ผักเป็นอาหารประจำวันของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารให้แร่ธาตุวิตามินที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์จากข้อมูลวิจัยกล่าวว่า มนุษย์เราควรบริโภคผักวันละประมาณ 200 กรัม เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุและวิตามินอย่างเพียงพอ
ผลการวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย ขี้ให้เห็นว่าประชากรของประเทศไทย โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และพวกเด็ก ๆ มักขาดแคลนแร่ธาตุวิตามินกันมาก ประกอบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทำให้มีค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มีการรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองในครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีพืชผักเพียงพอแก่การบริโภคในครัวเรือน ทำให้ได้รับสารอาหารครบตามความต้องการของร่างกายและช่วยลดภาวะค่าครองชีพ
ข้อควรพิจารณาก่อนปลูกผักสวนครัว
การปลูกผักสวนครัวต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
การเลือกทำเลการปลูกผัก
ดินและธาตุอาหารพืช
ดินที่เหมาะสมแก่การปลูกผัก คือ ดินที่มีลักษณะร่วนซุย ถ่ายเทอากาศได้ดี ระบายน้ำดี อุดมด้วยอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช
ประเภทของดินและการจัดการ
ฤดูการปลูก
การปลูกผักควรเลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณภาพดี จึงควรพิจารณาเลือกปลูกผัก ดังนี้
ผักที่ควรปลูกในต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ได้แก่ หอมแบ่ง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า พริกต่าง ๆ มะเขือต่าง ๆ ผักกาดหัว ผักกาดหอม บวบ มะระ ฟักเขียว แฟง แตงกวา ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า ถั่วพู ผักบุ้งจีน กระเจี๊ยบเขียว
ผักที่ควรปลูกปลายฤดูฝน ผักใดที่ปลูกต้นฤดูฝนก็ปลูกไดผลดีในปลายฤดูฝน ยิ่งกว่านั้นยังปลูกผักฤดูหนาวได้อีกด้วย เช่นกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม บร็อดโคลี่ ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ แครอท แรดิช ผักชี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ ข้าวโพดหวาน แตงเทศ แตงโม พริกยักษ์ พริกหยวก ฟักทอง มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย
ผักที่ควรปลูกในฤดูร้อน ได้แก่ ผักที่ทนร้อนได้ดี และทนความแห้งแล้งพอสมควร ถึงแม้ว่าผักเหล่านี้จะทนร้อนและความแห้งแล้งได้แต่ถ้าจะปลูกในฤดูร้อนผักบางอย่างก็ต้องรดน้ำ เช้า – เย็น ต้องพรวนดินแล้วคลุมด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ให้พอ เช่น ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า แฟง ฟักทอง ถั่วพู คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี (ผักกาดหอม และผักชีนั้น ควรทำร่มรำไรให้ด้วย) ผักกาดขาวเล็ก ผักกาดเขียวใหญ่ มะเขือมอญ
ผักและพืชบางอย่างที่ควรปลูกไว้รับประทานตลอดปี ได้แก่ พืชที่ทนทาน ปลูกครั้งเดียวรับประทานได้ตลอดปี เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักตำลึง ผักบุ้งไทย กระชาย ข่า ตะไคร้ บัวบก มะแว้ง มะเขือพวง พริกขี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือต่าง ๆ
วิธีการปลูกผักสวนครัว
1. การปลูกผักในแปลงปลูก มีขั้นตอน คือ
1.1 การพรวนดิน ใช้จอบขุดดินลึกประมาณ 6 นิ้ว เพื่อพรวนดินให้มีโครงสร้างดีขึ้น กำจัดวัชพืชในดินกำจัดไข่แมลงหรือโรคพืชที่อยู่ในดิน โดยการพรวนดินและตากทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน
1.2 การยกแปลง ใช้จอบพรวนยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว จากผิวดิน โดยมีความกว้างประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนตามความเหมาะสม ความยาวของแปลงนั้นควรอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ทั้งนี้เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง
1.3 การปรับปรุงเนื้อดิน เนื้อดินที่ปลูกผักควรเป็นดินร่วนแต่สภาพดินเดิมนั้นอาจจะเป็นดินทรายหรือดินเหนียว จำเป็นต้องปรับปรุงให้เนื้อดินดีขึ้นโดยการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตราประมาณ 2-3 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน
1.4 การกำหนดหลุมปลูก จะกำหนดภายหลังจากเลือกชนิดผักต่าง ๆ แล้วเพราะว่าผักแต่ละชนิดจะใช้ระยะปลูกที่แตกต่างกัน เช่น พริก ควรใช้ระยะ 75 x 5 เซนติเมตร ผักบุ้งจะเป็น 5×5 เซนติเมตร เป็นต้น
2. การปลูกผักในภาชนะ
การปลูกผักในภาชนะควรจะพิจารณาถึงการหยั่งรากของพืชผักชนิดนั้น ๆ พืชผักที่หยั่งรากตื้นสามารถปลูกได้ดีในภาชนะปลูกชนิดต่างๆ และภาชนะชนิดห้อยแขวนที่มีความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร คือ
ผักบุ้งจีน คะน้าจีน ผักกาดกว้างตุ้ง (เขียวและขาว) ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหอม ผักกาดขาวชนิดไม่ห่อ (ขาวเล็ก ขาวใหญ่) ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง หอมแบ่ง (ต้นหอม) ผักชี้ ขึ้นฉ่าย ผักโขมจีน กระเทียมใบ (Leek) กุยช่าย กระเทียมหัว ผักชีฝรั่ง บัวบก สะระแหน่ แมงลัก โหระพา (เพาะเมล็ด) กะเพรา (เพาะเมล็ด) พริกขี้หนู ตะไคร้ ชะพลู หอมแดง หอมหัวใหญ่ หัวผักกาดแดง (แรดิช)
วัสดุที่สามารถนำมาทำเป็นภาชนะปลูกอาจดัดแปลงจากสิ่งที่ใช้แล้ว เช่น ยางรถยนต์เก่า กะละมัง ปลอกซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับภาชนะแขวนอาจใช้ กาบมะพร้าว กระถาง หรือเปลือกไม้
วิธีการปลูกผักในภาชนะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี
2.1 เพาะเมล็ดด้วยการหว่านแล้วถอนแยกหรือหยอดเป็นแถวแล้วถอนแยก ซึ่งพืชควรปลูกด้วยวิธีนี้ ได้แก่
– ผักบุ้งจีน – คะน้าจีน – ผักกาดขาวกวางตุ้ง
– ผักกาดเขียวกวางตุ้ง – ผักฮ่องเต้ (กวางตุ้งได้หวัน)
– ตั้งโอ๋ – ปวยเล้ง – ผักกาดหอม
– ผักโขมจีน – ผักชี – ขึ้นฉ่าย
– โหระพา – กระเทียมใบ – กุยฉ่าย
– หัวผักกาดแดง – กะเพรา – แมงลัก
– ผักชีฝรั่ง – หอมหัวใหญ่
2.2 ปักชำด้วยต้น และด้วยหัว ได้แก่
– หอมแบ่ง (หัว) – ผักชี้ฝรั่ง – กระเทียมหัว (ใช้หัวปลูก)
– หอมแดง (หัว) – บัวบก (ไหล) – ตะไคร้ (ต้น)
– สะระแหน่ (ยอด) – ชะพลู (ต้น) – โหระพา (กิ่งอ่อน)
– กุยช่าย (หัว) – กะเพรา (กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน)
– แมงลัก (กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน)
หมายเหตุ มีบางพืชที่ปลูกด้วยหัว หรือส่วนของต้นก็ได้ปลูกด้วยเมล็ดก็ได้ ดังนั้นจึงมีชื่อผักที่ซ้ำกันทั้งข้อ 1 และ 2
การปฏิบัติดูแลรักษา
การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาดังกล่าว ได้แก่
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวผักควรเก็บในเวลาเช้าจะทำให้ได้ผักสดรสดี และหากยังไม่ได้ใช้ให้ล้างให้สะอาด และนำเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับผักประเภทผล ควรเก็บในขณะที่ผลไม่แก่จัดจะได้ผลที่มีรสดีและจะทำให้ผลดก หากปล่อยให้ผลแก่คาต้น ต่อไปจะออกผลน้อยลง
สำหรับในผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน คะน้า กะหล่ำปี การแบ่งเก็บผักที่สดอ่อนหรือโตได้ขนาดแล้ว โดยยังคงเหลือลำต้นและรากไว้ไม่ถอนออกทั้งต้น รากหรือต้นที่เหลืออยู่จะสามารถงอกงามให้ผลได้อีกหลายครั้ง ทั้งน้ำจะต้องมีการดูแลรักษาให้น้ำและปุ๋ยอยู่ การปลูกพืช หมุนเวียนสลับชนิดหรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน และปลูกผัก ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นบ้างยาวบ้างคละกันในแปลงเดียวกัน หรือปลูกผัก ชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3 – 5 ต้น หรือประมาณว่าพอรับประทานได้ในครอบครัวในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสดเก็บรับประทานได้ทุกวันตลอดปี
เทคนิคการปลูกผลักสวนครัวชนิดต่างๆ
พืชผักสวนครัวรั้วกินได้ 9 ชนิด
กะเพรา ยอดฮิตของการปลูกริมรั้วเพราะขึ้นง่าย สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกประเภท นิยมปลูกตามข้างทาง ริมรั้ว มีกลิ่นหอม ไม้เป็นต้นเตี้ย สามารถปลูกได้ทั้ง กะเพราขาว และ กะเพราแดง มีสรรพคุณมากมายตั้งแต่ ราก ใบ เมล็ด เลยทีเดียว
พริกขี้หนู การปลูกพริกขี้หนูในลักษณะผักสวนครัวนั้นนิยมการหว่านเมล็ดลงในแปลงปลูก ไม่เหมือนกับการปลูกในลักษณะเป็นการค้าที่ต้องมีการเพาะกล้าก่อนแล้วจึงย้ายลงแปลงปลูก การดูแลรักษาพริกนั้นมีเทคนิคที่ควรจำเล็กน้อยคือ พริกเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก ถ้ามีความชื้นสูงไป ควรพรวนดินให้น้ำระเหยออกจากดิน ส่วนในกรณีที่ดินแห้งไป และไม่อาจให้น้ำได้อย่างสม่ำเสมอ ควรใช้วัสดุคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน
คะน้า การปลูกนี้ไม่ต้องขุดลึก เนื่องจากระบบรากของคะน้าไม่ลึกมาก ขุดพลิกดินตากแดดไว้ 7-10 วัน แล้วย่อยพรวนเป็นก้อนเล็กๆ การปลูกคะน้าใช้วิธีหว่านเมล็ดลงในแปลงได้เลย โดยวิธีการหว่านเมล็ดแบ่งออกเป็นสองวิธีคือ การหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งแปลง และวิธีโรยเมล็ดแบบเรียงแถว ซึ่งการเลือกปลูกวิธีใดขึ้นอยู่กับความสะดวกและความถนัด ยกร่องแทนสวนดอกไม้ก็ไม่เลว
มะระ เป็นพืชผักล้มลุกลำต้นเป็นเถา ชอบดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง นับว่าเป็นพืชผักที่อายุสั้น ซึ่งถ้าหากนับจากวันเริ่มปลูกถึงวันเก็บผลผลิตได้ประมาณ 45-55 วันขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก แต่ก่อนที่จะปลูกต้องทำความเข้าใจว่าการปลูกมะระนั้น ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษโดยเฉพาะในเรื่องการดูแลกำจัดแมลง เนื่องจากเมื่อแมลงเข้าทำลาย จะทำให้ผลร่วงหรือแคระแกร็นได้
ตะไคร้ พันธุ์ไม้บ้านไหนไม่มีตะไคร้ ถือว่าเชยมากเพราะมีประโยชน์ในการป้องกันหน้าดินด้วย ปลูกไว้ข้างๆ บ่อกันการกัดเซาะของน้ำได้ดีมากทีเดียวอีกทั้งไม่ต้องมีการดูแลมากแค่เพียงดินมีความชุ่มชื้นก็จะแตกหน่อออกมามากมาย
มะเขือเทศ ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นต้องมีการให้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงเริ่มแก่คือ ผลเริ่มเปลี่ยนสี หลังจากนั้นจึงลดการให้น้ำเพื่อป้องกันผลแตก และการปลูกมะเขือเทศเพื่อรับประทาน ผลสดนั้นนิยมแบบขึ้นค้าง ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียง 1-2 กิ่งต่อต้น เพื่อให้มะเขือเทศที่ได้มีผลใหญ่ การเก็บผลผลิตเริ่มเมื่อมะเขือเทศมีอายุประมาณ 70-90 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์อายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยว ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 4-5 เดือน
ตำลึง โดยมากมักเห็นขึ้นเองตามธรรมชาติ แน่นอนว่าสามารถปลูกได้ง่ายมากเพียงแค่ดินมีความชุ่มชื้นเป็นอย่างดี เหมาะแก่การปลูกริมรั้วเป็นไม้เลื้อยตามรั้วบ้านได้เป็นอย่างดี ตำลึงเองยังเป็นสัญลักษณ์ของผักสวนครัวรั้วกินได้อีกด้วย
โหระพา และ แมงลัก ลักษณะของต้นโหระพาและแมงลักมีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกะเพรา โดยขนาดของทรงพุ่มก็ใกล้เคียงกันคือ มีความสูงไม่เกิน 60 เซนติเมตร ลักษณะต้นและใบคล้ายกัน จะต่างกันตรงกลิ่น และสีไม่เหมือนกันใบของโหระพานั้นใบเป็นมัน และหนากว่า ก้านใบและลำต้นมีสีม่วงแดง ส่วนใบของแมงลักมีสีเขียวอ่อน ก้านใบและลำต้นก็มีสีเขียวอ่อนเช่นกัน และมีขนอ่อนอยู่ตามใบและก้านดอก
บวบ ลักษณะพิเศษของบวบ คือ ทนแล้ง ทนฝน ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน แต่มีข้อควรระวังคือ เมื่อแรกปลูกจนถึงขึ้นค้างจะมีแมลงชอบกัดยอด แต่พอทอดยอดขึ้นค้างแล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องแมลงอีกต่อไป ปลูกง่ายไม่ต้องมีการดูแลมาก ให้ขึ้นเลื้อยตามต้นไม้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ยังมีอีกสามสี่อย่าง เช่น มะกรูด มะนาว ขมิ้น ข่า ซึ่งครัวเรือนของไทยทุกๆ บ้านน่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้
ที่มา
กรมส่งเสริมการเกษตร
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน, สวนผักคนเมือง