แหลม หรือ พูนศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นลูกชาวนาธรรมดาๆ คนหนึ่งแห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 แล้ว “แหลม” ก็ได้เดินตามกระแสสังคม ก้าวเดินออกจากบ้านเข้ามาหางานทำในเมือง และประกอบอาชีพ “ช่างซ่อม” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองว่า ดูดี และทำเงินได้อย่างรวดเร็ว เขาได้เป็นช่างซ่อมประจำร้านในเมือง ก่อนจะเปิดร้านรับซ่อมเองที่บ้าน มีกำไรพอสมควร
จนเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง “แหลม” กลับมองว่า การเป็นลูกจ้างคนอื่น ไม่ใช่หนทางที่เขาอยากจะเลือกเป็น และเริ่มคิดว่า เขากำลังตกเป็นทาสของระบบทุนนิยม ตกอยู่ในวังวนของการเอารัดเอาเปรียบจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาไม่สบายใจ และนั่นทำให้ “แหลม” เริ่มมองหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
หลังจากสับสนในชีวิตอยู่พักใหญ่ “แหลม” ก็ได้ไปดูงานของ “พ่อใหญ่เชียง น้อยไท” ชาวนาอาวุโสแห่งจังหวัดสุรินทร์ และเห็นแปลงเกษตรที่มีทั้งปลูกพืช สมุนไพร หลากหลายอย่าง ความประทับใจในครั้งนั้นทำให้ “แหลม” เริ่มมองเห็นความจุดมุ่งหมายของตัวเอง
“การเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน” คือคำตอบสุดท้ายของ “แหลม” ทั้งที่เขาไม่เคยมีความคิดว่า จะทำนาเหมือนดังเช่นพ่อแม่ของเขามาก่อนเลย นั่นทำให้เขาเริ่มปรับเปลี่ยนชีวิตของตัวเองอีกครั้ง เขาตัดสินใจหันหลังให้กับการทำงานในเมือง ที่ใครๆ ต่างพากันยื้อแย่งเพื่อที่จะก้าวไปสู่ดินแดนศิวิไลซ์เช่นที่ “แหลม” มีโอกาส แต่สำหรับ “แหลม” เขามองว่า การพึ่งตัวเองได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
แหลมตัดสินใจพาเรณูผู้เป็นภรรยา และลูกชายที่อยู่ในวัยเรียนทั้ง 2 คน หันหลังให้กับระบบนายทุนที่มีความสัมพันธ์กันแค่เปลือกนอก หวนกลับสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คือ อาชีพชาวนา โดยยึดเอากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่พอเพียง และทำไร่นาสวนผสมมาเป็นแนวทางให้กับชีวิต โดยไม่สนใจต่อคำสบประมาทของชาวบ้าน ที่มองว่าเป็น ผีบ้า
“คนในหมู่บ้านมองว่าผมเป็นผีบ้า เพราะกลางคืนเดือนแจ้ง ผมจะลงไปขุดดินทำหลุมปลูกผัก บางวันก็ทำงานไม่หยุด เพราะต้องการที่จะให้มันเกิดผลเร็วๆ ให้พื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นสีเขียวให้ได้ แล้วที่สำคัญผมต้องการพิสูจน์ให้ชาวบ้านที่เขาปรามาสไว้ว่า ไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ผมจะทำให้ได้…”
สิ่งที่ “แหลม” ทำสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของแหลม คือเขาไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการ ก็สามารถหาได้จากไร่นาของเขา และความหลากหลายของการทำเกษตรก็ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ เพราะสามารถเก็บผลผลิตไว้ทานเอง ให้เพื่อนบ้าน หรือจะนำไปขายก็ได้
“การทำอย่างนี้มันเหมือนกับเราฉีกสังคม แต่สังคมที่เราฉีกไปหาก็คือบรรพบุรุษของเรา มันคือรากเหง้าของเราเอง ถ้าทำเกษตรอินทรีย์แบบจริงๆ จังๆ นะ เราจะหลุดพ้นจากระบบนายทุนอย่างเต็มตัวเลย ทำนาง่ายนิดเดียว ลงแรงก็จริง เหนื่อยก็จริง แต่ก็แค่เดือนครึ่ง พอข้าวเต็มยุ้งฉาง เวลาที่เหลือจะนั่งเล่น นอนเล่นก็ได้”
นอกจาก “แหลม” จะยึดแนวคิดพอเพียงมาใช้กับครอบครัวของตัวเองแล้ว เขาเล็งเห็นว่า สิ่งดีๆ เหล่านี้ควรจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย “แหลม” จึงเริ่มถ่ายทอดประสบการณ์การทำนาของตัวเองผ่าน “โรงเรียนอรหันต์ชาวนา” ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้การเกษตรแบบผสมผสาน โดยเริ่มให้ความรู้จากคนในหมู่บ้านก่อน จนเมื่อแนวคิดของเขาได้บอกต่อปากต่อปากไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้มีหลายคนหันมาสนใจการเกษตรแบบพอเพียงมากขึ้น โดยสิ่งที่ “แหลม” เน้นย้ำก็คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่จะทำให้คนอยู่รอดได้
“ความรู้ในวิชาชีพอื่นๆ นั้นถูกเผยแพร่เยอะแล้ว แต่ชาวนามีโอกาสน้อยมากที่จะได้ขึ้นเวทีพูดให้คนอื่นฟัง ผมอยากให้คนอื่นได้รู้กรรมวิธีของชาวนา ให้รู้ว่าเป็นชาวนาแล้วไม่อดตาย” แหลมกล่าวอย่างมุ่งมั่นและภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเขา
แหลมทำนาแบบเกษตรผสมโดยไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดมา 6-7 ปีแล้ว และพยายามยึดหลักวิถีชาวนาดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ปฏิเสธของสมัยใหม่ไปทั้งหมด วิธีการทำนาแบบผสมเขาบอกว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ควาย
ชาวนา ที่ดูถูกควาย ผมไม่คิดว่าเค้าเป็นชาวนา ชาวนาจริงๆ จะคิดว่า ควาย คือเพื่อนที่มีบุญคุณ สำหรับผมกลับยกย่องว่า ควายเป็นครู ผมต่างหากที่คิดว่าตัวเองเป็นศิษย์ของควาย
ทุกวันนี้ แหลมพยายามนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้ร่วมกันในการดำเนินชีวิต และทำนาโดยอาศัยการเกื้อกูลกันของวัฏจักรตามธรรมชาติ และนำความรู้สมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มาก เขามองว่า การทำนาปัจจุบันต้องเอาระบบเก่าและระบบใหม่มาผสมผสานกันชีวิตของ ชาวนาจึงจะสามารถอยู่รอดได้ และการออกไปเปิดหูเปิดตารับข่าวสารข้างนอก ก็ช่วยให้ประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น
ป้ายคำ : ปราชญ์, เศรษฐกิจพอเพียง