มะขามเทศเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ส่วนที่เรานำมากินกันนั้นก็คือผลของมัน ที่อยู่ในฝักโค้งเป็นวงกลม รสชาติของมะขามเทศจะออกหวานมัน ผสมรสฝาดนิดๆ กินอร่อยชุ่มคอ และยังมีประโยชน์ตรงที่เป็นผลไม้ไทยที่มีวิตามินอีสูงเป็นอันดับสองรองจากขนุนหนัง และให้วิตามินซีสูงเป็นอันดับสี่ รองจากฝรั่งกลมสาลี่ ฝรั่งไร้เมล็ด และมะขามป้อม ทั้งยังมีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็กช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ทั้งยังมีเส้นใยสูง ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง ไม่เป็นโรคท้องผูกอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว มะขามเทศยังถือเป็นพืชสมุนไพร คนโบราณมักนำเอาเปลือกมาต้มกับเกลือป่นแก้โรคปากเปื่อย ส่วนเปลือกต้นใช้ต้มน้ำเคี่ยวรวมกับเปลือกข่อยและเกลือแกง ใช้อมแก้ปวดฟัน เปลือกใช้ทำยาย้อมผม และยาสระผมได้อีกด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.
ชื่ออื่น: ขามเทศ ขามไทย
วงศ์: LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น สูง 15 ม. เปลือกเรียบและมีหนาม ในตำแหน่งรอยก้านใบ (leaf scar) ลำต้นสีเทาแกมขาวหรือเทาดำ
ใบ ใบเรียงสลับ ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง 0.5-2.5 ซม. ยาว 1.5-4.5 ซม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ขอบใบ 2 ข้างโค้งไม่เท่ากัน ผิวใบเรียบถึงมีขนเล็กน้อย ก้านใบอ่อนมีขนปกคลุม โคนก้านใบมีหูใบคล้ายหนาม
ดอก ดอกช่อเกิดที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ สีเขียวแกมขาว ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อม ติดกันเป็นหลอด เกสรเพศเมีย 1 อัน
ผล ฝักค่อนข้างแบนถึงทรงกระบอกมีรอยคอดตามแนวสัน และเปลือกนูนตามจำนวนเมล็ด ผลขดเป็นวงหรือเป็นเกลียวกว้าง 1-2 ซม. ยาว 5-15 ซม. เนื้อผลเมื่อแก่จัดสีชมพูหรือสีแดง
มะขามเทศในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะฝักเป็นสามกลุ่มคือ
- กลุ่มฝักใหญ่ ฝักโค้งเป็นวงกลมหรือเป็นเกลียว ฝักแก่สีเขียวอ่อน ขาวปนแดงหรือชมพู เนื้อสีขาวปนแดง หวานมัน เนื้อนุ่ม
- กลุ่มฝักกลาง ฝักโค้งเป็นวงกลม ฝักแก่สีเขียวอ่อน ปนชมพูอมแดง รสหวานมัน
- พันธุ์พื้นเมือง ฝักขนาดเล็กสุด โค้งเป็นวงกลม ฝักแก่สีเขียวอ่อนปนชมพู รสหวานอมฝาด
ลักษณะทางธรรมชาติ
- ปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกภาค และทุกฤดูกาล ชอบดินดำร่วนมีอินทรีย์วัตถุมากๆ ให้ผลผลิตปีละรุ่น ยังไม่พบสายพันธุ์ทะวายและยังไม่มีสารหรือฮอร์โมนใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูได้
- ช่วงพักต้นต้องการน้ำพอหน้าดินชื้น แต่ช่วงกำลังมีดอก-ผลต้องการน้ำมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวถ้าขาดน้ำเนื้อจะแห้ง รับประทานแล้วฝืดคอ ถ้ามีการให้น้ำสม่ำเสมอเนื้อจะฉ่ำนุ่มรับประทานได้อร่อยกว่า
- ต้นพันธุ์ดีเสียบยอดบนตอมะขามเทศฝาด แล้วเสริมรากด้วยมะขามเทศฝาดอีก 1-2 ราก นอกจากทำให้มีรากจำนวนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงปริมาณสารอาหารที่ส่งไปเลี้ยงต้นได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยสะสมไนโตรเจน (มะขามเทศเป็นพืชตระกูลถั่ว) ได้มากขึ้นอีกด้วย เมื่อต้นได้รับสารอาหารและไนโตรเจนจากรากเพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้สมบูรณ์ผลผลิตดีอีกต่างหาก
- อายุต้น 5 ปีขึ้นไปปริมาณและคุณภาพผลผลิตจะลดลง แก้ไขโดยตัดแต่งกิ่งแบบทำสาว และตัดแต่งราก หลังจากนั้นก็ให้ตัดแต่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ปีละครั้ง
- ออกดอกติดผลจากปลายกิ่งที่แตกใหม่ในปีนั้นเท่านั้น
- กิ่งแขนงที่ออกตามโคนกิ่งของต้นที่สมบูรณ์จริงๆก็สามารถออกดอกติดผลได้
- ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศผสมกันเองในดอกหรือต่างดอกในต้นเดียวกันหรือต่างต้นได้
- เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
- เป็นผลไม้ที่ออกสู่ตลาดในฤดูกาลที่ไม่ตรงกับไม้ผลเด่นอื่นๆ ยกเว้นไม้ผลทะวายหรือไม้ผลที่บังคับให้ออกนอกฤดูกาลจึงทำให้มะขามเทศไม่มีคู่แข่งทางตลาดและได้ราคาดี
ประโยชน์ของมะขามเทศ
ประโยชน์ของมะขามเทศนั้นมีมากมายเพราะประกอบไปด้วยวิตามินแลแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก โปรตีน เส้นใย เป็นต้น และยังถือว่ามะขามเทศนั้นเป็นสมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งด้วย เพราะคนโบราณนิยมนำมาใช้รักษาโรคปากนกกระจอกเทศนั่นเอง และยังช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้อีกด้วย
- มะขามเทศ มีวิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องการมองเห็น
- มะขามเทศมีวิตามินซีสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องการบำรุงผิว และเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
- มะขามเทศมีวิตามินอีสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการชะลอวัย
- มะขามเทศมีวิตามินบี1 ซึ่งช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
- มะขามเทศมีวิตามินบี2 ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม
- มะขามเทศมีวิตามินบี 3 (ไนอะซิน) ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอล
- มะขามเทศเป็นผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน
- มะขามเทศมีฟอสฟอรัส ซึ่งมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย
- มะขามเทศมีธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
- สามารถนำมาทำเป็นสมุนไพรพอกหน้าได้อีกด้วย ด้วยการนำใช้ฝักมะขามเทศที่แก่จัดแล้ว นำมาโขลกเอาแต่น้ำมะขามเทศแล้วนำมาผสมกับน้ำมะขาวและไข่ขาว คนให้เข้ากันจนเป็นครีมเหนียวได้ที่ แล้วนำมา พอกหน้า
- มะขามเทศ
- มะขามเทศสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ เช่น แกงส้ม เป็นต้น
- ดอกและใบอ่อนของมะขามเทศ สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้
- มะขามเทศสามารถนำมาใช้ทำยาย้อมผม หรือยาสระผมได้
- ใช้นำมาทำเป็นยาย้อมผ้า แห อวน จากน้ำฝากสีดำของมะขามเทศ
- เนื้อไม้ของต้นมะขามเทศ สามารถนำมาใช้ทำเป็นเขียงที่มีคุณภาพสูงได้ เพราะเนื้อไม้จะค่อนข้างเหนียวทนทาน
- เนื้อไม้ที่นำมาต้มกับน้ำนำมาใช้กับสตรีหลังคลอด
- น้ำที่ต้มแล้วนำมาใช้อาบหรืออบไอน้ำได้
- ในประเทศอินเดียนิยมนำมาเล็ดมาป่นให้ละเอียดแล้วต้มกับผ้าจะทำให้ผ้าแข็ง เหมือนกับการลงแป้ง
- สรรพคุณมะขามเทศในการเป็นยาสมุนไพร ก็คือมีส่วนช่วยในการรักษาโรคโลหิตจาง
- ใช้นำมาปรุงเป็นยาแก้ไอได้
- เนื้อไม้เมื่อนำมาต้มผสมกับหัวหอมใช้โกรกศีรษะเด็กในยามเช้ามืด จะช่วยแก้หวัดจมูกได้
- ช่วยในการขับเสมหะในลำไส้
- ช่วยในการสมานแผลห้ามเลือก ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำเอาน้ำฝาดมาใช้กับบาดแผล
- ช่วยรักษาโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอกเทศ ด้วยการนำเปลือกต้นมะขามเทศ โดยเอาเปลือกชั้นนอกออกเหลือแต่เปลือกชั้นในประมาณ 15 กรัม เกลือป่นอีก 1 ช้อนชา แล้วนำมาต้มกับน้ำกะปริมาณพอท่วมยาเล็กน้อยจนน้ำเดือด รอจนน้ำอุ่นแล้วนำมาอมหลังจากแปรงฟันทุกครั้งจะทำให้แผลในปากค่อยๆบรรเทาทุเลาลงได้
- ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำรวมกับเปลือกข่อยและเกลือแกง แล้วนำมาอมแก้ปวดฟัน
- เปลือกต้นมะขามเทศ ก็ช่วยป้องกันโรคฟันผุได้
- มะขามเทศช่วยในการขับถ่าย และช่วยลดปัญหาของอาการท้องผูกอีกด้วย เพราะมีเส้นใยในปริมาณมาก
- เมล็ดแก่ของมะขามเทศ เมื่อนำมาคั่วแล้วกะเทาะเปลือก (ประมาณ 30 เม็ด) แล้วนำไปแช่น้ำเกลืออ่อน แล้วนำมารับประทานเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนในท้องเด็กได้ด้วย ส่วนเปลือกนอกนั้นก็นำมากินแก้ท้องร่วง และแก้อาเจียนได้อีกเช่นกัน
- ช่วยรักษาโรคบิด
- ประโยชน์มะขามเทศข้อสุดท้ายก็คือการเปลือกของต้นที่นำมาต้มกับน้ำ สามารถนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วงได้
สายพันธุ์
พันธุ์ที่ทางราชการส่งเสริม คือ มะขามเทศฝักใหญ่พันธุ์พระพุทธบาท ปัจจุบันมีพันธุ์เกิดขึ้นใหม่ซึ่งกลายพันธุ์มาจากพันธุ์พระพุทธบาทอีกหลายพันธุ์ จุดเด่นของพันธุ์ดี คือ ใบขนาดใหญ่ ในขณะที่พันธุ์พื้นเมืองใบขนาดเล็ก
การขยายพันธุ์
ตอน. เสียบยอด. เพาะเมล็ดเสริมรากเสียบยอด (ดีที่สุด)
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- ตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
- ตัดแต่งเพื่อไม่ให้แตกใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
- ตัดแต่งกิ่งเพื่อเข้าสู่วงรอบการบำรุงให้ได้ผลผลิตให้ตัดแต่งกิ่งพร้อมกับตัดแต่งราก
- ต้นที่ตัดแต่งกิ่งออกมากๆ (มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ควรเรียกใบอ่อน 2 ชุด ส่วนต้นที่ตัดแต่งกิ่งออกไม่มาก (ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์)เรียกใบอ่อน 1 ชุดก็พอ
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยการออกดอกของมะขามเทศไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ตัดแต่งราก :
- มะขามเทศระยะต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งรากแต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปีระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม.หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
- ต้นที่อายุเกิน 5 ปีขึ้นไปแล้วต้องตัดแต่งรากทุกปีหรือปีเว้นปี ถ้าไม่ตัดแต่งรากเพื่อเรียกรากใหม่ต้นจะไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตไม่ดีด้วย
เทคนิคการปลูกดูแลมะขามเทศ
- ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดอย่างน้อย 50 x 50 x 50 เซนติเมตรตากดินไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ผสมดินปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ประมาณหลุมละ 2-3 กก
- การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งในมะขามเทศต้นเล็กและต้นโต สำหรับมะขามเทศต้นโตควรงดให้น้ำในช่วงก่อนออกดอกเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น ๆ เพื่อให้มะขามเทศพักตัวสะสมอาหารเตรียมความพร้อมที่จะออกดอก และเมื่อมะขามเทศติดดอกออกฝักแล้ว จึงเริ่มให้น้ำตามปกติ แต่ควรระวังในช่วงที่ฝักเริ่มแก่ เพราะถ้าให้น้ำในช่วงนี้มากเกินไปจะทำให้คุณภาพฝักไม่ดี ฝักแตกเร็วขึ้นเมื่อเนื้อไม่แน่นและรสชาติไม่ดี
- การตัดกิ่งกิ่งสูงไปต้องตัดทิ้งเพราะว่ายอดชี้ขึ้นฟ้าถือว่าเก็บผลผลิตไม่ได้ 1 สูงเก็บฝักไม่ได้ 2 ถึงแม้จะออกฝัก ฝักไม่งาม
- การขยายพันธุ์มะขามเทศโดยการตอนกิ่งกิ่งไหนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตอนได้เลย
- หรืออายุต้นอยู่ที่ 1 ปีก็สามารถตอนกิ่งขายยายพันธุ์ได้ การตอนกิ่งนั้นตอนไว้ 7-15 วัน
- พอรากออกแล้วมีสีเหลืองนวลก็ทำการตัดกิ่งชำลงถุงได้เลย
- ปลูกทิ้งไว้ 9 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้เลย
- หลังจากที่ออกดอกแล้วรออีก 1 เดือนโดยการดูแลรดน้ำ อาทิตย์ ละ 1 ครั้ง ในการรดน้ำ แต่ไม่ให้น้ำชุ่มจนเกินไป
- มะขามเทศจะออกดอก ต้นเดือนธันวาคม ช่วง เดือนพฤศจิกายนนั้นรดน้ำให้ปุ๋ย ช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม เก็บผลผลิตได้ โดยเฉลี่ยแล้ว เก็บมะขามเทศได้ต่อวันนั้นได้ 130 กิโลกรัมต่อวัน ได้ระยะเวลา 3 เดือน คือ มกราคม-มีนาคม ได้ประมาณ 80,000 บาท
- ปัญหาที่เจอนั้นเป็นเรื่องของสภาพอากาศ ฝนตก ถ้าฝนตกถูกฝักฝักจะเป็นลายจุด เป็นน้ำอมเนื้อข้างไน และเน่าในที่สุด
- สารไล่แมลง นำใบของมะขามเทศที่ร่วงนำมาสุมกองไว้ที่โคนต้นมะขามเทศ เป็นปุ๋ยให้ได้อีกระดับหนึ่ง
- ใข้น้ำหมักชีวภาพ
สูตรทำน้ำหมักชีวภาพ
- มะละกอ 2 กิโลกรัม
- ฟักทอง 2 กิโลกรัม
- กล้วย 2 กิโลกรัม
- น้ำเปล่า 10 ลิตร
- จุลินทรีย์ 20 ซีซี
หมักในภาชนะ ขนาดมีความจุที่ 100 ลิตรทิ้งไว้ 7 วัน ในที่ร่มไม่โดนแสงแดด ครบ 7 วัน กรองเอาน้ำ 1 ลิตรต่อน้ำสะอาด 200 ลิตร ฉีดพ่นตรงโคนต้น ทุกๆ 7 วัน ใช้ได้ทั้งไล่แมลง เร่งดอกเร่งผล ทำให้ผลมีรสชาติที่หวาน อวบ น่าทานได้ราคา มากกว่าที่สวนอื่นมูลสัตว์หรือที่เราเรียกว่าปุ๋ย ขุดโดยรอบโคนต้น ห่างจากต้นประมาณ ครึ่งเมตร วางก้อนมูลสัตว์โดยรอบกันน้ำที่จะรดไหลออกมา และเมื่อฝนตก หรือเรารดน้ำน้ำก็จะซึมซับเอาปุ๋ยคอกค่อยๆซึมลงไปในรากต้นมะขามเทศ นอกจากได้ความสวยงามแล้วยังได้ประโยชน์อีกด้วย