มะเขือพวง ช่วยเจริญอาหาร

19 เมษายน 2556 พืชผัก 0

มะเขือพวง มีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่น ๆ คือเป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดใหญ่โตกว่ามะเขือชนิดอื่น ๆ ด้วย เพราะมีทรงพุ่มสูงถึงกว่า 1 เมตร ขึ้นไปถึง 2 เมตรทีเดียว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum torvum Sw.
วงศ์ SOLANACEAE
ชื่ออื่นๆ มะเขือพวง (กลาง) มะแคว้งกุลา (เหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะเขือละคร (โคราช) เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง เขือเทศ (ใต้) และมะแว้งช้าง (สงขลา)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะเขือพวง เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ตามลำต้นและใบ จะมีหนามเล็กๆขึ้นห่างกัน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรี ปลายแหลม ริมใบเว้าเป็นแฉก มีขนนุ่ม ปกคลุมทั้งด้านบนและด้านล่างใบ ดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง เป็นดอกย่อย ออก เป็นกระจุก มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือสีม่วงอ่อน เล็ก เกสรสีเหลือง โคนเชื่อมติดกัน ผลมีลักษณะกลม สีเขียว ผิวเรียบ มีเมล็ดเล็กๆอยู่ด้านใน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็น สีเหลืองส้มหรือส้มแดง ออกรวมกันเป็นกลุ่ม รวมกันหลายๆผลบนช่อเดียวกัน

ราก
มะเขือพวงจะมีระบบรากเป็นระบบรากฝอย (Fibrous root system) ระบบรากฝอย ซึ่งพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวเมื่องอกออกจากเมล็ด มีรากแก้วแต่รากแก้วจะสลายไป ประกอบด้วยรากที่มีขนาดใกล้เคียงกัน จำนวนมาก ซึ่งรากดังกล่าวเจริญและพัฒนามาจากเซลล์ที่อยู่ปลายสุดของลำต้น ดังนั้นจึงอาจถูกเรียกว่า adventitious root ได้ด้วย รากฝอยบริเวณโคนรากมีขนาดใกล้เคียงกับปลายรากและมักจะมี การเจริญขนานไปกับพื้นดิน ซึ่งแตกต่างจากระบบรากแก้วที่มักเจริญลงด้านล่างลึกลงไปในดิน
เพื่อดูดน้ำและแร่ธาตุ ตัวอย่างพืชระบบรากฝอย ได้แก่ หญ้า ข้าวโพด พริก มะเขือต่างๆ มะพร้าว เป็นต้น

ลำต้น
เป็นไม้พุ่มเล็กสูงประมาณ 1- 2 เมตร ลำต้นตั้งตรงมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ลำต้นและใบมีหนามสั้นเล็กๆ ห่างๆ ขึ้นทั่วไปแตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นช่วงอายุแรกปลูก – 6 เดือนจะมีสีเขียว เมื่ออายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเขียว

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรี ปลายใบแหลม ใบมีลักษณะรูปไข่ การเรียงใบเป็นแบบเวียน ขอบใบเป็นหยัก 6-8 หยักโคนใบเบี้ยว ใบกว้างประมาณ 5 – 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 – 25 เซนติเมตร ก้านใบยาว 4 – 8 เซนติเมตร หน้าใบ ผิวใบเรียบมีขนนุ่มเล็กน้อย หลังใบมีขนนุ่มปกคลุมทั่วใบมีหนามเล็กสั้นๆ ตามแนวเส้นใบ เส้นใบเป็นแบบร่างแห

makeurpuangdok

ดอก

ดอกออกเป็นกระจุกหรือเป็นพวงสีขาว ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลางดอกมีเกสรตัวผู้และตัวเมียสีเหลืองติดอยู่กับหลอดของกลีบดอก หรือเป็นดอกสมบูรณ์เพศ

ผล
รูปร่างกลมเล็กเป็นพวงผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่สีเขียวเข้ม เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองหรือส้มแดง ภายในมีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะกลมแบนสีขาวเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล

มะเขือพวงในฐานะผัก
ส่วนของมะเขือพวงที่นำมาใช้เป็นผักก็คือผลอ่อนที่มีสีเขียว หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ นอกจากนี้ยังอาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน
ผลอ่อนดิบ นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงป่าต่าง ๆ (ไก่ เนื้อ นก ปลา) แกงคั่ว (ไก่ ปลาไหล) แกงเขียวหวาน (ไก่ ลูกชิ้นปลา) แกงอ่อม (ปลาดุก) ซุปอีสาน และเครื่องจิ้มต่าง ๆ เช่น น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกหอยแมลงภู่ น้ำพริกไข่เค็ม และปลาร้าทรงเครื่อง เป็นต้น
มะเขือพวงทำให้กลิ่นรสของเครื่องจิ้มต่าง ๆ มีความพิเศษออกไปจากปกติ นับเป็นความริเริ่มที่ชาญฉลาดของแม่ครัวไทยในอดีต ที่ยังคงสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ทำให้เครื่องจิ้มของไทยมีความหลากหลาย สามารถตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง อันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่ทำให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั่นเอง

makeurpuang

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือพวง
มะเขือพวง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 46 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย

  1. เส้นใย 6.1 กรัม
  2. แคลเซียม 158 มิลลิกรัม
  3. ฟอสฟอรัส 110 มิลลิกรัม
  4. เหล็ก 7.1 มิลลิกรัม
  5. วิตามินเอ 554 IU
  6. วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม
  7. วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม
  8. ไนอาซิน 2.6 มิลลิกรัม
  9. วิตามินซี 4 มิลลิกรัม

ผลดิบของมะเขือพวงใช้เป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ และช่วยย่อยอาหาร การกินผลมะเขือพวงดิบเป็นอาหาร (เช่น ในเครื่องจิ้มชนิดต่าง ๆ) ก็คงมีสรรพคุณทางยาด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนรากของมะเขือพวงใช้รักษาโรคฝ่าเท้าแตก หรือโรคตาปลาในด้านการเกษตร มะเขือพวงนับเป็นมะเขือที่เหมาะกับการเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ฯลฯ)เพราะเป็นมะเขือที่ทนทาน แข็งแรง ต้นสูงใหญ่ และอายุยืนหลายปี ไม่ต้องปลูกและดูแลรักษามากเหมือนมะเขือชนิดอื่นการเก็บผลมะเขือพวงใช้แรงงานมาก เพราะผลเล็กอยู่บนต้นขนาดใหญ่ จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ใช้แรงงานเป็นทุนหลัก ดังจะเห็นว่าในหมู่ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ชาวไทยภูเขาต่าง ๆ นิยมปลูกมะเขือพวงไว้ในระบบเกษตรพื้นบ้าน เช่น วนเกษตรหรือไร่หมุนเวียนในเขตป่าภาคเหนือและภาคตะวันตก สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผักสวนครัว เอาไว้บริโภคเองในครอบครัวก็อาจปลูกมะเขือพวงเอาไว้สักต้นก็จะเก็บผลไปประกอบอาหารได้นานหลายปี โดยไม่ต้องปลูกใหม่หรือเอาใจใส่มากเท่าพืชหรือมะเขือชนิดอื่น

makeurpuangs

“มะเขือพวง” มีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนโบราณหลายประการ เช่น ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี แก้ปวด ฟกซ้ำ ปวดกระเพาะ แก้อาการฝีบวมหนอง อาการบวม อักเสบ ขับปัสสาวะ ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้พบว่า

  1. มะเขือพวงมีสารจำพวก “ไฟโตนิวเทียนท์” ที่จะช่วยร่างกาย ในสภาวะขาดสารอาหาร ให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ
  2. มีกลุ่มสาร “ทอร์โวไซด์” ซึ่งช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ และกระตุ้นให้ตับนำโคเลสเตอรอลในเลือดไปใช้ได้มากขึ้น รวมทั้งยับยั้งการดูดซึมกลับของโคเลสเตอรอลในลำไส้ด้วย จึงอาจช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกทางหนึ่ง
  3. ในมะเขือพวงมีสาร “ซาโปนิน” ทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ
  4. มะเขือพวงเป็นพืชที่มีเส้นใยมากที่สุด เมื่อเทียบกับผักพื้นบ้านของไทยทั้งหมด จนได้รับสมญานามเป็น “ราชาแห่งผักพื้นบ้าน ในเรื่องของสารเส้นใย” โดยมีเส้นใยมากกว่ามะเขือยาว 3 เท่า และมากกว่ามะเขือเปราะถึง 65 เท่า เส้นใยในมะเขือพวง มีชื่อเรียกว่า “เพกติน” ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้ สารนี้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นวุ้นไปเคลือบที่ผิวของลำไส้ ทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง จึงเป็นการช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็วเกินไป ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

นอกจากประโยชน์สำหรับมนุษย์แล้ว มะเขือพวงยังเป็นอาหารที่ดีสำหรับนกหลายชนิดอีกด้วย ผลมะเขือพวงสุกมีสีแสดแดงสะดุดตาดึงดูดนกมากิน และนำเมล็ดไปถ่ายไว้ในที่ต่าง ๆ เป็นการขยายพันธุ์มะเขือพวงตามธรรมชาติ เมื่อมะเขือพวงมีขนาดทรงพุ่มสูงใหญ่พอสมควรก็จะมีนกมาทำรังออกลูกเพาะพันธุ์กันบนต้นมะเขือพวงได้อีกด้วย ซึ่งผู้ปลูกจะได้รับความเพลิดเพลินจากการสังเกตศึกษาชีวิตนก พร้อมกับได้บุญกุศลไปด้วย สมกับคำพังเพยที่ว่า “เสียกระสุนนัดเดียว แต่ได้นกหลายตัว” นั่นเอง ผิดกับคำพังเพยนิดเดียวตรงที่ นกหลายตัวจากการปลูกมะเขือพวงนั้นเป็นนกที่มีชีวิตและมีความสุข มิใช่นกที่ถูกยิงตายจากกระสุนนัดเดียวดังเช่นคำพังเพย

การปลูก
เพาะเมล็ดในกระบะหรือในกระถาง เมื่ออายุได้ 1 เดือน จึงย้ายไปปลูก ระยะปลูกระหว่างต้น 2-3 เมตร ระยะระหว่างแถว 3-4 เมตร อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน เก็บเกี่ยวได้นาน 12 เดือน หลังจากเก็บผลแล้วควรมีการตบแต่งกิ่ง พรวนดินและใส่ปุ๋ย จะสามารถยืดอายุในการเก็บเกี่ยวได้นานถึง 2 ปี แมลงที่สำคัญคือเพลี้ยและหนอน อาจจะใช้น้ำผสมผงซักฟอก รดวันเว้นวันเพื่อป้องกันเพลี้ยและหนอน

มะเขือพวงปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดดินที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย pH ประมาณ 5.5-6.8 ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ต้องการแสงแดดเต็มที่ แต่บางครั้งก็ขึ้นได้ดีในที่ร่มรำไร พื้นที่ไม่แห้งไม่แฉะจนเกินไป ปลูกได้ตลอดปี เป็นไม้พุ่มเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร มีหนามสั้น ๆ ตามลำต้น กิ่ง การแตกกิ่งทรงพุ่มกระจายออกทุกทิศ ลักษณะใบ ปลายใบแหลม ริมขอบใบเป็นหยัก กว้าง ตื้น ใบยาวประมาณ 4-5 นิ้ว ใบมีขนสั้นปกคลุม ดอก มีสีขาวออกเป็นพวงตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผล เป็นผลเล็ก ๆ เป็นพวงมีสีเขียวผลแก่จะเป็นสีเหลือง เมล็ดมีขนาดเล็กมีลักษณะกลมแบนมีมากมายในหนึ่งผล

SAMSUNG ELECTRONICS

พันธุ์ที่ใช้ปลูกโดยทั่วไปใช้พันธุ์พื้นเมืองในแต่ละพื่นที่ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์หรือจะขยายพันธุ์โดยการขุดเอาต้นอ่อนที่แตกออกมาจากรากบริเวณโคนต้นแล้วนำมาปลูกขยายพันธุ์ก็ได้ สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

การเตรียมแปลงปลูก
ให้ขุดหรือไถดินให้ลึกประมาณ 15-20 ซม. แล้วตากดินไว้ 5-7 วัน ให้ใส่ปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมักชีวภาพที่เป็นแล้วผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีหรือถ้าจะยกเป็นแปลง ๆ ก็ได้แล้วแต่สะดวก พูดถึงการปลูกมะเขือพวงโดยทั่วไป นิยมเพาะกล้าก่อนแล้วจึงถอนแยกปลูกเป็นหลุม แต่ถ้าจะให้สะดวกเราก็สามารถปลูกแบบหยอดหลุม ๆ ละ 2-3 เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถวประมาณ 2-33 เมตร กลบด้วยหน้าดินบาง ๆ คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งพอประมาณ รดน้ำตามให้ชุ่มเมื่อต้นมะเขือพวงงอกและมีอายุ 25-30 วัน หรือมีความสูงประมาณ 10-15 ซม. ก็สามารถถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกให้เหลือเพียงต้นที่สมบูรณ์เพียงต้นเดียวได้

การดูแลรักษา
ข้อสำคัญ คือ ต้นมะเขือพวงมีทรงพุ่มที่กว้างพอสมควรจึงจำเป็นต้องให้ระยะห่างระหว่างแถวห่างไว้เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและการเก็บผลผลิต ต้นมะเขือพวงเมื่อได้รับแสงแดดสม่ำเสมอเต็มที่ โรคแมลงก็จะรบกวนน้อย โดยส่วนมากแมลงที่มักจะรบกวนก็จะเป็นพวกเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ที่ชอบมาเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงต้นมะเขือพวง เวลาติดดอกออกผลการป้องกันแก้ปัญหาก็ไม่ยาก เพียงแต่เราทำให้บริเวณโคนต้นหรือทรงพุ่มของมะเขือพวงสะอาด ปราศจากวัชพืชขึ้นรกและไม่มีพวกมดไฟ ซึ่งเป็นพาหะพาเพลี้ยมาทำลายต้นมะเขือพวงก็ลดการรบกวนได้แล้ว

ควรให้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ การใส่ปุ๋ยบำรุงการเจริญเติบโตของมะเขือพวง ให้ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่มีส่วนประกอบของขี้เถ้าขาวด้วยจะดีมากเพราะมะเขือพวงต้องการธาตุโปรแตสเซียมมากกว่าธาตุอื่น โดยระยะแรกของการใส่ในอัตรา 100 กก./ไร่ โดยใส่ครั้งแรกช่วงการเตรียมดินเตรียมหลุมปลูก ใส่ 50 กก. และใส่ครั้งที่ 2 ช่วงอายุหลังการถอนแยกแล้ว 45 วัน ของการเจริญเติบโตของมะเขือพวง การใส่ให้โรยข้างลำต้นแล้วจึงพรวนดินกลบ หมั่นดูดแลกำจัดวัชพืชและพรวนดินเพื่อให้เกิดดินร่วนซุย และทางที่ดีควรคลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางแห้ง จะดีมากจะช่วยให้วัชพืชไม่ค่อยมี เกิดน้อย ดินมีความชุ่มชื้นไม่ร้อนจัดการเจริญเติบโตจะดีมาก ถ้าพรวนดินกำจัดวัชพืชบ่อย ๆก็จะทำให้ความกระทบกระเทือนต่อระบบรากของมะเขือพวงจะทำให้เกิดการชงักการเจริญเติบโตได้

makeurpuangnp

การเก็บเกี่ยว
เมื่อผลมะเขือพวงออกและโตเต็มที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปก็สามารถเก็บรับประทานได้ตลอด เพราะมะเขือพวงจะค่อย ๆ ทยอยออกเราก็ทยอยเก็บมารับประทานได้นานเป็นปี ๆ ทีเดียว

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น