พริกกะเหรี่ยง เม็ดเล็กเผ็ดแรง

14 ตุลาคม 2557 พืชผัก 0

พริกกะเหรี่ยง เป็นพริกขี้หนูพันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกันมาตามแนวชายแดนไทย พม่า โดยเฉพาะในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรจะปลูกไว้ในไร่ข้าวสำหรับนำมารับประทานในครัวเรือน และเมื่อชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบางกลุ่มได้นำพริกขี้หนูพันธุ์พื้นเมืองดังกล่าว ออกมาจำหน่ายในเมือง ด้วยรสชาดที่เผ็ดร้อน ประชาชนทั่วไปจึงเรียกกันว่า “พริกกะเหรี่ยง”

ลักษณะทั่วไปของพริกกะเหรี่ยง คือ เมล็ดมีปลายแหลม ก้นโต สีส้มจัดไม่แดงคล้ำ ลักษณะเด่น คือ มีความเผ็ดมากและมีความหอม การปลูกจะปลูกแบบพืชไร่ โดยปลูกผสมกับพืชอื่น ๆ เช่น ฟัก แฟง แตงกวา ข้าว ต้นพริกกะเหรี่ยงจะทนต่อสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศปลูกได้ทุกฤดูกาล

ชื่อสามัญ BIRD CHILI, CHILI
ชื่อวิทยาศาสตร์ CAPSICUM FRUTESCENS LINN.
ชื่อวงศ์ SOLANACEAE

ลักษณะเด่นพริกกะเหรี่ยง

  1. มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนทานต่อสภาวะอากาศและโรคแมลง
  2. ลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถให้ผลผลิตติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  3. เป็นที่นิยมทำเป็นพริกตากแห้งได้ดี คุณภาพผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งได้ 1 -1.3 กิโลกรัม
  4. มีความเผ็ดและหอมซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของพริกกะเหรี่ยง
  5. โรงงานทำซอสพริกนิยมนำไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและความหอม

ลักษณะ
พริกกะเหรี่ยงเป็นไม้ล้มลุก สูง 0.3-1.5 เมตร กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ปลายใบแหลม โคนใบสอบ สีเขียวสด

  • ดอก เป็นสีขาว ออกเดี่ยวๆ หรือ 3-5 ดอก ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านดอกยาวกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายเป็นแฉก 5 แฉก และจะคงรูปอยู่จนกระทั่งกลายเป็นผล กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างบาง ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลือง ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวน 5 อัน
  • ผล ชูตั้งขึ้น ติดผลเป็นช่อ ช่อละ 3-5 ผล หรืออาจมากกว่านั้น ผลเป็นรูปกลมรีและยาวโคนผลใหญ่ ปลายผลเรียวแหลม ผลโตกว่าผลพริกขี้หนูสวนเห็นชัดเจน ขนาดใหญ่เท่ากับพริกกะเหรี่ยงชนิดที่มีผลเป็นสีแดง

พริกเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นแหล่งวิตามินซี มีสรรพคุณทางยามากมาย บรรเทาอาการหวัด หลอดลมอักเสบ ลดการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ แต่ยังมีพริกอีกชนิดที่มีผลขนาดเล็ก มีความเผ็ดที่ร้อนแรง กลิ่นหอมฉุน ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคแมลงได้ดีกว่าพริกพันธุ์อื่นโดยเฉพาะโรค แอนแทร็กโนส ให้ผลผลิตติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากกว่า 2 ปี แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เกษตรกร เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ผู้บริโภคทั่วไปจึงเรียกว่าพริกกะเหรี่ยง

priggareanghang

พริกกะเหรี่ยงของชาวกะเหรี่ยง เป็นการปลูกเพื่อการบริโภค มีบางพื้นที่เท่านั้นที่ปลูกเพื่อการค้า พริกกะเหรี่ยงแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดผลเล็กเรียว ยาวผอม เมื่อผลดิบสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สีแดง อีกชนิดหนึ่งผลใหญ่ อ้วนป้อม เมื่อดิบสีเขียวอมเหลืองอ่อน เมื่อแก่สีแดงเข้มมัน

การปลูกพริกกะเหรี่ยง
ควรเลือกพื้นที่ดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมี เพราะจะมีผลต่อความหอมของพริกลดลง

การเตรียมแปลงเพาะกล้า
การเลือกพื้นที่สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ต้องทำการเตรียมดินให้ละเอียดพร้อมผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดพริกโรยเป็นแถวห่างกันประมาณ 3 นิ้ว กลบหน้าดิน ประมาณ1ซม. หลังเพาะนาน7-10วัน เริ่มงอกหมั่นรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมออย่าปล่อยให้แปลงแห้งจนกระทั่งต้น กล้าเจริญเติบโตมีใบประมาณ3-4คู่ หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ30วัน สามารถนำไปปลูกในแปลงปลูก

การปลูกและการดูแลรักษา

  1. การปลูกพริกกะเหรี่ยงโดยนำเมล็ดพริกที่เก็บเมล็ดจากต้นแล้วนำมาตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำไปตำ ในครกหรือกระบอกไม้ไผ่ ให้เมล็ดแตกออก นำเมล็ดมาหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละประมาณ 5-10 เมล็ด ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตรและหากปลูกแซมข้าวไร่ ระยะปลูกจะห่างตามความต้องการและสภาพพื้นที่เป็นหลัก
  2. การปลูกด้วยต้นกล้า ควรมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา800-1,000กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวนต้นกล้า ประมาณ2,500-3,000ต้นต่อไร่ ระยะปลูก80X80เซนติเมตร ซึ่งสามารถปลูก เป็นพืชแซมกับข้าวไร่หรือพืชชนิดอื่นๆ
  3. การปลูกพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกสด สามารถทำได้โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่สามารถ ให้น้ำได้ และเป็นพื้นที่ดอนน้ำไม่ท่วมขัง เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคมหลังปลูกแล้ว 90 วันก็จะเริ่มเก็บผลผลิตซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกสดจะเริ่มราคาแพงเนื่องจากชาวกระเหรี่ยงที่ปลูกพริกในป่า ไม่สามารถให้น้ำพริกได้และผลผลิตก็จะหมดเร็วทำให้พริกสดขาดแคลน เกษตรกรที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงฝ่านฤดู สามารถขายพริกสดได้ถึงราคา50-80บาท/กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

priggareangs

การให้น้ำและปุ๋ย
การให้น้ำอาศัยน้ำฝนธรรมชาติ และช่วงที่เหมาะสมในการปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การกำจัดวัชพืชไม่ใช้สารเคมี และไม่นิยมใส่ปุ๋ยเคมีเนื่องจากจะทำให้พริกกะเหรี่ยงที่มีความหอมที่มีลักษณะพิเศษ เฉพาะตัวลดลง

priggareangton

ศัตรูพืชที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัด

  1. โรคโรครากเน่าโคนเน่า และโรคกุ้งแห้งป้องกันโดยคัดเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค ใช้เชื้อราไตร โคเดอร์ม่า รองก้นหลุมก่อนปลูก
  2. แมลง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ทำให้พริกใบหงิกงอ ลักษณะใบม้วนผิดปกติ ระบาดในช่วงแห้ง แล้ง ป้องกันกำจัด โดยใช้น้ำหมักสมุนไพร ฉีดพ่นทุก5-7วัน หรือเชื้อราบิวเบอร์รี่

การเก็บผลผลิต
หลังย้ายปลูกประมาณ60วัน พริกกะเหรี่ยงเริ่มทยอยผลผลิตและสามารถเก็บผลผลิตได้โดยเลือกเก็บ เมล็ดที่มีสีแดงสดเพื่อใช้ในการแปรรูป ผลผลิตพริกสดประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสามารถนำมาทำ เป็นพริกแห้งได้ประมาณ 80-100 กิโลกรัมๆ ละประมาณ 80-150 บาทรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่

priggareangsod

เอกสารอ้างอิง
บุญเลี้ยง ข่ายม่าน. 2548. เอกสารวิชาการเรื่องการปลูกพริกกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี.ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น