พริกเป็นพืชผักที่มีความสำคัญในการประกอบอาหารประจำวัน สำหรับคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนไทยนิยมรับประทานอาหารที่มีรสชาติค่อนข้างเผ็ด จึงนิยมปลูกพริกเพื่อบริโภคในครัวเรือนและนอกจากนี้ยังมีการปลูกพริกเพื่อการค้าในรูปพริกสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปเครื่องปรุงแต่งรส เช่น พริกแห้ง พริกป่น น้ำพริกเผา น้ำพริกแกง และซอลพริก เป็นต้น พริกที่ปลูกกันมากในปัจจุบันนี้สามารถแบ่งตามขนาดของผลพริก ได้ 2 ชนิด ดังนี้
- พริกใหญ่ ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกมัน พริกเหลือง พริกหยวก พริกยักษ์
- พริกเล็กหรือพริกขี้หนู ได้แก่ พริกจินดา พริกหัวเรือ พริกห้วยสีทน พริกจินดายอดสน พริกจินดาลาดหญ้า พริกขี้หนูสวน พริกเดือยไก่ พริกปากปวน
พริกเป็นพืชในเขตร้อนหรือกึ่งร้อนที่ทนความแห้งแล้งได้ดีพอควร และสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่าและตายได้
ในประเทศไทยพันธุ์พริกที่มีปลูก และรู้จักกันทั่วไปอยู่ในพวกล้มลุก มีอยู่ประมาณ 6 ชนิด
- พริกบางช้าง ขนาดของผลโตกว่าพริกมัน ผลตรงกลมโคนผลใหญ่ ปลายเรียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาว 10-12 เซนติเมตร ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงจัด รสไม่สู่เผ็ด มีเนื้อมาก เมล็ดน้อย อบแห้งสีจะแดงดี
- พริกขี้หนู มีขนาดต่าง ๆ กัน ผลมีขนาดเล็ก ผลสีเขียว หรือเหลือง พันธุ์ทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ของท้องถิ่นต่าง ๆ ผลแก่จะมีสีแดง มีรสเผ็ดจัด
- พริกหยวก ผลโตป้อม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ปลายทู่ไม่เกลี้ยงบุบเป็นร่อง มีเมล็ดในน้อย ใส้ใหญ่ สีเขียวแกมเหลือง ผลแก่สุกแดงเป็นมัน รสไม่สู้เผ็ด หรือเผ็ดน้อย ราคาแพง ปลูกกันน้อยกว่าพริกอย่างอื่น
- พริกมัน ผลมันเรียบ ผลตรง กลม และเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร มีเมล็ดในมาก เมื่ออ่อนผลจะมีสีเขียวจัด เวลาแก่เป็นสีแดง รสเผ็ด
- พริกยักษ์ ผลโตป้อม บริเวณรอบ ๆ ข้อผลเป็นรอยบุ๋ม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร ยาว 10-12 เซนติเมตร มีเมล็ดในน้อย เนื้อผลหนา สีผลเมื่ออ่อนเขียวจัดเป็นมันเวลาแก่สีแดง รสไม่เผ็ด ปลูกได้ดีในช่วงเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวประมาณเดือนธันวาคม จะได้ราคาดี
- พริกสิงคโปร์ ขนาดผลโต เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ปลายงอหยิก ผิวไม่เรียบ มุมเป็นร่อง ๆ มีเมล็ดน้อย ผลเมื่ออ่อนมีสีเขียวจัด เวลาแก่เป็นสีแดง มีรสเผ็ด พริกปลูกได้ตลอดปี
อายุการปลูก ตั้งแต่ย้ายกล้าจนถึงเก็บเกี่ยว
- พริกชี้ฟ้า พริกมัน พริกเหลือง อายุประมาณ 70 90 วัน
- พริกเล็กหรือพริกขี้หนู อายุประมาณ 60 – 90 วัน
- พริกยักษ์ อายุประมาณ 60 80 วัน
ฤดูปลูก
ปลูกได้ตลอดปี แต่ปลูกได้ผลดีที่สุดระหว่างเดือน ตุลาคม – กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เก็บผลผลิตในฤดูแล้ง ทำให้สะดวกในการตากแห้ง และช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู 24 29 องศาเซลเซียล
การเพาะกล้า
การเตรียมดิน ควรขุดหรือไถดินให้ลึกประมาณ 15 ซม. ตากดิน 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว ประมาณ 20 กก. ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตร พรวนย่อยผิวหน้าดินให้ละเอียด เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินแปลงเพาะควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 400 500 กรัม พรวนกลบลงในดิน รอบแปลงเพาะควรใช้สารเคมี เช่น ออลดรินโรยเพื่อป้องกันมด แมลง เข้าไปทำลายเมล็ดพันธุ์ที่เริ่มงอก
การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ควรเลือกใช้พันธุ์พริกที่ตรงตามความต้องการของตลาดมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปหว่าน คัดเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออกโดยนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำสะอาดเมล็ดพันธุ์ที่เสียจะลอยน้ำแล้วคัดออก นำเมล็ดพันธุ์ดีคลุกสารเคมีไดเทนเอม 45 อัตราส่วน 1 ช้อนแกงต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก. หรือนำไปแช่น้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานประมาณ 30 นาที ก่อนนำไปหยอดหรือหว่านในแปลงเพาะกล้า
การเพาะเมล็ดพันธุ์
นำเมล็ดพันธุ์หว่านให้กระจายทั่วทั้งแปลงเพาะ หรือโรยเมล็ดเป็นแถวลงไปในร่องลึก 0.6 1 ซม. ห่างกันแถวละประมาณ 10 ซม. กลบด้วยปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหรือดินผสมละเอียดรดน้ำให้ชุ่มเสมอ คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบางๆ เมื่อกล้าเริ่มงอกมีใบจริงอายุประมาณ 12 15 วัน ถอนแยกต้นที่เป็นโรคอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ หรือต้นที่ขึ้นเบียดกันแน่นเกินไปทิ้ง ให้มีระยะห่างกันพอสมควร และควรให้ปุ๋ยเสริมทางใบเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตและแข็งแรง เมื่อต้นกล้าอายุ 30 40 วัน ก็สามารถย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้
การย้ายกล้าปลูก
ก่อนย้ายกล้าควรรดน้ำเพื่อให้ต้นกล้าแข็งตัว ดินร่วน และง่ายต่อการถอนต้นกล้า การย้ายกล้าอาจจะย้ายจากแปลงเพาะลงในถุงเพาะชำก่อน เมื่อกล้ามีใบจริง 2 ใบ ระยะเวลาการชำในถุงประมาณ 15 20 วัน จะทำให้กล้าแข็งแรงสมบูรณ์ สม่ำเสมอกัน แล้วจึงย้ายปลูกในแปลงปลูก สำหรับการย้ายกล้าปลูกในแปลงปลูกควรย้ายกล้าในเวลาบ่ายถึงเย็น ขณะที่แสงแดดไม่ร้อนจัด หลังจากปลูกรดน้ำต้นกล้าที่ปลูกใหม่ให้ชุ่ม ให้ใช้ฟางแห้งหรือหญ้าแห้งคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน จะทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น
การเตรียมดินปลูก
การเตรียมดินปลูกพริกนั้น ควรพิจารณาความแตกต่างตามสภาพของดินและระดับน้ำดังนี้ คือ
การเตรียมดินปลูกในเขตอาศัยน้ำฝน ต้องพิจารณาเลือกที่ซึ่งระบายน้ำได้ดี การกำหนดแถวปลูกให้กำหนดแถวคู่ห่างกัน 1.20 ม. และให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 0.50 ม. ระยะระหว่างต้น 0.50 X 0.50 ม. เมื่อเตรียมแปลงปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยคอกในอัตราไร่ละ 1,200 3,000 กก. ทำการคลุกปุ๋ยคอกให้เข้ากับดินแล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 50 กก. ต่อไร่ และใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงชนิดดูดซึม คือ คาร์โบฟูราน เช่น ฟูราดาน คูราแทร์ โรยลงไปในหลุมประมาณ ช้อนชา และในสภาพดินที่เป็นกรดจัดควรใช้ปูนขาวในอัตรา 200 400 กก.ต่อไร่
การปฏิบัติดูแลรักษา
- การให้น้ำ พริกเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ดินควรมีความชุ่มชื้นพอดีอย่าให้เปียกแฉะเกินไปจะทำให้ต้นพริกเหี่ยวตายได้ ในช่วงเก็บผลผลิตควรลดการให้น้ำเพื่อจะทำให้คุณภาพผลผลิตดี สีของผลสวย
- การกำจัดวัชพืช ในระยะที่ต้นพริกยังเล็กควรมีการกำจัดวัชพืชให้บ่อยครั้ง หากวัชพืชคลุมต้นพริกช่วงระยะการเจริญเติบโต จะทำให้แคระแกร็นคุณภาพผลผลิตไม่ดี การกำจัดวัชพืชน้อยครั้งยังมีผลทำให้ดินที่มีผิวหน้าแข็งหรือเหนียวจับกันเป็นแผ่น น้ำซึมผ่านได้ยากให้มีการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำดี
- การใส่ปุ๋ย พริกเป็นพืชที่มีอายุการเก็บผลค่อนข้างยาวนาน ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบ ในอัตรา 50-100 กก.ต่อไร่ เพื่อเป็นการช่วยเสริมการเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรใส่ปุ๋ยน้ำทางใบโดยทำการฉีดพ่นทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว จะได้ผลต่อพืชสูงสุดขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินกับปริมาณการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันไปด้วย
การใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ใส่ครั้งแรกปริมาณครึ่งหนึ่งก่อนปลูกเป็นปุ๋ยรองพื้นพรวนกลบลงในดิน โรยปุ๋ยไนโตรเจนใส่ข้างต้นพริก เมื่ออายุ 10 -14 วัน หลังจากย้ายกล้า ใส่ครั้งที่สองปริมาณอีกครึ่งหนึ่งที่เลหือใส่โรยข้างแล้วแต่งหน้าด้วยปุ๋ยไนโตรเจนพรวนกลบลงในดิน
การป้องกันกำจัดศัตรูพริก
นอกจากการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย หรือการกำจัดวัชพืชแล้ว ยังมีศัตรูพริกต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อผลผลิตการปลูกพริกเป็นอย่างมาก ซึ่งศัตรูพริกที่สำคัญที่พบได้โดยทั่วไปมี ดังนี้
แมลง แมลงที่พบระบาดในพริกบ่อยๆ คือ
- เพลี้ยไฟ
การทำลาย เพลี้ยไฟจะระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อมีฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยจะทำลายใบอ่อน และตาดอก ลักษณะการทำลายใบจะห่อปิด ขอบใบม้วนขึ้นข้างบน ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต และจะทำลายผลพริกให้หงิกงอไม่ได้คุณภาพ
รูปร่างลักษณะ เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก สีน้ำตาลอ่อน ลำตัวผอมยาว มีขนาด 1.0 มิลลิเมตร หากดูด้วยตาเปล่าจะต้องใช้ความสังเกตเป็นพิเศษจึงจะมองเห็นได้ ตัวแก่มีปีก 2 คู่เรียวยาวประกอบด้วยขนเส้นเล็ก ตัวอ่อนจะยังไม่มีปีกและมีขนาดเล็กกว่าตัวแก่ ตัวแก่เคลื่อนไหวได้เร็ว
การป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟชอบหลบอยู่ตามใต้ใบ ตามซอกยอดอ่อนในดอก เวลาพ่นควรใช้เครื่องมือที่สามารถพ่นได้อย่างทั่วถึงการเลือกยาที่เหมาะสมควรทำดังนี้ คือ ถ้าปลูกพริกในแหล่งที่มีการระบาดมานาน ควรเลือกใช้ยาที่ทำลายได้เฉพาะ เช่น แลนเนท เมซูโรล เป็นต้น หรือถ้าพื้นที่การปลูกพริกมีการพรวนดิน เก็บหญ้า พื้นแปลงสะอาดให้พ่นสารเคมีตามผิวดินจะช่วยกำจัดดักแด้ด้วย และควรใช้น้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ
- เพลี้ยอ่อน
การทำลาย จะพบระบาดทั่วไปโดยเฉพาะแหล่งปลูกพริกที่อยู่ใกล้กับฝ้ายและพืชไร่อื่นๆ โดยเพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ในช่วงระยะลำต้นยังเล็ก ซึ่งจะทำให้ลำต้นแคระแกร็นและเพลี้ยอ่อนจะทำให้เกิดใบเป็นคลื่นบิดตรงส่วนยอด นอกจากนี้จะพบราดำตามใบซึ่งเกิดจากน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมา มีผลทำให้เกิดโรคใบด่างและลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโตด้วย
รูปร่างลักษณะ เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงจำพวกปากดูด ลักษณะลำตัวคล้ายผลฝรั่งท้องใหญ่ลำตัวบางใส มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีขนาดเกือบ 1 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าปลายดินสอดำ มีทั้งชนิดมีปีกใสและไม่มีปีกอยู่กันเป็นกลุ่มตามใต้ใบ ยอดอ่อน เคลื่อนไหวช้า มักจะพบในพริกมีสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมเหลือง
การป้องกันกำจัด ไม่ควรปลูกพริกใกล้กับฝ้าย มะเขือ และหมั่นตรวจดูแลแปลงพริกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะขณะที่ต้นพริกยังเล็ก
นอกจากเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อนแล้ว ยังมีเพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย ที่มักจะทำลายในระยะเจริญเติบโต และพบพวกหนอนทำลายในระยะออกฝัก ซึ่งควรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงหนอนพวกนี้ตามคำแนะนำที่มีแจ้งไว้ในฉลาก
- ไรขาว สัตว์ศัตรูพืช ที่สำรวจพบและทำความเสียหายต่อการปลูกพริกในขณะนี้คือ ไรขาว
การทำลาย ไรขาวจะพบว่ามีการระบาดในช่วงฤดูที่มีการปลูกพริกกันมาก โดยไรขาวจะเข้าทำลายที่ยอดก่อน เมื่อเป็นหลายๆ ยอดจะดูเป็นพุ่มใบพริกจะหงิกงอ ใบอ่อนหยาบย่นหรือเป็นคลื่นขอบใบม้วนลงทางด้านล่าง ใบจะค่อยๆ ร่วง และยอดจะตายไปในที่สุด
รูปร่างลักษณะ ไรขาวเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับแมงมุม มี 8 ขา ตัวกลม มีสีขาวผิวลำตัวใสขนาดเล็กมาก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าจะดูให้ชัดเจนมีรายละเอียดมากขึ้นต้องใช้แว่นขยายมักจะชอบอาศัยอยู่ตามใบอ่อนหรือตาดอก
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูแปลงพริกเสมอๆ เมื่อพบไรขาวในปริมาณมากให้รีบกำจัดด้วยสารเคมี เคลเทนหรือไดโฟคอล และเลบโตฟอส หรือฟอสเวล เป็นต้น แต่ถ้าตรวจพบว่ามีการระบาดของเพลี้ยไฟ และไรขาวพร้อมกัน ควรใช้สารเคมีกำจัดของทั้งสองชนิดฉีดพ่นพร้อมกันเลย จะได้ผลสมบูรณ์ขึ้น
โรค โรคที่เกิดจากเชื้อรา แล้วมีผลเสียหายต่อการปลูกพริกที่พบได้ในขณะนี้ มีดังนี้
- โรคกุ้งแห้ง มีสาเหตุมาจากเชื้อรา พบระบาดมากในระยะที่ผลผลิตพริกกำลังเจริญเติบโต
การทำลาย โรคกุ้งแห้งจะเห็นได้ชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือสุก อาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาล ช้ำเนื้อเยื่อบุ๋มไปจากเดิมเล็กน้อยและจุดสีน้ำตาลจะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกเป็นแผลวงกลมหรือวงรี โดยมีขนาดแผลไม่จำกัด จะทำให้ผลพริกเน่า และจะระบาดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว
การป้องกันกำจัด
- ใช้เมล็ดพันธุ์ดีปราศจากโรค
- ก่อนปลูกนำเมล็ดพันธุ์มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 30 นาที
- ใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์เพื่อทำลายโรคที่ติดมากับเมล็ด
- ฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไซเนบ มาเนบ หรือเบนโนมิล เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ 7 15 วัน ต่อครั้ง
- ควรเลือกใช้พันธุ์ที่ต้นทานต่อโรคกุ้งแห้ง เช่น พริกเหลือง และพริกหยวก
- โรคเหี่ยวของพริกจากเชื้อราหรือโรคหัวโกร๋น
การทำลาย โรคนี้จะแตกต่างจากอาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยอาการเหี่ยวจากเชื้อราจะเริ่มจากใบล่างก่อน แล้วจึงค่อยแสดงอาการที่ใบบน ต่อมาใบที่เหลืองจะเหี่ยวลู่ลงดินและร่วง ต้นพริกจะแสดงอาการในระยะผลิดอกออกผล ฉะนั้น อาจทำความเสียหายต่อดอกและลูกอ่อนด้วย เมื่อตัดดูลำต้นจะพบว่าเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลไหม้ แสดงว่าต้นจะเหี่ยวตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
- เมื่อปรับดินปลูกแล้วควรโรยด้วยปูนขาว จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา
- ถอนหรือขุดต้นที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอ ผสมน้ำตาบอัตราส่วนคำแนะนำในฉลากเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค
- ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพริก ไม่ควรปลูกพริกซ้ำที่บ่อยๆ
- ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันดินเป็นกรด และเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน
- ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย มีการระบายน้ำดี
- โรคเน่าหรือต้นเน่า
การทำลาย ใบจะเหลืองและร่วง โคนต้นและรากจะเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ต้นพริกจะเหี่ยวตาย แต่จะระบาดมากในระหว่างที่มีการผลิดอกออกผล อาการของโรคเน่าหรือต้นเน่านี้จะแตกต่างกับโรคพริกหัวโกร๋น คือ ยอดจะไม่หลุดร่วงไป
การป้องกันกำจัด
- หมั่นตรวจต้นพริกดูว่าเป็นโรคหรือไม่
- ขุดหรือถอนต้นพริกที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอผสมน้ำตามอัตราส่วนคำแนะนำในฉลากเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค หรือไช้ฟอร์มาลินผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 50 ราดลงบริเวณโคนต้นที่เป็นโรคและระวังอย่าให้ไหลไปสู้ต้นอื่นเพราะจะเป็นการแพร่เชื้อโรค
- ในการเตรียมดินปลูกควรเพิ่มปูนขาวเพื่อให้ดินเป็นด่าง เพราะถ้าดินเป็นกรดจะเกิดโรคนี้ได้ง่าย
- ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก
- โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
การทำลาย ต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหี่ยวทั่วต้นในวันที่มีอากาศร้อนจัด และอาจจะฟื้นคืนดีใหม่ในเวลากลางคืน ต้นพริกจะมีอาการเช่นนี้ 2-3 วัน ก็จะเหี่ยวตายโดยไม่ฟื้นอีก การเหี่ยวของต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบเหลืองของใบที่อยู่ตอนล่างๆ ก่อน เมื่อถอนต้นมาดูจะเห็นว่ารากเน่า และเมื่อเฉือนผิวของลำต้นตรงใกล้ระดับคอดินจะพบว่าเนื้อเยื่อที่เป็นท่อลำเลียงอาหารช้ำ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งแตกต่างจากสีของเนื้อเยื่อที่ดีของพริก
การป้องกันกำจัด
- เมื่อพบต้นพริกที่แสดงอาการเหี่ยวให้ถอนหรือขุดแล้วนำไปเผา
- ควรป้องกันมิให้ต้นพริกมีบาดแผลแถวโคนต้น และราก และถ้าหากพบควรฉีดพ่นสารไล่แมลงป้องกันกำจัดหนอนเจาะรากและโคนต้น
- เมื่อตรวจพบว่ามีไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นศัตรูที่ทำให้เกิดโรครากปมหรือกัดกินทำลายรากให้เป็นแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปได้ง่าย ควรใช้สารป้องกันกำจัดให้หมดสิ้นไปในบริเวณนั้น
- ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก เช่น ปลูกข้าวโพด แตงกวา ถั่วต่าง ๆ
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยว พริกจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากย้ายปลูกแล้ว 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน ในระยะแรกผลผลิตจะได้น้อยและจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เก็บเกี่ยวอาทิตย์ละ 1 ครั้งผลผลิตจะเริ่มลดลงเมื่อพริกเริ่มแก่ เมื่อพริกอายุได้ 6-7 เดือน หลังย้ายปลูกต้นจะเริ่มโทรมและหยุดให้ผลผลิต แต่ถ้ามีการดูแลบำรุงรักษาดีพริกจะมีอายุถึง 1 ปี
การเก็บเมล็ดพันธุ์
การเก็บเมล็ดพันธุ์พริกถูกวิธีจะทำให้มีพันธุ์พริกที่ดี ติดผลดก ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคและแมลง คุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดไว้สำหรับปลูกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตนเอง ดังนี้
- เลือกจากต้นที่มีลำต้นแข็งแรง สมบูรณ์ เหนียวไม่หักง่าย
- เลือกจากต้นที่ให้ผลดก และขนาดผลใหญ่สมบูรณ์
- เลือกจากต้นที่ปราศจากโรค และทนทานต่อโรคและแมลง
- เลือกจากต้นที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นได้ดี
- เลือกจากผลแก่สีแดงสด ในช่วงระยะเก็บ 7 วันต่อครั้ง จะได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์
การคัดเมล็ดพันธุ์
เมื่อคัดเลือกผลผลิตพริกได้ตามที่ต้องการแล้ว ให้นำไปบดหรือโขลกหยาบๆ จากนั้น นำพริกทั้งกากแช่ในน้ำเกลือแกง ในอัตราส่วนผสม คือ เกลือ 2 ช้อนต่อน้ำ 1 ลิตร หลังจากนั้นช้อนกากและเมล็ดลีบที่ลอยน้ำออกทิ้งไป ส่วนเมล็ดที่ดีให้นำไปผึ่งบนตะแกรงในล่อนหรือไม้ไผ่สาน ไม่ควรตากบนภาชนะโลหะเพราะจะทำให้เมล็ดพันธุ์ร้อนจัดเกินไป ระยะเวลาที่เหมาะสมที่แดดไม่ร้อนจัดควรเป็นตอนเช้าหรือบ่ายวันละ 2 3 ชั่วโมงโดยตาก 2 3 แดด จากนั้นเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในภาชนะที่แห้ง ปราศจากความชื้นแล้วปิดฝาให้สนิท
การเก็บพริกทำพริกแห้ง
ควรเลือกเก็บพริกที่แก่จัดสีแดงสดตลอดทั้งผล ปราศจากโรคแมลง เข้าทำลายแล้วรีบนำไปทำให้แห้งโดยเร็วจะทำให้ได้พริกแห้งที่มีสีสวยและคุณภาพดี
การทำพริกแห้งให้มีสีสวยคุณภาพดี มีหลายวิธีดังนี้
- การตากแดด คือการนำพริกที่คัดเลือกแล้วนำมาตากแดดโดยตรง แผ่พริกบางๆ บนเสื่อ หรือพื้นบานซีเมนต์ที่สะอาด โดยตากแดดทิ้งไว้ 5 7 แดด
- การอบด้วยไอร้อน คือการนำพริกเข้าอบด้วยไอร้อนในเตาอบโดยวางพริกบนตระแกรง แล้ววางตะแกรงเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ วิธีนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกเป็นจำนวนมาก และการทำพริกแห้งในช่วงฤดูฝน
- การลวกน้ำร้อน คือ การนำพริกไปลวกน้ำร้อนก่อน โดยลวกนาน 15 นาที แล้วนำไปตากแดดประมาณ 5 แดด วิธีนี้จะทำให้สีของพริกแห้งสวย และไม่ขาวด่าง
- การอบพริกด้วยโรงอบพลังแสงอาทิตย์ เป็นวิธีที่ทำให้ได้พริกที่มีคุณภาพดี สีสวย ก้านพริกแห้งสีทองไม่ดำ สะอาดไม่มีฝุ่นจับอบได้ครั้งละ 400 กก. ใช้เวลาอบประมาณ 3 วัน
- ในกรณีที่เก็บพริกแก่จัด แต่ไม่แดงตลอดทั้งผลให้นำพริกใส่รวมกันในเข่งหรือกระสอบปุ๋ยบ่มไว้ในที่ร่มประมาณ 2 คืน เพื่อทำให้พริกสุกสม่ำเสมอกัน หลังจากนั้นทำให้แห้งได้ตามกรรมวิธีข้อ 1 4
บทความจาก
สนง.เกษตรอำเภอท่าวังผา