ปลาดุกในบ่อพลาสติก

9 มกราคม 2559 สัตว์ 0

ปลาดุกเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด น้ำที่ค่อนข้างกร่อย หรือแม้แต่ในหนองน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อย เพราะว่าปลาดุกเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับปลาช่อน จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนเพียงเล็กน้อย ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยนิยมรับประทาน ปลาดุกจะพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบปลาดุกในคลอง หนอง บึง ต่างๆ ทั่วทุกภาค เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ปลาดุกที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกัน แต่ที่เป็นที่รู้จักมีเพียง 2 ชนิด คือปลาดุกอุย และปลาดุกด้าน ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงคือ ปลาดุกด้าน เพราะเนื้อปลาดุกด้านค่อนข้างแข็ง ทำให้สามารถขนส่งได้ในระยะทางไกลๆ ประกอบกับปลาดุกด้านเลี้ยงง่าย โตเร็ว จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว จะนิยมปลาดุกอุย เพราะให้รสชาติดี เนื้อปลานุ่ม ฟู กลิ่นดี

pladookbopa

ประมาณปลายปี พ.ศ. 2530 เกษตรกรได้นำพันธุ์ปลาดุกชนิดหนึ่งจากประเทศลาวเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งกรมประมงได้ให้ชื่อว่าปลาดุกเทศ (ปลาดุกยักษ์ หรือ ปลาดุกรัสเซีย) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่มีการเจริญเติบใตรวดเร็วมาก สามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด มีความต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมสูงเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ แต่ปลาดุกชนิดนี้มีเนื้อเหลว และมีสีซีดขาว ไม่น่ารับประทาน ต่อมานักวิชาการไทยได้ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุก อุยเพศเมีย และปลาดุกยักษ์เพศผู้ ได้ปลาลูกผสมเรียกว่า ดุกอุยเทศ หรือ บิ๊กอุย ซึ่งผลที่ได้นั้นบิ๊กอุยเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกร เนื่องจากเลี้ยงง่าย มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว อีกทั้งทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าปลาดุกชนิดอื่น ทั้งยังเป็นที่นิยมบริโภคของประชาชน เนื่องจากมีรสชาติดีและราคาถูก ทำให้ปัจจุบันปลาดุกบิ๊กอุยได้รับการนิยมและเข้ามาแทนที่ตลาดปลาดุกด้านไป โดยปริยาย

pladookbopaspag

ขั้นตอนการเลี้ยง

การเลือกสถานที่สร้างบ่อ

  • อยู่ใกล้บ้าน
  • อยู่ที่ร่มหรือมีหลังคา
  • มีแหล่งน้ำสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวก

การจัดเตรียมบ่อ
ขุดบ่อขนาดกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร ก้น 1 เมตร จัดทำขอบบ่อให้มีระดับเดียวกัน ปูผ้าพลาสติกสีดำกันน้ำซึม

pladookbopasbo

การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาครั้งแรก ใส่น้ำลงในบ่อพลาสติกประมาณ 70 ลูกบาศก์เมตร และน้ำ EM จำนวน 40 CC พร้อมน้ำเปล่า 30 ลิตร ผสมกากน้ำตาล 40 CC หมักไว้ 1 อาทิตย์ แต่ต้องใช้ให้หมดภายใน 15 วัน โดยน้ำ EM ขยายใช้แล้ว จำนวน 8 ลิตร ใส่ลงไปในบ่อพลาสติกทิ้งเอาไว้ประมาณ 4-5 วัน แล้วนำปลามาปล่อยในบ่อที่เตรียมไว้ โดยอัตราการเลี้ยง 1 บ่อ เลี้ยงปลาได้ 1,000 ตัว การใช้ EM ขยาย ใช้ 2 ลิตร/สัปดาห์ เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำตลอดจนถึงจับจำหน่าย

การเตรียมน้ำ

  • น้ำบาดาล น้ำบ่อ น้ำในแหล่งน้ำลำคลองสามารถใช้เลี้ยงปลาได้
  • น้ำประปาต้องทิ้งน้ำไว้ 3 วัน ก่อนถึงจะนำมาเลี้ยงปลาได้

pladookbopasbop

การปรับสภาพน้ำในบ่อปลา
เปิดน้ำใส่บ่อจนเต็มจากนั้นใส่จุลินทรีย์ EM จำนวน 1 ลิตร ผสมกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม และแร่แม๊กนีเซียม จำนวน 3 กิโลกรัม ทิ้งไว้ 5 7 วัน เพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำและลดการเน่าเสียของน้ำ จากนั้นก็ปล่อยปลาลงเลี้ยงได้

การเลี้ยง

  1. ขนาดปลาที่จะนำมาเลี้ยง
    ปลาที่เริ่มเลี้ยงยาวตั้งแต่ 1.5 นิ้วขึ้นไป ไม่ควรนำปลามาเลี้ยงในฤดูหนาวเพราะปลามีความต้านทานต่อโรคต่ำ
  2. อัตราการเลี้ยง
    ปล่อยลูกปลาในอัตรา 50 70 ตัว/ตารางเมตร
  3. การปล่อยปลา
    แช่ถุงลูกปลาไว้ในบ่อเลี้ยง 30 นาที จึงค่อยๆ ปล่อยลงบ่อ

pladookbopaslo pladookbopaspl pladookbopasnams

ช่วงแรกที่ปล่อย ให้เติมน้ำลงบ่อมีความสูงประมาณ 10 ซม.แล้วค่อยเพิ่มระดับน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกๆ อาทิตย์ จนมีระดับสูงสุด 30-50 ซม.

การให้อาหารปลา
เริ่มแรกให้อาหารเม็ดเล็กและบุบพอแตกสำหรับปลาเล็ก อาหารสดพวกเศษเนื้อ สับให้ปลากินได้ ตัวปลวก แมลงเม่าและแมลงอื่น ๆ โปรยให้ปลากิน ให้อาหารเป็นเวลา วันละ 2 มื้อ เช้า – เย็น

pladookbopasah

การถ่ายเทน้ำ
ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อน้ำเริ่มเสีย ไม่ควรถ่ายน้ำออกหมด เหลือน้ำเก่าไว้ 2/3 เปลี่ยนถ่ายน้ำหลังให้อาหารแล้วไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง น้ำที่ถ่ายออกสามารถนำไปรดพืชผักได้

การเลี้ยงใช้เวลาในการเลี้ยงปลาประมาณ 3 เดือน (1 ปีเลี้ยงได้ 3 รุ่น) ยกเว้นช่วงฤดูหนาว เนื่องจากปลาไม่เจริญเติบโตและเกิดโรคระบาดได้ง่าย ทำในช่วงฤดูดังกล่าวถือว่าเป็นการตากบ่อทิ้งไว้สำหรับการเลี้ยงปลากรุ่นต่อไป การให้อาหารปลา การเลี้ยงปลา 1 รุ่น ใช้เวลา 3 เดือน อาหารเสริม (ไส้ไก่ ไก่บด) ให้อาหารสำเร็จรูปโปรตีน 2 กระสอบ โดยให้วันละ 2.5 กก./1 มื้อ/ 1,000 ตัว
ปลาดุกที่เลี้ยงใช้ พันธุ์บิ๊กอุย ขนาดยาว 5 7 ซม. จำนวน 1,000 2,0000 ตัว เลี้ยงประมาณ 2 3 เดือน ก็สามารถจับบริโภคได้

pladookbopasnam

วิธีป้องกันและกำจัดโรค

  1. ควรใช้ EM ขยาย จำนวน 2 ลิตร/สัปดาห์
  2. ชื้อพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าเป็นปลาแข็งแรง และปราศจากโรค
  3. หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอถ้าเห็นอาการผิดปกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
  4. อย่าให้อาหารจนเหลือ หรือมากเกินไป

การทำอาหารปลาดุก
ส่วนผสม

  1. รำละเอียด 2 กระสอบปุ๋ย
  2. กากมะพร้าว 1 กระสอบปุ๋ย
  3. ปลาป่น 6 กิโลกรัม
  4. กากถั่วเหลือง 6 กิโลกรัม
  5. จุลินทรีย์ EM 1 ลิตร
  6. กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  7. น้ำมันพืช 1 2 ลิตร

วิธีทำ

  1. นำส่วนผสมข้อ 1 จำนวน 1 กระสอบ ข้อ 2,3,4 คลุกให้เข้ากัน
  2. นำส่วนผสม ข้อ 5,6 ผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อคลุกเคล้าส่วนผสม ข้อ 1 หมักไว้ 12 ชั่วโมง
  3. นำส่วนผสมที่หมักไว้ในข้อ 1,2 ผสมกับรำละเอียด 1 กระสอบและน้ำมันพืช 1 2 ลิตรคลุกเคล้านำเข้าเครื่องอัดเม็ดผึ่งแดด 2 วัน เก็บไว้ได้ 2 เดือน

เกร็ดความรู้

  1. การซื้อพันธุ์ปลาก่อนการเคลื่อนย้ายให้ปลาอดอาหาร 1 2 วัน เพื่อป้องกันปลาดิ้นและทำให้ปลาไส้ขาดเวลาเลี้ยงปลาจะไม่โต
  2. การเคลื่อนย้ายปลาให้เตรียม น้ำมันพืช 30 ซีซี : เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันตักใส่ในถุงหรือที่มีพันธุ์ปลา อยู่ประมาณ 1 ช้อนชา เพื่อป้องกันปลาบาดเจ็บ
  3. การป้องกันปลาหนีจากบ่อเวลาฝนตก ใช่วิธีหากมีฝนตกให้หว่านอาหารให้ปลากิน สัก 2 3 ครั้ง เพื่อหลอกว่าเวลาฝนตกจะได้กินอาหารแล้วปลาจะไม่หนี
  4. การเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ดูดน้ำออก 1 ส่วน ใน 3 ส่วน และนำน้ำที่ใส่ใหม่ให้ทำเป็นละอองฝอยโดยใช้สายยางเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่ปลา
  5. การจับปลาเพื่อบริโภคโดยใช้วิธีใช้สายยางฉีดน้ำเหมือนกับฝนตกปลาจะเล่นน้ำจากนั้นใช้สวิงตักปลา ที่เล่นน้ำทันที ปลาจะไม่รู้สึกถึงอันตรายและจะกินอาหารต่อและไม่หนี้

pladookbopaspas

ข้อดีของการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อพลาสติก

  • ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย สามารถเลี้ยงได้ทุกที่
  • ก่อสร้างบ่อเลี้ยงได้ง่าย
  • ระยะเวลาเลี้ยงสั้น
  • เลี้ยงง่าย อดทนต่อสภาพน้ำได้ดี
  • บริโภคเองในครัวเรือน และมีเหลือจำหน่าย

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น