พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ

1 ตุลาคม 2559 พืชผัก 0

พรมมิ หรือ ผักมิ (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bacopa monnieri ) เป็นพืชสมุนไพรที่ถูกจับตามองในแง่ของการใช้เป็นยาบำรุงสมองและความจำ สรรพคุณของพรมมิตามตำรายาไทยนั้น ใช้เป็นยาขับโลหิต แก้ไข้ ขับพิษร้อน ขับเสมหะ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ และบำรุงประสาท และในตำราอายุรเวทของอินเดียพบว่า เป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้วที่พรมมิถูกนำมาใช้เป็นยาเพื่อช่วยฟื้นฟูความจำ และบำรุงสมอง

พรมมิ เป็นสมุนไพรดังเดิมที่มีการใช้ในการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย มีสรรถคุณบำรุงความจำ บำรุงสมอง รักษาอาการไข้ รวมทั้งมีการใช้ในตำรับยาไทยหลายตำรับ นอกจากนี้ ยังมีการรับประทานเป็นผักพื้นบ้านจากการที่พรมมิมีขึ้นทั่วไปในประเทศไทย และเพาะปลูกได้ง่ายจัดเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพที่จะนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสมองและบำรุงความจำเพื่อทดแทนสมุนไพรนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น แปะก๊วย และโสม

prommiplang

ชื่อวิทยาศาสตร์: Bacopa monnieri(L) Wettst
วงศ์ SCROPHULARIACEAE
ชื่อพื้นบ้าน: พรมมิ ผักมิ

ลักษณะ
ลำต้นใหญ่อวบน้ำ ไม่มีขน เลื้อยทอดไปตามพื้นและชูยอดขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ค่อนข้างยาว โคนใบแคบ ขอบใบเรียบ ปลายใบ กว้างมนกลม ไม่แหลม แตกจากลำต้นแบบตรงกันข้าม ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กลีบดอกสีขาวหรือสีครามอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 4 อัน ติดอยู่กับกลีบดอก

prommisodprommiyod prommidok

พรมมิ เป็นผักพื้นบ้าน พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเนปาล และ อินเดีย เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบก ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ลำต้นอวบน้ำไม่มีขน ทอดเลื้อยไปตามพื้นได้ยาวกว่า 1 ฟุต ชูยอดขึ้นใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายใบกว้างกลมมนโคนใบแคบ ขอบใบเรียบ สีเขียวสด
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปรี ปลายตัด ดอกเป็นสีขาว หรือ สีครามอ่อนๆ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น

แหล่งที่พบ: ทั่วประเทศไทย มักขึ้นในที่ชื้นแฉะ

prommis

เราสามารถปลูกพรมมิเพื่อเป็นไม้ประดับในตู้ปลา หรือเพื่อรับประทานเป็นผักพื้นบ้าน ผักจิ้มกับน้ำพริก โดยมีสรรพคุณทางการแพทย์
อายุรเวทในด้านการบำรุงสมอง บำรุงความจำ ช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อระบบประสาท การกระตุ้นการเรียนรู้ และความจำพบว่า สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทที่พบในต้นพรมมิเป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacoside ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B ในการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มก. (ประกอบด้วยสารสกัด bacosides อย่างน้อย 40%) พบว่า อาสาสมัครมีทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบความจำดีขึ้น และการศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มก.) นาน 4 เดือนพบว่า พรมมิมีผลช่วยเพิ่มพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มก. (ประกอบด้วย bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น และจากการศึกษาความเป็นพิษของพรมมิในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิ (BacoMindTM) ขนาด 300 มก./วัน ติดต่อ 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มก./วัน อีก 15 วันไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่มีอาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้

prommichoo

ผลการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อประสิทธิภาพของกระบวนการคิด การเรียนรู้ และการฟื้นฟูความจำในระดับคลินิกส่วนใหญ่ให้ผลในเชิงบวก และค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้น สมุนไพรพรมมิจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้เป็นยาเพื่อบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะความจำเสื่อมได้ หากต้องการทราบข้อมูลงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อระบบประสาท การช่วยฟื้นฟูความจำ และพัฒนาการในการเรียนรู้โดยละเอียด สามารถติดตามอ่านได้จากจุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับ 29(3) และ 29(4)

prommitang

ที่มา
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น