พด.ย่อมาจากพัฒนาที่ดิน สารพด.เป็นสารที่ช่วยในเร่งในการย่อยสลายของชากพืชชากสัตว์ ย่นระยะเวลาการหมักให้ส้นขึ้นและให้เป็นปุ๋ยได้เร็วขึ้นประโยชน์หลากหลายเหมาะกับพี่น้องชาวเกษตร
- พด.1 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อราและแอคติโนมัยซีสที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลสและแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน ใช้ผลิตปุ๋ยหมักในเวลาอันสั้น นำไปใช้เพิ่มความสมบูรณ์แก่ดิน สารเร่ง
- พด.2เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ โดยดำเนินกิจกรรมทั้งในสภาพที่ไม่มีอากาศและมีอากาศ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ สำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เร่งการเจริญเติบโตของรากพืช เพิ่มการขยายตัวของใบ ยืดตัวของลำต้น ส่งเสริมการออกดอกและติดผล หรือใช้ทำความสะอาดคอกสัตว์เลี้ยง
- พด.3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน โดยมีความสามารถป้องกันหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชที่ทำให้เกิดอาการรากหรือโคนเน่า และแปรสภาพแร่ธาตุในดินบางชนิดให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ เชื้อไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) และ บาซิลลัส (Bacillus sp.) ใช้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช ส่วนสารปรับปรุงบำรุงดิน
- พด.4 ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตร ปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือยืดอายุของปุ๋ยที่ใช้ในดินได้นานขึ้น
- พด.5 สำหรับผลิตสารกำจัดวัชพืชประเภทหญ้าและวัชพืชใบกว้าง เช่น หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าละออง หญ้าแพรก สารเร่ง
- พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหาร ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจนเพื่อผลิตสารสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำสำหรับผลิตสารบำบัดน้ำเสีย และขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารเหลือทิ้ง ทำความสะอาดคอกสัตว์ สารเร่ง
- พด.7 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและย่อยสลายพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนเจาะผลและลำต้น หนอนใยผัก
- พด.8 ใช้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ละลายฟอสฟอรัสในดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตสมบูรณ์ ร่วมกับการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ
- พด.9 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อยซึ่งเป็นดินกรดกำมะถัน ที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH ไม่ต่ำกว่า 5)ผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อย ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตและสมบูรณ์ และสารปรับปรุงดิน
- พด.10 สำหรับปรับปรุงดินทรายและดินเสื่อมโทรม เพราะมีคุณสมบัติทำให้ดินจับตัวเป็นก้อนดีขึ้น ช่วยให้ระบายน้ำและอากาศได้ดี
- พด.11 จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน เป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศ เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน
- ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 สายพันธุ์
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการเผยแพร่ และส่งเสริมทั้งหมด 9 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปริมาณธาตุอาหารที่สูงขึ้น เรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สำหรับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการส่งเสริมเผยแพร่ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ และจุลินทรีย์อีกหนึ่งกลุ่ม เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินที่มีปัญหาอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
กลุ่มที่ 1 จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ได้แก่
สารเร่งซุปเปอร์ พด.1
เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใชจากการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อรา และแอคติโนมัยซีสที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลส และแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน
จุดเด่นของสารเร่งซุปเปอร์ พด.1
- มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสารประกอบเซลลูโลส
- สามารถย่อยสลายน้ำมัน/ไขมันในวัสดุหมักที่สลายตัวยาก
- ผลิตปุ๋ยหมักในระยะเวลารวดเร็ว และมีคุณภาพ
- เป็นจุลินทรีย์ที่ทนอุณหภูมิสูง
- เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างสปอร์จึงเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นาน
- สามารถย่อยวัสดุเหลือใช้ได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น
ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งเกิดจากการนำซากหรือเศษเหลือจากพืชมาหมักรวมกัน และผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยกิจกรรมจุลินทรีย์ จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมเป็นวัสดุที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง และมีสีน้ำตาลปนดำ
ส่วนผสมของวัสดุ ในการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน
- เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัม
- มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
- ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัม
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 1 กิโลกรัม
วิธีการกองปุ๋ยหมัก
การกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน มีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร การกองมี 2 วิธี ขึ้นกับชนิดของวัสดุที่มีขนาดเล็กให้คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนวัสดุที่มีชิ้นส่วนยาวให้กองเป็นชั้น ๆ ประมาณ 3-4 ชั้น โดยแบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วน ตามจำนวนชั้นที่จะกอง มีวิธีการกองดังนี้
- ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลาย
- การกองชั้นแรกให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม
- นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช ตามด้วยปุ๋ยไนโตรเจน แล้วราดสารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ให้ทั่ว โดยแบ่งใส่เป็นชั้น ๆ
- หลังจากนั้นนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยควรปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น
การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก
รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย : ให้มีความชื้นประมาณ 50-60%
การกลับกองปุ๋ยหมัก : กลับกอง 10 วันต่อครั้ง เพื่อเพิ่มออกซิเจน ลดความร้อนในกองปุ๋ย และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้ากัน หรือใช้ไม้ไผ่เจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งลำและเจาะรูด้านข้างปักรอบ ๆ กองปุ๋ยหมัก ห่างกันลำละ 50-70 เซนติเมตร
การเก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้ว : เก็บไว้ในโรงเรือน อย่าตากแดดและฝนจะทำให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักสูญเสียไปได้
หลักการพิจารณาปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
- สี : มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ
- ลักษณะ : อ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่แข็งกระด้างและขาดออกจากกันได้ง่าย
- กลิ่น : ปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์จะไม่มีกลิ่นเหม็น
- ความร้อนในกองปุ๋ย : อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกอง
- การเจริญของพืชบนกองปุ๋ยหมัก : พืชสามารถเจริญบนกองปุ๋ยหมักได้โดยไม่เป็นอันตราย
- การวิเคราะห์ทางเคมี : ค่าอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนเท่ากับหรือต่ำกว่า 20 : 1
อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก
- ข้าว : ใช้ 2 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกพืช
- พืชไร่ : ใช้ 2 ตันต่อไร่ โรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน
- พืชผัก : ใช้ 4 ตันต่อไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน
- ไม้ผล ไม้ยืนต้น :
เตรียมหลุมปลูก : ใช้ 20 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดินใส่รองก้นหลุม
ต้นพืชที่เจริญแล้ว : ใช้ 20-50 กิโลกรัมต่อต้น ขึ้นกับอายุของพืช โดยขุดร่องตามแนวทรงพุ่มใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม
ไม้ตัดดอก ใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ ไม้ดอกยืนต้นใช้ 5-10 กิโลกรัมต่อหลุม
ใส่ปุ๋ยหมักช่วงเตรียมดิน และไถกลบขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ จะทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์ต่อพืชสูงสุด
สารเร่งซุปเปอร์ พด.2
เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ โดยดำเนินกิจกรรมทั้งในสภาพที่ไม่มีอากาศและมีอากาศ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ดังนี้
ยีสต์ ผลิตแอลกอฮอล์และกรดอินทรีย์
- แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก
- แบคมีเรียย่อยสลายโปรตีน
- แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน
- แบคทีเรียละลายอนินทรีย ฟอสฟอรัส
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปของเหลว ซึ่งได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากพืชหรือสัตว์ลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูงโดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ทั้งในสภาพที่ไม่มีอากาศและมีอากาศ ได้ของเหลวสีน้ำตาล ประกอบด้วยฮอร์โมนหรือสารเสริมการเจริญเติบโตของพืช เช่น ออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน รวมทั้งกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดแลคติก กรดอะซิติก กรดอะมิโน และกรดฮิวมิก
จุดเด่นของสารเร่งซุปเปอร์ พด.2
- สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากวัตถุดิบได้หลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้ ปลา หอยเชอรี่ เปลือกไข่ เศษก้างและกระดูกสัตว์
- เพิ่มประสิทธิภาพการละลายธาตุอาหารในการหมักวัตถุดิบจากเปลือกไข่ ก้าง และกระดูกสัตว์
- เป็นจุลินทรีย์ที่เจริญได้ในสภาพความเป็นกรด
- จุลินทรีย์ส่วนใหญ่สร้างสปอร์ ทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อมและเก็บรักษาได้นาน
- สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเวลาสั้นและได้คุณภาพ
- ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานต่อการเข้าทำลายของโรค / แมลง
ส่วนผสมสำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากผักและผลไม้ จำนวน 50 ลิตร (ใช้เวลาการหมัก 7 วัน)
- ผักหรือผลไม้ 40 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำ 10 ลิตร
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง (25 กรัม)
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากปลาหรือหอยเชอรี่ จำนวน 50 ลิตร (ใช้เวลาการหมัก 15 – 20 วัน)
- ปลาหรือหอยเชอรี่ 30 กิโลกรัม
- ผลไม้ 10 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำ 10 ลิตร
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง (25 กรัม)
วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2
- หั่นหรือสับวัสดุพืชหรือสัตว์ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับกากน้ำตาลในถังหมักขนาด 50 ลิตร
- นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง ผสมในน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
- เทสารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ในถังหมัก คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม
- ในระหว่างการหมัก คนหรือกวน 1-2 ครั้ง/วัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดียิ่งขึ้น
- ในระหว่างการหมักจะเห็นฝ้าขาวซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวหน้าของวัสดุหมัก ฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลิ่นแอลกอฮอล์
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยวิธีการต่อเชื้อ
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยวิธีการต่อเชื้อเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยไม่ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ทำได้โดยนำปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่มีอายุการหมัก 5 วัน ซึ่งจะสังเกตเห็นฝ้าสีขาวที่ผิวหน้าวัสดุ หมักโดยใช้จำนวน 2 ลิตร แทนการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง จะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำได้จำนวน 50 ลิตร
การพิจารณาปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่หมักสมบูรณ์แล้ว
- การเจริญของจุลินทรีย์น้อยลง โดยคราบเชื้อที่พบในช่วงแรกจะลดลง
- ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง
- ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 3 – 4
อัตราและวิธีการใช้
เจือจางปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ต่อ น้ำ อัตราส่วน 1:500 – 1: 1,000
ฉีดพ่น หรือรดลงดิน ในช่วงการเจริญเติบโตของพืช
สารเร่ง พด.9
สารเร่ง พด.9 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อย ซึ่งเป็นดินกรดกำมะถันที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH ไม่ต่ำกว่า 5) จุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยว
หมายถึง จุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายสารประกอบฟอสฟอรัสในสภาพดินเปรี้ยว โดยการผลิตกรดอินทรีย์บางชนิด ออกมาเพื่อละลายฟอสฟอรัสให้เป็นประโยชน์ต่อพืชและในดิน
คุณสมบัติของสารเร่ง พด.9
- ช่วยแปรสภาพสารประกอบฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
- เจริญได้ดีในดินที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 4.5 – 6.5
- ผลิตกรดอินทรีย์และสารเสริมการเจริญเติบโตบางชนิดเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับพืช
วิธีการขยายเชื้อสารเร่ง พด.9
- กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
- น้ำ 10 ลิตร
- ปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัม
- รำข้าว 5 กิโลกรัม
- สารเร่ง พด.9 1 ซอง (25 กรัม)
วิธีทำ
- ขั้นตอนที่ 1 ขยายเชื้อจุลินทรีย์ 10 ลิตร
ละลายสารเร่ง พด.9 ในน้ำและกากน้ำตาลในถัง กวนส่วนผสมนาน 5 นาที ปิดฝาไม่ต้องสนิทใช้เวลาหมัก 2 วัน กวน 2 ครั้งต่อวัน
- ขั้นตอนที่ 2 ผสมเชื้อจุลินทรีย์ในปุ๋ยหมัก
นำจุลินทรีย์ที่ขยายได้ ผสมในปุ๋ยหมักและรำข้าว คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันและให้มีความชื้น 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความสูง 70 เซนติเมตร กองปุ๋ยหมักในที่ร่มเป็นเวลา
การดูแลรักษาการขยายเชื้อสารเร่ง พด.9
ทำการกวนส่วนผสมของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำและกากน้ำตาล 2 ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์
รักษาความชื้นอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการขยายเชื้อในกองปุ๋ยหมัก โดยใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยหมัก
จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11
นวัตกรรมจุลินทรีย์ดิน พด.11 เป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน โดยแบ่งออกเป็น จุลินทรีย์ พด.11 สำหรับโสนอัฟริกัน และจุลินทรีย์ พด.11 สำหรับปอเทือง ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจน สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดินชนิดนั้น ๆ อีกทั้งยังมีจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายฟอสฟอรัสในดินให้เป็นประโยชน์แก่พืช เพื่อการใช้ประโยชน์พืชปรับปรุงบำรุงดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คุณสมบัติของจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11
- เป็นจุลินทรีย์กลุ่มไรโซเบียม ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอาศัยอยู่ในปมรากและลำต้นของพืชปรับปรุงบำรุงดินแบบพึ่งพา ซึ่งกันและกัน โดยไรโซเบียมเป็นเชื้อแบคทีเรียที่จัดอยู่ในสกุล Rhizobium ย้อมติดสีแกรมลบ ไม่สร้างสปอร์มีรูปร่างเป็นท่อน ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโต สามารถเข้าสู่รากพืชปรับปรุงบำรุงดิน และสร้างปมเพื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้
- เป็นแบคทีเรียที่สามารถผลิตกรดอินทรีย์ เพื่อละลายสารประกอบอนินทรีย์ฟอสเฟตที่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น Burkholderia sp.
- เจริญที่อุณหภูมิระหว่าง 27 – 35 องศาเซลเซียส
- เจริญในสภาพที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง 6.5 – 7.5
วิธีการขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11
- ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม
- รำข้าว 1 กิโลกรัม
- จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 100 กรัม (1 ซอง)
วิธีการขยายเชื้อ
- ผสมจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
- รดสารละลายจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ย เพื่อรักษาความชื้นให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์
- กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 4 วัน
อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11
- หว่านปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.11 ให้ทั่วพื้นที่ปลูก หรือโรยในแถวร่องปลูก 100 กิโลกรัมต่อไร่
- หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือหว่านเมล็ดโสนอัฟริกันที่แช่น้ำแล้ว 1 คืน อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่
คำแนะนำ
- ไถกลบพืชปรับปรุงบำรุงดินในช่วงระยะเวลาออกดอกทิ้งไว้ 7-10 วัน แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม
- เก็บจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 (ปอเทือง หรือโสนอัฟริกัน) และปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.11 แล้วไว้ในที่ร่ม
ประโยชน์ของจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11
- เพิ่มปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน เป็นแหล่งธาตุอาหารไนโตรเจนทดแทนปุ๋ยเคมี ในระบบเกษตรอินทรีย์
- เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัส
- เพิ่มมวลชีวภาพของพืชปรับปรุงบำรุงดิน (ปอเทือง และโสนอัฟริกัน)
- เพิ่มอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น
- ทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายน้ำ อากาศ และความสามารถในการอุ้มน้ำดีขึ้น
- ทำให้การปลูกพืชหลักตามมาได้รับผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น
ปุ๋ยชีวภาพ พด.12
ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 สายพันธุ์
จุลินทรีย์ที่อยู่อย่างอิสระในดิน สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแอมโมเนียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ Azotobacter chroococcum
จุลินทรีย์ที่สามารถผลิตกรดอินทรีย์ปลดปล่อยออกมาละลายสารประกอบอนินทรีย์ฟอสเฟต ให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดใช้ได้
จุลินทรีย์ที่ปลดปล่อยกรดอินทรีย์ช่วยละลายแร่ธาตุที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ ให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ Bacillus megaterium
จุลินทรีย์ที่สร้างฮอร์โมนให้พืช ช่วยกระตุ้นการเจริญของรากและส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นพืช
จุดเด่นของปุ๋ยชีวภาพ พด.12
- เพิ่มไนโตรเจน
- เพิ่มการละลายได้ของหินฟอสเฟต 15 – 45 เปอร์เซ็นต์
- เพิ่มการละลายได้ของโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ 10 เปอร์เซ็นต์
- สร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของราก และต้นพืช
- เพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหารของพืช
วิธีการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12
วัสดุสำหรับขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ
- ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม
- รำข้าว 3 กิโลกรัม
- ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 100 กรัม (1 ซอง)
วิธีการขยายเชื้อ
- ผสมปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และรำข้าวในน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
- รดสารละลายปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้นให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยตรวจสอบความชื้นด้วยการกำปุ๋ยหมักเป็นก้อนและไม่มีน้ำไหลออกมา เมื่อคลายมือออกปุ๋ยหมักยังคงสภาพเป็นก้อนอยู่ได้
- ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น
- กองปุ๋ยหมักไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำไปใช้
ประโยชน์ของปุ๋ยชีวภาพ
- ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์
- เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอรสฟอรัส และโพแทสเซียมในดิน
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย
- ช่วยสร้างความสมดุลของธาตุอาหารพืชในพิน ทำให้รากพืชดูดใช้ได้ดีขึ้น
- ใช้ปริมาณน้อย ราคาถูก ลดต้นทุน และช่วยเพิ่มผลผลิตพืช
คำแนะนำ
- ควรปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์
- หลีกเลี่ยงการเผาตอซังพืช เพราะจะทำลายจุลินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ที่ใส่ลงไปในดิน รวมทั้งเป็นการทำลายอินทรีย์วัตถุซึ่งเป็นแหล่งอาหารและพลังงานของจุลินทรีย์
- ปุ๋ยหมักที่ใช้ขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพต้องเป็นปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์แล้ว
- เก็บปุ๋ยชีวภาพ พด.12 หรือปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.12 ในที่ร่ม
กลุ่มที่ 2 จุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่
สารเร่งซุปเปอร์ พด.3
สารเร่ง พด.3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน โดยมีความสามารถป้องกันหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชที่ทำให้เกิดอาการรากหรือโคนเน่า และแปรสภาพแร่ธาตุในดินบางชนิดให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ เชื้อไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.) และ บาซิลลัส (Bacillus sp.)
จุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช
หมายถึง จุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อสาเหตุโรคพืช สามารถทำลายและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคพืชได้โดยวิธีการแข่งขันการใช้อาหารเพื่อการเจริญได้ดีกว่าเชื้อโรคพืช หรือการเข้าทำลายเซลล์ของเชื้อโรคพืชโดยตรง และหรือการสร้างสารปฏิชีวนะยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชแข่งขันการใช้อาหารและเจริญได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคพืช เข้าทำลายเส้นใยเชื้อสาเหตุโรคพืช สร้างสารปฏิชีวนะควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช
คุณสมบัติของสารเร่ง พด.3
- ป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ได้แก่
- โรครากและโคนเน่าของไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน ส้ม และยางพารา เป็นต้น
- โรคเน่าคอดินและลำต้นเน่าของพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด พืชเส้นใยและพืชตระกูลถั่ว
- โรคเน่าและเหี่ยวของพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เช่น พริก มะเขือเทศ แตง กะหล่ำปลี เบญจมาศ และมะลิ เป็นต้น
- ช่วยแปรสภาพแร่ธาตุในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
- เจริญได้ดีในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5
วิธีการขยายเชื้อสารเร่ง พด.3
วัสดุสำหรับขยายเชื้อ
- ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม
- รำข้าว 1 กิโลกรัม
- สารเร่ง พด.3 1 ซอง (25 กรัม)
วิธีทำ
- ผสมสารเร่ง พด.3 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
- รดสารละลายสารเร่ง พด.3 ลงในกองปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากันและปรับความชื้นให้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์
- ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน
การดูแลรักษาการขยายเชื้อสารเร่ง พด.3
ความชื้น : ควบคุมความชื้นกองปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอและใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยหมัก เพื่อรักษาความชื้น
การเก็บรักษาเชื้อสารเร่ง พด.3 : หลังจากขยายเชื้อเป็นเวลา 7 วัน เชื้อสารเร่ง พด.3 ในกองปุ๋ยหมักจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นโดยสังเกตได้จากกลุ่มของสปอร์และเส้นใย ที่มีลักษณะสีเขียวเจริญอยู่ในกองปุ๋ยหมักเป็นจำนวนมาก คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม
อัตราและวิธีการใช้เชื้อสารเร่ง พด.3 ที่ขยายในกองปุ๋ยหมัก
- พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ ใช้ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ระหว่างแถวก่อนหรือหลังปลูกพืช
- ไม้ผล ไม้ยืนต้น ใช้ 3 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ตอนเตรียมหลุมปลูกโดยคลุกเคล้ากับดินใส่ไว้ในหลุม และช่วงพืชเจริญเติบโตให้หว่านทั่วบริเวณทรงพุ่ม
- แปลงเพาะกล้า ใช้ 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โรยให้ทั่วแปลง
ประโยชน์ของเชื้อสารเร่ง พด.3
- ทำลายและยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน
- ลดและควบคุมปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน
- ทำให้ดินมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มขึ้น
- ทำให้รากพืชแข็งแรงและพืชเจริญเติบโตได้ดี
การต่อเชื้อ เป็นการขยายเชื้อโดยไม่ต้องใช้สารเร่ง พด.3 แต่ใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อสารเร่ง พด.3 แล้ว จำนวน 2 กิโลกรัม แทนสารเร่ง พด.3 1 ซอง จะสามารถขยายเชื้อสารเร่ง พด.3 ได้จำนวน 100 กิโลกรัม
ข้อเสนอแนะ
- ต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือไถกลบตอซัง ในพื้นที่เพาะปลูกก่อนใช้เชื้อสารเร่ง พด.3
- อย่าให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก
สารเร่ง พด.7
สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่ผลิตจาก สารเร่ง พด.7 เป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากการย่อยสลายพืชสมุนไพร โดยกิจกรรมจุลินทรีย์ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน ได้ของเหลวสีน้ำตาลใส ซึ่งประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายชนิดในปริมาณสูง รวมทั้งสารออกฤทธิ์ประเภทต่าง ๆ และสารไล่แมลงที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ใช้ในการป้องกันแมลงศัตรูพืช
สารเร่ง พด.7 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและย่อยสลายพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช
ชนิดของจุลินทรีย์ในสารเร่ง พด.7
- ยีสต์ผลิตแอลกอฮอล์ และกรดอินทรีย์
- แบคทีเรียผลิตเอนไซม์เซลลูเลสย่อยสลายสารประกอบเซลลูโลส
- แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก
วัสดุสำหรับผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช (จำนวน 50 ลิตร)
- พืชสมุนไพร 30 กิโลกรัม
- น้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำ 50 ลิตร
- สารเร่ง พด.7 1 ซอง (25 กรัม)
ชนิดพืชสมุนไพร
- สมุนไพรที่ใช้ป้องกันพวกเพลี้ย ได้แก่ ตะไคร้หอม หางไหล สาบเสือ หนอนตายหยาก บอระเพ็ด กระทกรก และข่า เป็นต้น
- สมุนไพรป้องกันหนอนกระทู้ หนอนชอนใบ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หางไหล ตะไคร้หอม เปลือกแค สาบเสือ หนอนตายหยาก สะเดา ว่านเศรษฐี และว่านน้ำ เป็นต้น
- สมุนไพรที่ป้องกันและเป็นพิษต่อแมลงวันทอง ได้แก่ หมาก เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดเงาะ ยาสูบ พริกไทยดำ ขิง และพญาไร้ใบ
- สมุนไพรที่ใช้ไล่แมลงไม่ให้วางไข่ ได้แก่ คำแสด มะกรูด ตะไคร้ เมล็ดละหุ่ง มะนาว พริก และพริกไทย เป็นต้น
วิธีทำ
- สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็ก ทุบหรือตำให้แตก
- นำพืชสมุนไพรและน้ำตาลใส่ลงในถังหมักผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ละลายสารเร่ง พด.7 ในน้ำ 50 ลิตร ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาที
- เทสารละลายสารเร่ง พด.7 ใส่ลงในถังหมักคลุกเคล้าหรือคนให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้ง
- ปิดฝาไม่ต้องสนิท และตั้งไว้ในที่ร่มใช้ระยะเวลาในการหมัก 20 วัน
การพิจารณาลักษณะที่ดีทางกายภาพในระหว่างการหมักเพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช
- การเจริญของจุลินทรีย์ – เกิดฝ้าของเชื้อจุลินทรีย์เจริญเต็มผิวหน้า หลังจากการหมัก 1-3 วันการ
- เกิดฟองก๊าซ CO2 – มีฟองก๊าซเกิดขึ้นบนผิวและใต้ผิววัสดุหมัก
- การเกิดกลิ่นแอลกอฮอล์ – ได้กลิ่นแอลกอฮอล์ฉุนมาก
- ความใสของสารละลาย – เป็นของเหลวใสและมีสีเข้ม
- การพิจารณาสารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่สมบูรณ์แล้ว
- การเจริญของจุลินทรีย์ลดลง
- กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง
- กลิ่นเปรี้ยวเพิ่มสูงขึ้น
- ไม่ปรากฎฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
- ความเป็นกรดเป็นด่างของสารป้องกันแมลงศัตรูพืชมี pH ต่ำกว่า 4
คุณสมบัติของสารป้องกันแมลงศัตรูพืช
- มีสารออกฤทธิ์ที่สกัดได้จากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น สารอะซาดิแรคตินA , สารโรติโนน , pinene , neptha , quinone , geraniol citronellal , limonene และ phellandrene เป็นต้น
- มีสารพวก repellant สามารถไล่แมลงชนิดต่าง ๆ เช่น alkaloid , glycoside , saponin , gum , essential oil , tannin และ steroid เป็นต้น
- มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดแลคติก กรดอะซีติก กรดฟอร์มิก และกรดอะมิโน เป็นต้น
- มีฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ออกซิน ไซโตไคนิน โดยเฉพาะจิบเบอร์เรลลิน
- มีความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 3 – 4
อัตราการใช้
- สารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับพืชไร่ และไม้ผล : น้ำเท่ากับ 1:200
- สารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับพืชผัก และไม้ดอก : น้ำเท่ากับ 1:500
วิธีการใช้
- สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 50 ลิตร ต่อไร่ สำหรับใช้ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก
- สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 100 ลิตร ต่อไร่ สำหรับใช้ในไม้ผล
โดยฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น และรดลงดินทุก 20 วัน หรือในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาดให้ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง
ประโยชน์ของสารเร่ง พด.7
ป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่าง ๆ หนอนเจาะผลและลำต้น หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนคืบ หนอนกระทู้ หนอนกอ ไรแดง และแมลงหวี่ เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 จุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่
สารเร่ง พด.6
สารเร่ง พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ
สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น เป็นสารที่ได้จากการย่อยสลายขยะสด ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอินทรีย์จากเศษอาหาร ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน ได้ของเหลวสีน้ำตาลซึ่งมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ
คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในสารเร่ง พด.6
- ยีสต์ผลิตแอลกอฮอล์ กรดอินทรีย์
- แบคทีเรียผลิตเอนไซม์โปรทีเอส ย่อยสลายโปรตีน
- แบคทีเรียผลิตเอนไซม์ไลเปส ย่อยสลายไขมัน
- แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก
วัสดุสำหรับทำสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น (จำนวน 50 ลิตร)
- เศษอาหารในครัวเรือน 40 กิโลกรัม
- น้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำ 10 ลิตร
- สารเร่ง พด.6 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น
- นำเศษอาหารและน้ำตาลผสมลงในถังหมัก
- ละลายสารเร่ง พด.6 ในน้ำ 10 ลิตร แล้วเทลงในถังหมัก
- คลุกเคล้าหรือคนให้ส่วนผสมเข้ากัน
- ปิดฝาไม่ต้องสนิท ใช้ระยะเวลาหมัก 20 วัน
การพิจารณาสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารเหลือทิ้งที่สมบูรณ์แล้ว
- มีการเจริญของจุลินทรีย์น้อยลง
- กลิ่นแอลกอฮอล์จะลดลง
- ไม่ปรากฏฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นของขยะ
- ไม่ปรากฏคราบไขมัน
- ได้สารละลายหรือของเหลวสีน้ำตาล
- ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง อยู่ระหว่าง 3-4
อัตราและวิธีการใช้
- การทำความสะอาดคอกสัตว์และบำบัดน้ำเสีย เจือจาง สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น : น้ำ เท่ากับ 1 : 10 เทลงบริเวณที่บำบัดทุกวัน หรือทุก ๆ 3 วัน
- การใส่ในบ่อกุ้งและบ่อปลา ใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น 100 มิลลิลิตรต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ใส่ทุก ๆ 10 วัน
ประโยชน์ของสารเร่ง พด.6
- ทำความสะอาดคอกสัตว์ เนื่องจากค่าความเป็นกรดเป็นด่างของสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นอยู่ระหว่าง 3 – 4 มีผลทำให้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเหม็นไม่สามารถเจริญเติบโตได้
- ช่วยบำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ย่อยโปรตีน ไขมัน และผลิตกรดอินทรีย์
- ขจัดกลิ่นเหม็นจากขยะสดและพื้นที่เน่าเหม็น
ข้อมูลจาก กรมพัฒนาที่ดิน http://www.ldd.go.th/menu_5wonder/index.html
สารเร่ง พด. ไปขอรับได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด
กรมพัฒนาที่ดิน
2003/61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 1760 e-mail : cit_1@ldd.go.th