พยงค์ ศรีทอง สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน ด้วยภูมิปัญญา

นายพยงค์ ศรีทอง เป็นแบบอย่างของปัญญาชนคนหนุ่มสาวที่น่ายกย่อง เขาทุ่มเทชีวิตตั้งหลักฐานครอบครัวทำงานเพื่อชนกลุ่มน้อยที่ไร้สิทธิไร้เสียง ลักษณะการทำงานพัฒนาครอบครัวของนายพยงค์ สามารถใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนที่เน้นการรวบรวม ค้นคว้า วิจัย เพื่อประยุกต์องค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านสังคม เศรษฐกิจ ขยายผลสู่การจัดการป่าโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

พยงค์ ศรีทอง จบการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหากเขาเลือกวิถีชีวิต ในแบบของชนชั้นกลางในเมือง เขาน่าจะเลือกรับราชการ หรือเลือกที่จะทำงานในองค์กรธุรกิจชั้นนำสักแห่ง เพื่อใช้ชีวิตสะดวกสบาย เช่นเดียวกับคนทั่วไปในเมืองใหญ่ พยงค์ฯ เลือกที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ตามอัตภาพแบบไม่สุดโต่ง บนพื้นฐานของการทำเกษตรกรรม, ปลูกข้าว, ปลูกผัก และผลไม้ เพื่อสร้างแหล่งอาหารที่ดี สำหรับครอบครัว และทำนุบำรุงผืนแผ่นดิน โดยยึดงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นแบบองค์รวม และทำงานร่วมกับชาวบ้านกะเหรี่ยง 2 ชุมชน คือ บ้านป่าคู้ล่าง อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี และที่บ้านป่าผาก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่ถูกกระทำและละเมิดสิทธิจากโครงการพัฒนาของรัฐ

ในเส้นทางชีวิตของคนเรา อุดมการณ์ ความใฝ่ฝันกับความเป็นจริงมักเป็นสองด้านของชีวิต ที่อาจไม่บรรจบกันได้อย่างลงตัว คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย จำต้องละทิ้งอุดมการณ์ ความใฝ่ฝันในการทำงานเพื่อสังคม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขหลายประการที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากเดินทางออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งหน้าที่การงานที่ต้องแข่งขันท่ามกลางสังคมที่ทุกคนต้องดิ้นรน ไขว่คว้าหาความก้าวหน้า รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับตนเองและครอบครัว

นายพยงค์ ศรีทอง และภรรยาคือนางระวีวรรณ ศรีทอง คือปัญญาชนคนหน่มสาวที่หาได้ยากในคนวัยเดียวกัน นายพยงค์ได้ทุ่มเทชีวิตตั้งหลักฐานครอบครัวทำงานพัฒนาเพื่อชนกลุ่มน้อยที่ไร้สิทธิ ไร้เสียงอย่างชุมชนปกากะญอบ้านห้วยหินดำ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยที่เขาไม่ได้รับเงินเดือน หรือหารายได้ประจำจากองค์กรใด ซ้ำยังต้องอดทนต่อสู้กับอุปสรรคมากมายจนสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างกลมกลืน

แนวทางการพัฒนาที่นายพยงค์ยึดถือเป็นทิศทางหลักในการทำงาน คือการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตให้กับชาวบ้านที่อยู่ในป่า ควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความยั่งยืน โดยเน้นที่กระบวนการทำงานเพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ เพื่อจะได้สามารถดำเนินชีวิตด้วยตนเองต่อไปในอนาคต นายพยงค์ได้ร่วมกับชาวบ้านปกากะญอค้นหาวิธีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่าน แผนแม่บทการจัดการป่าชุมชน เพื่อดูแลผืนป่าชุมชนที่มีพื้นที่ถึง 10,000 ไร่ นอกจากนั้นนายพยงค์ยังเปิดแนวรุกด้านวิชาการ โดยให้ความสำคัญต่อการทำงานศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และองค์ความรู้ด้านพฤกษ์ศาสตร์พื้นบ้าน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในระบบนิเวศหรือ Agroecology ซี่งเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในหลายมิติ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ธรรมชาติและนิเวศวิทยา

ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา นายพยงค์คือผู้อยู่เบื้องหลังคามสำเร็จของเกษตรกรหรือชุมชนที่เขาเข้าไปร่วมงาน ที่บ้านห้วยหินดำ นายพยงค์วางบทบาทของตนเองในฐานะที่ปรึกษา และผู้จัดการนำกระบวนการเรียนรู้เข้าไปสนับสนุนการทำงานของชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลจัดการป่า ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ทำกินโดยไม่ต้องรุกป่าเพิ่ม

ชีวิตและงานของพยงค์ ศรีทอง เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องลงตัวระหว่างงาน-ครอบครัว-ส่วนตัว-อุดมการณ์ความใฝ่ฝัน-ความเป็นจริง เป็นตัวอย่างของนักพัฒนาอิสระที่สามารถได้พึ่งพาตนเองและเป็นที่พึ่งพาทางความคิดให้แก่ชุมชน เป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์งานเพื่อสังคมท่ามกลางกระแสแห่งโลกทุนนิยมอันเชี่ยวกราก

เชื่อมั่น ศรัทธา พลังประชาชน
ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ตอกย้ำความเชื่อมั่นของนายพยงค์ที่ว่า หากชาวบ้านมีความเข้าใจในความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม ชาวบ้านจะไม่ทำลายทรัพยากรนั้น นอกจากนั้นนายพยงค์ยังเชื่อว่าชุมชนหลายแห่งมีจิตสำนึก มีความรู้ความสามารถพอที่จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรป่าไม้ของท้องถิ่น เพียงแต่มี พี่เลี้ยง สนับสนุนและให้โอกาส ชาวบ้านที่มีความเข้มแข็งจะสามารถนำภูมิปัญญาเดิมมาประสานกับความรู้ใหม่ๆ จากภายนอกมาใช้ในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งมีพลังพอที่จะถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาพลังของประชาชนคนธรรมดา นายพยงค์จึงมุ่งมั่นพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิต ให้กับชาวบ้านในป่าควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่ชาวบ้าน ได้แก่ การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมระบบเกษตรนิเวศ (Ecological Agriculture) การฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรกิจกรรมสร้างรายได้นอกภาคเกษตร รวมทั้งการศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนา และการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นอย่างเป็นองค์รวม

กิจกรรมของโครงการพัฒนาระบบนิเวศเกษตรและอนุรักษ์พันธุ์พืช ที่นายพยงค์และภรรยาได้วางรากฐานและทำงานร่วมกับชาวบ้านในราวป่าหลายชุมชน ประกอบด้วย

การพัฒนาระบบเกษตรนิเวศ จัดให้มีการฝึกอบรม และส่งเสริมการเกษตรนิเวศ เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้เสริม แก่ชาวบ้าน และมีความสอดคล้องต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำในระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เทคนิควิทยาการทางเกษตรนิเวศที่สำคัญ ได้แก่ การใช้พืชคลุมดิน การปลูกพืชแนวระดับในพื้นที่ลาดชันและระบบวนเกษตร กิจกรรมดังกล่าวได้รับสนับสนุนด้านเงินทุนจาก The Canada Fund ในโครงการย่อย Sustainable Agriculture and Food Security for Karen Villages ในระหว่างปี พ.ศ. 2541-2543

งานอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช มีการเก็บรวบรวมและศึกษาลักษณะพันธุกรรมพืช (Paint Genetic Resources) เน้นที่พันธุ์ผักพื้นเมือง และพันธุกรรมไม้ผลเมืองร้อน โดยเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ในการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมโครงการนี้มุ่งเน้น ช่วยสร้างความมั่นคงของระบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม การเก็บรวบรวมพันธุกรรมไม้ผลเมืองร้อน เริ่มในปีพ.ศ. 2541 โดยได้รับการสนับนุนเบื้องต้นจาก AusAID สถานทูตออสเตรเลียในโครงการย่อย Collection and Enhancement of Tropical Fruit Germplasms

การศึกษาวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและการจัดการทรัพยากร มุ่งทำการศึกษาองค์ความรู้ดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ทั้งด้านทรัพยากรชีวภาพ และมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หลักการสำคัญคือ การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน คณะนักวิจัยจะประกอบด้วยนักวิชาการ นักพัฒนาและชาวบ้านในท้องถิ่นในกระบวนการศึกษาวิจัย ผู้ร่วมวิจัยจะได้ค้นพบและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคม ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

โครงการวิจัยในปัจจุบัน เช่น การศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้พืชให้สีในการย้อมด้วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Biodiversity Research & Training Program, การศึกษาทดลองการจัดเก็บผลผลิตย่อยจากป่าไม้ (non-timeber forest products)

การเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้าน หลักสำคัญในการดำเนินกิจกรรมอยู่ที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานให้ชาวบ้าน (Learning-by-Doing) นอกจากจะเป็นการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่แล้ว ยังเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ ความร่วมมือภายในชุมชน และการก่อตัวขององค์กรของชาวบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดำเนินกิจกรรมการพัฒนาด้วยตนเองในอนาคต

สู้เพื่อสิทธิชุมชน คนกลุ่มน้อย
ช่วงเวลาที่ทำงานส่งเสริมเกษตรกรที่สุพรรณบุรีบ้านเกิดกับองค์การ TREE นายพยงค์ได้มีโอกาสตระเวนไปตามที่ต่างๆ ในจังหวัดจนเมื่อเดินทางมาถึงอำเภอด่านช้าง เขาได้มีโอกาสรับรู้ปัญหาด้านชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรียง ที่อาศัยอยู่ในเขตป่ารอยต่อของจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และอุทัยธานี

ความตั้งใจในตอนแรกคือการส่งเสริมระบบเกษตรแบบยั่งยืนบนพื้นที่สูง โดยเน้นการศึกษาด้านพันธุกรรมพืชพื้นเมือง หากเมื่อได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน จึงได้ทราบถึงปัญหาในระดับลึกของชุมชนในขณะนั้น เกิดกระบวนการทำไม้เถื่อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชาวบ้านเกิดความกังวลว่า กระบวนการทำไม้เถื่อนจะรุกเข้ามาในหมู่บ้านกำนัน เคยเล่าให้นายพยงค์ฟังว่า เคยนำกำลังไปปราบปรามพวกที่มาลักลอบตัดไม้ โดยนำจับตัว ส่งตำรวจ หากผู้กระทำผิดก็ถูกปล่อยตัวออกมา นายพยงค์เสนอความเห็นว่าการที่ชาวบ้านช่วยชี้เบาะแสการตัดไม้ทำลายป่า ให้กำนันเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรสร้างความเข้มแข็งในรูปกลุ่มองค์การ ให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นกระบนการจะยั่งยืนกว่า (ในสมัยนั้นประมาณปีพ.ศ. 2518, 2521 และ 2522 ผู้นำเกษตรกร ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก) นายพยงค์มีความเห็นว่า ต้องทำให้มีหลายหัว และต้องทำเป็นกลุ่มก้อน ถึงจะมีความเข้มแข็ง จากนั้นนายพยงค์ได้พาชาวบ้านไปดูงานที่อำเภอศิลาแลงจังหวัดน่าน

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ชาวบ้านถือว่าเป็นจุดเป็นเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชุมชนที่เดิมมี เชื้อไฟ ทางความคิดที่จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญา การดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ได้มีโอกาสต่อยอดทางความคิด ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติในเวลาต่อมา

ชุมชนบ้านห้วยดินดำ เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ชนชาติย่อยกะเหรี่ยงโป ซึ่งเดิมตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำอิระวดีมานานนับพันปี ก่อนอพยพมาอาศัยในเขตป่าตะวันตก บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติองค์พระ-เขาพุระกำ-เขาห้วยพลู ในเขตรอยต่ออำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี กับอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ส่วนชาวกะเหรี่ยงที่บ้านห้วยหินดำอพยพมาตั้งถิ่นฐานได้ประมาณ 150-180 ปี

payongsritonghome

บ้านห้วยดินดำ มีชื่อเรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า ที่คองทา หมายถึง บ้านห้วยต้นกุ่ม หมู่บ้านตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบระหว่างหุบเขา มีลำห้วยซึ่งมีต้นกุ่มบกขี้นอยู่สองฝั่ง และมีบ่อน้ำซับอยู่กลางหมู่บ้าน ปัจจุบัน ชาวบ้านห้วยหินดำยังคงดำเนินการผลิตในระบบไร่หมุนเวียนเพื่อการยังชีพแบบดั้งเดิม พืชที่ชาวบ้านปลูกในระบบไร่หมุนเวียน ประกอบด้วย ข้าวไร่มากกว่า 10 สายพันธุ์ และพืชพรรณอื่นๆทั้งผัก เครื่องเทศ สมุนไพร พืชหัว พืชเส้นใย ฯลฯ รวมแล้วมากกว่า 50 ชนิด นอกจากนั้น ชาวบ้านยังชีพด้วยการเก็บหาของป่าและเนื้อสัตว์ป่าจากป่ารอบชุมชน

ชุมชนที่เคยใช้ชีวิตอย่างสันโดษถูกรุกจากภายนอกเมื่อถนนตัดผ่านหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2518 เส้นทางนี้นำพรานจากชุมชนภายนอกและพรานจากเมืองให้เข้ามาล่าสัตว์ป่าที่มีอยู่อย่างชุกชุม ปี พ.ศ. 2516 บริษัทสุพรรณบุรีทำไม้ ได้รับสัมปทานในเขตป่าสงวนแห่งชาติองค์พระฯ กำหนดระยะเวลา 20 ปี บริษัทเริ่มตัดฟันและชักลากไม้ในปี พ.ศ. 2517 และรุกคืบเข้ามาในเขตป่าบ้านห้วยหินดำ ในปี พ.ศ. 2528 ต่อเนื่องปี พ.ศ. 2529 ถนนลูกรังที่ตัดเข้ามา เพื่อชักลากไม้นำพาคนภายนอกเข้ามาบุกรุกป่า เพื่อเปิดพื้นที่ทำก้นถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าถูกทำลาย จนกระทั่งช้างตัวสุดท้ายถูกล้มโดยคนของสัมปทานในปี 2529

ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. 2539 เกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรง อากาศร้อนขึ้น แห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลายส่งผลให้ตาน้ำแห้ง น้ำไม่ไหลตลอดปี ลำธารตื้นเขินจากดินที่ถูกเปิดเพื่อสร้างทางบรรทุกไม้ อาหารจากป่า ทั้งพืชผัก สัตว์ก็หายากขึ้น โดยเฉพาะการแย่งทรัพยากรกับชุมชนที่ตั้งใหม่ ที่อยู่รายรอบทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แม้สัมปทานจะถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2532 แต่การตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินต่อไปโดยกลุ่มข้าราชการ ตำรวจในพื้นที่ และผู้นำชุมชนบางหมู่บ้าน โดยเฉพาะประสบการณ์การรวมกลุ่มของชาวบ้าน เพื่อจัดตั้งองค์กรในการอนุรักษ์ป่าไม้ใช้สอย และป่าต้นน้ำของชุมชน กำนัน สงบ สะไร้โจ ได้นำแนวคิดนี้ไปแลกเปลี่ยนกับกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้าน จนในที่สุดนายพยงค์ ก็นำกลุ่มแกนนำจำนวน 10 คนไปดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การก่อตั้งองค์กรชุมชน เพื่อรักษาป่าที่ตำบลศิลาแลง จังหวัดน่าน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537

หลังจากกลับจากการดูงานป่าชุมชนตำบลศิลาแลง ในวันพระแรก กำนันสงบได้สอบถามความเห็นของชาวบ้านที่มาประชุมกันว่า สมควรจัดตั้งองค์กรของหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่จัดการดูแลรักษา ป่าต้นน้ำและที่ทำกินของชาวบ้านห้วยหินดำหรือไม่ ชาวบ้านต่างเห็นพ้องกันว่า ควรมีการก่อตั้งป่าชุมชนของหมู่บ้านขึ้น ในระยะแรกชาวบ้านยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ป่าชุมชน กลุ่มแกนนำจึงใช้คำในภาษากะเหรียงว่า เตอหว่อง เมยละกล่า หมายถึง ป่าของหมู่บ้าน มีการเลือกตั้งคณะกรรมการและประธานคณะกรรมการป่าชุมชน

ต่อมากำนันเป็นตัวแทนชาวบ้านไปพูดคุยกับผู้ชุมชนตาม แผนแม่บทการจัดการป่าชุมชน พื้นที่ป่า 10,000 ไร่นั้น แบ่งการจัดการออกเป็นประมาณร้อยละ 80 เป็นป่าอนุรักษ์ประมาณร้อยละ 10 เป็นป่าใช้สอย ประมาณร้อยละ 10 เป็นพื้นที่เกษตรนับได้ว่าเป็นการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันทำแนวกันไฟและติดป้ายแสดงเขตป่าชุมชนบ้านห้วยดินดำ มีการเฝ้าระวัง โดยจัดชุดลาดตระเวนเป็นระยะๆรวมทั้งมีการสอดแนวส่งข่าวมีการ เปิดตัว ป่าชุมชน โดยการจัดพิธีกรรมการทำบุญเพื่อ สืบชะตาป่า จากนั้นคณะกรรมการฯ กำหนดกฎระเบียบการจัดการใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์ป่าชุมชน เช่น ห้ามขายที่ดินแก่คนภายนอกหมู่บ้าน ห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตรในเขตป่าชุมชน ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาเก็บหาของป่าขาย แต่อนุญาตให้เก็บแค่พอกิน เป็นต้น กฎกติกาป่าชุมชนหลายข้อเป็นวิถีปฏิบัติโดยประเพณีของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม เช่นห้ามตัดไม้ใหญ่ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทรมาใช้สร้างบ้าน จากความเชื่อที่ว่ามีผีสางนางไม้สิงสถิตอยู่

ผลจากการปกป้องดูแลผืนป่าของชุมชน ปรากฏผลเป็นที่น่าชื่นใจ ในช่วง 4-5 ปีผ่านมา เกิดไฟไหม้ป่าน้อยลง ชาวบ้านให้ความเห็นว่า เวลาเดินเข้าไปในป่ารู้สึกได้ว่าอากาศเย็นขึ้น ตามรอยห้วยมีน้ำมากขึ้น ต้นไม้ใหญ่เช่นมะค่าโมงที่เหลือแต่ตอก็แตกใบอ่อน สัตว์ป่าก็กลับมา เช่น สมเสร็จ วัวแดง นกเงือก ลิง ค่าง เก้ง หมี ชะนี ขณะที่ป่าโดยรอบหมู่บ้านโล่งเตียนถูกบุกทำลาย

ความสำเร็จของการจัดการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยดินดำ นายพยงค์ให้ความเห็นว่ามาจากจิตสำนึกและความคิดริเริ่มของชาวบ้าน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากพื้นฐานการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ สอดคล้องกับธรรมชาติเป็นทุนเดิมที่สำคัญ ส่วนตัวเขาเองทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูลจากภายนอก เพื่อการตัดสินใจของชาวบ้าน รวมทั้งการสร้างกิจกรรมพัฒนาอันเป็นทางเลือก ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สอดคล้องกับบริบททางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนในปัจจุบัน

พยงค์ฯ เข้าไปช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาป่า กระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นป่าชุมชน และจัดทำโครงการพัฒนาการเกษตร, ก่อตั้งธนาคารข้าว และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย โดยการประสานความร่วมมือกับเครือข่าย และหน่วยงานภายนอก เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการพัฒนาระบบนิเวศเกษตรและอนุรักษ์พันธุ์พืช จ.สุพรรณบุรี เป็นโครงการที่ พยงค์ และภรรยาคือ ระวิวรรณ ศรีทอง ร่วมกันทำงานพัฒนาชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง ที่บ้านหินดำ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยการวางรากฐานที่ทั้ง 2 คนได้ทำไว้ คือ การพัฒนาระบบเกษตรนิเวศที่มีการฝึกอบรม และส่งเสริมการเกษตรนิเวศกับชาวบ้าน เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และสร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำ ในระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช ที่เป็นการรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมือง โดยเน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วม

สู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านทรัพยากรชีวภาพ
นายพยงค์มีความปรารถนาให้กิจกรรมต่างๆ ที่ตนและเพื่อนร่วมงานกำลังดำเนินอยู่ได้พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบัน กล่าวคือ สังคมยอมรับและให้การสนับสนุน แนวคิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชุมชนกับป่า การยอมรับในสิทธิ บทบาทและภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนระบบเกษตรนิเวศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น ทั้งนี้นายพยงค์มุ่งมั่นว่า ในอนาคตจะพยายามระดมความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในการก่อตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเกษตร (The Insititute for Agroecology Development) เพื่อทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดจนรณรงค์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกของประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของชุมชนเกษตรกรรม การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนต่อไป

นายพยงค์ ศรีทอง เป็นแบบอย่างที่ดีของคนหนุ่มสาวที่มีการตกผลึกทางความคิด มีความคิดลุ่มลึก งานที่นายพยงค์ได้ทุ่มเทกำลังความคิด กำลังกาย กำลังใจนั้นทรงคุณค่าในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่ชุมชนคนกลุ่มน้อยอื่นๆ สามารถนำไปปฏิบัติ ทั้งในด้านการทำเกษตรยั่งยืนเพื่อการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงด้านรายได้ ควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาไว้กินในครอบครัว การปลูกไม้ผลเสริมในที่ดินทำกินเพื่อเป็นแหล่งรายได้ในระยะยาว และเพื่อลดการทำไร่หมุนเวียน นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติในกลุ่มผู้หญิง เพื่อการใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

payongsritongpr

นายพยงค์ปักหลักอยู่ในชุมชนที่เปรียบเสมือนบ้านของเขา และยังคงมีความพยายามในการเชื่อมเครือข่ายไปยังชุมชนปกากะญอในเขตจังหวัดอุทัยธานี และกาญจนบุรี โดยเริ่มจากที่บ้านห้วยหินดำ และเขาหมายมั่นว่า ศูนย์วิจัยพันธุ์พืช ที่บ้านห้วยดินดำจะเป็นฐานในการสนับสนุนการดูแลป่า และพัฒนาอาชีพของชาวบ้านไปพร้อมกัน ผลงานที่ยกย่องของนายพยงค์นอกจากงานด้านพัฒนาชุมชนแล้ว งานด้านวิชาการ งานด้านพันธุกรรมพืชพื้นเมืองถือได้ว่าเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อสะสมเป็นทุนที่ชุมชนจะสามารถต่อยอด ขยายผล งานของนายพยงค์ ศรีทองจึงเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง รู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกสู่ชุมชนอย่างไม่หลีกเลี่ยง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น