ประวิทย์ ภูมิระวิ (กำนันเคว็ด) ผู้เดินตามศาสตร์พระราชา

10 พฤศจิกายน 2555 ปราชญ์ของแผ่นดิน 0

กำนันเคว็ด คือคนที่มองเห็นปัญหา มองหาจุดยืนให้ชาววังตะกอ ต้านกระแสการล่มสลายของสังคม ทรัพยากร และเศรษฐกิจทุนนิยม

การเป็นเจ้าคนนายคนจะมีแต่พระเดชอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีพระคุณด้วย
คำบอกเล่าเชิงสั่งสอนที่ได้ยินมา ตั้งแต่เริ่มทำงานแรกๆ ได้ถูกบันทึกไว้ในตามรอยหยักของสมองและนำกลับมาใช้ประมวลผลอีกครั้ง เมื่อได้รู้จักกับ กำนันเคว็ด (ประวิทย์ ภูมิระวิ) แกนนำชุมชนโครงการรักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ตำบลวังตะกออำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ที่ชาวบ้านให้การยอมรับนับถือ ด้วยความเสียสละที่กำนันเคว็ด มีให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขโดยไม่หวังผลตอบแทน นี่แหละที่เขาเรียกว่า พระคุณ

ชื่อเสียงของกำนันเคว็ดเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศอีกครั้ง เมื่อชุมชนตำบลวังตะกอได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2551 จากการเป็นต้นแบบสร้างความร่วมมือในการสร้างพื้นที่สีเขียว และจัดทำธนาคารต้นไม้ และกระแสกำนันเคว็ดโมเดล ก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ทุกคนจากทั่วประเทศเดินทางมาตำบลวังตะกอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกำนัดเคว็ด จนมีสำนวนที่ว่า หากใครได้มาตำบลวังตะกอ แล้วไม่ได้ไปหากำนันเคว็ด ก็ถือว่ายังมาไม่ถึงวังตะกอ

แต่วันนี้ กำนันเคว็ด ได้ยกพลขึ้นบกที่หนองใหญ่ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ก็ทำให้คนที่มาตำบลวังตะกอ ต้องไปหนองใหญ่ด้วย เพื่อจะไปพูดคุยกับกำนันเคว็ด เช่นเดียวกับการเดินทางของเราในครั้งนี้

ลองมองย้อนอดีตไปที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-10 ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน มา 25 ปี ทางกรมพัฒนาชุมชนจะทำข้อมูล ไม่มาถามเราเลย จึงแก้ปัญหาไม่ได้ จึงคิดว่า เราต้องลุกขึ้นมาทำเอง จึงเกิดแผนชีวิตชุมชน ตำบลวังตะกอ เพราะการพัฒนาที่รัฐส่งเสริม ไม่ได้ตอบคำถามชาวบ้าน เกษตรกรยังเป็นหนี้ สุขภาพยังแย่ เราเริ่มคิดได้ในปี 2542 แล้วบ่มเพาะจนถึงปี 2546 ผมรู้จักตัวเองรู้ว่าทรัพยากรของเราคือ ดิน น้ำ ส่วนฝนและน้ำป่ามาก็แห้งภายใน 1-2 วัน เราจึงปลูกป่า รู้จักแผ่นดิน รู้จักการใช้จ่าย

ในปี 2546 ตำบลวังสะกอ มีหนี้สิน 147 ล้านบาท จาก 1. ปุ๋ยเคมี เพราะอยากรวย 2. การรักษาพยาบาล 3. การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อเน้นการจำหน่าย และ 4. การลงทุนเพื่อการศึกษา เพื่อให้ลูกหลานแข่งขันได้

คำถามเหล่านี้ก่อให้เกิดการแก้ปัญหา คือ
1. รู้จักตนเอง แข่งขันเพื่ออะไร เหมือนใช้ยาให้ถูกโรค
2. ไม่มีงานทำ ทำให้สมองไหลออกนอกเมือง ก็แก้ไขด้วยการเชิญชวนให้กลับบ้าน
3. เลิกร้านสะดวกซื้อ ทำร้านค้าชุมชน
4. สุขภาพไม่ดี เพราะกินผักมีสารพิษ กินปลามีสารพิษ ดื่มน้ำไม่สะอาด ก็ตั้งกลุ่มทำน้ำดื่มวังตะกอ ถ้าคุณมีถังเก่า เอามาเติมน้ำ 200 ลิตร แค่ 20 บาท เน้นขายคนในชุมชน
5. เกิดธนาคารต้นไม้เพื่อใช้หนี้ สำหรับธนาคารต้นไม้ เป็นรายได้ของกลุ่มแม่บ้านที่มาช่วยกันเพาะกล้าไม้ พ.ศ. 2539 ตำบลวังตะกอเริ่มปลูกต้นไม้ในวัด 7 ไร่ ในโรงเรียนซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งปกติต้องทำเรื่องขอนุญาต แต่กำนันใช้ระเบียบการของใช้พื้นที่ของ กระทรวงมหาดไทย ที่ให้เสียงชาวบ้านเกินร้อยละ 75 ในการปลูกต้นไม้

ทั้งนี้ พื้นที่ป่าของตำบลวังตะกออยู่ในเขตอุทยานฯ กว่า 4,000 ไร่ การรุกล้ำที่มีมานาน โครงการ ทำความจริงให้ปรากฏ จึงเกิดขึ้น เริ่มต้นจากการที่กรมป่าไม้ไม่เห็นด้วยกับการที่คนเข้าไปอยู่ในป่า เราจึงสำรวจพื้นที่ 125 ตารางกิโลเมตร เข้าไปถามชาวบ้านว่า ใครบุกป่าสมัยปู่ย่าตายายยกมือขึ้น แล้วใช้ภาพถ่ายดาวเทียมพิสูจน์ ถ้าปาล์มต้นใหญ่ ยางต้นใหญ่ นับได้ ก็ทำแผนที่โกหกไม่ได้ และเลิกบุกนะ ถ้าบุกเป็นเรื่อง ส่วนระยะห่าง 10 เมตร ระหว่างจุด A กับ B ต้องเอาต้นไม้ไปปลูกเสริมเพื่อพิสูจน์ว่า คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ นอกจากนี้ต้องปลูกไม้อีก 20 ต้น/ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าห้ามใช้สารเคมี สรุปว่าคนยกมือเต็มร้อย เนื่องจากที่ผ่านมา คนไม่กล้าสำรวจ กลัวความจริง หมกเม็ดกันมานาน การทำความจริงให้ปรากฏ จึงกลายเป็นโมเดลจากพะโต๊ะ

ผลจากการยอมรับความจริง และการทำแผนชีวิตชุมชน ทำให้คนมีความสุขขึ้น จากเดิมที่ไม่มีกะใจจะทำมาหากิน เพราะกลัวผิดกฎหมายถูกข่มขี่ ก็เปิดเผยขึ้น เราห้ามบุกรุกแผ้วถางใหม่ ห้ามเปลี่ยนมือ ห้าทำแทน ห้ามขาย เขตติดต่อกัน ต้องรับผิดชอบ ถ้าแจ้งว่ามี 15 ไร่แล้วเราพบว่าคุณมีเพิ่มเป็น 16 ไร่ ซวยแน่นอน คนต้องรักษาป่า ถ้าสมาชิกครอบครัวเพิ่ม คุณต้องหาทางออกที่เหมาะสม ที่ไม่ใช่ขยายที่ทำกิน แต่ต้องปลูกทุกอย่างที่กินได้ตามแบบของกำนัดเคว็ดโมเดล

พื้นที่กว่าหมื่นไร่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ในตำบลวังตะกอ จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ของลุ่มน้ำหลังสวน ที่สืบทอดวิถีการอยู่กินกับน้ำ กับป่า กับเรือกสวน ไร่นา มายาวนาน แต่วันหนึ่ง กลับต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

ชาววังตะกอที่เคยสงบสุข ได้รับการลงทัณฑ์จากธรรมชาติอย่างไร้ความปราณี โดยเฉพาะพายุใต้ฝุ่นซีต้า ในปี พ.ศ. 2540 วังตะกอ ต้องจมอยู่ใต้น้ำนานหลายวัน มิหนำซ้ำชุมชนยังต้องประเผชิญกับวัฒนธรรมที่ก้าวกระโดด เข้าสู่การพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ

ท่ามกลาง สังคมที่กำลังเสียศูนย์ จากภัยธรรมชาติ และปัญหาสังคม ชายผู้หนึ่งนาม ประวิทย์ ภูมิระวิ หรือ กำนันเคว็ด ก็ปรากฎกายขึ้น

กำนันเคว็ด คือคนที่มองเห็นปัญหา มองหาจุดยืนให้ชาววังตะกอ ต้านกระแสการล่มสลายของสังคม ทรัพยากร และเศรษฐกิจทุนนิยม

ชุมชน วังตะกอ จึงเริ่มมีจุดยืนอันหนักแน่น มั่นคง โดยเริ่มจาก การวางแผนในการจัดการชุมชนที่มีเป้าหมาย ให้คิดถึงคนในหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง ชุนชนเป็นเจ้าของ ซึ่งทั้งหมดคือ แผนชีวิตชุมชนคนวังตะกอ

แผนชีวิตชุมชนคนวังตะกอ จึงเป็นข้อมูลที่ ทำให้คนในชุมชน มองเห็นปัญหาร่วมกัน และเป็นเข็มทิศ ที่ช่วยชี้นำแนวทางการแก้ปัญาหาให้กับชุมชนได้อย่างตรงจุด โดยครอบคลุมตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม และปัญหาสุขภาพ

เริ่ม ตั้งแต่ รณรงค์เรื่อง ปลูกป่า คืนชีวิตให้แผ่นดิน พร้อมกับแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน โดย กำนันเคว็ดและแกนนำต่อสู้เพื่อเอาที่สาธารณะมาจัดการให้คนยากจ ด้อยโอกาส จัดการออกหนังสือรับรองถือครองของประชาชน

ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ แก้ไขโดยการจัดทำขอบเขตให้ชัดเจน
ปัญหา ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ชาววังตะกอเริ่มต้นด้วยแผนชีวิตชุมชน นำไปสู่การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขี้หมู น้ำหมัก ขุยมะพร้าว กากปาล์ม จนลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 90 พร้อมกับการบริหาน้ำ อย่างเป็นระบบ ด้วยภูมิปัญหาพื้นบ้าน ด้วยการทำฝายชะลอน้ำ และปลูกไม้ต่าง ๆ ไว้ใช้สอยในอนาคต จนกลายเป็น ต้นแบบ กำนันเคว็ดโมเดล

วันนี้ ความสำเร็จ และความเข้มแข็งของชาววังตะกอ กำลังถูกต่อยอดและขยายวงกว้างสู่สังคมอื่น ๆ มากขึ้น โดยกำนันเคว็ด พร้อมด้วยปราชญ์ชาวบ้าน ในอำเภออื่น ๆ ของชุมพร ได้รวมพลังกัน จัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ภายในโครงการพระราชดำริหนองใหญ่ เพื่อให้เป็นแหล่ง ศึกษา เรียนรู้ โครงการตามแนวพระราชดำริ ต่าง ๆ ทั้ง เรื่อง ดิน น้ำ ป่า และการทำเกษตรพอเพียง ที่ ทุกคนได้เดินรอยตาม จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น