พลับพลึงธาร หนึ่งเดียวที่คลองนาคา

29 ธันวาคม 2558 ไม้น้ำ 0

พลับพลึงธาร เป็นพืชที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง พบตามลำธารที่น้ำใสสะอาด และมีน้ำไหลตลอดปี ความลึกไม่เกิน 2 เมตร เติบโตได้ดีในลำธารที่โล่งมีแสงแดดส่องเต็มที่ พบได้เฉพาะที่คลองนาคา จัดเป็นพืชถิ่นเดียวที่พบเฉพาะประเทศไทย ไม่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติไปขึ้นอยู่ในประเทศอื่น

พลับพลึงธาร (Crinum thaianum J. Schulze.) เป็นพืชน้ำอยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae)
ชื่อสามัญ คือ Water Onion, Water lily, Thai Water Onion, Onion Plant และ Yellowish leaves lily
ชื่ออื่นๆ ที่เรียกในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ หญ้าช้อง หอมน้ำ (ระนอง) ช้องนางคลี่ (บ้านนางย่อน)

พลับพลึงธาร จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบเฉพาะในเขตพื้นที่ของจังหวัดระนอง ได้แก่ อำเภอกะเปอร์และอำเภอสุขสำราญ ส่วนจังหวัดพังงา พบเฉพาะเขตพื้นที่ของอำเภอคุระบุรีและตะกั่วป่าเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ขึ้นกระจายพันธุ์อยู่ในระบบนิเวศเฉพาะ เช่น บริเวณลำธารที่มีน้ำไหล สะอาด บริเวณช่วงกลางคลองที่เชื่อมต่อจากพื้นที่ต้นน้ำ พื้นท้องน้ำไม่ลาดชันมาก และไม่พบการกระจายพันธุ์บริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง

plubplaungtarn plubplaungtarndoks

พลับพลึงธารเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว สังเกตจากระบบรากซึ่งเป็นรากฝอย ลำต้นอยู่ในน้ำมีข้อปล้องชัดเจน ลักษณะของใบเรียวยาว เส้นใบเรียงกันแบบขนาน ดอกของพลับพลึงธาร ดอกเป็นชนิดดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้ง กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ เกสรเพศเมีย ครบทุกส่วนในดอกเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อ มีก้านช่อดอกของแต่ละดอก ดอกมีสีขาวมี 6 กลีบ มีก้านชูอับเรณู เกสรเพศผู้ 6 อัน เกสรเพศเมียอยู่กลางดอก1 อัน ผลไม่เชื่อมติดกัน จัดเป็นผลเดี่ยว

พลับพลึงธาร ถือได้ว่าเป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยพบได้เฉพาะที่จังหวัดระนองตอนล่างและพังงาตอนบน ในจังหวัดระนองพบที่คลองนาคา ตำลนาคา อำเภอสุขสำราญ และที่คลองบางปรุ ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ ส่วนที่จังหวัดพังงา พบที่คลองตาผุด บ้านห้วยทรัพย์ คลองสวนลุงเลื่อน ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี คลองนายทุย คลองบ้านทับช้าง คลองบ้านโชคอำนวย ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี และตามคลองย่อยต่างๆ ในเขตรอยต่ออำเภอคุระบุรีและอำเภอตะกั่วป่า เป็นพืชเฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใหนในโลก ปัจจุบันพบเหลือแค่ 1% เท่านั้น และพบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี 2554 สาเหตุของการลดลงเนื่องจาก การเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ และจากสาเหตุการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

plubplaungtarnchor

พลับพลึงธาร จะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงหน้าแล้งของพื้นที่อันดามันตอนบน ประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ส่วนตามคลองเล็กๆ สาขาย่อย ๆ ดอกจะเริ่มบานตั้งแต่กลางเดือนกันยายน อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าในเดือนตุลาคมยังมีฝนตกหนัก พลับพลึงธารจะปรับตัวและชลอการออกดอกออกไป จนกว่าถึงช่วงที่แล้งจริงๆ เพื่อที่ไม่ให้กระทบต่อการผสมเกสรและการขยายพันธุ์นั่นเอง

พลับพลึงธารจะขึ้นได้ดีในอุณหภูมิของน้ำประมาณ 18-28 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำระหว่าง 5.5-9 และเป็นพื้นที่ที่มีต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นลำคลองที่มีน้ำใสสะอาด และมีการไหลเวียนของน้ำดีแต่กระแสน้ำไม่แรงมากเกินไป พลับพลึงธาร ถือว่าเป็นดรรชีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและลำคลองได้ ดอกมีความสวยงามประกอบกับความหายาก และแปลกประหลาด จึงทำให้พลับพลึงธารได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ”

พลับพลึงธารมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “หัวหญ้าช้อง” ปัจจุบันนิยมเรียกว่าพลับพลึงธาร มากกว่าหอมน้ำ เพราะมีดอกคล้ายดอกพลับพลึง แต่ขึ้นอยู่ในน้ำ ซึ่งสถานะของพลับพลึงธารยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES และไม่ได้รับการการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใดใดในประเทศไทย และแม่น้ำลำคลองที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพลับพลึงธาร ก็ยังไม่มีกฎหมายใดใด ให้การคุ้มครอง อย่างไรก็แล้วแต่ ในระดับพื้นที่ ชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ในหมู่บ้านที่พบพลับพลึงธาร ได้มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟู และมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ห้ามการขุดหาหัวพลับพลึงธารเพื่อการค้า เช่น ชมรมเพลินไพรศรีนาคา กลุ่มอนุรักษ์คลองบางปรุ กลุ่มอนุรักษ์บ้านห้วยทรัพย์ กลุ่มอนุรักษ์บ้านนายทุย และกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางซอย เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำอันดามันตอนบน

plubplaungtarndkoso

พลับพลึงธารขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ในการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ เมื่อละอองเรณูเกสรเพศผู้ มาตกบนยอดเกสรเพศเมีย ละอองเรณูจะค่อยๆงอกเป็นหลอดเล็กๆ ภายในหลอดมีเซลล์สืบพันธ์เพศผู้ หลอดละอองเรณูงอกแทงลงไปยังรังไข่จนถึงออวุลซึ่งมีเซลล์ไข่อยู่ เมื่อเซลล์สืบพันธ์เพศผู้เข้าผสมกับเซลล์ไข่ ทำให้เกิดการปฏิสนธิ หลังเกิดการปฏิสนธิ รังไข่จะเจริญเติบโตเป็นผล ออวุลจะเจริญเติบโตเป็นเมล็ด แต่ละรังไข่จะมี 1 ผล แต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ข้างใน 2-4 เมล็ด เพื่อขยายพันธ์ต่อไปในธรรมชาติ เมื่อเมล็ดพลับพลึงธารหลุดล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เมล็ดก็จะแตก และไปติดอยู่กับ ซอกหิน ต้นไม้ หรือริมตลิ่ง จากนั้นก็จะงอกเป็นต้นพลับพลึงธารต่อไป

plubplaungtarnlamplubplaungtarnnam

ส่วนการขยายพันธุ์ แบบอาศัยไม่เพศ หัวพลับพลึงธารที่อยู่ใต้ดินในลำน้ำซึ่งเป็นต้นแม่สามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่ ได้ อีกวิธีหนึ่ง คือ วิธีการผ่าแบ่งหัว นำหัวพลับพลึงธารมาผ่า เป็นหลายๆซีก หัวหนึ่งอาจได้ถึง 32 ซีก แล้วนำไปเพาะไว้ในบ่ออนุบาล และอีกส่วนหนึ่งได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากห้อง ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและโรงเรือนปลูกเลี้ยงพรรณไม้น้ำ ของกลุ่มงานวิจัยพรรณไม้น้ำ สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ จนเจริญเติบโตเต็มที่จึงนำไปปลูกในคลอง ต่อไป

plubplaungtarnhao plubplaungtarnkla plubplaungtarnklas

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้น้ำ

แสดงความคิดเห็น