มะกล่ำต้น มะกล่ำตาช้าง

26 กุมภาพันธ์ 2558 สมุนไพร 0

มะกล่ำต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบประกอบซ้อน มีใบย่อย ๓-๔ คู่ ใบย่อยเป็นใบประกอบ มีใบย่อย ๕-๙ คู่รูปกลมรีเสมอกันทั้งใบ ขนาดเท่าหัวแม่มือ สีเขียวเข้ม มักออกที่ปลายกิ่ง ดอกช่อสีเหลือง ฝักกลมยาวบิด เมื่อแก่แตกออกเห็นเมล็ดสีแดงสดกลมแป้น มีชนิดเมล็ดเล็กและชนิดเมล็ดโต เกิดตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งทั่วไปขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenanthera pavonina Linn.
ชื่อพ้อง Adenanthera gersenii Scheffer, Adenanthera polita Miq.
ชื่อวงศ์ Leguminosae – Mimosoidaea
ชื่ออื่นๆ มะหล่าม (นครราชสีมา), มะแค้ก, หมากแค้ก (แม่ฮ่องสอน), มะแดง, มะหัวแดง, มะโหกแดง (เหนือ), มะกล่ำตาช้าง, บนซี, ไพ, ไพเงินก่ำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบระยะสั้น สูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นทรงโปร่ง เปลือกต้นหนาสีน้ำตาลอ่อน เปลือกชั้นในนุ่มสีครีมอ่อน

makamtonton

ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปวงรี รูปไข่หรือรูปขอบขนาน มี 8-16 คู่ เรียงสลับ กว้าง 1-3.5 เซนติเมตร ยาว 2-5.5 เซนติเมตร แผ่นใบบาง สีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยง แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ก้านใบย่อยไม่มีหูใบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ฐานไม่สมมาตร ก้านใบสั้น ด้านหลังใบเกลี้ยงสีเขียวอมเทา ท้องใบสีอ่อนกว่ามีนวลเล็กน้อย มีขนนุ่ม ก้านใบหลัก หูใบเล็กมาก หลุดร่วงง่าย

makamtonbai

ดอกช่อ ช่อดอกแคบยาวรูปทรงกระบอก ดอกออกตามซอกใบบนๆ หรือแตกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 7.5-20 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกขนาด 0.3 ซม. กลีบดอกสีเหลืองอ่อนอมครีม ดอกแก่เปลี่ยนเป็นสีส้ม มีขนประปราย ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆในตอนเย็น คล้ายกลิ่นดอกส้ม ออกเป็นช่อเดี่ยวหรือหลายช่อรวมกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาด 2.5-3 มม. เชื่อมกันที่ฐานเป็นหลอด กลีบแคบ ปลายแหลม ก้านดอกสั้นทรงแคบ ส่วนปลายเป็นถ้วยตื้นแยกเป็น 5 กลีบ ก้านดอกยาว 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนคล้ายไหม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย เกสรตัวผู้มี 10 อัน อับเรณูมีต่อมที่ปลาย

makamtondok makamtondoks

ผลเป็นฝัก รูปแถบ แบนยาว กว้าง 8-12 มิลลิเมตร ยาว 15-30 ซม. สีเขียว เมื่อฝักแก่จะแตกสองตะเข็บและบิดม้วนงอเป็นเกลียวแน่นเพื่อกระจายเมล็ด มีรอยคอดตามเมล็ดชัดเจน เมล็ดรูปร่างค่อนข้างกลม แข็ง สีแดงเลือดนกหรือแดงส้ม ผิวมัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 มม. เมล็ดติดอยู่ในฝักเป็นเวลานาน 10-15 เมล็ดต่อฝัก ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม พบตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงประมาณ 50-400 เมตร ยอดอ่อน และใบอ่อน มีรสมัน รับประทานเป็นผักสดกับอาหารได้ หรือนำมาลวกจิ้มน้ำพริก เนื้อในเมล็ดคั่วกินได้ มีรสมัน เนื้อไม้ให้สีแดง ใช้ย้อมผ้าได้

makamtonfag

สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ รสฝาดเฝื่อน ต้มกินแก้ปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ แก้บิด แก้ท้องร่วง เป็นยาสมาน บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วงและบิด เมล็ดและใบ รสเฝื่อนเมา แก้ริดสีดวงทวาร เมล็ด รสเฝื่อนเมา บดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเม็ด กินแก้จุกเสียด แก้หนองใน เมล็ดบดพอกดับพิษฝี บดเป็นผงโรยแผลฝีหนอง ดับพิษบาดแผล ฝนกับน้ำทาแก้อักเสบ แก้ปวดศีรษะ เมล็ดใน รสเมาเบื่อ บดเป็นผง ปั้นเม็ด กินขับพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย เมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออก บดเป็นผงผสมกับยาระบายใช้เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือน หรือพยาธิตัวตืด เนื้อไม้ รสเฝื่อน ฝนกับน้ำทาขมับแก้ปวดศีรษะ กินกับน้ำอุ่นทำให้อาเจียน ราก รสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้ขับเสมหะ แก้หืดไอ แก้เสียงแหบแห้ง แก้สะอึก แก้ลมในท้อง แก้ร้อนใน แก้อาเจียน ถอนพิษฝี

makamtonmed

นิเวศวิทยา ขึ้นกระจัดกระจายในป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบทั่วไป เป็นพันธุ์ไม้เบิกนำที่โตเร็วชนิดหนึ่งของป่าดิบแล้ง ป่าดิบขึ้นและป่าชายหาด มักพบขึ้นทั่ว ๆ ไป ตามที่รกร้างสองฟากทางหลวงทั่วประเทศ โดยเฉพาะบนพื้นที่ที่เป็นเขาหินปูน

ออกดอก มีนาคม – พฤษภาคม ฝักแก่ มิถุนายน – กรกฎาคม

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด
ประโยชน์ เนื้อไม้แข็งและหนัก ไสกบตบแต่งค่อนข้างยาก ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือนต่าง ๆ ใบต้มรับประทานแก้ปวดข้อ กระดูก แก้ท้องร่วงและบิด เมล็ดบดเป็นผงดับพิษ รักษาแผลที่เกิดจากหนอง และฝี ใบและ เมล็ดแก้ริดสีดวงทวารหนัก เปลือกและเนื้อไม้ให้น้ำฝาดย้อมผ้าสีแดง

makamtonyodmakamtonking

ที่มา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น