ผักปลัง : มีทั้งขาวและแดง

25 มีนาคม 2556 พืชผัก 0

พืชที่คนไทยเรียกผักปลังนั้นมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ผักปลังขาว ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella alba Linn. และผักปลังแดง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella rubra Linn. อยู่ในวงศ์ Basellaceae จะเห็นได้ ว่าทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดงต่างก็อยู่ในวงศ์และสกุล(Genus)เดียวกัน อีกด้วย ดังหัวเรื่องที่ผู้เขียนใช้คำว่า ล้วนเทือกเถาเดียวกัน คำว่า เทือกเถา ตัดเอามาจากสำนวนเต็มคือ เทือกเถาเหล่ากอ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ อธิบายว่า หมายถึง เชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบเนื่องต่อกันมา ทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดงต่างก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยเฉพาะต่างก็มีลักษณะเป็น เถา อีกด้วย
ทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดง มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นและใบอวบน้ำ ขึ้นพาดพันรั้วหรือค้าง ใบรูปร่างคล้ายใบพลูแต่เล็กกว่านิดหน่อย ดอกสีแดงอ่อน ผลติดเป็นช่อ ผลขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกสีม่วงดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Basella alba L., Basella rubra L.
วงศ์ BASELLACEAE
ชื่อสามัญ Ceylon spinach
ชื่อท้องถิ่น ผักปลังใหญ่(ภาคกลาง) ผักปั้ง(ภาคเหนือ) โปแดงฉ้าย(จีน) ผักปลังแดง ผักปลังขาว

ผักปลังพบขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามที่รกร้างว่างเปล่าที่น้ำไม่ท่วม สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักปลังอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียเขตร้อน จึงอาจนับได้ว่าผักปลังเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง
ความแตกต่างระหว่างผักปลังขาวและผักปลังแดงคือ ลำต้นและใบของผักปลังขาวมีสีเขียว ส่วนผักปลังแดงมีลำต้นและใบสีม่วงแดง
ชื่อภาษาอังกฤษของผักปลังคือ Malabar Nightshade และ Ceylon Spinach น่าสังเกตว่า Malabar เป็นชื่อชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และ Ceylon คือชื่อประเทศศรีลังกา แสดงว่า ชาวอังกฤษคงพบเห็นผักปลังครั้งแรกแถบประเทศอินเดีย และเกาะศรีลังกา ที่เป็นเมืองท่าติดต่อกับชาวตะวันตก

pagplungkaw

ส่วนชื่อผักปลังในประเทศไทยนั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้คำว่า ผักปลัง ซึ่งคำว่า ปลัง นั้นไม่มีความหมายอื่น แต่ ในหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น THAI-ENGLISH DICTIONARY ของพระอาจวิทยาคม (George Bradley McFarland) ฉบับ Stanford University Press (1969) หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระ- เชตุพนฯ พระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๐) และหนังสือพืชสมุนไพรของนิจศิริ เรืองรังษี และพยอม ตันติวัฒน์ สำนักพิมพ์โอเดียน สโตร์ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ต่างก็ใช้เขียนว่า ผักปรัง (สะกดด้วย ร.เรือ) ทั้งสิ้น คำว่า ปรัง ในภาษาไทยใช้เรียกนาที่ทำ ในฤดูแล้งว่า นาปรัง เป็นคำนาม มาจากภาษาเขมรว่า ปรัง หมายถึง ฤดูแล้ง อีกความหมายหนึ่งเป็น คำวิเศษณ์แปลว่า เกินเวลา เกินกำหนด เป็นคำไทยแท้

เมื่อพิจารณาจากความหมายแล้ว น่าเป็นไปได้ว่า คำว่า ผัก ปลัง น่าจะเขียนว่า ผักปรัง มากกว่า เพราะน่าจะหมายถึงผัก ฤดูแล้ง (ตามศัพท์เขมร) เพราะผักปลังมีลำต้นอวบน้ำ สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เช่นเดียวกับพืชอวบน้ำอื่นๆ (เช่น หางจระเข้, ป่านศรนารายณ์, พืชตระกูลกระบองเพชร ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขอให้ผู้รู้นำไปพิจารณาก่อน ระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติก็คงต้องใช้ ผักปลัง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ไปก่อนอย่างเป็นทางการ

ชื่อผักปลังที่ใช้เรียกในประเทศไทยมี ผักปลัง ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาค กลาง) และผักปั๋ง (ภาคเหนือ)

ผักปลังในฐานะผัก
ผักปลัง(ขาวและแดง) ผักปลังเป็นผัก ที่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งร่วมกันที่หาได้ยากในผักชนิดอื่นๆ นั่นคือ เป็นผักที่มีเมือก (Mucilage) มากเป็นพิเศษ
ส่วนของผักปลังที่ใช้เป็นผักคือส่วนยอด ใบ และดอกอ่อน ส่วนมากใช้เป็นผักจิ้ม โดยทำให้สุกเสียก่อน นอกจากนี้ยังนิยมนำไปใช้แกงส้มอีกด้วย ผักปลังนับเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงชนิดหนึ่ง เพราะมีธาตุเหล็กและแคลเซียมอยู่สูง นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี อยู่มากด้วย สำหรับเมือกที่มีอยู่ในผักปลังนั้นมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ท้องไม่ผูก

pagplungyod

ผักปลัง เป็นไม้เลื้อย ยาวหลายเมตร แตกกิ่งก้านสาขามากทั้งเถาฉ่ำน้ำ มีสีเขียวหรือม่วงแดงใบเดี่ยวออกสลับกัน มีก้านใบยาว ฐานใบกว้าง ตัวใบกลมรีคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ ๓-๑๒ เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อจากที่ง่ามใบหรือที่ยอด ดอกขนาดเล็กมีกลีบชมพู ผลฉ่ำน้ำขนาดใหญ่กว่าเมล็ดพริกไทย เมื่อผลแก่จะเป็นสีดำ

ผักปลังในฐานะอาหาร
ผักปลังมีส่วนที่นำมาประกอบอาหารได้ทั้งยอดอ่อนและดอก โดยนำมาแกงส้ม ในภาคเหนือจะนำมาแกงใส่แหนม ในภาคอีสานจะนำยอดอ่อนมาต้มทำเป็นเครื่องจิ้มน้ำพริก
รสชาติของผักปลังจะออกหวานนิดหน่อย ผักปลังมีลักษณะเฉพาะคือจะฉ่ำน้ำและจะมียางเป็นเมือกลื่นๆ เวลากินจะรู้สึกลื่นๆ

ใบและยอดอ่อนปรุงเป็นอาหาร ให้แคลเซียม เหล็ก และวิตามินเอ บี ซี เบต้าแคโรทีน เป็นผักที่มีกากมาก ช่วยระบายในคนที่ท้องผูกเป็นประจำ
นอกจากนี้ผลของผักปลังที่สุกจะมีสีม่วงแดงสามารถนำมาใช้แต่งสีขนมเยลลี่ หรืออาหารต่างๆได้

ผักปลัง 100 กรัม ให้พลังงาน 21 กิโลแคลอรี่

  • เส้นใย 0.8 กรัม
  • แคลเซียม 4 มก.
  • ฟอสฟอรัส 50 มก.
  • เหล็ก 1.5 มก.
  • วิตามิน เอ 9316 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มก.
  • วิตามินบีสอง 0.20 มก.
  • ไนอาซิน 1.1 มก.
  • วิตามินซี 26 มก.

ผักปลังเป็นผักที่ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะขัด บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ผื่นแดงคัน แผลสด ฝีเป็นหนอง
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ตำรับยาและวิธีใช้

  1. ท้องผูก ใช้ใบสดปรุงเป็นอาหาร กินเป็นประจำ
  2. ขัดเบา ใช้ต้นสด ๖๐ กรัม ต้มน้ำดื่มต่างน้ำชา
  3. อึดอัดแน่นท้อง ใช้ใบสดหรือยอดอ่อน ๖๐ กรัม ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้นแล้วกิน
  4. ฝีหรือแผลสด ใช้ใบสดตำพอก วันละ๑-๒ ครั้ง
  5. ผื่นแดงหรือแผลไฟไหม้ ใช้น้ำคั้นจากใบสด

ผักปลังแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Basella rubra Linn.
วงศ์ Basellaceae
ชื่ออื่น ผักปลังยอดแดงครั่ง ผักปั๋ง (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้น กลมอวบน้ำ เมื่อขยี้จะเป็นเมือกลื่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1.3 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาได้มากสีม่วงแดงใบ ใบเดี่ยว หนา ขอบใบเรียบติดเรียงแบบสลับ แผ่นใบกว้างอวบน้ำ ขนาดกว้าง1.3-7.2 เซนติเมตร ยาว 2.1-8.3 เซนติเมตร ใบเป็นมัน ไม่มีขน

pagplungdang

  • ดอก มีช่อดอกแบบสไปค์(Spike) ดอกมีขนาดเล็ก มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียรูปทรวงได้สัดส่วนสมดุล กลีบรองมี 5 กลีบ ติดกันที่ฐาน และมีกาบประดับขนาดเล็ก 2 อัน รองรับอยู่กลีบมีสีชมพู หรือม่วงเข้ม มีอายุคงทน กลีบดอกไม่มีเกสรตัวผู้มี 5 อัน ติดที่ฐานของกลีบรองเกสรตัวเมีย มีรังไข่ 1 อัน อยู่เหนือชั้นกลีบดอก(superior) ยอดเกสรแยกเป็น 3 แฉก ผล เป็นแบบดรูป (Drupe)มี 3 พู เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้มเนื้อนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วง ฤดูกาลออกผลระหว่างเดือน มิถุนายน-ตุลาคม
  • เมล็ด รูปไข่แข็งมีอาหารสะสม ต้นอ่อนในม้วน บิดหรือโค้งเป็นวง การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ปักชำลำต้น ยอด

ประโยชน์และสรรพคุณ

  • ต้น : แก้พิษฝีดาษ
  • ใบ : แก้กลาก
  • ดอก : แก้เกลื้อน
  • ราก : แก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้พรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม)
  • ใบและดอกอ่อน รับประทานเป็นผัก ใช้ปรุงอาหาร โดยการนำไปต้ม ลวกนึ่ง ให้สุก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใบ แกงส้ม แกงแค แกงปลา แกงอ่อม ผัดน้ำมัน ผัดกับแหนม ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมรับประทานทางสมุนไพร ชาวเหนือมีความเชื่อว่า ผู้ที่มีคาถาอาคม จะไม่กล้ารับประทานเพราะกลัวคาถาเสื่อม อาจเนื่องมาจากผักปลังเป็นผักที่นำไปใช้กับการคลอดบุตร โดยใช้ลำต้นสดตำให้ละเอียด และคั้นน้ำเมือกเอามาทาช่องคลอด เพื่อให้คลอดง่ายขึ้น และผู้เฒ่าผู้แก่แนะนำให้หญิงมีครรภ์รับประทานด้วย ก้านมีสรรพคุณ แก้พิษฝี แก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ลดไข้ ใบ แก้กลาก บรรเทาอาการผื่นคัน ดอก แก้เกลื้อน ราก สรรพคุณ แก้มือเท้าด่างๆ แก้รังแค ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน รสจืดเย็น ช่วยให้ท้องระบายอ่อน ๆ

ปลูกผักปลัง
ผักปลังเป็นผักพื้นเมืองของภาคเหนือ ซึ่งนิยมรับประทานกันมาก เป็นไม้เลื้อย ลำต้นอวบน้ำ ชอบขึ้น ในสภาพที่ดินร่วนซุย ชุ่มชื้น การระบายน้ำดี สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่รับประทาน คือยอดอ่อน และ ช่อดอกอ่อน โดยนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือทำแกง โดยเฉพาะนิยมแกงกับแหนมหมู จะมีรสชาติอร่อยมาก ที่สำคัญคือผักชนิดนี้ไม่มีโรคแมลง ดังนั้นผักปลังจึงปลอดจากสารเคมี ลุงยมได้ปลูกผักปลังไว้ประมาณครึ่งงาน ในแต่ละวันสามารถเก็บจำหน่ายได้ประมาณ 30 กำ ฤดูกาล

pagplungdok

ผักปลังปลูกได้ตลอดปี แต่ระยะเวลาในการปลูกผักปลังที่เหมาะสม คือ การปลูกผักปลังชุดแรกประมาณเดือนเมษายน จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมกราคม หลังจากนั้นต้นผักปลังจะโทรม ไม่ค่อยแตกยอด จึงทำการรื้อเพื่อปลูกผักปลังชุดใหม่ต่อไป
การเตรียมพันธุ์
เก็บผลแก่ของผักปลังที่ขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อแก่เต็มที่จะมีสีม่วงเข้มเป็นผลทรงกลม ฉ่ำน้ำ ข้างในมีเมล็ดจำนวน 1 เมล็ดต่อผล นำมาตากเมล็ดจนแห้ง
วิธีการปลูกผักปลัง

  1. เตรียมดินโดยการไถพรวน ทำแปลงกว้างประมาณ 1.20 เมตร ยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวตามลักษณะของพื้นที่
  2. ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ในขณะเตรียมดินไร่ละประมาณ 1-2 ตัน
  3. เตรียมหลุม ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตรและระยะระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร
  4. นำเมล็ดของผักปลังที่เตรียมไว้มาลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ปลูกลึกประมาณ 1 เซนติเมตร
  5. ใช้ฟางข้าวหรือเศษหญ้าคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้น
  6. ปักค้างไม้ไผ่ เพื่อให้ลำต้นเลื้อยขึ้น เพราะการทำค้างนอกจากช่วยให้ผักปลังเจริญเติบโตดีแล้ว ยังช่วยทำให้เก็บยอดสะดวก

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ ทำการรดน้ำทุกวันเช้าเย็น เพื่อให้แปลงมีความชื้นพอเหมาะอยู่เสมอ หรือหากมีน้ำเพียงพออาจปล่อยน้ำตามร่องแปลงก็ได้
  2. การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยทุก 15 วัน โดยผสมน้ำในอัตราส่วนปุ๋ยเคมี 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
เมื่อผักปลังมีลำต้นยาวประมาณ 20 เซนติเมตรจะเริ่มเด็ดยอด โดยเวลาที่เหมาะสมคือในตอนเช้ามืด เพราะจะทำให้ได้ผักที่อวบและสด และสามารถเก็บยอดดอกได้ทุกวัน ผักปลังมีคุณสมบัติ คือเมื่อเด็ดยอดจะทำให้แตกยอดมาก เมื่อเก็บแล้วนำมามัดเป็นกำ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น