พัฒน์ อภัยมูล ปราชญ์แห่งลุ่มน้ำแม่ทา

11 กุมภาพันธ์ 2556 ปราชญ์ของแผ่นดิน 0

นายพัฒน์ แกนนำเกษตรยั่งยืน ของบ้านแม่ทา เป็นคนแรกที่ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการขายมาสู่วิถีการเกษตรแบบยั่งยืน มีจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง ในช่วงปี 2529 เริ่มจากได้เห็นปัญหาและปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร โดยใช้เวลาอยู่ 3 4 ปี กว่าจะเห็นผล และเริ่มมีคนยอมรับกับสิ่งที่ทำ แรก ๆ ก็เริ่มทำกันในหมู่คนใกล้ชิดก่อน และค่อยขยับขยายเพิ่มขึ้น เพื่อนๆ เห็นว่าทำเท่ากันแต่อยู่ได้ มีเงินเหลือ ก็เลยมีคนเข้ามาทำแบบนี้ด้วยกัน ช่วยแนะนำกันไป ทำกันไปเรียนรู้กันไป เรียนรู้เองบ้าง ลองผิดลองถูกบ้าง เรียนรู้จากคนอื่นบ้าง จนถึงทุกวันนี้

เกิดในครอบครัวชาวนามีฐานะยากจน เมื่ออายุ 11 ปี พ่อได้เสียชีวิตลง ต่อมาเมื่ออายุได้ 12 ปีก็เริ่มช่วยงานครอบครัวอย่างเต็มตัว มีการดำรงชีวิตด้วยการปลูกผักอาทิ ขิง และมะเขือเทศแต่ไม่ได้ผลมากนัก ต่อมาจึงหันมาปลูกถั่วฝักยาวและถั่วลันเตาก็เป็นพืช ซึ่งสุดท้ายก็เหมือนเดิม ขายไม่ได้ราคา ไม่ผ่านมาตรฐานที่โรงงานรับชื้อ ส่งผลให้ยิ่งทำยิ่งจน

ต่อมาจึงเกิดความคิดว่าต้องสร้างระบบความมั่นคงทางการเงินและความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กัน จึงได้เริ่มลงมือ ปรับพื้นที่สวน ที่มีหินจำนวนมาก กลับมาวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตัดสินใจปลูกกล้วยและพืชผักอื่นๆ นำทุกอย่างที่กินได้มาปลูกตามแต่ละช่วงฤดู เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เป็นอาหารสำหรับครอบครัวและขายเอาเงินมาใช้จ่ายในแต่ละวัน

ต่อมาพ่อพัฒน์กลายเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่เข้าร่วมการรวมกลุ่ม ก็มาคิดหาทางออกร่วมกันกับแกนนำในชุมชนก็พบว่า การสร้างกลุ่มต่างๆ ให้เข้มแข็งขึ้นมาได้นั้นจะต้องเข้าใจพื้นฐาน อันเป็นธรรมชาติของการรวมกลุ่มว่ามีอยู่สามพวกคือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ กลุ่มที่เสียประโยชน์และกลุ่มที่แก้ปัญหา ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

พ่อพัฒน์ได้เรียนรู้จากองค์กรพัฒนาเอกชน ในเรื่องการรวมกลุ่ม คือเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และเรื่องของการสร้างแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหาร จากชีวิตที่ต้องล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด พ่อพัฒน์ก็เริ่มวางแผนระบบคิดการใช้ชีวิตใหม่ว่าจะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง และมั่นใจว่าจะสามารถอยู่ได้ เลี้ยงลูกได้ เนื่องจากเมื่อก่อนพ่อของพ่อพัฒน์ไม่มีเงินแม้แต่จะชื้อรองเท้าให้ใส่แต่ว่ามีข้าวให้กิน เลี้ยงมาจนโต ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินสักบาท

เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็เริ่มวางแผนค่าใช้จ่าย ทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยแบ่งออกมาเป็นช่อง คือ ช่องที่หนึ่งรายรับ ช่องที่สอง ค่าอาหาร ช่องที่สาม ค่าเล่าเรียนของลูก ช่องที่สี่ ภาษีสังคม ช่องที่ห้า ยอดเงินคงเหลือ และเริ่มวิเคราะห์รายรับรายจ่ายก็พบว่ายังมีหนี้อยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย หรือที่เรียกว่า สัญญาณไฟแดง หากไม่แก้ไขก็จะเกิดปัญหา อาจจะต้องขายบ้านเพื่อไปใช้หนี้ แต่หากว่าไม่ขายก็ต้องหันมาประหยัด

ณ วันนี้ พ่อพัฒน์ชวนมอง คำนิยามของการเป็นเศรษฐีเสียใหม่ ว่า ความร่ำรวย ไม่ใช่เรื่องของการร่ำรวยเงินทอง แต่คือการร่ำรวยความสุข ครอบครัวมีอยู่มีกิน ไม่มีหนี้สิน มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

patapaimoon

กว่าจะมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้รับรางวัลเกษตรต้นแบบของการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และรางวัลครอบครัวพัฒนาดีเด่นในวันนี้ วงจรชีวิตของ พัฒน์ อภัยมูล ก็ไม่ต่างจากเกษตรกรค่อนประเทศที่วนเวียนซ้ำซากอยู่กับการขาดทุนและภาระหนี้สิน

แต่วันนี้ที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้อีกแห่ง ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ได้ พัฒน์ อภัยมูล เล่าว่า ตอนยุคก่อนปฎิวัติเขียว เกษตรกรทั้งหลายพยายามวิ่งตามบริษัทและการปลูกพืชเชิงเดียว เช่นเดียวกับตนที่เคยปลูกยาสูบ ถั่วลิสง มะเขือเทศ ข้าวโพดอ่อน และอีกสารพัด แต่ก็ไม่เคยหลีกพ้นความจนแม้จะขยันแค่ไหนก็ตาม

พ่อเองผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะไม่ว่าจะปลูกสารพัด ใครเขาบอกว่าความจนไม่มีอยู่ในฝูงชนคนขยันนั้น แต่พ่อยิ่งทำกลับยิ่งจน พอทำเยอะก็ต้องลงทุนเยอะ แต่พอขายผลผลิตกลับตรงกันข้าม ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เราอยู่ไม่ได้ก็ขาดทุน ยิ่งขยันยิ่งขาดทุน พ่อลองจดต้นทุนการผลิต มันเหลือแค่วันละ 12 บาท นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อต้องไปกู้ยืมเขา เป็นหนี้เกือบ 200,000 บาท ในยุคนั้นนะ ถ้าเป็นค่าเงินตอนนี้ก็คงสัก 2 ล้านบาทได้ พ่อพัฒน์ ย้อนความหลังให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่บังคับให้ชีวิตต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

พ่อนะ เครียดมากนะ ก็คุยกับแม่ว่าไม่ไหวแล้วเราต้องกลับไปทำเกษตรแบบเดิมแล้วล่ะ เหมือนสมัยคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราปลูกไว้กิน ถึงไม่มีเงินเราก็อยู่ได้ เพราะมีอาหาร แล้วพ่อก็ลงมือทำเลย ปี 2529 ทำเต็มรูปแบบ พอปีต่อมาก็ได้ขายผลผลิตแบบเป็นเรื่องเป็นราว จำได้ดีเลยวันนั้นเราเอากล้วย หัวปลี ใบตอง มะเขือ ชะอม พริก ผักกาด และคะน้า ไปขายที่ลำพูน วันนั้นวันเดียวขายได้เงิน 2,500 บาท ดีใจกันมาก

หลังหักดิบตัวเองจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเริ่มเก็บเกี่ยวดอกผลจากหยาดเหงื่อแรงกายที่ทุ่มเท ครอบครัวอภัยมูลก็ยึดวิถีเกษตรธรรมชาติเป็นเข็มทิศมาโดยตลอด

เงินก้อนแรก 2,500 บาท ถูกแบ่งหยอดกระปุกออมสินเพื่อเก็บไว้ปลดหนี้หลักแสน ซึ่งสามารถทำได้ในอีก 2-3 ปีต่อมา เมื่อนำเงินจากออมสินไปซื้อวัวมาเลี้ยง เพียง ๒ ปีครึ่งก็ขายวัวยกคอก ได้เงินเกือบ 300,000 บาท หลังจากนั้น ไม่เพียงปลอดหนี้แต่ครอบครัวพ่อพัฒน์ยังสามารถเก็บเงินซื้อที่นาที่สวนประมาณ 40 ไร่ รวมทั้งซื้อที่ดินและสร้างบ้าน

เมื่อมองเห็นว่านี่คือทางรอดของเกษตรกร พ่อพัฒน์ก็เริ่มขยายและเผยแพร่ความรู้ออกไปเรื่อยๆ มันลดรายจ่ายได้จริงๆ นะ เพราะไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง หรือรถไถ เลิกหมด พอสภาพดินดี ปลูกอะไรก็ได้ขาย แต่ต้องปลูกหลากหลายนะ อัตราเสี่ยงการตลาดจะได้น้อย คนโบราณถึงบอกไว้ว่า ดักไซต้องหลายหลัง ถ้าไม่ได้แกงอ่อมก็ได้ตำน้ำพริก อย่างน้อยเราก็ปลูกสิ่งที่ชอบกิน พอไม่ต้องซื้อรายจ่ายก็ลดลง เหลือกินเราก็แบ่งปัน เหลือจากแบ่งปันเราก็ขาย เข้าหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวหมดเลยนะ

ทุกวันนี้ผักของพ่อพัฒน์ถูกนำไปขายในตัวเมืองเชียงใหม่เป็นประจำ ช่วงเช้าวันพุธและเสาร์ขายที่ตลาดเจเจ วันอาทิตย์ขายที่ตลาดหนองหอย ส่วนวันอื่นๆ ขายที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย เรียกได้ว่าถ้าผลผลิตมีมากพอจะไปขายวันไหนก็ได้ เพราะตลาดพืชผักอินทรีย์มีพอจนแทบปลูกไม่ทัน

ทุกวันนี้การผูกขาดเรื่องอาหารยังอยู่ในมือบริษัทใหญ่ๆ ขณะเดียวกันเกษตรกรรายย่อยก็ถูกผู้บริโภคทำลายด้วยการออกมาโวยวายกดดันเมื่อราคาผักหรือไข่แพง เมื่อเพาะปลูกขาดทุนสะสมก็เลยกลายเป็นหนี้แบบยั่งยืน มีแต่จะถูกทำลายและตายไปเรื่อยๆ

พวกเราก็เลยรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเมื่อปี 2532 ก่อนจะรวมเป็นสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ในปี 2544 จากนั้นก็จัดตั้งเป็นสถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทาอย่างทุกวันนี้ เป้าหมายเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของตำบลแม่ทา เรามีการถอดบทเรียนประสบการณ์มาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อนำไปสอนลูกหลานและให้ความรู้แก่คนภายนอกที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ

พ่อพัฒน์ยืนยันว่า ความมั่นคงของครอบครัวคือต้องมีที่ดินทำกิน ต้องมีความมั่นคงทางอาหาร แล้วเงินจะมาเอง

พ่อบอกลูกสาวเสมอว่า ลูกจบปริญญามานะ พ่อเองจบแค่ป.4 ยังทำได้ขนาดนี้ ถ้าลูกยังทำให้จนอยู่ ก็ช่างเถอะ พ่อทำใจได้ แต่พ่อก็เชื่อว่าลูกสาวพ่อไม่จนแน่ๆ เพราะทุกวันนี้ถ้ามองว่าเรามีความมั่นคง มีสุขภาพดี มีกินมีอยู่ เราก็เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยความสุขแล้ว

ที่แม่ทามี 103 ครอบครัวที่ทำเกษตรแบบพ่อพัฒน์ แล้วก็มีอีกมากที่ขยายไปทำในพื้นที่อื่นๆ ทั้งอำเภอแม่แตง แม่ริม สะเมิง จังหวัดเชียงราย ฯลฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่พ่อพัฒน์เล่าว่าได้อะไรมาก็ไม่เท่าได้ความภูมิใจที่ช่วยให้คนอื่นมีอาหารกิน

สิ่งที่พ่อได้คือ ความภาคภูมิใจที่ไปช่วยให้เขามีอาหารกิน นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก พ่อมีความสุขมากที่เห็นเขาพึ่งพาตัวเองได้ บางครั้งการทำบุญก็ไม่จำเป็นต้องทำที่วัดอย่างเดียว พ่อไม่ได้มีความรู้อะไร แต่ทุกอย่างก็ทำมากับมือ ที่พูดได้ก็เพราะทำเอง

อย่างไรก็ตาม พ่อพัฒน์กล่าวว่า การทำการเกษตรเหล่านี้คงสูนย์สิ้นหากไม่มีผู้สืบทอดให้คงไว้ ดังนั้นการทำงานขั้นต่อไป ไม่ใช่เพียงทำการเกษตรอย่างเดียวแต่ต้องมีการสอนรุ่นต่อไป

patapaimoonl

ทุกวันนี้การเกษตรแบบนี้มันต้องมีผู้สืบทอด เราใช้วิธีปลูกจิตสำนึกคนรุ่นลูกรุ่นหลาน สอนเขาให้เรียนรู้ พอรู้แล้วพวกเขาจะมีความมั่นใจและลงมือทำ แล้วเขาก็จะพึ่งพาตัวเองได้ ดูแลพ่อแม่ได้ พ่อว่ามันมีความหมายมาก เมื่อครอบครัวได้มีเวลาได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

พ่อพัฒน์ทิ้งท้ายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอย่างมีความหวังว่า ตลอดอายุ 58 ปีที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะบทบาทไหน ถ้าตายไปก็หวังว่าลูกหลานจะสืบทอดต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น