ผักเป็ดน้ำ พืชล้มลุก ลำต้นกลมเป็นปล้อง กลวงสีเขียว มีรากแตกตามข้อแตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก ชอบขึ้นบริเวณริมน้ำ ลำคลองและที่ชื้นแฉะ ใบเดี่ยวรูปหอกออกตรงข้ามกันบริเวณปล้อง โคนและปลายใบแหลม เส้นกลางใบสีขาวมองเห็นชัดเจน ขอบใบเรียบ ออกช่อสีขาวเป็นกระจุก ออกตามซอกใบ
ชื่อสามัญ Alligator weed, Sessile joyweed
ชื่อวิทยาศาสตร์ Altermanthera sessillis (L.) DC.
ชื่อวงศ์ AMARANTHACEAE
ชื่ออื่นๆ ผักเป็ดน้ำ ผักเป็ด (ทั่วไป), คงซิมเกี่ยง (จีน-แต้จิ๋ว)
ลักษณะ
ผักเป็ดเป็นพืชขนาดเล็ก สูง ๑๐-๑๒๕ ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือเลื้อย เมื่อเลื้อยจะมีรากเกิดขึ้นที่ข้อ ลำต้นระหว่างข้อหนึ่งถึงอีกข้อหนึ่งจะเป็นร่อง และมีขนตามร่องทั้งสองข้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ ตรงข้อ ใบมีหลายรูป เช่น รูปแคบ ยาว เรียวแหลม หรือรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ โคนและปลายใบแหลม แต่ที่กลมมนก็มี แผ่นใบเกลี้ยง หรือมีขนอ่อนๆ ขนาดของใบก็ไม่แน่นอน ถ้าขึ้นในที่แห้งแล้ง ใบจะเล็ก ถ้าขึ้นในที่ชื้นแฉะ ใบจะโตกว่า ก้านใบสั้นมาก ยาว ๑-๕ มม.
ดอกออกเป็นกระจุก กลมๆ สีขาว ตามสองข้างของซอกใบ ไม่มีก้านดอก แต่เมื่อช่อดอกยาวขึ้น และดอกตรงโคนช่อร่วงหลุดไป จะดูเหมือนมีก้านดอก ช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกย่อยมีใบประดับเป็นเยื่อบางๆ สีขาว ๒ อัน กลีบดอกมี ๕ กลีบ สีขาว ผลมีขนาดเล็กมาก กว้างราว ๒ มม. ยาวราว ๓ มม. รูปคล้ายรูปไต และร่วงพร้อมกับกลีบดอก
ประโยชน์
ต้นอ่อนใช้เป็นอาหารได้ทั้งคนและสัตว์ และมีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้ขับน้ำนมแก้ไข และเป็นยาพอกฝี เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้หัด ไอเป็นเลือด วัณโรค และหนองใน สมองอักเสบผื่น คันมีน้ำเหลือง งูกัด ซึ่งจะมีรสขมและเย็น แต่ถ้าเราปรุงเป็นยาฉีดก็ได้รักษาโรคไข้สมองอักเสบ และไข้เลือดออกในระยะแรก ถ้าใช้ทาภายนอกให้ตำพอก หรือคั้นเอาน้ำทา
ตำราสรรพคุณยาโบราณว่าทั้งต้นมีรสขื่นเอียน ดับพิษโลหิต ทำให้โลหิตเย็น ฟอกโลหิตและบำรุงโลหิตประจำเดือน แก้ระดูสตรีเน่าเหม็น แก้ปวดบั้นเอวและท้องน้อย ขับน้ำนม แก้ท้องร่วง แก้บิด ลดไข้ กระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดี ใช้พอกบาดแผล
ใบผักเป็ดกินเป็นอาหารได้
แหล่งที่พบ
จะพบต้นผักเป็ดน้ำได้ ตามแอ่งน้ำรกร้างทั่ว ๆ ไป
ที่มา
http://www.สมุนไพรสามร้อยยอด.com/
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน