ความสมดุลของธาตุอาหารและแร่ธาตุต่างๆ ในดิน เป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชพรรณนานาชนิด แต่ทว่าหากดินเกิดเสียสมดุล โดยเฉพาะสมดุลทางเคมีที่เกี่ยวกับธาตุอาหารและแร่ธาตุในดิน ไม่เพียงทำให้คุณสมบัติทางเคมีของดินเสียไป แต่ยังส่งผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติทางชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการเพาะปลูกด้อยลง ผลผลิตตกต่ำ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถเพาะปลูกทำการเกษตร รวมทั้งใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ ปัญหาดินเสียสมดุลทางเคมีนี้ จึงกลายเป็นต้นตอของความยากจนของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดินเสียสมดุลทางเคมี
ดิน ที่ใช้ทำการเพาะปลูกทั่วไป ของประเทศไทยส่วนใหญ่ มักจะขาด ความอุดมสมบูรณ์ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ โครงสร้าง ของดินไม่ดี แน่นทึบ ไม่อุ้มน้ำ มี จุลินทรีย์ ในดินน้อย เนื่องจากสภาพ ที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ อันเนื่อง มาจากได้ใช้ดิน เพื่อการเพาะปลูก อย่าง ต่อเนื่อง โดยขาดการปรับปรุง และ บำรุงรักษา การทำการเกษตรกรรม ที่ไม่เหมาะสม ใช้ ที่ดินผิดประเภท ตลอดจนแหล่งกำเนิด ของดินเอง เช่น ดินทราย ดินลูกรัง ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินด่าง เป็นต้น ทำให้ขาดความสมดุล ในด้านสมบัติทางเคมี กายภาพ และ ชีวภาพ จำเป็นต้องทำการปรับปรุง และ หาทางแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการใช้ เพื่อการเพาะปลูก ต่อไป ต่อไปนี้ขอแนะนำให้ท่านทราบถึงดิน ที่มีปัญหาชนิดต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งต้องหาทางปรับปรุงให้กลับมาใช้ ประโยชน์ได้
ดินเค็ม
ดินเค็ม (saline soil) หมายถึงดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายอยู่ในสารละลายดินมากเกินไปจนมีผล กระทบต่อการเจริญเติบโตและผลิตผลของพืช เนื่องจากทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำ และมีการสะสมไอออนที่เป็นพิษในพืชมากเกินไปนอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืชด้วย
ลักษณะการเกิดและการแพร่กระจายดินเค็ม
ดินเค็มในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ดินเค็มบกและดินเค็มชายทะเล ดินเค็มบกมีทั้งดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และดินเค็มภาคกลาง ดินเค็มแต่ละประเภทมีสาเหตุการเกิด ชนิดของเกลือ การแพร่กระจาย ตามลักษณะสภาพพื้นที่ และตามลักษณะภูมิประเทศด้วย ดังนี้
ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งเกลือมาจากหินเกลือใต้ดิน น้ำใต้ดินเค็มหรือหินทราย หินดินดานที่อมเกลืออยู่ ลักษณะอีกประการหนึ่งคือ ความเค็มจะไม่มีความสม่ำเสมอในพื้นที่เดียวกันและความเค็มจะแตกต่างกันระหว่างชั้นความลึกของดินซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ลักษณะของดินเค็มที่สังเกตได้คือ จะเห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดิน และมักเป็นที่ว่างเปล่าไม่ได้ทำการเกษตร หรือมีวัชพืชทนเค็ม เช่น หนามแดง หนามปี เป็นต้น
ดินเค็มภาคกลาง
แหล่งเกลือเกิดจากตะกอนน้ำกร่อย หรือเค็มที่ทับถมมานานหรือเกิดจากน้ำใต้ดินเค็มทั้งที่อยู่ลึกและอยู่ตื้น เมื่อน้ำใต้ดินไหลผ่านแหล่งเกลือแล้วไปโผล่ที่ดินไม่เค็มที่อยู่ต่ำกว่าทำให้ดินบริเวณที่ต่ำกว่านั้นกลายเป็นดินเค็มทั้งนี้ขึ้นกับภูมิประเทศแต่ละแห่งสาเหตุการเกิดแพร่กระจายออกมามาก ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์โดยการสูบน้ำไปใช้มากเกินไป เกิดการทะลักของน้ำเค็มเข้าไปแทนที่ การชลประทาน การทำคลองชลประทานรวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในไร่นาบนพื้นที่ที่มีการทับถมของตะกอนน้ำเค็ม หรือจากการขุดหน้าดินไปขายทำให้ตะกอนน้ำเค็มถึงจะอยู่ลึกนั้น กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเกลือได้
ดินเค็มชายทะเล
สาเหตุการเกิดดินเค็มชายทะเลเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเลโดยตรง องค์ประกอบของเกลือในดินเค็มเกิดจากการรวมตัวของธาตุที่มีประจุบวกพวกโซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม รวมกับธาตุที่ประจุลบ เช่น คลอไรด์ ซัลเฟต ไบคาร์บอเนต และคาร์บอเนต ดินเค็มที่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) คล้ายคลึงกับดินเค็มชายทะเล แต่ดินเค็มชายทะเล มีแมกนีเชียมอยู่ในรูปคลอไรด์และซัลเฟตมากกว่า ส่วนชนิดของเกลือในดินเค็มภาคกลางมีหลายรูปมีหลายแห่งที่ไม่ใช่เกลือ NaCl แต่มักจะพบอยู่ในรูปของเกลือซัลเฟต คลอไรด์ ไบคาร์บอเนต หรือ คาร์บอเนตของแมกนีเซียม แคลเซียม และโซเดียม
สาเหตุการแพร่กระจายดินเค็ม
เกลือเกิดขึ้นเป็นเกลือที่ละลายน้ำได้ดี น้ำจึงเป็นตัวการหรือพาหนะในการพาเกลือไปสะสมในที่ต่าง ๆ ที่น้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดการแพร่กระจายดินเค็ม
สาเหตุจากธรรมชาติ
หินหรือแร่ที่อมเกลืออยู่เมื่อสลายตัวหรือผุพังไป โดยกระบวนการทางเคมีและทางกายภาพ ก็จะปลดปล่อยเกลือต่างๆ ออกมาเกลือเหล่านี้อาจสะสมอยู่กับที่หรือเคลื่อนตัวไปกับน้ำแล้วซึมสู่ชั้นล่างหรือซึมกลับมาบนผิวดินได้โดยการระเหยของน้ำไปโดยพลังแสงแดดหรือถูกพืชนำไปใช้น้ำใต้ดินเค็มที่อยู่ระดับใกล้ผิวดินเมื่อน้ำนี้ซึมขึ้นบนดิน ก็จะนำเกลือขึ้นมาด้วยภายหลังจากที่น้ำระเหยแห้งไปแล้วก็จะทำให้มีเกลือเหลือสะสมอยู่บนผิวดินและที่ลุ่มที่เป็นแหล่งรวมของน้ำ น้ำแหล่งนี้ส่วนมากจะมีเกลือละลายอยู่เพียงเล็กน้อยก็ได้นานๆเข้าก็เกิดการสะสมของเกลือโดยการระเหยของน้ำพื้นที่แห่งนั้นอาจเป็นหนองน้ำหรือทะเลสาบเก่าก็ได้
สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์
การทำนาเกลือ ทั้งวิธีการสูบน้ำเค็มขึ้นมาตากหรือวิธีการขูดคราบเกลือจากผิวดินมาต้ม เกลือที่อยู่ในน้ำทิ้งจะมีปริมาณมากพอที่จะทำให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกลายเป็นพื้นที่ดินเค็มหรือแหล่งน้ำเค็ม การสร้างอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ดินเค็มหรือมีน้ำใต้ดินเค็ม ทำให้เกิดการยกระดับของน้ำใต้ดินขึ้นมาทำให้พื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียงเกิดเป็นพื้นที่ดินเค็มได้ การชลประทานที่ขาดการวางแผนในเรื่องผลกระทบของดินเค็มมักก่อให้เกิดปัญหาต่อพื้นที่ซึ่งใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานนั้นๆ แต่ถ้ามีการคำนึงถึงสภาพพื้นที่และศึกษาเรื่องปัญหาดินเค็มเข้าร่วมด้วย จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาดินเค็มได้วิธีหนึ่งและการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้สภาพการรับน้ำของพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมายจากสภาพทางอุทกธรณีของน้ำเปลี่ยนแปลงไป แทนที่พืชจะใช้ประโยชน์กลับไหลลงไปในระบบส่งน้ำใต้ดินเค็มทำให้เกิดปัญหาดินเค็มตามมา
แนวทางการจัดการดินเค็ม
การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายดินเค็มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากสาเหตุการเกิด ดำเนินการได้โดยวิธีการทางวิศวกรรม วิธีทางชีวิทยา และวิธีผสมผสานระหว่างทั้งสองวิธี
วิธีทางวิศวกรรม จะต้องมีการออกแบบพิจารณาเพื่อลดหรือตัดกระแสการไหลของน้ำใต้ดินให้อยู่ในสมดุลของธรรมชาติมากที่สุด ไม่ให้เพิ่มระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่ม
วิธีทางชีวิทยา โดยใช้วิธีการทางพืชเช่นการปลูกป่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม มีการกำหนดพื้นที่รับน้ำที่จะปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วมีรากลึก ใช้น้ำมากบนพื้นที่รับน้ำที่กำหนด เพื่อทำให้เกิดสมดุลการใช้น้ำและน้ำใต้ดินในพื้นที่ สามารถแก้ไขลดความเค็มของดินในที่ลุ่มที่เป็นพื้นที่ให้น้ำได้
วิธีผสมผสาน การแก้ไขลดระดับความเค็มดินลงให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการใช้น้ำชะล้างเกลือจากดินและการปรับปรุงดิน ดินที่มีเกลืออยู่สามารถกำจัดออกไปได้โดยการชะล้างโดยน้ำ การให้น้ำสำหรับล้างดินมีทั้งแบบต่อเนื่องและแบบขังน้ำเป็นช่วงเวลา แบบต่อเนื่องใช้เวลาในการแก้ไขดินเค็มได้รวดเร็วกว่าแต่ต้องใช้ปริมาณน้ำมาก ส่วนแบบขังน้ำใช้เวลาในการแก้ไขดินเค็มช้ากว่า แต่ประหยัดน้ำ
การใช้พื้นที่ดินเค็มให้เกิดประโยชน์ตามสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ปล่อยให้พื้นดินว่างเปล่า โดยการคลุมดินหรือมีการเพิ่มผลผลิตพืชโดยเปลี่ยนพืชเป็นพืชเศาษฐกิจที่เหมาะสม เช่นพืชทนเค็ม พืชชอบเกลือ
ดินเปรี้ยว
ดินเปรี้ยว หรือดินกรด (Acid soil) หมายถึง ดินที่มีค่า pH วัดได้ต่ำกว่า 7.0 ดังนั้น ดินเปรี้ยวจัด (Acid sulfate soil) จึงเป็นดินเปรี้ยวหรือดินกรดชนิดหนึ่ง แต่มีความหมายแตกต่างจากดินกรดโดยทั่ว ๆ ไป หรือดินกรดธรรมดา หนังสือคำบัญญัติศัพท์ ภูมิศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2523) ได้ให้ความหมายว่า acid sulfate soil หมายถึง ดินเปรี้ยวจัด ดินกรดจัด หรือดินกรดกำมะถัน
ดินเปรี้ยวจัด นับว่าเป็นดินที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ดินเปรี้ยวส่วนใหญ่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้และชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ ดินเปรี้ยวจัดส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังอยู่ตลอดช่วงฤดูฝนและลักษณะของดินเป็นดินเหนียวจึงจัดใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้ผลผลิตข้าวต่ำ ถึงแม้สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเหมาะสมต่อการทำนาก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ดินเปรี้ยวจัดซึ่งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่าหลายเท่า ดังนั้นการแก้ไขปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคของดินเปรี้ยวจัดพบว่าความเป็นกรดอย่างรุ่นแรงของดินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตของพืชและผลผลิตของพืชตกต่ำ เพราะทำให้ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารหลักของพืชลดลงหรือมีไม่พอเพียงต่อความต้องการของพืช ธาตุอาหารของพืชที่มีอยู่ในระดับต่ำคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ส่วนธาตุอาหารของพืชบางชนิดมีเกินความจำเป็นซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อการเจริญเติบโนและผลผลิตของพืชที่ปลูก เช่น อลูมิเนียม เหล็ก แมงกานีส และความเป็นกรดจัดยังมีผลต่อกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินและมีประโยชน์ต่อพืชมีปริมาณที่ลดลง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องหาลู่ทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป
ประเภทของดินเปรี้ยว
ดินกรดเป็นดินที่ปัญหาทางการเกษตรเนื่องจากสมบัติที่เป็นกรดซึ่งมีผลต่อกระบวนการเจริญเติบโตของพืชแล้วส่งผลต่อปริมาณผลิตผลทางการเกษตร พบว่าดินกรดจะมีลักษณะของดินและกระบวนการเกิดดินสามารถแบ่งประเภทของดินได้ 3 ประเภท ดังนี้
ดินเปรี้ยวจัด ดินกรดจัด หรือดินกรดกำมะถัน (Acid sulfate soil)
ดินเปรี้ยวจัด ดินกรดจัด หรือดินกรดกำมะถัน (Acid sulfate soil) เป็นดินทีเกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเลหรือตะกอนน้ำกร่อย ที่มีสารประกอบของกำมะถันซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดกำมะถันตามกระบวนการธรรมชาติสะสมในชั้นหน้าตัดของดินโดยจะเป็นดินที่มีความเป็นกรดสูง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างรุนแรง เช่นขาดธาตุฟอสฟอรัส ไนโตรเจนแถมยังมีธาตุอาหารบางชนิดเกินความจำเป็นซึ่งส่งผลร้ายหรือเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืชเช่น ธาตุเหล็ก อลูมิเนียม เป็นต้น
ดินอินทรีย์ หรือโดยทั่วไปเรียกว่า ดินพรุ
ในประเทศมีดินที่เป็นดินอินทรีย์แพร่กระจายอยู่หนาแน่นอยู่ตามแนวชายแดนหรือเขตชายแดนไทยและมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่นอกจากนั้นยังพบโดยทั่ว ๆ ไปในภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่พรุหรือพื้นที่ดินอินทรีย์นั้น ตามธรรมชาติจะเป็นที่ลุ่มน้ำที่มีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปีซึ่งเกิดจากการทับถมของพืชต่าง ๆ ที่เปื่อยผุพังเป็นชั้นหนาตั้งแต่ 40 เซนติเมตร ไปจนถึงมีความหนาประมาณ 10 เมตร มี่การสลายตัวอย่างช้าๆทำให้กรดอินทรีย์ถูกปล่อยออกมาสะสมอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ดินชนิดนี้จะมีปริมาณดินเหนียวต่ำ และมีปริมาณธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่จำเป็นต่อพืชอยู่น้อยดินชนิดนี้ที่พบในบริเวณที่ราบลุ่มตามชายทะเลจะมีดินเปรี้ยวจัดแฝงอยู่ในชั้นล่างของดิน ถ้ามีการระบายน้ำออกจากพื้นที่บริเวณพื้นที่พรุจนถึงระดับของดินเปรี้ยวจัดแฝงอยู่จะก่อให้ปัญหาใหม่ตามมาคือจะเกิดเป็นดินกรดกำมะถันขึ้น ทำให้มีปัญหาซ้ำซ้อนทั้งดินเปรี้ยวจัดและดินอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
ดินกรด หรือดินกรดธรรมดา
ดินกรดหรือดินกระธรรมดา เป็นดินเก่าแก่อายุมากซึ่งพบได้โดยทั่วไป ดินกรดเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เขตร้อนชื้นมีฝนตกชุก ดินที่ผ่านกระบวนการชะล้างหรือดินที่ถูกใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเนื่องจากดินเหนียวและอินทรีย์วันถุถูกชะล้างไปด้วยมีผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์โดยทั่วๆ ไปของดินต่ำจนถึงต่ำมาก นอกจากนี้ดินยังมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำอีกด้วย
กระบวนการเกิดดินเปรี้ยวจัด
กระบวนการเกิดดินเปรี้ยวจัด ประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญคือกระบวนการเกิดวัตถุต้นกำเนิดดินเปรี้ยวจัดหรือเรียกว่ากระบวนการสร้างดินทางธรณีวิทยา (geogenetic process) และกระบวนการเกิดชั้นดินเปรี้ยวจัดหรือเรียกว่า กระบวนการสร้างดินทางปฐพีวิทยา (pedogenetic process) ซึ่งกระบวนการเกิดวัตถุต้นกำเนิดดินเปรี้ยวจัดจะเกี่ยวข้องกับการเกิดสารประกอบไพไรท์ (pyrite) หรือสารประกอบซัลไฟด์ แต่กระบวนการเกิดชั้นดินเปรี้ยวจัดจะเกี่ยวข้องกับการออกซิไดซ์สารไพไรท์แล้วเกิดเป็นสารประกอบของกรดกำมะถัน
โครงการแกล้งดิน เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ดำเนินการทดลองเร่งดินเปรี้ยวให้เป็นกรดจัด โดยวิธีการที่ทรงเรียกว่า “แกล้งดิน” การเร่งให้ดินเป็นกรดจัดนี้ เริ่มจากการทำให้ดินแห้งสลับเปียก เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของสารประกอบไพไรท์ในชั้นดินเลนกับออกซิเจนในอากาศ ปฏิกิริยาดังกล่าวจะส่งผลให้ดินปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดรุนแรงถึงระดับที่พืชไม่เจริญเติบโตและไม่ให้ผลผลิต การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด มีหลักการสำคัญ ๔ ประการคือ
นอกจากโครงการแกล้งดินแล้ว ในการฟื้นฟูพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดในโครงการพิกุลทองยังมีการวิจัยเพื่อเลือกพันธุ์ไม้สำหรับใช้ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในดินอินทรีย์ และการศึกษาการใช้ประโยชน์จากกากปาล์มน้ำมันเป็นอาหารเลี้ยงไก่พื้นเมืองอีกด้วย
จากผลการดำเนินการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดดังกล่าว การพัฒนาดินเปรี้ยวจึงประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังที่มีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินบ้านโคกอิฐ-โคกใน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตอนหนึ่งว่า “เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำแต่ว่าเขาได้เพียง ๕-๑๐ ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง ๔๐-๕๐ ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินก็จะไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไรๆทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น ..อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้ แล้วชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าวเดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้”
การขยายผลในกรณีการแก้ไขดินเปรี้ยวที่ทดลองได้ผลในเขตพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯโดยการใช้น้ำจืดชะล้างกรดออกจากดินนั้น แสดงว่าน้ำจืดสามารถช่วยปรับปรุงฟื้นฟูดินให้มีคุณภาพดีขึ้นจนใช้ปลูกข้าวได้ สมควรขยายผลนำไปแนะนำเกษตรกร หรือทำการปรับปรุงแก้ไขดินเปรี้ยวในท้องที่ซึ่งมีน้ำจืดในพื้นที่ใกล้เคียง หรือในเขตจังหวัดต่าง ๆ ต่อไป โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครนายก ทรงมีรับสั่งว่า “ที่เราทดลองที่นี่ จะไปเป็นประโยชน์สำหรับที่อื่น อย่างที่จังหวัดนครนายก ที่เราต้องการให้นครนายกเขามีน้ำ เดี๋ยวนี้นครนายกแห้งแล้งแล้วก็เปรี้ยว ก็เมื่อเปรี้ยวแล้วเอาปูนมาใส่ก็ยังไม่ดี ที่เราศึกษานี่จะเป็นประโยชน์จะเป็นเหตุผลที่จะต้องทำโครงการ โครงการจัดน้ำมาลงที่นครนายก แล้วก็รวมทั้งทุ่งรังสิตทั้งหมด เพื่อที่จะให้มีการเพาะปลูกต่อเนื่อง จะมีการเพาะปลูกอยู่เรื่อย ดินเปรี้ยวจะหายเปรี้ยว ไม่ใช่เอะอะก็เอาปูนเข้ามาใส่อย่างที่บริษัทเขาเอาปูนมาให้เราเมื่อ ๒ ปี ๓ ปี ใช้เฉพาะปูนไม่มีประโยชน์ ก็ต้องศึกษา อันนี้ก็จะไปช่วยนครนายกได้ แต่นครนายกต้องหาน้ำใส่”
การพัฒนาดินเค็ม
ในด้านการพัฒนาดินเค็มนั้น มีพระราชดำริให้จัดการเป็นระบบที่ประสมประสาน ทั้งพืช ดิน และ การจัดการน้ำอย่างเหมาะสม อาศัยแนวทางที่ทรงวางไว้เรื่องการวินิจฉัยสาเหตุของปัญหา ขั้นตอนของการแก้ไข และการใช้เทคนิควิธีที่เหมาะสม โครงการพัฒนาดินเค็มจึงดำเนินการโดยพิจารณาธรรมชาติและระดับความเค็มของดิน และเน้นการแก้ไขโดยการล้างดินแบบธรรมชาติในเขตดินเค็มต่ำและปานกลาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร แล้วคัดเลือกพืชเศรษฐกิจที่ทนต่อความเค็มมาปลูก สำหรับการบำรุงดินก็ส่งเสริมการใช้วัสดุอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมัก เป็นแหล่งธาตุอาหารพืช เนื่องจากต้นทุนต่ำและเป็นการพัฒนาดินเค็มที่มีประสิทธิภาพ
พระราชดำริเรื่องการปลูกไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วในพื้นที่ว่างเปล่า นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ดินและ เป็นแหล่งเชื้อเพลิงของราษฎรแล้ว ไม้ยืนต้นยังช่วยลดการกระจายและขยายขอบเขตของดินเค็มได้อย่างดียิ่ง และมีลักษณะของการป้องกันที่ยั่งยืน เนื่องจากไม้ยืนต้นช่วยลดระดับน้ำใต้ดิน มีร่มเงาปกคลุมผิวดิน น้ำจึงระเหยน้อย ทำให้การสะสมเกลือบนผิวดินน้อยลง และเพิ่มพูนอินทรียวัตถุในดินด้วย
การปรับปรุงดินตื้น
ดินตื้นในที่นี้ หมายถึง ดินลูกรัง หรือเศษหิน ซึ่งจะพบมากในระดับความลึกไม่เกิน ๕๐ เซ็นติเมตร จากผิวดินในการแก้ปัญหาดินดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาหาต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพเช่นนั้น มาปลูกตามรอยแตกของหิน เมื่อต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ก็จะทำให้บริเวณนั้นมีอินทรียวัตถุที่เกิดจากซากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกัน ในไม่ช้าหินก็จะค่อย ๆ ปรับสภาพกลายเป็นดินต่อไป การปลูกต้นไม้ดังกล่าวจะช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำตามซอกหินและชลอการไหลของน้ำจากภูเขาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สำหรับดินลูกรังได้ทอดพระเนตรสภาพดินลูกรัง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะในเขตจังหวัดสกลนครมีอยู่ถึง ๑.๖ ล้านไร่ จึงควรพิจารณาแก้ไขปัญหาดินลูกรังโดยเร็วโดยพิจารณาดำเนินการนำเครื่องจักร เครื่องมือ มากระทุ้งดินลูกรังแล้วนำดินชั้นล่างมาผสมกับดินลูกรังข้างบน เชื่อว่า ภายใน ๒ ปี สามารถปลูกพืชได้ โดยเฉพาะต้นกระถินสามารถขึ้นได้รวดเร็วมาก ก็น่าจะทดลองดำเนินการดังตัวอย่างที่ เขาชะงุ้ม ซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง ดินเป็นลูกรัง ก็ดำเนินการโดยยืมดินจากฝายป่าไม้ซึ่งมีหน้าดินบนเนิน แบ่งพื้นที่เป็นหลุม ๆ เอาต้นมะม่วงหิมพานต์มาปลูกไว้ เมื่อฝนลงชะหน้าดินบนภูเขาลงมาเป็นแนว ใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ต้นมะม่วงหิมพานต์ก็สามารถขึ้นได้ และที่สำคัญคือในบริเวณที่ไม่ดีไม่เหมาะที่พืชจะขึ้นได้ แต่เราก็สามารถทำให้ปลูกพืชได้ เมื่อชาวบ้านมาดูเห็นทำได้ก็จะนำไปเป็นตัวอย่างและทดลองทำในพื้นที่ของตนต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสถึงโครงการเขาชะงุ้ม เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ว่า “เรื่องต้นไม้ขึ้นเอง มีอีกแห่งหนึ่งที่ท่านทั้งหลายควรจะไปได้เพราะง่าย คือโครงการเขาชะงุ้ม ที่จังหวัดราชบุรี ที่ตรงนั้นใกล้ภูเขาเป็นที่ที่ป่าเสียไป เป็นป่าเสื่อมโทรม ที่เรียกว่าป่าเสื่อมโทรมเพราะมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีชิ้นดี เริ่มทำโครงการนั้นประมาณ ๗ ปี เหมือนกัน ไปดูเมื่อสักสองปี หลังจากทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี ตรงนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านี้สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง”
การปรับปรุงดินทราย
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และการทำมาหากินของเกษตรกรในตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรในท้องที่นั้นได้ร่วมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินประมาณ ๑,๒๒๗ ไร่ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัชฌาสัย แต่ความที่พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของราษฎรในบริเวณนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงทราบว่า ดินทรายมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และง่ายต่อการชะล้างพังทลายหากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ดังนั้น จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนเพิ่มขึ้นอีกศูนย์หนึ่ง หน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรดินตามแนวพระราชดำริของศูนย์นี้คือ ให้ศึกษาหาวิธีการพัฒนาที่ดิน หรือปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ และฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อให้เกษตรกรในภูมิภาคนี้เอาไปใช้ในไร่นาของตนเอง ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมขึ้น โดยการพัฒนาที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำตลอดจนฟื้นฟูสภาพป่า และใช้หลักวิชาการเกษตรในการวางแผนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์”
ที่มา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ป้ายคำ : แกล้งดิน