การทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ

8 พฤษภาคม 2557 ภูมิปัญญา 0

การทำผ้ามัดย้อมใช้เอง เป็นความภาคภูมิใจของคนทำและคนที่จะสวมใส่ ด้วย เพราะผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นศิลปะหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน(รับรองได้) โดยมีเราเป็นศิลปินเอก ที่สำคัญสีที่ได้จากธรรมชาติจะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บไปในตัวด้วย เช่น ผ้าย้อมคราม ย้อมฝางแดง เป็นต้น

องค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการนำผ้ามาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งแปลก หรือพึ่งจะค้นพบนวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด แต่ความรู้ภูมิปัญญาดังกล่าวได้ถูกค้นพบ ปฏิบัติและถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกทั้งหลายก็ใช้ผ้าบังสุกุลสีขาวที่ใช้สำหรับห่อศพมาซักแล้วก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติเพื่อเป็นผ้าจีวรนุ่งห่มเหมือนกัน ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าภูมิปัญญาการเอาผ้าแล้วมาย้อมด้วยสีธรรมชาติไม่ใช่ภูมิปัญญาชาวของบ้านธรรมดาๆ แต่เป็นภูมิปัญญาที่มาจากแนวคิดของพระพุทธเจ้า ซึ่งการเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวเหมือนกับเราได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรมะไปด้วย เช่น เราจะได้สมาธิจากการดึงปมชายผ้า หรือการพึงพาธรรมชาติและพึ่งพาตัวเอง หรือการไม่ตามกระแสของสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

pamadyomyaw

สีที่ได้จากธรรมชาติ
สีธรรมชาติได้จากต้นไม้ ได้แก่ ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ เป็นต้น ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ ซึ่งจะขอยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นบางส่วน ดังนี้

  • สีแดง ได้จาก รากยอ แก่นฝาง เปลือกสมอ ครั่ง
  • สีคราม ได้จาก ต้นคราม
  • สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ต้นหม่อน ขมิ้น ดอกดาวเรือง
  • สีตองอ่อน ได้จาก เปลือกผลทับทิม ต้นคราม ใบหูกวาง เปลือกและผล สมอพิเภก ใบส้มป่อยและผงขมิ้น ใบแค ใบสับปะรดอ่อน
  • สีดำ ได้จาก ผลมะเกลือ ผลกระจาก ผลและเปลือกสมอ
  • สีส้ม ได้จาก เปลือกและรากยอ ดอกกรรณิการ์ (ส่วนที่เป็นหลอดสีส้ม)
  • สีเหลืองอมส้ม ได้จาก ดอกคำฝอย
  • สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
  • สีชมพู ได้จาก ต้นฝาง
  • สีน้ำตาล ได้จาก เปลือกไม้โกงกาง เปลือกผลมังคุด
  • สีเขียว ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกสมอ

pamadyomtao

ขั้นตอนการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ
เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ดังนี้

  1. เตรียมวัตถุดิบให้สี เช่น ใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ กิ่ง ก้านใบ แก่นใบ ผลไม้ รากไม้ ที่ให้สีในโทนที่ต้องการมาจำนวนพอประมาณ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับน้ำ หม้อที่ใช้ต้ม และจำนวนผ้าที่ต้องการย้อมด้วย นำวัตถุดิบดังกล่าวมาหั่นเล็กๆ ขนาดพอเหมาะกับภาชนะต้ม
  2. เตาขนาดใหญ่ หรือก้อนเส้าที่สูงเล็กน้อยเพื่อตั้งหม้อต้มน้ำ พร้อมกับถ่านหรือฝืนที่จะก่อไฟ
  3. ผ้าฝ้าย ขนาดตามต้องการ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้
  4. หนังยาง เชือก ฟาง หรือ เข็มกับด้วย เพื่อเอาไว้มัดลวดลาย
  5. ปีบ กะละมังหรือหม้อขนาดใหญ่เพื่อเอาไว้ต้มสีย้อมผ้าจาก ธรรมชาติ
  6. ถุงผ้า หรือ ตาข่าย สำหรับใส่หรือห่อวัตถุดิบที่ให้สี เพื่อป้องกันไม่ให้เศษไม้ กระจายไปติดกับผ้าที่เราจะย้อม
  7. ไม้ไผ่ผ่าซีกแบนเรียบ ไม้ไอศกรีม ก้อนหิน หรือวัตถุขนาดต่างๆ เพื่อ เอาไว้ทำเป็นแม่แบบกดทับผ้าเพื่อให้เกิดลายตามจินตนาการ
  8. เกลือ เอาใส่ในหม้อต้มน้ำเพื่อให้สีติดทนนานขึ้น

เตรียมตัวทำปฏิกิริยา
ตัวทำปฏิกิริยาคือวัตถุดิบที่จะมาช่วยเพิ่มและเปลี่ยนสีสันให้ได้สีที่หลากหลายขึ้นจากเดิม ซึ่งแต่ละตัวจะทำให้ผ้าที่ย้อมเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ เช่น เข้มขึ้น จางลง หรือเปลี่ยนเป็นสีอื่นๆ แต่ก็อยู่ในโทนสีเดิม ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารดังกล่าว ดังนี้

  1. น้ำด่าง ได้จากการนำขี้เถ้าจากเตาไฟที่เผาไหม้แล้วประมาณ 1 -2 กิโลกรัม มาผสมให้ละลายกับน้ำประมาณ 10 – 15 ลิตร ในภาชนะ เช่น ถังน้ำ หรือ แกลลอน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน ประมาณ 1 – 2 วัน หลังจากนั้นค่อยๆ เทกรองเอาน้ำที่ใสๆ ที่ได้จากการหมักขี้เถ้า มาเป็นน้ำหัวเชื้อ ซึ่งสามารถใส่ขวดแล้วเก็บไว้ได้นานเท่าไหร่ก็ได้ น้ำด่างขี้เถ้าที่ดีจะต้องใสและไม่มีกลิ่นเหม็น ปริมาณที่ใช้ในแต่ละครั้ง น้ำ 1 ถัง ใช้น้ำด่างประมาณ ครึ่งขวดลิตร เป็นต้น
  2. น้ำปูนใส ได้จากการนำปูนขาวเคี้ยวหมากขนาดเท่าหัวแม่มือ มา ละลายกับน้ำ 1 ถัง (ประมาณ 15 – 20 ลิตร) ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนรินเอาเฉพาะน้ำที่ใสๆ เท่านั้น น้ำปูนใสที่ดีจะใส และไม่มีกลิ่น
  3. น้ำสารส้ม ได้จากการนำสารส้มที่เป็นก้อนมาแกว่งให้ละลายกับน้ำ แล้วกรอง หรือตักเอาน้ำใช้เลยก็ได้ น้ำสารส้มจะใสและไม่มีกลิ่น
  4. น้ำสนิม ได้จากการนำเศษเหล็ก ตะปู หรือ สังกะสีที่เป็นสนิม นำลงไปแช่น้ำ ทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนหมั่นตรวจดูและเติมน้ำให้เต็มเสมอ เพราะเมื่อเรานำน้ำไปตั้งกลางแดดน้ำจะระเหยกลายเป็นไอ เราจึงต้องเติมน้ำอยู่เสมอ เมื่อจะใช้ให้กรองเอาเฉพาะน้ำที่แช่เหล็กระวังเศษเหล็กจะผสมมากับน้ำ เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ น้ำสนิมมีสีขุ่นดำ มีกลิ่นค่อนข้าง เหม็น ปริมาณใช้น้ำสนิมครึ่งขวดลิตร ต่อน้ำ 1 ถัง (ประมาณ 15 – 20 ลิตร)

ขั้นตอนการเตรียมผ้าฝ้าย มีดังนี้

  1. นำผ้าฝ้ายสีขาวมาตัดตามขนาดที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ว่าจะทำอะไร เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน เป็นต้น
  2. นำไปเย็บริมให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการหลุดลุ่ยของชายผ้า หรือนำมาตัดชายผ้าแล้วดึงปมออกให้เป็นชายเพื่อพันให้เป็นเกลียวก็ได้
  3. นำผ้าฝ้ายไปซักในน้ำสะอาด เพื่อให้แป้งที่ติดมากับผ้าหลุดออกและเพื่อให้ผ้านุ่มและดูดสีมากขึ้น
  4. มัดลวดลายตามจินตนาการ

การทำลวดลายผ้า (แบบง่าย)
การคิด ประดิษฐ์ลายผ้า ขึ้นอยู่กับจินตนาการและการสังเกตของแต่ละคน ซึ่งการมัดแต่ละครั้งหรือแต่ละคน ลายผ้าที่ได้จะไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถปรับปรุง หรือออกแบบให้ใกล้เคียง หรือ คล้ายกันได้ ขึ้นอยู่กับการสังเกตและพัฒนาการของแต่ละคนด้วย ซึ่งการมัดลายแบบพื้นฐานอย่างง่ายมี 4 แบบ ดังนี้

  1. การพับแล้วมัด กล่าวคือ เป็นการพับผ้าเป็นรูปต่างๆ แล้วมัดด้วยยางหรือ เชือก ผลที่ได้จะได้ลวดลายที่มีลักษณะลายด้านซ้ายและลายด้านขวาจะมีความใกล้เคียงกัน แต่จะมีสีอ่อนด้านหนึ่งและสีเข้มด้านหนึ่ง เนื่องจากว่าหากด้านใดโดนพับไว้ด้านในสีก็จะซึมเข้าไปน้อย ผลที่ได้ก็คือจะมีสีจางกว่านั่นเอง
  2. การห่อแล้วมัด กล่าวคือ เป็นการใช้ผ้าห่อวัตถุต่างๆ ไว้แล้วมัดด้วยยางหรือเชือก ลายที่เกิดขึ้นจะเป็นลายใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับวัตถุที่นำมาใช้ และลักษณะของการมัด เช่น การนำผ้ามาห่อก้อนหินรูปทรงแปลกๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แล้วมัดไขว้ไปมา โดยเว้นจังหวะของการมัดให้มีพื้นที่ว่างให้สีซึมเข้าไปได้ อย่างนี้ก็จะมีลายเกิดขึ้นสวยงามแตกต่างจากการมัดลักษณะวัตถุอื่นๆ ด้วย
  3. การขยำแล้วมัด กล่าวคือ เป็นการขยำผ้าอย่างไม่ตั้งใจแล้วมัดด้วยยางหรือเชือก ผลมี่ได้จะได้ลวดลายแบบอิสระ เรียกว่าลายสวยแบบบังเอิญ ทำแบบนี้อีกก็ไม่ได้ลายนี้อีกแล้ว เนื่องจากการขยำแต่ละครั้งเราไม่สามารถควบคุมการทับซ้อนของผ้าได้ ฉะนั้นลายที่ได้เป็นลายที่เกิดจากความบังเอิญ จริงๆ เปรียบเทียบเหมือนกับการที่เราเห็นก้อนเมฆ ก้อนเมฆแต่ละก้อนจะมีลักษณะแตกต่างกัน และเมื่อผ่านสักครู่ลายหรือลักษณะของก้อนเมฆก็จะเปลี่ยนไป เราเรียกว่าลายอิสระ หรือรูปร่างรูปทรงอิสระนั่นเอง
  4. พับแล้วหนีบ กล่าวคือ เป็นการพับผ้าเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วเอาไม้ไอศกรีม หรือไม้ไผ่ผ่าบางๆ หนีบไว้ทั้งสองข้างเหมือนปิ้งปลา ต้องมัดไม้ให้แน่น ภาพที่ออกมาก็จะเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปดอกไม้ รูปสี่เหลี่ยม เป็นต้น

pamadyommad

ข้อสังเกต และ ข้อควรระวัง
หลักการสำคัญในการทำมัดย้อมคือ ส่วนที่ถูกมัดคือส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด ส่วนที่เหลือหรือส่วนที่ไม่ได้มัดคือส่วนที่ต้องการให้สีติด การมัดเป็นการกันสีไม่ให้สีติดนั่นเอง ลักษณะที่สำคัญของการมัดมีดังนี้
1. ความแน่นของการมัด

  • กรณีแรกมัดมากเกินไปจนไม่เหลือพื้นที่ให้สีแทรกซึม เข้าไปได้ เลย ผลที่ได้ก็คือ ได้สีขาวของเนื้อผ้าเดิม อาจมีสีย้อม แทรกซึมเข้ามาได้เล็กน้อย อย่างนี้เกิดลายน้อย
  • กรณีที่สองมัดน้อยเกินไป เหลือพื้นที่ให้สีย้อมติดเกือบเต็มผืน อย่างนี้เกิดลายน้อยเช่นกัน ทั้งผืนมีสีย้อมแต่แทบไม่มีลายเลย
  • กรณีที่สาม มัดเหมือนกันแต่มัดไม่แน่น อย่างนี้เท่ากับ ไม่ได้มัดเพราะหากมัดไม่แน่นสีก็จะแทรกซึมผ่านเข้าไปได้ทั่วทั้งผืน

2. การใช้อุปกรณ์ช่วยในการหนีบผ้าแล้วมัด เพื่อให้เกิด ความ แน่นและเกิดลวดลายตามแม่แบบที่ใช้หนีบ ดังนั้นลายสวยเพียงใดขึ้นอยู่กับการออกแบบแม่แบบที่จะใช้หนีบด้วย

3. ความสม่ำเสมอของสีย้อม สีย้อมที่ติดผ้าจะสม่ำเสมอได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิความร้อนขณะนำผ้าลงย้อม และการกลับผ้าไปมาการขยำผ้าเกือบตลอดเวลาของการย้อมหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนที่จะแช่ผ้าไว้

pamadyomyom

ขั้นตอนการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ มีดังนี้

  1. ต้มน้ำให้เดือด ในภาชนะที่ใหญ่พอประมาณ (ขึ้นอยู่กับจำนวนผ้า ที่จะย้อมด้วย) ใส่เกลือลงไปพร้อมกับน้ำเพื่อให้สีติดทนนานและสีสดขึ้น
  2. นำวัตถุดิบให้สีที่เตรียมไว้มาสับๆ ให้เล็กพอประมาณ แล้วใส่ ใน ถุงผ้าหรือ ตาข่ายที่เตรียมไว้ แล้วนำเอาไปต้มกับน้ำที่เดือด เพื่อสกัดเอาสารที่มี อยู่ในนั้นออกมา ให้ สังเกตสีที่ออกมาจากถ้าสีเข้มแล้วจึง
  3. นำผ้าที่ผูกลายเสร็จลงไปในหม้อต้มสี ให้กลับด้านผ้าหรือกวน ให้ตลอด เพื่อให้สีผ้าดูดสีสม่ำเสมอกันทั้งผืน ให้สังเกตสีที่ซึมเข้าไปในเนื้อผ้า ถ้าพอใจหรือเหมาะ สมแล้วจึงนำออกมา วางให้เย็นก่อน (ประมาณ 30 นาที ขึ้นอยู่กับอุณหถูมิของน้ำ)
  4. แล้วค่อยเอาลงล้างขยี้เบาๆ ในน้ำตัวทำปฏิกิริยาเพื่อทำให้เกิดสีใหม่ เช่น น้ำสนิม น้ำสารส้ม น้ำปูนใส น้ำด่างขี้เถ้า (ในขณะที่แช่ผ้าในตัวทำปฏิกิริยาแต่ละชนิดให้สังเกตถึงความต่างและการเปลี่ยนแปลงสีของแต่ละชนิดไว้ด้วยเพราะแต่ละตัวจะให้สีแตกต่างกัน) ถ้าพอใจแล้วให้แกะลายออกแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หรือถ้ายังไม่พอใจในสีที่ปรากฏให้นำไปล้างน้ำ สะอาดแล้วนำกลับไปย้อมกับตัวทำปฏิกิริยาชนิดอื่นๆ อีก แต่ข้อควรระวัง คือในระหว่างที่นำผ้าเปลี่ยนตัวทำปฏิกิริยาให้ล้างน้ำเปล่าก่อน เพื่อไม่ให้ผสมกัน หรือถ้าไม่พอใจอีกอาจนำไปต้มกับน้ำเปลือกไม้อีกครั้ง เพื่อย้อมใหม่ จนเป็นที่พอใจแล้วแก้ผ้าที่มัดไว้นำไปตากแดดให้แห้ง

ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง
คีรีวงเป็นชุมชนหนึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 24 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาสูง ชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตแตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในภาคใต้ เป็นที่เล่าขานกันว่าเมื่อประมาณ 300 ปีเศษ ชาวบ้านชุดแรกที่มาตั้งหลักปักฐานที่นี่เป็นไพร่พลที่หนีการเกณฑ์ทับไปรบที่ไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 1 ชนกลุ่มนี้หลบหนีมาทางเส้นทางคลองขุนน้ำ และมาพบชัยภูมิที่เป็นที่ราบระหว่างขุนเขาของเขาหลวง ซึ่งเป็นเทือกเขาในภาคใต้ที่มียอดเขาสูงสุด จึงตั้งรกรากกันที่นี่ และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านขุนน้ำ สืบต่อมากันหลายชั่วอายุคน ต่อมาภายหลังเมื่อได้มีการสร้างวัดในหมู่บ้านชื่อว่า วัดคีรีวง หรือวัดที่มีภูเขาล้อมรอบ ชื่อของหมู่บ้านจึงเรียกตามชื่อวัดที่สร้างขึ้นว่า หมู่บ้านคีรีวง ถึงปัจจุบัน

pamadyomkiriwong

การย้อมสีธรรมชาติ เป็นความรู้และภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับชุมชน เช่นการย้อมฮ่อมของภาคเหนือ ฯลฯ

การย้อมสีธรรมชาติไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ เพราะขบวนการย้อมสีธรรมชาติเป็นกระบวนการที่พึ่งพิงกับวัสดุธรรมชาติ เป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้ผู้ย้อมสีธรรมชาติเห็นคุณค่าและผูกพันกับธรรมชาติ การใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำการย้อมสีธรรมชาติ จึงไม่ใช่ประโยชน์อย่างเดียว แต่เป็นการอนุรักษ์ รักษาต้นไม้ และการปลูกเพิ่มเติม เพื่อการเพิ่มขึ้นของปัจจัยในการย้อมสีธรรมชาติ ในปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยต้องสั่งซื้อสีเคมีจากต่างประเทศหลายสิบล้านบาทเพื่อใช้ในการย้อมสีผ้า แต่การย้อมสีผ้าด้วยธรรมชาติไม่ต้องลงทุนมาก ซึ่งสีธรรมชาติยังสร้างรายได้ให้กับผู้ย้อมสีอีกด้วย ปัจจุบันกลุ่มสตรีและกลุ่มแม่บ้านหลายแห่งได้รวมกลุ่มกันผลิตงานหัตถกรรมผ้าย้อมสีธรรมชาติขึ้น เป็นรายได้เสริมในช่วงว่างเว้นจากการทำสวน ทำไร่ ทำนา ถึงแม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มากมาย แต่เป็นรายได้ที่สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย

pamadyomroom

วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าธรรมชาติ จะเป็นส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ เช่น เปลือก แกน ราก ใบ ดอกและผล เป็นต้น ซึ่งการนำมาใช้จะขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น ที่จะนำส่วนใดมาใช้ในการย้อมสี

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง

  1. กระบวนการทำผ้ามัดย้อมยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องใช้เวลานาน เป็นงานฝีมือ
  2. สีที่ได้เป็นสีจากธรรมชาติ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพผิว ตลอดจนถึงขั้นตอนการย้อมที่ปราศจากการใช้สีเคมี
  3. สีสวย ไม่ฉูดฉาด และได้สีไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและปัจจัยที่แตกต่างกัน

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทราบ

  1. กิจกรรมกลุ่มเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. ใช้ภูมิปัญญาของสมาชิกกลุ่มในการทำกิจกรรม
  3. ความสามัคคีและการรวมตัวของกลุ่มที่เข้มแข็ง
  4. ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติในชุมชนนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ (ชิ้นงาน)
  5. งานฝีมือทั้งหมดมีลวดลายหลากหลาย

วัตถุดิบและส่วนประกอบ
ธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดสีที่มีคุณค่าต่อการผลิตผ้ามัดย้อมของ กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง ที่มาและสีที่ใช้ มีดังนี้

  • หูกวาง ให้สี เหลืองอมเขียว
  • มังคุด ให้สี สีส้ม กับ ชมพู
  • เพกา ให้สี เขียวเข้ม
  • ลูกเนียง ให้สี น้ำตาลเข้ม
  • สะตอ ให้สี เทา
  • แกนขนุน ให้สี เหลืองสด
  • แกนหลุมพอ ให้สี น้ำตาลอ่อน
  • ฯลฯ

วัตถุดิบประกอบด้วย

  1. ผ้าฝ้ายขาว
  2. เปลือกไม้ ใบ ผล มาสกัดน้ำสี
  3. น้ำ
  4. ผงซักฟอก

อุปกรณ์ประกอบด้วย

  1. กะละมัง
  2. ตัวหนีบ
  3. ยางเส้น
  4. เตาถ่าน
  5. กระทะ
  6. พู่กันเขียนลาย
  7. ปากกา
  8. ขาหยั่ง สำหรับตรึงผ้าให้เรียบ

ขั้นตอนการผลิต

  1. นำเปลือกไม้ ใบ ผล มาสกัดน้ำสีโดยการบด สับให้ละเอียดแล้วนำไปต้มจนเดือนใช้ระยะเวลาประมาณ 1 วัน
  2. นำผ้าฝ้ายซักด้วยน้ำสะอาด และขจัดไขมันให้หมด โดยการต้มกับผงซักฟอกหรือแช่น้ำไว้ประมาณ 1 คืน นำผ้าที่ซักจนสะอาดแล้ว มามัดลายตามความต้องการ โดยจะต้องมัดให้แน่น
  3. นำผ้าที่มัดลายเรียบร้อยแล้ว ไปต้มในน้ำสีโดยต้มทิ้งไว้ประมาณ 30 60 นาที แล้วนำไปซัก
  4. นำผ้าไปล้างในน้ำสะอาดอีกครั้ง ถ้าพึ่งพอใจแล้วจึงไปแกะลาย แต่ถ้ายังได้สีที่ไม่ตรงกับความต้องการ ก็นำไปต้มในน้ำสีใหม่อีกครั้ง นำผ้าที่แกะลายเรียบร้อยแล้ว ตากไว้ในที่ร่ม

pamadyommak pamadyompung pamadyomtaks pamadyomtak

เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต

  • ใช้ภูมิปัญญาผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต
  • พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภค ตามสถานการณ์ของตลาด ฯลฯ
  • การทำผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น แต่ละประเภท เน้นคุณภาพสม่ำเสมอ
  • ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ (แข็งแรง คงทน สวยงาม)
  • ราคาผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน
  • การผลิตสินค้าทันกับความต้องการของลูกค้า, ตลาด และต่อเนื่อง
  • บุคคลากรกลุ่ม (กรรมการ/สมาชิก) ต้องได้รับการพัฒนา เช่น การฝึกอบรม, ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ระบบการสื่อสาร, ข้อมูลกลุ่มต้องทันสมัย

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น