ผักตบไทย ผักดั้งเดิมที่ถูกลืม

23 กันยายน 2556 ไม้น้ำ 0

ผักตบไทย ชอบอยู่บริเวณน้ำต้น ลองปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้สมุนไพร และอาหาร มีประโยชน์มากกว่าโทษ

ชื่อสามัญ : Monochoria arrowleaf falsepickerelweed
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria hastata (L.) Solms
วงศ์ : Pontederiaceae
ชื่ออื่นๆ : ผักตบ ผักสิ้น (สงขลา)

ในอดีตประเทศไทยมีพื้นที่ชื้นแฉะตลอดปีเหมาะแก่การเจริญเติบโตของผักตบอยู่มาก จึงพบผักตบขึ้นอยู่ทั่วไป ชาวไทยนำผักตบมากินเป็นผักสามัญชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเก็บมากินได้ตลอดปี ส่วนของผักตบที่นำมาใช้เป็นผักก็คือก้านใบ ใบอ่อน และช่อดอก โดยใช้กินได้ทั้งสุกและดิบ แกงส้มผักตบเป็นแกงส้มที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่งของชาวไทยภาคกลางในอดีต ผักตบจึงเป็นผักประจำครัวของชาวไทยภาคกลางอีกอย่างหนึ่ง มีคำโต้ตอบของหนุ่มสาวชาวไทยภาคกลางในอดีตที่แสดงถึงความนิยมผักตบ นั่นคือ ชาวหนุ่มมัก จะถือโอกาสเมื่อมีงานบุญ (เช่นงานบวช) ที่มีการระดมสาว ๆ มาช่วยทำครัว เจ้าหนุ่มจะเข้าไปเมืองมองข้าง ๆ ครัวแล้วเอ่ยถามสาว ๆ ที่กำลังทำครัวอยู่ว่า มี( หัว )หอมบ้างมั้ย ขอหอมบ้างสิ เป็นการดูท่าทีของสาว ๆ หากสาวไม่พอใจก็จะตอบว่า ปอมไม่มีหรอก มีแต่ผักตบจะเอามั้ย ทั้งนี้เพราะทั้งหอมและตบมีความหมายสองอย่าง คือเป็นทั้งคำนาม ( ผัก )และกิริยา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ต้น เป็นไม้น้ำอายุหลายปีมีลักษณะเป็นกอมีลำต้นใต้ดิน ชูก้านใบขึ้นเหนือระดับน้ำ ลักษณะก้านใบ กลมสีเขียวยาวและอวบน้ำ สูง 14-20 ซม. ภายในลำต้นมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ช่วงโคนจะเป็นกาบช่วงกลางลำต้นถึงใบจะมีลักษณะกลม ขนาดเล็กยาว 15-20 ซม.
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจหรือคล้ายหัวลูกศร ใบสีเขียวผิวเรียบปลายใบแหลม ฐานใบเว้าเข้าหากัน เส้นใบขนานกันและไม่ชัดเจน ใบกว้าง 1-2 ซม. ยาว 4.5-8 ซม.
  • ดอก เป็นช่อแทงออกจากรากปลายสุด ดอกเป็นกระจุกรวมกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็กกลีบดอกสีม่วง แต่ละช่อมีดอกย่อย 21-26 ดอก ออกดอกตลอดปี
  • เหง้า( ลำต้นใต้ดิน )ของผักตบ ฝังอยู่ในโคลนเลน ใบและดอกโผล่พ้นโคลนและน้ำขึ้นมาในอากาศ ก้านใบยาวประมาณ 80-90 เซนติเมตร ใบรูปหัวใจปลายเรียวแหลม มีหูใบแหลม ดอกเกิดเป็นช่อกระจุก โผล่ออกมาตรงก้านใบ มีกลีบเลี้ยงหุ้มช่อดอกเอาไว้ ดอกมีสีน้ำเงินอมม่วง นับว่าเป็นสีงดงามเป็นที่ชื่นชมของคนไทยในอดีต

pagtopdok

ประโยชน์ทางยา
ผักตบไทย สรรพคุณ ขับพิษร้อน ขับปัสสาวะ หรือใช้ผสมกับผักกระเฉด ตำคั้นเอาน้ำรับประทานแก้พิษเบื่อเมา

ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่เป็นผัก/ฤดูกาล ต้นอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของผักตบไทยเป็นผักออกในช่วงฤดูฝน ผักตบไทยสดจะนิ่มกรอบ รับประทานสดร่วมกับน้ำพริก น้ำพริกปลา ส้มตำ และยอดอ่อน ดอกอ่อนนำไปปรุงเป็นแกงส้ม แกงเลียง ผัดก็ได้
การปรุงอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ต้นอ่อน ก้านดอก ใช้รับประทานสดหรือนำมาต้มให้สุก รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก ส้มตำ ยอดอ่อน ดอกอ่อน ก้านดอก นำไปปรุงเป็น แกงส้ม แกงเลียง ผัด

ประโยชน์ต่อสุขภาพ
รสจืด ช่วยขับพิษร้อน ขับปัสสาวะกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีรายงานว่าผักสิ้น (จ. สงขลา) 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 9 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย

  • เส้นใย 0.7 กรัม
  • แคลเซียม 31 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน 1,961 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 324 ไมโครกรัมของเรตินนอล
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.01 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.30 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 3.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 5 มิลลิกรัม

ประโยชน์ด้านอื่น ๆของผักตบไทย
นอกจากใช้เป็นผักตามชื่อแล้ว ผักตบไทยยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายประการ เช่น ด้านสมุนไพร หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย บรรยายคุณสมบัติทางยาของผักตบไทยเอาไว้ว่า รสเย็น ใช้ทาหรือพอก ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน ในเกาะเซลีเบส ของอินโดนีเซีย นำเหง้าผักตบมาตำรวมกับถ่านไม้ ใช้พอกแก้ขี้รังแคบนศีรษะ ในเกาะเซลีเบสยังใช้ต้น( เหง้า ) และใบผักตบมาต้มเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยนำผักตบชวามาเลี้ยงหมู ในอดีตเมื่อผักตบยังหาได้ง่ายนั้น (และยังไม่มีผักตบชวา) ชาวไทยก็คงใช้ผักตบเป็นอาหารสัตว์ด้วยเหมือนกัน
เนื่องจากผักตบไทยมีก้านใบแข็งและยาวกว่าผักตบชวา รวมทั้งใบเรียวแหลมงดงามกว่าผักตบชวา เติบโตช้า ดอกมีสีสวยงามเฉพาะตัว จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเรือนได้ เช่นปลูกในกระถางที่ใส่โคลนเลนและขังน้ำได้ เหมือนกระถางปลูกบัวประดับที่นิยมกันในปัจจุบัน

การขยายพันธุ์ :

  • แยกต้นอ่อนไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ
  • เพาะเมล็ด

การป้องกันและกำจัด :
ผักตบไทย มีการแพร่กระจายในแหล่งน้ำทั่วไปที่มีน้ำตื่น การแพร่ระบาดจึงมีไม่มากนัก การกำจัดโดยวิธีกลก็เพียงพอแล้ว

การกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามริมหนองน้ำ คลองและบึง ทั่วทุกภาคของประเทศออกดอกตลอดปี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้น้ำ

แสดงความคิดเห็น