสออกจากเชื้อกลุ่มอื่น โดยให้ความร้อนที่ 80 C นาน 15 นาที ขนาดของเซลล์ประมาณ 0.5-2 x 2-6 ไมครอน สามารถอาศัยในที่มีหรือไม่มีออกซิเจนได้ พบอยู่ทั่วไปในธรรมชาติทั้งในดินและในน้ำ ทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ และบางชนิดเป็นโปรไบโอติก จากการศึกษา B. subtilis ที่แยกได้จากทางเดินอาหารของกุ้งก้ามกรามนำมาใช้เป็นเพื่อเป็นโปรไบโอติกในกุ้งขาวแวนนาไมนำไปทดสอบกับเชื้อวิบริโอพบอัตราการเกิดโรคและอัตราการรอดตายของกุ้งสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (Hadl Zokael et al., 2009) นอกจากนี้ยังพบผลิตสารต้านวิบริโอก่อโรคหลายชนิด คือ Vibrio parahaemolyticus, V. alginolyticus และ V. harveyi (Balczar JL and Rojas-Luna T., 2007)

pm1cher
ตั้งแต่ ปี 2551 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครได้ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศไทย โดยนักวิชาการของกรมประมงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกจุลินทรีย์ในกลุ่ม Bacillus 3 ชนิด คือ B. subtilis, B. megaterium และ B. licheniformis ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ใช้สำหรับบำบัดสารอินทรีย์ที่ตกค้างสะสมในบ่อเลี้ยงสัตว์ นอกจากคุณสมบัตินี้แบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติสามารถนำมาใช้เป็นโปรไบโอติก เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย B. licheniformis ช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกัน จากการเพิ่มปริมาณ phenol oxidase สูงกว่ากลุ่มควบคุม (Ke Li et al., 2007) และพบว่า B. megaterium ยับยั้งการเจริญเติบโตและยับยั้งการทำลายเม็ดเลือดของ V. harveyi ( Nakayama et al., 2009) B. subtilis สามารถ ย่อยสลายอินทรีย์ได้ดี และมีประสิทธิภาพในการย่อยได้ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะในสภาพที่มีออกซิเจน ในขณะที่ B. licheniformis มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ B. subtilis โดยมีลักษณะพิเศษคือสามารถทำงานได้ดีทั้งในสภาพที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน จึงเหมาะที่จะใช้ในการย่อยสลาย ร่วมกับ B. subtilis และพบว่า B. licheniformis มีความสามารถในการย่อยโปรตีนที่มีโครงสร้างซับซ้อนที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น เคราติน (keratin) ได้ดี นอกจากนี้มีการวิจัยนำมาใช้เป็นโปรไบโอติกเพื่อใช้ในการเลี้ยงกุ้งขาวแบบพัฒนา พบว่าสามารถลดปริมาณเชื้อ Vibrio และเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่มีประโยชน์รักษาสมดุลย์ของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งเพิ่มภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้พบว่า B. licheniformis บางสายพันธุ์ยังเป็นพวก Denitrifiers สามารถเปลี่ยนไนเตรท (NO3- ) ไปเป็นไนไตรท์ (NO2- ) จนถึงไนโตรเจน N2

pm1na
การนำแบคทีเรียที่มีอยู่ในหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 มาใช้เพื่อเป็นโปรไบโอติก เพื่อป้องกันโรคเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกุ้งขาวแวนนาไมและยังช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงเป็นการใช้ประโยชน์จากผลิตพันธุ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ได้อย่างเต็มที่ ทั้งการบำบัด ปรับปรุงคุณภาพน้ำและดิน จนถึงการใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคและต้านการเกิดโรคที่เกิดจากแบคทีเรียก่อโรคในกุ้งขาวแวนนาไม โดยเฉพาะการป้องกันและลดความเสียหายอันเกิดจากการตายของกุ้งก่อนวัยอันควรหรือกลุ่มอาการตายด่วน (EMS)

การเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) เพื่อใช้เป็นโปรไบโอติก

  1. หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) 5 กรัม
  2. น้ำตาลทรายแดง 20 กรัม
  3. อาหารกุ้งบดละเอียด 10 กรัม
  4. น้ำสะอาด 1 ลิตร
  5. ผสมทุกส่วน ในภาชนะที่มีฝาหรือมีวัสดุปิดเช่นเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อฝุ่นหรืออากาศ ให้อากาศปานกลาง เพียงพอให้ส่วนผสมทั้งหมดไม่ตกตะกอน ไม่ต้องเติมอากาศมากจนเกิดฟองอากาศกระจายเต็มภาชนะ ขยายหัวเชื้อเป็นเวลา 36 -72 ชั่วโมง
  6. การนำน้ำขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) มาใช้งาน
    6.1 การใช้น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) มาเพิ่มคุณค่าของอาร์ทีเมีย (artemia) โดยนำน้ำขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) มากรองผ่านผ้าขาวบาง นำน้ำที่มีเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) ใส่ในในถังที่มีอาร์ทีเมีย ระยะ instar l ให้อากาศเต็มที่ นาน 6 – 24 ชั่วโมง จึงนำมาเป็นอาหารลูกกุ้งวัยอ่อน
    6.2 การใช้น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) ผสมกับอาหารกุ้งสำเร็จรูป ประมาณ 10-20 มิลลิลิตร หรือคลุกกับอาหารให้พอหมาด อาหารไม่เปียกจนติดเป็นก้อน นำไปให้กุ้งกินทุกมื้อจนถึงลูกกุ้งอายุ 30 -60 วัน หรือจนกว่าจะพ้นระยะเสี่ยงของการเกิดโรค

การใช้น้ำหมักสับปะรดเพื่อป้องกันโรคตายด่วน และโรคขี้ขาว
สับปะรด (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Ananas comosus) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ มีชื่อเรียกต่างๆ ตามภูมิภาค เช่น ภาคกลาง เรียกว่า “สับปะรด” ภาคอีสาน เรียกว่า “บักนัด”ภาคเหนือ เรียกว่า “มะนัด, มะขะนัด, บ่อนัด” ภาคใต้ เรียกว่า “ย่านัด, ย่านนัด, ขนุนทอง,มะลิ”
ประโยชน์ของสับปะรด ทางด้านสมุนไพรมีมากมาย เช่น

  • ช่วยบรรเทาอาการแผลเป็นหนอง
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ร้อนกระสับกระส่าย กระหายน้ำ
  • แก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะไม่ออก
  • บรรเทาอาการโรคบิด
  • ช่วยย่อยอาหารพวกโปรตีน
  • แก้ท้องผูก
  • เป็นยาแก้โรคนิ่ว

การนำน้ำหมักสับปะรดมาใช้ผสมอาหารให้กุ้งกิน สับปะรดประกอบไปด้วยสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เช่น มีวิตามินซีและวิตามินบี สูง และที่สำคัญมีเอนไซม์บรอมีเลน (Bromelain) ช่วยยับยั้งการอักเสบ มีฤทธิ์ช่วยในระบบการย่อยอาหาร ช่วยย่อยโปรตีนจากถั่วเหลืองซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของอาหารกุ้งได้ดี สามารถย่อยโปรตีนให้มีโมเลกุลเล็กลง ช่วยในการสมานแผลในกระเพาะอาหาร pH ที่ต่ำประมาณ 4 5 ของน้ำสับปะรด ช่วยลดหรือยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย โดยเฉพาะกลุ่มวิบริโอได้ดี เช่น Vibrio parahaemolyticus, V. harveyi, V. cholerae เป็นต้น ทำให้ลดการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มวิบริโอระบบทางเดินอาหาร เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร ลดการเกิดการตายด่วนของกุ้งที่เกิดจากเชื้อวิบริโอ รวมทั้งอาการขี้ขาวที่เกิดจากการอักเสบของลำไส้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนำพาสารอาหาร เข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกาย นอกจากนี้สับปะรด ยังประกอบด้วย เบต้าแคโรทีน แมงกานีส ปริมาณมาก
การเตรียมน้ำหมักจากสับปะรด

สับปะรดสุกหรือสุกปานกลาง 2 ส่วน สับหรือปั่นบดละเอียด (เนื้อและแกนสับปะรด) ผสมกับกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทราย 1 ส่วน น้ำสะอาด 3 ส่วน เช่น สับปะรด 2 กิโลกรัม + กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 3 ลิตร ส่วนผสมทั้งหมด ผสมให้เข้ากัน หรือกรณีที่พบตับ/ตับอ่อนกุ้งซีด หรือผิดปกติ มีเชื้อวิบริโอจำนวนมาก ให้เพิ่มอัตราส่วนของสับปะรด เป็น 2-3 ส่วนผสมกับกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทราย 1 ส่วน น้ำสะอาดลดเหลือ 1 ส่วน ใส่ในภาชนะที่ทนกรดได้ ถ้าเป็นพลาสติกคุณภาพบรรจุอาหารได้ ทนกรด และควรเป็นสีขาวหรือไม่มีสีฉูดฉาด หรือซ้อนถุงพลาสติกไว้ข้างใน เพื่อป้องกันการละลายออกของสารเคมีจากสภาพที่เป็นกรด ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ประมาณ 5 -14 วัน หรือจนกว่าน้ำหมักจะมีกลิ่นหอม หรือมี pH ประมาณ 4 – 5 (ในระหว่างการหมัก จะเกิดแก๊สในถังหมัก ให้เปิดฝาเพื่อระบายแก๊สและคนส่วนผสมเบาๆ และรีบปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ออกซิเจนลงไปในถังหมัก)

  1. นำน้ำหมักมากรอง เฉพาะส่วนน้ำมาผสมกับอาหารกุ้งสำเร็จรูป 10 20 มิลลิลิตรหรือให้พอหมาดๆ อาหารไม่เปียกจนจับเป็นก้อน
  2. ผสมให้กุ้งกินตั้งแต่เริ่มลงเลี้ยงในบ่อดิน จนถึงอายุ 30 วัน

การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำและดิน
การเตรียมบ่อ

  1. หลังจากจับกุ้ง กรณีมีการสะสมของเลนและของเสียในบ่อมาก ให้กำจัดของเสียออก
  2. ตากบ่อให้แห้งสนิท กรณีที่ดินเป็นกรดให้ทำการบำบัดเลนโดยไม่ต้องตากบ่อให้แห้ง
  3. บำบัดพื้นบ่อ โดยนำน้ำเข้าบ่อลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร หรือมีความลึกเพียงพอที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการลากโซ่ คราด ไถพรวน เป่าเลน หรืออุปกรณ์อื่นที่ช่วยในการผสมเลน สารอินทรีย์ น้ำและออกซิเจน เพื่อให้สารพิษที่สะสมในดินละลายออกมา สัมผัสกับน้ำและออกซิเจน จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินเจริญขึ้นมา
  4. ขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) สาดให้ทั่วบ่อในอัตรา 100 ลิตร ต่อไร่ (หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) 100 กรัม + กากน้ำตาล 500 มิลลิลิตร + อาหารกุ้ง 500 กรัม + น้ำสะอาด 250 ลิตร ให้อากาศเบาๆ นาน 36 72 ชั่วโมง)
  5. ลากโซ่หรืออุปกรณ์อื่นๆ ตามข้อ 3 ให้ทั่วพื้นบ่อวันละ 3-4 รอบ จนกว่าระดับ pH ของน้ำบริเวณพื้นบ่อที่ลดลงในช่วงแรก สูงขึ้นประมาณ 8 และตรวจไม่พบแอมโมเนีย อาจเวลา 1 – 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปริมาณสารอินทรีย์ที่สะสมอยู่
  6. เติมน้ำที่ผ่านการพัก บำบัด และกรองเข้าสู่บ่อจนระดับที่ใช้เลี้ยง
  7. เตรียมอาหารธรรมชาติ
  8. น้ำในบ่อมีสีเขียวอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน pH ของน้ำควรอยู่ในช่วง 7.8 8.3 ปล่อยลูกกุ้งที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานของกรมประมงลงเลี้ยง
  9. ผสมอาหารเม็ดสำเร็จรูปกับน้ำขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) หรือน้ำหมักสับปะรด คลุกให้เข้ากันพอหมาดๆ อาหารไม่ติดกันเป็นก้อน พักไว้ 10-30 นาที ผสมให้กินทุกมื้อจนกุ้งอายุ 30 – 60 วันหรือจนกว่าจะไม่มีความเสี่ยงของการเกิดโรค
  10. น้ำขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) สาดให้ทั่วบ่อในอัตรา 50 ลิตร ต่อไร่ อาทิตย์ ละ 1-2 ครั้ง กรณีพบกุ้งตายด้วยด้วยสาเหตุจาก EMS ให้งดอาหาร เพิ่มการตีน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ แร่ธาตุให้เหมาะสม และใส่ น้ำขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม1) สาดให้ทั่วบ่อในอัตรา 50 ลิตร ต่อไร่ ทุกๆ 2 วัน

กรมประมงได้มีการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ที่ตกค้างสะสมในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) นั้น เราจะมีการควบคุมคุณภาพโดยการสุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาเพาะเชื้อและนับจำนวนโคโลนี ตลอดจนตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อชนิดอื่นๆ ในทุกรุ่นของการผลิตเพื่อให้ผู้ที่นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) ไปใช้แล้วก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และเพื่อให้หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) ได้ทำหน้าที่ย่อยสลายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขอให้เกษตรกรที่จะนำหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) ไปใช้ โปรดศึกษารายละเอียดและวิธีการใช้ให้เข้าใจเสียก่อน สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาท่านใดที่สนใจขอรับหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านท่าน

pm1s

การขอรับหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1)
สามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานของกรมประมงทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หรือติดต่อโดยตรงที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร โทรศัพท์ 0-3485-7136 และ 0-3442-6220 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณเบ็ญยะมาศ บุญอบรม e-mail: bboonobrom@hotmail.com

ที่มา
หนังสือ งานวันกุ้งกระบี่ ปี 56 จัดทำโดย นสพ.กุ้งไทย
ชัยวุฒิ สุดทองคง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น