มะหาด สมุนไพรเพิ่มความขาว

19 มิถุนายน 2557 ไม้ผล 0

มะหาด เป็นต้นไม้ของไทย มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของเรา ซึ่งต้นมะหาดนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่ส่วนของแก่นมะหาด จนถึงผลของมะหาด มะหาดเป็นไม้ยืนต้น ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Lakoocha หรือ Monkey jack มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus lacucha อยู่ในวงศ์ Moraceae มีต้นกำเนิดจากภูมิภาคเอเชียใต้ สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของต้น และเจริญเติบโตได้ในดินทราย,ดินร่วนปนทราย,ดินร่วน แม้กระทั่งดินเหนียว มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก ชอบบริเวณที่มีความชื้นสูงและแสงแดดเข้าถึงได้น้อย

mahadpons

มะหาดเป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Moraceae ต้นกำเนิดจากทวีปเอเชียใต้ นิยมปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์ทุกส่วนของต้น สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทรายดินร่วนปนทรายดินร่วน และ ดินเหนียว มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก ชอบบริเวณที่มีความชื้นสูงและแสงแดดเข้าถึงได้น้อย มักขึ้นกระจายตามป่าดิบทั่วไป

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus lakoocha Roxb.
วงศ์ : Moraceae
ชื่ออื่น : กาแย ขนุนป่า ตาแป ตาแปง มะหาดใบใหญ่ หาดหนุน หาด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น สูง 15-25 เมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวเปลือกนอกค่อนข้างขรุขระสีน้ำตาลดำ หรือสีเทาแกมน้ำตาล บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตก และยางไหลซึมออกมาติดต้น ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปยาวรี ปลายแหลม โคนเว้ามน กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ใบแก่ขอบมักเรียบ หูใบเรียวแหลม ดอก ช่อกลมเล็กๆ สีเขียวอมเหลือง ขนาดเล็ก ออกตามง่ามใบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละช่อ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวเมียกลีบค่อนข้างกลมมน โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกตัวผู้กลีบเป็นรูปขอบขนานปลายกลีบหยัก ยาว 0.5-1 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน ผล เป็นผลรวม กลมแป้นใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร เปลือกนอกผิวขรุขระ เนื้อผลค่อนข้างนุ่ม สีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลเหลือง เมล็ด แต่ละผลมี 1 เมล็ด รูปรี ติดผลเดือนมีนาคม – พฤษภาคม

mahadtonsmahadyod mahaddok mahadking

ดอกของเค้าจะมีสีขาวอมเหลือง ขนาดเล็ก ผลมีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีเหลือง รสชาติอร่อยทีเดียว ออกเปรี้ยวอมหวาน ลักษณะผลมีรูปร่างกลมแป้น ผิวเปลือกนอกขรุขระ ต้นมะหาดที่สามารถนำมาใช้ผลประโยชน์ได้นั้นจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 5 ปี จึงนำมาใช้ทำยา
สรรพคุณทางยาไทย มีดังนี้

  • แก่น – ใช้แก่นมะหาดสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง ช้อนฟองออก กรองกับผ้าขาวบาง พักสะเด็ดน้ำ แล้วนำมาตากให้แห้งหรือย่างกับไฟ นำมาบดจะได้ผงสีเหลืองเรียกว่า ” ปวกหาด ” ใช้ผงประมาณ 3-4 กรัมหรือ 1-2 ช้อนชา ผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้ว สามารถผสมน้ำมะนาวลงไปด้วย รับประทานก่อนอาหารเช้า หลังรับประทานปวกหาดไปแล้ว 2 ชั่วโมง ให้รับประทานดีเกลือตาม เพื่อถ่ายตัวพยาธิออกมา สามารถทานแก้อาการท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อได้หรือนำผงปวกหาด มาละลายกับน้ำ ทาแก้ผื่นคัน
  • ราก – ใช้ลดอาการไข้ แก้กระษัยเส้นเอ็น ขับถ่ายถ่ายพยาธิ แก้พิษร้อน
  • เปลือก – ใช้ลดอาการไข้

ประโยชน์ : เนื้อไม้หยาบ แข็ง เหนียว ทนทานมาก ใช้ในการก่อสร้าง เปลือกทำเชือก ไม้มะหาดที่แห้งนานเกิน 10 ปี ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น โปงลาง

mahadton

ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด

การปลูก
นิยมปลูกโดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด วิธีปลูกจะต้องเพาะต้นก่อน แล้วจึงนำเอามาปลูกในหลุมที่มีปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุม ระยะแรกดูให้น้ำและกำจัดวัชพืชด้วย มะหาดที่เจริญเติบโตดี จะให้ผลเมื่ออายุได้ 5 ปีแล้ว

mahadkla

วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม
ขุดหลุมกว้าง และยาวด้านละ 1 เมตร ตากดินไว้นาน 12 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่สลายตัวดีแล้วรองก้นหลุม แล้วจึงนำต้นกล้าลงปลูกกลบดินให้แน่น

ข้อดีของมะหาด มีดังนี้

  1. สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความขาวเป็นประโยชน์ในการผลิตเครื่องสำอางได้ เช่น ครีมทาหน้าขาว ครีมทาฝ้า ทากระ ลบรอยดำ รวมไปถึงโลชั่นทาผิวขาว เป็นต้น
  2. สามารถนำแก่นมะหาด รับประทานแบบผงผสมกับน้ำอุ่น เพื่อถ่ายตัวพยาธิออกมา สามารถทานแก้อาการท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อได้หรือนำผงปวกหาดมาละลายกับน้ำ ทาแก้ผื่นคัน
  3. สามารถนำรากและเปลือกของมะหาด ใช้ลดอาการไข้ แก้กระษัยเส้นเอ็น แก้พิษร้อน
  4. ยับยั้งการทำงานของเอ็มไซม์ที่ทำให้ผมร่วงและกระตุ้นการงอกของเส้นผมด้วยมีการวิจัยจนได้รับการยอมรับแล้ว ดูได้จาก หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก (ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2552 หน้า 14)
  5. ลดต้นทุนในการนำเข้าสารตั้งต้นเพื่อความขาวมากขึ้น ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
  6. ผู้บริโภคหลายคน มีเงินเหลือในกระเป๋าเนื่องจากสินค้ามะหาดเป็นสมุนไพรไทย ดังนั้นก็จะได้สินค้าคุณภาพ ราคาประหยัด แต่ผลลัพธ์เทียบเท่าแบรนด์ดังๆ
  7. สินค้ามะหาด สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนไทยมากขึ้นรวมถึงวงการเครื่องสำอางค์อย่างเช่นผู้ผลิตด้วย

นับว่ามะหาด มีประโยชน์และข้อดีมากมายสำหรับคนที่มีผิวคล้ำ ดำ ผมร่วงหัวล้านหรือผมงอกเร็วข้อดีที่ว่านี้คงเป็นข่าวที่ดีสำหรับคนที่อยากขาวขึ้นพอสมควร

mahadpol

ข้อเสียของมะหาด มีดังนี้

  1. มีการนำสารสกัดจากมะหาดมารักษาฝ้า เทียบกับการใช้ไฮโดรควิโนน รวมถึงพัฒนาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางค์อื่นอีกมากมาย พบว่าการรักษาฝ้าได้ผลเทียบเท่ากับไฮโดรควิโนน แต่ผลข้างเคียงเยอะและเกิดการแพ้ได้ผลข้างเคียงที่พบจากการใช้ครีมมะหาดในการรักษาฝ้าคือ หน้าแดง เกิดผื่น ระคายเคือง ซึ่งพบเมื่อใช้ที่ความเข้มข้น 5%
  2. ถึงแม้ว่าสารสกัดจากแก่นมะหาด จะสามารถใช้รักษาฝ้าได้เทียบเท่าไฮโดรควิโนน แต่ก็ยังไม่มีการวิจัยเรื่องการทำให้ผิวขาวและผลในระยะยาว
  3. ทดลองใช้ครีมหรือโลชั่นมะหาดเพื่อทำให้ผิวขาว ไม่ควรใช้ที่ความเข้มข้นเกิน 5% เพราะเสี่ยงต่อผลข้างเคียงได้มากถ้าจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะหาด ควรจะเลือกที่ระบุ % ไว้เท่านั้น เพราะมีผลข้างเคียงถ้าใช้ความเข้มข้นเกิน 5%สำหรับผลิตภัณฑ์ชนิดที่เป็นหัวเชื้อ น่าจะมีความเข้มข้นสูงมาก มีไว้สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้โดยตรง
  4. ต้นมะหาดคงต้องโดนตัดตอน นำแก่นมะหาดมาทำสมุนไพรมากขึ้น
  5. ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่ได้รับการรับรองจาก อย. จะมีการระบุ % ของสารไว้เสมอ ถ้าไม่มีการระบุให้สงสัยไว้ก่อนว่าไม่ผ่านการรับรอง

สรุปกันอีกครั้ง แม้มะหาดจะมีสารสำคัญที่ช่วยให้ผิวขาว คือ Oxyresveratrol โดยสาร Oxyresveratrol นี้ จะมีปริมาณต่างกันตามวิธีการสกัด ซึ่งถ้าแหล่งสกัดไม่มีความรู้เพียงพอหรือวัตถุดิบไม่เหมาะสม อาจได้ปริมาณสารสำคัญเพียงน้อยนิดและไม่ให้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการเลือกใช้สารสกัดจากแก่นมะหาดหรือเครื่องสำอางที่ผสมสารสกัดจาก แก่นมะหาดจะต้องเลือกจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถแสดงวิธีการสกัด ความเข้มข้นของสารและใบรับรองความปลอดภัยได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาและมีฉลากที่ถูกต้องเท่านั้น รวมถึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของสารปรอทซึ่งอาจเกิดอันตรายได้

mahadbaimahadpondib

ดังนั้น หากพบผลิตภัณฑ์ชนิดไม่มีการพิมพ์เลขที่จดแจ้งลงบนบรรจุภัณฑ์หรือขวดผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. อย่างแน่นอน อย่าลงเชื่อคำโฆษณา ว่าสินค้ามี อย. หากได้รับรองจาก อย. จริงก็ต้องพิมพ์ฉลากลงบนขวดให้ถูกต้องตามหลัก

ที่มา มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น