ปัญญา ปุลิเวคินทร์ แห่งศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

ปัญญา ปุลิเวคินทร์ อดีตผู้จัดการสาขาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เขาหันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือน เริ่มบุกเบิกศูนย์แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2548

เขาทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันมีคนสนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรธรรมชาติจำนวนมาก เขากลายเป็นวิทยากรที่ทำงานไม่มีวันหยุด

แม้จะเรียนจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และไม่เคยสอนหนังสือ แต่ใครๆ ก็เรียกเขาว่า “อาจารย์” เพราะภูมิความรู้เรื่องการเกษตรและองค์ความรู้ในการพึ่งตัวเองทุกรูปแบบ จึงได้รับการยอมรับในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน

เขาเริ่มสร้างศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติด้วยการลงมือทำให้ดู เขาและลูกน้องใช้เวลาห่มดิน เพื่อทำให้ผืนดินตรงนั้นกลายเป็นดินดีเหมาะในการปลูกพืชหนึ่งปีเต็ม จากนั้นค่อยๆ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และที่สำคัญคือ ลงมือปลูกต้นไม้ ต้นแล้ว ต้นเล่า ณ วันนี้สถานที่แห่งนี้มีต้นไม้กว่า 228 ชนิด จำนวนกว่า 2,100 ต้น เขาบอกว่า อีก 20 ปีข้างหน้า ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้จะมีมูลค่า 21 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ เขาสนุกกับการทำงาน และมีโครงการอีกมากมายที่เขาอยากสร้างสรรค์ โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง และเขามองการณ์ไกลถึงเรื่องภัยพิบัติในประเทศนี้ ถึงเวลาต้องเตรียมการแล้ว

ความรู้ที่แจกจ่ายไปด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ ทำให้ ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ได้รับการขานนามว่า อาจารย์ จากผู้คนทั่วสารทิศ

ในวัยย่าง 54 อาจารย์ปัญญาคงยังเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้เรื่องการพึ่งพาตนเอง หากคราวนี้เขาไม่ได้ให้แค่ความรู้ เขาให้ความศรัทธา ที่พสกนิกรชาวไทยถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อยากพูดให้คนศรัทธาในหลวง คำสั้นๆ แต่หนักแน่น

ทุกวันสุดท้ายของการอบรมเกษตรกรที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ อาจารย์ปัญญาจะถามผู้เข้าร่วมว่าพวกเขาจะทำความดีเพื่อในหลวงได้หรือไม่ แล้วคำว่า ได้ ก็ก้องกังวานออกมาจากน้ำเสียงคนนับร้อย

อาจารย์ปัญญาเริ่มเดินตามเส้นทางในหลวงมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่จะตัดสินใจเดินออกจากงานสายหลัก อาชีพที่มั่นคง มุ่งหน้าสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ก่อนหน้านี้เขาคิดว่าตัวเองแน่ เก่ง จบถึงปริญญาโท แต่เมื่อเขาตัดสินใจไม่รับเงินเดือนประจำ เขากลับพบว่าตัวเขาเองไม่มีความรู้อะไรที่จะเลี้ยงชีพได้เลย

เขาได้พบกับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้กับนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อนที่จะออกไปทำงานกับชาวบ้านในปีหนึ่งว่า ท่านอย่าคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเป็นครู ชาวบ้านต่างหากล่ะที่เขาเป็นครู เขามีความรู้ถึงได้ครองตนอยู่มาได้เป็นร้อยปี ดังนั้นพวกท่านต้องไปเรียนรู้กับเขา

หลังจากนั้นเขาก็มุ่งมั่นศึกษาแนวคิดของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง เพราะเขามุ่งมั่นแล้วว่าแบบอย่างจากพ่อหลวงเป็นหนทางนำตัวเองไปสู่การเกิดใหม่อีกครั้ง นับแต่นั้นเป็นต้นมาเขาเฝ้าเพียรศึกษาแนวพระราชดำริของในหลวงจนลึกซึ้ง ทั้งเนื้อหากระทั่งซึมลึกลงในหัวใจ

หลังจากนั้นเขาตัดสินใจลาออกจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ทั้งที่การงานกำลังก้าวหน้าทางเกียรติยศ เงินทอง

เขาได้รับการชักชวนจากสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยให้มาเป็นผู้ดูแลและถ่ายทอดแนวคิดยัง ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งเป็นศูนย์แสดงแนวคิดพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทางสมาคมฯ จัดสร้างขึ้นเพื่อถวายให้กับพระองค์ท่าน

ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าศูนย์ มีเจ้าหน้าที่ช่วยงานมากมายขนาดนี้ อาจารย์ปัญญาเคยใช้ชีวิตในศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้เพียงคนเดียว ทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่การเป็นหัวหน้าศูนย์ วิทยากร กระทั้งภารโรงเก็บกวาดขยะ ทำความสะอาดห้องน้ำ
อาจารย์ปัญญาเป็นคนรักงานในแปลง ทุกวันนี้เขายังทำหน้าที่ภารโรงเช่นเดิม เช้าๆ ตื่นมาตัดใบหญ้าแฝก พืชในพระราชดำริที่พระองค์ท่านเรียกว่า กำแพงที่มีชีวิต ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ตัดต้นปอเทืองซึ่งเป็นพืชบำรุงดิน รดน้ำต้นไม้ ห่มฟางเพิ่มความอบอุ่นแก่พืชผักตามหลักแนวคิดในหลวงที่ว่า เราต้องไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน ให้ห่มดิน แล้วดินจะดี ทดลองความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มา เช่น เอาผักไปปลูกบนต้นกล้วยที่ตัดเครือออกแล้ว ปรับปรุงผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฯลฯ

ถ้าไม่มีธุระต้องออกไปข้างนอกหรือเป็นวิทยากร เราก็จะเห็นอาจารย์ปัญญาขลุกอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า

ติดเรื่องต้นไม้จากพ่อ พ่อชอบปลูกต้นไม้มาก พอว่างก็ปลูก เห็นมาตั้งแต่เด็ก การได้สัมผัสต้นไม้ ก้อนดิน หินและทราย จึงเป็นความสุขอย่างยิ่งยวดของอาจารย์ปัญญา

เขาใช้เวลาทั้งวันง่วนกับการงาน เพราะคิดว่าการออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือการทำงานนั่นเอง และเมื่ออาทิตย์อัสดงก็เป็นเวลาแห่งการพักผ่อน อาจารย์ปัญญาจะนอนพักเต็มที่ในช่วงเวลากลางวันเพื่อตื่นเช้าขึ้นมารับความสดใสแห่งแสงอรุณและการงานที่เขาหลงใหล ใฝ่ฝัน

คนเราทำในสิ่งที่ตัวเองชอบก็มีความสุขแล้ว

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น