ปลูกป่าในใจคน เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ด้วยความต้องการอยู่รอดของมนุษย์ ทำให้ต้องการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างสื้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อม ไม่รู้จักพอ ปัญหาความไม่สมดุลย์จึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นในการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่า ให้แก่คนเสียก่อน ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า ” เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ ลงในใจของคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากัน ปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง ”
แนวพระราชดำริบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของนักพัฒนาป่าไม้ นอกจากจะทรงเข้มงวดในการดูแลพื้นที่ป่าไม้ส่วนที่ต้องอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นการปลูกฝังการรักป่าอันหมายถึงการปลูกป่าในใจคน
การปลูกป่าต้องปลูกที่ใจคนก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง
ทรงเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับราษฎรให้รู้ถึงประโยชน์ของป่า และการอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน ระยะแรกๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่า จนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าช่วยกันดูแลรักษาป่า ตลอดจนให้รู้จักนำพืชป่ามาบริโภคใช้สอยอย่างเหมาะสม อันเป็นที่มาของการคืนความสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
เมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีผืนป่าไม้ถึง 230 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งนับว่าผืนแผ่นดินไทยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติประเทศหนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นับเนื่องจากกาลเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การละเลยในการให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้ปัจจุบันป่าไม้ในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 20 และนับวันจะลดน้อยถอยลงทุกขณะ ปัญหาและข้อวิตกกังวลดังกล่าวอยู่ในความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานับแต่ครั้งทรงพระเยาว์ โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึงแรงบันดาลใจในความสัมพันธ์ระหว่างป่า น้ำ ดิน ซึ่งเชื่อมโยงส่งผลกระทบต่อกันว่า
….อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดินแล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่าไม้ มิฉะนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ ดิน และเป็นหลักการของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินภูเขาจะหมด ไปกระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้น้ำท่วมนี่นะ เรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ….
ทรงเห็นความสำคัญของปัญหาป่าเสื่อมโทรมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่น ๆ ตามมาไม่เฉพาะแต่ปัญหาเรื่องดิน เรื่องน้ำเท่านั้น หากโยงใยถึงปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรม ระบบนิเวศของการอยู่ร่วมระหว่างต้นไม้ สัตว์ป่า และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่ามิได้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างโดด ๆ หากแต่รวมเอางานพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดเข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างสอดประสานสัมพันธ์กัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้มาตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกภูมิภาค นอกจากจะทรงเห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างทั่วถึงแล้ว พระองค์ยังทรงได้เห็นสภาพป่าไม้ที่ทรุดโทรมและถูกทำลายในที่ต่าง ๆ มากมายจึง ทรงมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางน้ำ ดิน และป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และสามารถพึ่งพาตนเองได้
จากพระราชดำริด้านการป่าไม้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริหลากหลายโครงการที่ดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทั้งที่เป็นโครงการส่วนพระองค์ โครงการพระราชดำริป่าและดิน อาทิ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิง เทรา โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา ภูพาน จ.สกลนคร โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนจ.จันทบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียง ใหม่ และ โครงการที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในโอกาส ต่าง ๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในเรื่องของการปลูกป่าว่า ในการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คืนมาจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดัง พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า …ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อนแล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง….
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกเล่าขยายความว่า การปลูกป่าและการฟื้นคืนชีวิตให้ป่าไม่ได้เป็นเรื่องที่สายเกินแก้ เห็นตัวอย่างได้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 25 ปีก่อนที่สามารถแปลงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นป่าอย่างสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ทุกวันนี้
เริ่มต้นจากการทำเรื่องน้ำ โดยทำฝายชะลอน้ำจำนวนมากเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนดิน โดยป่าที่อยู่ส่วนบนสุดเป็นป่าอนุรักษ์เพื่อเก็บกักน้ำในส่วนแรกเป็นเสมือนอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติเก็บน้ำจากฝนที่ตกลงมา ก่อนที่จะมาสู่พื้นที่ตรงกลางมีการทำอ่างเก็บน้ำเพื่อรอง รับน้ำเพื่อทำประมง ก่อนจะปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพื่อสู่ระบบเกษตรและส่งน้ำไปเลี้ยงเมืองต่อไป
เมื่อเริ่มต้นจากการดูแลเรื่องแหล่งน้ำทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น ในเวลาต่อมาเมล็ดพันธุ์ที่ยังคงอยู่ตามธรรมชาติก็กลายมาเป็นป่าและสามารถฟื้นชีวิตระบบนิเวศได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน นั่นคือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำเพื่อพวกเรา ดังนั้นการปลูกต้นไม้นอกจากจะเป็นการฟอกอากาศให้ความรู้สึกกตัญญูต่อแผ่นดิน ยังเป็นการทำในสิ่งที่ดีถวายพระองค์ท่านโดยตรง
ทุกวันนี้สิ่งที่มนุษย์บริโภคกับสิ่งที่ธรรมชาติสามารถคืนกลับมาได้อยู่ในสัดส่วน 3 ต่อ 1 อนาคตไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไป การช่วยกันปลูกต้นไม้นอกจากจะเป็นการทำประโยชน์ให้แผ่นดินยังเป็นการต่อชีวิต พวกท่านเอง เพราะถ้าไม่ทำอะไรสุดท้ายมนุษย์จะฆ่ากันเพื่อแย่งทรัพยากร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า ถ้าจะปลูกต้นไม้ต้องปลูกต้นไม้ในใจคนให้ได้ คำว่าปลูกต้นไม้ในใจคน หมายถึง ประการแรก ต้องเข้าใจว่าเราปลูกต้นไม้ทำไม ต้องให้เห็นประโยชน์ว่าประโยชน์คืออะไร จำเป็นต่อชีวิตอย่างไร ประการที่สอง ปลูกต้นไม้เป็นการปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดินน้ำลมไฟที่อยู่รอบตัวเรา
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้เกิด โครงการจัดทำหนังสือ ๘๔ พรรณไม้ ถวายในหลวง ขึ้นโดย กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ทั้งนี้เพื่อเป็นสื่อปลูกป่าในใจคน ส่งเสริมปลูกสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยหนังสือเปรียบเสมือนความรู้นำทางสามารถเข้าถึงกลุ่มคนและทุกพื้นที่ รวมทั้งการจัดทำหนังสือครั้งนี้ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบในปี 2554
หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาให้ความรู้เรื่องพรรณไม้ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ ประการหนึ่งในการฟื้นฟูป่า โดยคัดเลือกชนิดพรรณไม้ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หายาก และใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทยจำนวน 84 ชนิดพรรณไม้ สอด คล้องกับพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนม พรรษา 7 รอบในปี 2554 และเพื่อให้ประชาชนในแต่ละภูมิ ภาคได้รู้จักพรรณไม้ที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคของตนเอง สามารถทำการปลูก ดูแลได้อย่างถูกต้องและเกิดความภาคภูมิใจในพรรณไม้พื้นถิ่นของตนเองที่ควรแก่การอนุรักษ์
เนื้อหาพันธุ์ไม้หายากครั้งนี้แบ่งเป็น 5 ภาคได้แก่ พรรณไม้ภาคเหนือ พรรณไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พรรณไม้ภาคตะวันออก พรรณไม้ภาคตะวันตก และพรรณไม้ภาคกลาง พรรณไม้ภาคใต้ โดยมี ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพรรณไม้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นที่ปรึกษาและดูแลเนื้อหาการจัดพิมพ์ซึ่งส่วนหนึ่งจากการศึกษาทำงาน ดร.ปิยะเล่าว่า กว่าจะเข้าไปค้นหาต้นไม้ ดอกไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์มีความยากลำบาก เนื่องจากบางพื้นที่เป็นภูเขาหินปูนต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าลึกและจากการศึกษาและสำรวจมาหลายปีทำให้ทราบว่ามีต้นไม้ในเมืองไทยใกล้สูญพันธุ์เป็นจำนวนมากและยิ่งน่าตกใจคือ บางพันธุ์เหลือเพียงต้นเดียวในท้องถิ่นและบางพันธุ์เหลือเพียงต้นเดียวในห้องทดลอง
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง