พริกขี้หนู พริกเม็ดเล็กรสเผ็ดจัดจ้าน

16 กันยายน 2557 พืชผัก 0

พริกขี้หนู เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียวผลสุก สีแดง มีรสเผ็ด ใบอ่อนนำมาลวกจิ้มน้ำพริก นำไปทอดโรยหน้าผัดเผ็ดต่าง ๆ ผลใช้เป็นเครื่องปรุงรส เช่น ตำใส่ในน้ำพริก ใส่ในผัดที่ต้องการความเผ็ด เช่น ผัดกะเพรา ส้มตำ เป็นต้น

พริกเป็นพืชที่มีอายุได้หลายฤดู ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1-1.25 ฟุต ใบแบนเรียบเป็นมัน ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็ก กลีบดอกจะมีสีขาว หรือสีม่วง เกสรตัวผู้ 1-10 อัน เกสรตัวเมีย 1-2 อัน ผลหลายขนาด ผลขนาดเล็กยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ลูกอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เป็นสีแดง

ชื่อสามัญ : Bird Chilli
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum frutescens Linn.
วงศ์ : SOLANACEAE
ชื่ออื่น ๆ : พริกแด้, พริกแต้, พริกนก, พริกแจว, พริกน้ำเมี่ยง (เหนือ-พายัพ), พริก, พริกชี้ฟ้า,พริกขี้หนู (ภาคกลาง-เหนือ), ดีปลี (ใต้-ปัตตานี), ดีปลีขี้นก, พริกขี้นก, ใต้ (ภาคใต้), ลัวะเจีย (แต้จิ๋ว), มะระตี้ (สุรินทร์), ล่าเจียว (จีนกลาง), หมักเพ็ด (อีสาน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พริกเป็นพืชที่อยู่ในตระกูลโซลานาซีอี (Solanaceae) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับมะเขือ มันฝรั่ง และยาสูบพืชในตระกูลนี้มีอยู่ประมาณ 90 สกุล (Genus)หรือ 2,000 ชนิด (Species) โดยทั่วไปเป็นได้ทั้งพืชล้มลุก ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นขนาดเล็กซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปของโลก สำหรับพริกจัดอยู่ในสกุล Capsicum ซึ่งประกอบด้วยพืชชนิดต่างๆประมาณ 20-30 ชนิด สำหรับลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์ศาสตร์ของพริกมีดังนี้
ราก ระบบรากของพริกมีรากแก้ว รากหากินลึกมาก ต้นพริกที่โตเต็มที่รากฝอยจะแออกไปหากินด้านข้างในรัศมีเกินกว่า1 เมตร และหยั่งลึกลงไปในดินเกินกว่า 1.20 เมตร รากฝอยหากินของพริกจะพบอยู่อย่างหนาแน่นมากในบริเวณรอบๆ ต้นใต้ผิวดินลึกประมาณ 60 เซนติเมตร

prigkeenoosuan

ลำต้นและกิ่ง ลำต้นพริกตั้งตรง สูงประมาณ 1-2.5 ฟุต พริกเป็นพืชที่มีการเจริญของกิ่งเป็นแบบ dichotomous คือกิ่งจะเจริญจากลำต้นเพียง 1 กิ่ง แล้วแตกออกเป็น 2 กิ่ง และเพิ่มเป็น 4 กิ่ง 8 กิ่ง 16 กิ่ง ไปเรื่อยๆ และมักพบว่าต้นพริกที่สมบูรณ์จะมีกิ่งแตกขึ้นมาจากต้นที่ระดับดินหลายกิ่ง จนดูคล้ายกับว่ามีหลายต้นอยู่รวมที่เดียวกันดังนั้นจึงมักไม่พบลำต้นหลักแต่จะพบเพียงกิ่งหลักๆเท่านั้น ทั้งลำต้นและกิ่งนั้นในระยะแรกจะเป็นไม้เนื้ออ่อนแต่เมื่อมีอายุมากขึ้นกิ่งก็จะยิ่งแข็งมาก แต่กิ่งหรือต้นพริกก็ยังคงเปราะและหักง่าย
ใบ พริกเป็นใบเลี้ยงคู่ ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะแบนราบเป็นมัน มีขนบ้างเล็กน้อย ใบมีรูปร่างตั้งแต่รูปไข่ไปจนกระทั่งเรียวยาว มีขนาดแตกต่างกันออกไป ใบพริกหวานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใบพริกขี้หนูทั่วไปมีขนาดเล็ก แต่ในระยะเป็นต้นกล้าและใบล่างๆ ของต้นโตเต็มที่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่
ดอก ลักษณะของดอกพริกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน โดยปกติมักพบเป็นดอกเดี่ยว แต่อาจจะพบหลายดอกเกิดตรงจุดเดียวกันได้ ดอกเกิดที่ข้อตรงมุมที่เกิดใบหรือกิ่งก้านดอกอาจตรงหรือโค้ง ส่วนประกอบของดอกประกอบด้วยกลีบรองดอก 5 พู กลีบดอกสีขาว 5 กลีบ แต่บางพันธุ์อาจมีสีม่วงและอาจมีกลีบตั้งแต่ 4-7 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ซึ่งแตกจากตรงโคนของชั้นกลีบดอก อับเกสรตัวผู้มีสีน้ำเงินแยกตัวเป็นกระเปาะเล็กๆ ยาวๆ เกสรตัวเมียชูสูงขึ้นไปเหนือเกสรตัวผู้ ปลายเกสรตัวเมียมีรูปร่างเหมือนเหมือนกระบองหัวมน รังไข่มี 3 พู แต่อาจพบได้ตั้งแต่ อาจพบได้ตั้งแต่ 2-4 พู และจากการศึกษาพบว่า พริกเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงกลางวัน โดยมักจะออกดอกและติดผลในสภาพวันสั้น ในระหว่างการเจริญเติบโดหากได้รับวันยาวหรือมีการใช้แสงไฟฟ้าในเวลากลางคืนเพื่อเพิ่มความยาวของช่วงแสง พริกจะออกดอกช้าออกไป

prigkeenoobai

ผล มีทั้งผลเดี่ยวและผลกลุ่ม ผลพริกเป็นประเภท berry ที่มีลักษณะเป็นกระเปาะมีฐานขั้วผลสั้นและหนา โดยปกติผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อผลแก่พันธุ์ที่มีลักษณะขั้วผลอ่อนให้ผลห้อยลง แต่บางพันธุ์ทั้งผลอ่อนและผลแก่จะชี้ขึ้น ผลมีลักษณะทั้งแบนๆ กลมยาว จนถึงพองอ้วนสั้น ขนาดของผล มีตั้งแต่ขนาดผลเล็กๆ ไปจนกระทั่งมีผลขนาดใหญ่ ผนังผลมีตั้งแต่บางจนถึงหนาขึ้นอยู่กับพันธุ์ ผลอ่อนมีทั้งสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเขียวเข็ม และสีม่วง เมื่อผลสุก อาจเปลี่ยนเป็นสีแดง ส้มเหลือง น้ำตาล ขาวนวลหรือสีม่วง เมื่อผลสุก อาจเปลี่ยนเป็นสีแดง ส้ม เหลือง น้ำตาล ขาวนวล หรือสีม่วงพร้อมๆกัน กับการแก่ของเมล็ดในผลควบคู่กันไป บางพันธุ์เผ็ดจัด บางพันธุ์ไม่เผ็ดเลยหรือเผ็ดน้อย ฐานของผลอาจแบ่งออกเป็น 2-4 ห้อง ซึ่งจะเห็นได้ชัดในพริกหวาน แต่พริกที่มีขนาดผลเล็กอาจสังเกตได้ยาก บางพันธุ์อาจดูเหมือนว่าภายในผลมีเพียงห้องเดียว โดยตลอดเนื่องจาก septae ไม่เจริญยาวตลอดถึงปลายผล เมล็ดจะเกิดเกาะรวมกันอยู่ที่รก (Placenta) ซึ่งมีตั้งแต่โคนจนถึงปลายผล ในระหว่างการเจริญเติบโตของผลหากอุณหภูมิในเวลากลางวันสูงและความชื้นในบรรยากาศต่ำ จะทำให้ผลพริกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ มีรูปร่างบิดเบี้ยวและมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังทำให้การติดเมล็ดต่ำกว่าปกติอีกด้วย

prigkeenoo

เมล็ด เมล็ดพริกขี้หนูมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมล็ดมะเขือเทศแต่มีรูปร่างคล้ายๆกันคือ มีรูปร่างกลมแบน มีสีเหลืองไปจนถึงสีน้ำตาล ผิวเรียบ ผิวไม่ต่อยมีขนเหมือนเมล็ดมะเขือเทศ มีร่องลึกอยู่ทางด้านหนึ่งของเมล็ด เมล็ดจะติดอยู่กับรกโดยเฉพาะทางด้านฐานของผลพริกเมล็ดจะติดอยู่มากกว่าปลายผล ส่วนมากที่เปลือกของผล และเปลือกของเมล็ดมักมีเชื้อโรคพวกโรคใบจุด และโรคใบเหี่ยวติดมา สำหรับจำนวนเมล็ดต่อผลพริก 1 ผล จะไม่แน่นอน แต่ตามมาตรฐานของขนาดเมล็ดพริกแล้ว เมล็ด พริกหวาน 1 กรัม ควรที่จะมีเมล็ด 166 เมล็ดขึ้นไป ส่วนพริกเผ็ดที่มีขนาดผลเล็กควรมีขนาดเมล็ดเล็กลง เช่น เมล็ดพริกพันธุ์ห้วยสีทน 1 น้ำหนัก 1 กรัม มีจำนวนเมล็ดถึง 256 เมล็ด เมล็ดพริกมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 2-4 ปี

ข้อมูลทางคลีนิค :

  • รักษาอาการบวม ฟกช้ำ ให้ใช้พริกขี้หนูที่แก่จัดเป็นสีแดงแล้วตากแห้งนำมาบดเป็นผงให้ละเอียดแล้วเทลงในวาสลินที่เคี่ยวจนเหลว กวนให้เข้ากัน แล้วนำไปเคี่ยวอีกจนได้กลิ่นพริก ใช้สำหรับทาถู รักษาอาการเคล็ด ถูกชน ฟกช้ำดำเขียว และอาการปวดตามข้อ ให้ทาตรงบริเวณที่เป็นวันละครั้ง หรือสองวันต่อครั้ง
  • รักษาอาการปวดตามเอวและน่อง ให้ใช้ผงพริกขี้หนูและวาสลิน หรือผลพริก วาสลิน และแป้งหมี เติมเหล้าเหลืองจำนวนพอประมาณ แล้วคนให้เป็นครีม ก่อนที่จะใช้ ให้ทาลงบนกระดาษแก้วปิดบริเวณที่ปวด ใช้พลาสเตอร์ปิดโดยรอบ จะมีอาการทำให้เหงื่อออก การเคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้น และรู้สึกหายปวด จากการตรวจสอบพบว่า ตามบริเวณที่พอกยาจะมีความรู้สึกร้อน และการไหลเวียนของโลหิต เพิ่มขึ้น

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา :
สารสกัดจากพริก ใช้ทาลงบนผิวหนังจะทำให้หลอดเลือด ตามบริเวณนั้นขยายตัว และการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ถ้าใช้มากเกินไปอาจจะทำให้ระคายเคืองได้
ฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและฆ่าแมลง แคปซายซินจะมีผลยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus และเชื้อ Bacillus subtilis แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Bacillus aureus และเชื้อ Bacillus coli นอกจากนี้สารที่สกัดจากพริก โดยวิธีการต้มด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง

ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร แคปซายซิน ทำให้เจริญอาหาร และกินอาหารได้มากขึ้น พริกสามารถช่วยกระตุ้นทำให้การเคลื่อนไหว ของกระเพาะอาหารสุนัขเพิ่มขึ้นและน้ำสกัดที่ได้จากพริก จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วนปลาย ileum ของหนูตะเภาที่เกิดจากอะเซทิลโมลีนและฮีสตามีนได้ส่วนแคปซายซิน จะเพิ่มการบีบตัว ของลำไส้เล็กส่วนปลาย ileum ของหนูตะเภา แต่ถ้าให้แคปซายซินซ้ำอีกครั้งในขนาดเท่า ๆ กัน จะมีผลน้อยมากหรือไม่มีผลเลย

ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต แคปซายซิน ที่สกัดจากพริก สามารถกระตุ้นหัวใจห้องบนของหนูตะเภา แต่เมื่อฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของแมวและสุนัข จะทำให้ความดันโลหิต และหัวใจเต้นช้า หายใจขัด และอาการพวกนี้จะหายไป เมื่อเราตัดเส้นประสาทเวกัสออก (Vagotomy) ส่วนแคปซายซิน จะเพิ่มความดันโลหิตในแมว ที่ถูกตัดหัวออก (decapitated cat) ถ้าฉีดเข้าในหลอดเลือดดำของแมวที่ถูกวางยาสลบ จะทำให้ความดันโลหิตในปอดสูงขึ้น แต่เมื่อฉีดเข้าบริเวณหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจโดยตรง จะทำให้หลอดเลือดนั้นหดตัว และฤทธิ์ของแคปซายซินต่อหัวใจ ห้องบนของหนูตะเภานั้นจะเพิ่มทั้งความเร็ว และความแรงในการเต้น

ฤทธิ์อื่น ๆ หลังจากกินอาหารที่ใช้พริกขี้หนูแก่จัดสีแดงเป็นเครื่องปรุงแต่งนานประมาณ 3 สัปดาห์ จะทำให้สารกลุ่มคอรืติโซน ในพลาสมาเพิ่มขึ้น และปริมาณที่ขับออกทางปัสสาวะก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนสารที่สกัดได้จากพริก ถ้าฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร จะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้เดินเซ เล็กน้อย และชักตายได้ เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดจะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูขาว และมีฤทธิ์กระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกทั่วไป

prigkeenooton

ความลับของพริกขี้หนู

  • แก้ปวดหัว ปวดหัวเนื่องมาจากไข้หวัด หรือตัวร้อน ใช้ใบพริกขี้ หนูสดๆ ตำกับดินสอพองปิดขมับ
  • แก้เจ็บคอเสียงแหบใช้น้ำต้มหรือยาชงพริกขี้หนูกลัวคอแก้เจ็บคอและเสียงแหบได้โดยใช้พริกขี้หนูป่น๑หยิบมือ เติมน้ำเดือดลงไป๑ แก้ว ทิ้งไว้พออุ่นใช้น้ำกลัวคอ
  • ช่วยขับลม แก้อาหารไม่ย่อย เจริญอาหาร โดยกินพริกขี้หนูสวน รักษากระเพาะที่ไม่มีกำลังย่อยอาหาร
  • แก้ปลาดุกยักใช้พริกขี้หนูสดเขียวหรือแดงก็ได้ ขยี้ตรงที่ปลาดุก แทงจะหายปวด ขยี้แล้วจะรู้สึกเย็น(ธรรมดาพริกขี้หนูร้อน) ไม่บวม ไม่ฟกช้ำด้วย
  • แก้เท้าแตกใช้พริกขี้หนูทั้ง ๕ ปูนขาว สื่งละพอควร เอาไปต้ม เอาน้ำมาแช่เท้าที่แตก ถ้าไม่หายเอาต้นสลัดได รากหนอนตากยาก ใส่ลงไปด้วย
  • แก้บวม ใบพริกขี้หนู บดผสมน้ำมะนาว พอกบริเวณที่บวม
  • รักษาแผลสดและแผลเปื่อย ใช้ใบพริกขี้หนู ตำพอกรักษาแผล สดและแผลเปื่อย(อย่าใช้พริกขี้หนูปิดแผลมากเกินไปเพราะจะทำให้ร้อน
  • ใบ้ใบเป็นอาหาร ใบพริกขี้หนูมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เพราะมี ธาตุ แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส ไวาตามินเอ และบีอยู่มาก บำรุงกระดูก บำรุง ประสาท
  • แก้พิษตะขาบและแมลงป่องกัด ใช้พริกขี้หนูแห้ง ตำผงละลาย น้ำมาะนาว ทาแผลตะขาบกัด แมลงป่องต่อย หายเจ็บปวดดีนัก
  • มดคันไฟกัด ใช้ใบหรือดอกพริกขี้หนูก้ได้ ถูบริเวณถูกกัด หายแล

วิธีการปลูก พริกขี้หนู ให้ได้ผลดี (ให้งาม)
พริกขี้หนูสามารถปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะ สมที่สุดคือดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรด เป็นด่างของดิน 6.0 – 6.8 ปลูกได้ตลอดปี พริกขี้หนูเป็นพืชที่ใช้ ส่วนของผลบริโภค ในรูปของพริกสดและพริกแห้ง และสามารถใช้ ประกอบอาหารได้หลายชนิด มีรสเผ็ด

การเตรียมดินเพาะกล้า

  • ใช้จอบขุดหน้าดินลึก 15 – 20 ซม.(1 หน้าจอบ)
  • เตรียมทำเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร
  • ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว แกลบดำ หรือ ขี้ไก่อัดเม็ด คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากัน
  • ปรับหน้าดินให้ละเอียดและเรียบ
  • หว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง
  • ใช้แกลบหรือฟางข้าวบางๆกลบหน้าดิน รดน้ำให้ชุ่ม
  • อายุของต้นกล้าที่ควรย้ายปลูก ประมาณ 25 – 30 วัน
  • การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า
  • ใช้จอบขุดหน้าดินลึก 15 – 20 ซม. ทำแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร
  • ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก คลุกเคล้ากับดิน
  • ขุดหลุมปลูกโดยใช้ระยะห่างระหว่างต้น 30 ซม. ระหว่างแถว70 – 80 ซม.
  • รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด อัตราส่วนหลุมละ 1 ช้อนชา ทับหน้าปุ๋ยเคมีด้วยปุ๋ยคอกหลุมละ 1 กะลามะพร้าว
  • ถอน แยกต้นกล้าลงปลูก หลุมละ 1 ต้น
  • ราดน้ำตามให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ย ทุกๆ 15 – 20 วัน โดยโรยห่างโคนต้น 5 ซม. และรดน้ำตามทันที หรือจะใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ

prigkeenooplang

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะช่วงแรกหลังย้ายปลูก

การพรวนดินกำจัดวัชพืช ควรพรวนดินและกำจัดวัชพืช ในระยะแรก อย่าให้วัชพืชรบกวน จะแย่งอาหารได้

การเก็บเกี่ยว
พริกขี้หนูเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวได้หลัง ย้ายกล้าลงปลูก 60 – 90 วัน การเก็บเกี่ยวควรเก็บทุกๆ 5 – 7 วัน โดยใช้วิธีเด็ดทีละผล อย่าเก็บทั้งช่อ เพราะผลแต่ละช่อแก่ไม่พร้อมกัน พริกขี้หนูสามารถเก็บได้ยาวนานถึง 6 เดือน

prigkeenookeb

ที่มา : คู่มือการปลูกผักสวนครัว กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น