พลูคาวจะเป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันดีของทางภาคเหนือของไทย เนื่องจากลักษณะต้นที่มีกลิ่นคาวจึงมีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นว่าผักคาวตอง นิยมนำมารับประทานเป็นผักจิ้มปลาร้าและลาบ สำหรับทางภาคกลางไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก พลูคาวมีชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ คือ ภาคเหนือ เช่น ผักเข้าตอง ผักคาวตอง หรือ ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) และผักคาวปลา เป็นต้น ภาคกลาง มีชื่อเรียก เช่น ผักคาวทอง และ พลูคาว เป็นต้น
พลูคาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Houttuynia cordata Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ (family) Saururaceae เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกอายุหลายปี พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชียตั้งแต่แถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเวียดนาม รวมทั้งไทยและญี่ปุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Houttuynia cordata Thunb.
ชื่ออื่นๆ คาวตอง(ลำปาง,อุดร) คาวทอง(มุกดาหาร,อุตรดิตถ์) ผักก้านตอง(แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าตอง ,ผักคาวตอง ,ผักคาวปลา(ภาคเหนือ) พลูคาว(ภาคกลาง)
วงศ์ SAURURACEAE
พลูคาวจัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก ลำต้นสีเขียว สูงประมาณ 15 20 ซม. ส่วนโคนที่แตะดินจะมีรากงอกออกมาตามข้อของลำต้น ออกใบเดี่ยวเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนใบเว้าขอบใบเรียบมีสีเขียว ท้องใบจะมีลายเส้นสีม่วงอ่อน ๆ ขนาดของใบ กว้างประมาณ 3.75 – 6.25 ซม. ยาว 3.75 – 7.50 ซม. ก้านใบยาว 1.25 – 3.75 ซม. ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้นประกอบด้วยดอกเล็กๆจำนวนมากติดกันแน่นเป็นแท่งทรงกระบอกยาวประมาณ 1 นิ้ว มีสีขาวออกเหลือง และในแต่ละข้อช่อนั้นจะมีกลีบรองดอกสีขาวอยู่ 4 กลีบ แต่ละกลีบยาว 1 นิ้ว ปลายกลีบมน เมื่อดอกแก่หรือร่วงโรยไปก็จะกลายเป็นผล ซึ่งจะมีลักษณะกลมรี ปลายผลแยกออกเป็น 3 แฉก รวมตัวเรียงกันแน่นยาวเป็นรูปทรงกระบอก เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นในดินที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำทั่วไปสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นและปักชำ
สรรพคุณในตำรับยาไทย
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
พลูคาว จากการศึกษาองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินของพลูคาวโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ พบว่าประกอบไปด้วยสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก 3 ชนิด คือ capryl aldehyde, 2-undecanone และ lauryl aldehyde โดยปริมาณของสารในน้ำมันหอมระเหยที่พบในพลูคาวจากแต่ละท้องถิ่นนั้นมีองค์ประกอบเหมือนกันแต่พบในสัดส่วนปริมาณที่แตกต่างกัน ดังมีรายงานปริมาณของ capryl aldehyde และ lauryl aldehydeที่พบในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่าที่พบในประเทศญี่ปุ่น ส่วนพลูคาวที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณของ 2-undecanone มากกว่าพลูคาวที่ปลูกในประเทศไทย การที่สารในน้ำมันหอมระเหยมีสัดส่วนของปริมาณที่แตกต่างกันอาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม พื้นที่ สภาพอากาศที่แตกต่างกัน จากคุณสมบัติของพลูคาวในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุการเกิดโรคต่างๆของคน จึงได้มีการทดลองนำพลูคาวมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการนำมาควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช โดยพบว่าสารคาพริลแอลดีไฮด์ (capryl aldehyde) ซึ่งได้จากการสกัดใบพลูคาวที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทนซึ่งเป็นตัวทำละลายไม่มีขั้ว สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Cladosporium cladosporioides และ Colletotrichum gloeosporioides ในห้องปฏิบัติการได้ นอกจากนี้การใช้สารสกัดจากใบพลูคาวโดยใช้ตัวทำละลายชนิดมีขั้ว คือ เมทธานอล ความเข้มข้น 50 และ 100 เปอร์เซ็นต์ และเอทธานอล 95 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสารออกฤทธิ์ที่ตรวจพบเป็นสารประกอบพวกกรดเมทธิลเอสเทอร์ และนอกจากนี้การนำมาประยุกต์ใช้โดยการแช่ใบในเหล้าขาว 35 ดีกรี ก่อนนำมาแยกกากออก พบว่าสารสกัดหยาบสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Alternaria brassicicola และเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ได้ผลดีเช่นกัน แต่สารออกฤทธิ์ที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วนั้นค่อนข้างจะไม่เสถียรหากถูกทิ้งไว้นานๆ เนื่องจากมีโอกาสถูกออกซิไดซ์โดยออกซิเจนในอากาศได้ง่ายและจะเสื่อมคุณสมบัติไปในที่สุด ดังนั้นการนำมาใช้ประโยชน์ควรนำมาใช้ทันทีเช่นการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งเชื้อโรคหรือใช้สำหรับแช่เพื่อกำจัดเชื้อที่ติดมากับท่อนพันธุ์หรือต้นกล้า
คาวตอง กินแล้วตาที่พร่ามัวของคนแก่จะดีขึ้น
ไม่ว่าใครจะพูดถึงสรรพคุณของคาวตองว่ามีมากมายอย่างไร แต่ถ้าไปถามพ่อหมอฉล่าซู่ หมอยาไทยใหญ่แห่งตำบลเปียงหลวงแล้ว ท่านก็จะยืนยันว่า คาวตองแก้คนแก่ตาพร่า ฝ้าฟาง พร่ามัว โดยนำผักคาวตองมารับประทานเป็นประจำ เป็นอาหารประจำวันทุกวัน พ่อหมอฉล่าซู่บอกว่าถ้ารับประทานหมด ๓ จ้อย (๑ จ้อยประมาณ ๑.๖ กิโลกรัม) จะทำให้คนแก่ที่ตามัวมองเห็นได้ชัดถึงขั้นเอาด้ายใส่ในรูเข็มได้สบาย ท่านบอกเคยเห็นมาแล้ว
คาวตอง ผักเป็นยา ยาเบาหวาน ยาความดัน ยาริดสีดวง ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร
หมอยาทั่วไปทั้งหมอยาอิสาน ภาคเหนือหรือไทยใหญ่ มีความเชื่อว่าการกินคาวตองสดๆ กับน้ำพริก ลู่ ลาบ หรือใช้รากต้มกับปลาไหล รากตำเป็นน้ำพริกกินจะเป็นยารักษาได้หลายโรค เช่น เบาหวาน ขับปัสสาวะ ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร แผลในกระเพาะอาหาร ส่วนหมอยากะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก นอกจากจะเชื่อว่าการกินคาวตองเป็นผักจะทำให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยบำรุงเลือดให้สตรีที่ตกเลือดหลังคลอด รับประทานแล้วจะเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลดังเดิม
คาวตองรักษาโรคผิวหนังอักเสบ แมลงสัตว์ กัดต่อย ไล่เหา หมัด
คาวตองยังนิยมใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แผลเปื่อย โดยการนำต้นสดตำพอก เปลี่ยนยาวันละ ๒ ครั้ง นอกจากนี้เมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย อักเสบช้ำบวม กระดูกหัก หมอยาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นตำพอกไว้ เปลี่ยนยาวันละสองครั้ง นอกจากนี้คาวตองยังมีสรรพคุณในการไล่หมัดและเหาโดยการตำคั้นน้ำมาหมักผมไว้ เหาและหมัดก็จะหลุดออกมา
พลูคาว เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ต้านมะเร็ง
ประมาณปี ๒๕๔๗ เภสัชกรปราณี ชวลิตธำรง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้น ได้ฝากให้ช่วยหาคาวตองจากจังหวัดเชียงใหม่มาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อนำมาศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐาน จึงทำให้สนใจในสรรพคุณทางยาของคาวตองมากขึ้น และเพิ่งได้รู้ว่าคาวตองเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัย และมีการจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง ทั้งในแง่ของการเป็นยาและเครื่องสำอาง การเป็นยาที่สำคัญคือการเป็นยารักษามะเร็ง ซึ่งในการรักษามะเร็งนี้ได้เคยมีชาวบ้านเล่าให้ฟังอยู่บ้าง มีทั้งการต้มกินน้ำและการกินสดๆ
นอกจากมีการศึกษาวิจัยพลูคาวในแง่ของการเป็นยารักษามะเร็งแล้ว คาวตองยังเป็นความหวังในการรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากคาวตองมีผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันและน้ำมันหอมระเหยของคาวตองยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลอง มีหมอยาเมืองเลยเคยบอกว่า ในการรักษาหวัดคัดจมูก ปวดหัว ตาพร่ามัว ให้ขยี้ใบคาวตองและใบผักแพวดม อาการจะดีขึ้น
สรรพคุณทางยาของพลูคาวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องราวที่รู้มาจากบรรดาพ่อหมอยาที่ได้มีโอกาสไปสัมพันธ์ พบปะพูดคุยด้วย นอกจากสรรพคุณเหล่านั้นแล้ว ในตำรายาพื้นบ้านยังระบุว่า พลูคาวใช้ทั้งต้นรักษาฝีหนองในปอด ปวดศีรษะ แก้บิด ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แผลเปื่อย และใช้พอกในรายกระดูกหัก ส่วนชาวเขาใช้แก้ไข้มาลาเรีย ใบแก้บิด หัด แก้โรคผิวหนัง ทำให้น้ำเหลืองแห้ง รักษาริดสีดวงทวาร และหนองใน รากขับปัสสาวะ อย่างไรก็ตามมีการบันทึกตำรับยาแผนโบราณที่มีพืชนี้ภายใต้ชื่อคาวตองหรือพลูแกเป็นส่วนประกอบอยู่หลายขนาน เช่น ตำรับยาแก้น้ำมูกพิการ ยาแก้ขัดเบา ยามหาระงับพิษร้าย ยาแก้พิษหละจับหัวใจ และยาแก้ลมปะกัง เป็นต้น
การใช้คาวตองเป็นยาตามสรรพคุณข้างต้นนั้นมีความคล้ายคลึงกันในหลายประเทศ เช่น ประเทศในแถบอินโดจีน ที่ใช้ทั้งต้นบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้ลมพิษ ใบใช้แก้บิด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการใช้ของจีน ที่ใช้ใบหรือทั้งต้นขับปัสสาวะ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอและบิด ต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ
ในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ใช้ทั้งต้นเป็นยาลดไข้ ขจัดสารพิษ รักษาแผลในกระเพาะและลดการอักเสบ ในประเทศเกาหลียังใช้พลูคาวเป็นยาลดความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็งตัวเนื่องจากมีการสะสมของไขมัน (atherosclersis) และมะเร็ง ส่วนเนปาลใช้ลำต้นใต้ดินในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของสตรี ขับระดู ใช้ทั้งต้นเป็นยาย่อยอาหาร บรรเทาอาการอักเสบ ใบใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง แก้บิดและริดสีดวงทวาร ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากคาวตองของหมอพื้นบ้านในแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
การขยายพันธุ์โดยปักชำ ชอบขึ้นตามริมห้วย หรือที่ชื้นแฉะริมน้ำ
เอกสารอ้างอิง
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน, สมุนไพร