มะเดื่อฝรั่ง ผลไม้ต่างถิ่นโภชนาการสูง

11 มิถุนายน 2557 ไม้ผล 0

มะเดื่อ หรือ มะเดื่อฝรั่ง หรือ มะเดื่อญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ Fig, Common Fig (ลูกฟิก) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus carica จัดอยู่ในสกุล Ficus วงศ์ Moraceae เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง พบมากในประเทศตุรกีและกรีก และนอกจากนี้มะเดื่อฝรั่งยังจัดเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศอียิปต์ อิตาลีและกรีซอีกด้วย แต่มะเดื่อที่พูดถึงนี้จะเป็นพืชคนละชนิดกับมะเดื่อไทย หรือ มะเดื่ออุทุมพร (มะเดื่อชุมพร) (Ficus racemosa) ที่เป็นพืชพื้นของประเทศอินเดียและศรีลังกา

ต้นมะเดื่อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นจะเป็นปุ่มแตกกิ่งก้านออก ลำต้นมียางสีขาว ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยวหนาค่อนข้างแข็ง ด้านหนึ่งมีขนอ่อน ส่วนผิวด้านบนจะหยาบ ขอบใบหยักลึก 3-5 หยัก ส่วนผลมะเดื่อจะออกเป็นกระจุก ผลกลมแป้นหรือรูปไข่ มีเปลือกบาง โดยผลอ่อนจะสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ ด้านในมีเนื้อสีแดงเข้ม เมื่อสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม

madearfalangpon

สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเข้ามะเดื่อแห้งจากต่างประเทศ และได้มีการทดลองปลูกครั้งแรกที่ดอยอ่างขางเมื่อ พ.ศ.2524 โดยมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นอกจากนี้มะเดื่อยังเป็นผลไม้ต่างถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอีกด้วย

madearfalangtoom

มะเดื่อฝรั่ง มีคำเรียกหา หรือ ชื่อ ในภาษาต่างๆ ดังนี้
ชื่อวิทยาศาสตร์ ภาษาลาติน Ficus carica วงศ์ Moraceae (วงศ์เดียวกับหม่อน) สกุล Ficus (สกุลเดียวกับโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง)

  • ภาษาอังกฤษ เรียก FIG (เอกพจน์) หรือ FIGs (พหูพจน์) หรือ Common fig
  • ภาษาเยอรมัน เรียก Feige
  • ภาษาอิตาลี เรียก Fico
  • ภาษาสเปน เรียก Higo
  • ภาษาโปรตุเกส เรียก Figo
  • ภาษาเดนิช เรียก Figen
  • ภาษานอร์เวย์ เรียก Fiken
  • ภาษาสวีเดน เรียก Fikon
  • ภาษาฟินแลนด์ เรียก Viikuna
  • ภาษารัสเซีย เรียก Inzbir
  • ภาษาโปแลนด์ เรียก Figa
  • ภาษา Serbo-Croat เรียก Smokva
  • ภาษาโรมาเนีย เรียก Smochina
  • ภาษาบัลแกเรีย เรียก Smokinya
  • ภาษากรีก เรียก Sukon
  • ภาษาตรุกี เรียก Incir
  • ภาษาฮิบรู เรียก Te’ena
  • ภาษาอาราบิก เรียก Tin
  • ภาษาเปอร์เซีย/ฮินดี เรียก Anjir
  • ภาษาอินโดนีเชีย เรียก Ara
  • ภาษาจีน เรียก Wu Hua Guo
  • ภาษาญี่ปุ่น เรียก Ichijiku
  • และในบ้านเราเรียกว่า มะเดื่อฝรั่ง

คุณค่าทางโภชนาการของมะเดื่อฝรั่งแห้ง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 249 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 63.87 กรัมมะเดื่อ
  • น้ำตาล 47.92 กรัม
  • เส้นใย 9.8 กรัม
  • ไขมัน 0.93 กรัม
  • โปรตีน 3.3 กรัม
  • วิตามินบี1 0.085 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี2 0.082 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี3 0.619 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี5 0.434 มิลลิกรัม 9%
  • วิตามินบี6 0.106 มิลลิกรัม 8%
  • วิตามินบี9 9 ไมโครกรัม 2%
  • โคลีน 15.8 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินซี 1.2 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินเค 15.6 ไมโครกรัม 15%
  • ธาตุแคลเซียม 162 มิลลิกรัม 16%
  • ธาตุเหล็ก 2.03 มิลลิกรัม 16%
  • ธาตุแมกนีเซียม 68 มิลลิกรัม 19%
  • ธาตุแมงกานีส 0.51 มิลลิกรัม 24%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 67 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุโพแทสเซียม 680 มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุโซเดียม 10 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุสังกะสี 0.55 มิลลิกรัม 6%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

madearfalangs

มะเดื่อฝรั่งมีคุณค่าทางอาหารสูงสุดจัดอยู่ในสิบอันดับแรกของผลไม้ที่มีในโลก มีประวัติการปลูกมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล(มากกว่า 2000 ปี) มีสารอาหารที่มีคุณประโยชน์กับร่างกายมากมาย ในตำนานยุโรป และ ตะวันออกโบราณได้มีการจารึกไว้ว่า ชาวกรีก ชาวโรมัน และ ชาวอียิป ได้ให้ผลฟิกส์แก่นักรบกินระหว่างอาหารทุกมื้อเพื่อกระตุ้นความแข็งแกร่งของกระดูกและกล้ามเนื้อ เพิ่มทักษะ ปฏิภาณ ไหวพริบ และ กำลังวังชาเมื่ออยู่ในสนามรบ

madearfalangpol madearfalangsoog

ประโยชน์ของมะเดื่อฝรั่ง

  • ช่วยบำรุงร่างกาย และต่อต้านอนุมูลอิสระ
  • มะเดื่อเป็นผลไม้ที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก เพราะมีเส้นใยสูง
  • มะเดื่อเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง มีคอเลสเตอรอลและไขมันน้อยมาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคตับ จึงรับประทานได้
  • ช่วยคงความอ่อนเยาว์ และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย
  • มะเดื่อมีแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างซ่อมแซมและเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ
  • ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • มะเดื่อเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดปริมาณการใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ช่วยทำให้หัวใจทำงานได้อย่างเป็นปกติ และช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • ช่วยปันกันโรคโลหิตจาง เนื่องจากมีธาตุเหล็กและโฟเลตสูง
  • ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
  • ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูพรุน
  • มะเดื่อ สรรพคุณช่วยปรับสมดุลของกรดด่างในร่างกาย
  • มะเดื่อฝรั่ง สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • สรรพคุณของมะเดื่อ ช่วยสมานแผลในช่องปาก
  • มะเดื่อเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยในขับถ่ายและกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้อีกด้วย
  • สรรพคุณมะเดื่อ ใช้เป็นยาระบาย ป้องกันอาการท้องผูก
  • ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ช่วยป้องกันนิ่วในไต และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ช่วยฟอกตับ และม้าม
  • ช่วยบรรเทาอาการของโรคกามโรค
  • เชื่อว่ามีลูกมะเดื่อสามารถช่วยเสริมสร้างพลังทางเพศ
  • ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในหญิงวัยทอง
  • ในประเทศอินเดียนิยมใช้ใบมะเดื่อมารับประทานเป็นอาหาร
  • ประโยชน์มะเดื่อ เปลือกของมะเดื่อสามารถนำมาใช้แทนน้ำตาลได้
  • ประโยชน์ของมะเดื่อ นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผลไม้สดแล้ว ยังสามาถนำมาใช้ทำขนมได้อีกด้วย เช่น พาย แยม อบแห้ง ผลไม้กวน พุดดิ้ง เค้ก ไอศกรีม ใช้ผสมในชาไข่มุก ใส่ขนมแทนลูกเกด ผลแห้งนำไปคั่วแล้วนำมาป่นใช้แทนกาแฟ เป็นต้น

คำแนะนำ : มะเดื่อฝรั่งแห้งจะมีปริมาณน้ำตาลสูงซึ่งอาจทำให้ฟันผุได้ และการรับประทานมะเดื่อในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้ท้องร่วงได้เช่นกัน

madearfalangpa

มะเดื่อฝรั่งสามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้ทั้งการปักชำ การตอนกิ่ง และการต่อยอด ซึ่งมีรายละเอียดและวิธีการทำดังนี้

madearfalangpao

การตอนกิ่งมะเดื่อฝรั่ง

การตอนกิ่งเป็นการขยายพันธุ์ที่น่าจะเหมาะสมกับมะเดื่อฝรั่งมากที่สุด เพราะกิ่งมะเดื่อฝรั่งลอกเปลือกง่ายและออกรากเร็วใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนก็แตกรากแล้ว การเลือกกิ่งควรเลือกกิ่งที่ตั้งตรง กิ่งไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ดูจากลักษณะกิ่งที่มีสีน้ำตาลเข้ม เส้นผ่าน 0.5 นิ้ว กิ่งยาว 50-100 เซนติเมตร วิธีตอนเหมือนตอนกิ่งไม้ทั่งๆไป ควั่นและขูดเนื้อเยื่อให้หมด หุ้มด้วนขุยมะพร้าว มัดตุ้มให้แน่น

อุปกรณ์ที่ใช้ตอนกิ่ง

  1. มีดคมสะอาด หรือใช้มีดขยายพันธุ์พืช
  2. ตุ้มตอน (ขุยมะพร้าวอดใส่ถุงพลาสติก 4 นิ้ว x 6 นิ้ว)
  3. เชือก, ปอฟาง ไว้มัดตุ้ม
  4. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง

วิธีการตอนกิ่ง

  1. เลือกกิ่งที่แก่ที่สมบรูณ์ และกิ่งที่ตั้งตรง
  2. ใช้มีดควั่นลอกเปลือกออก
  3. ขูดเนื้อเยื่อออกให้หมด
  4. นำตุ้มตอนผ่าตามยาวหุ้มบนรอยแผลของกิ่งตอน
  5. มัดตุ้มตอนให้แน่นด้วยเชือกฟาง 2 เปาะ
  6. หลังตอนกิ่งประมาณ 20 วัน รากเริ่มงอกออกมาให้เห็นรากมากพอ จึงตัดกิ่งตอน
  7. กิ่งตอนชำในตู้อบ 10 วัน จะช่วยให้ต้นไม้แข็งแรง รากเดินเร็วขึ้น

** การตอนกิ่งมะเดื่อฝรั่ง ใช้หลักการและวิธีการเดียวกันกับการตอนกิ่งทั่วไป

madearfalangbai

หลังจากตอนกิ่ง 20 วันจะเห็นรากแทงออกมา รอจนให้รากมีมากพอจึงค่อยตัดออกมา ควรมีตู้อบซึ่งสำคัญมาก จะช่วยการรอดตายสูง เข้าตู้อบประมาณ 10 วัน ทำให้รากแข็งแรงเดินเร็วขึ้น ช่วงเข้าตู้อบควรใส่ถุงเข้าให้เรียบร้อยเมื่อออกจากตู้อบควรพักไว้ที่ร่มรำไร 20 วัน สังเกตดูว่ากิ่งชำแข็งแรงก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้
การปักชำกิ่งมะเดื่อฝรั่ง :

การปักชำเป็นวิธีง่ายและสะดวกมาก ทำได้จำนวนมาก แต่การชำมักได้ผลไม่มากนัก ถ้ามีกิ่งชำจำนวนมากก็ไม่ต้องเสียดาย เพราะส่วนมากจะพบปัญหากิ่งชำเน่าก่อน เปอร์เซ็นการอดอาจจะไม่ถึง 50 เปอร์เซ็น การปักชำควรทำในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน เคล็ดลับที่สำคัญอย่าเร่งปุ๋ยต้นแม่พันธุ์จนงามเกินไปเมื่อตัดกิ่งไปปักชำมักจะเหี่ยวแห้ง ดังนั้น จึงควรบำรุงต้นให้สมบูรณ์ก็เพียงพอ

madearfalangton

การคัดเลือกกิ่งที่จะนำมาปักชำควรเลือกกิ่งแก่ ห้ามใช้กิ่งอ่อนโดยเด็ดขาด ดูกิ่งที่ตั้งตรงยอกสมบรูณ์ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ริดก้านใบให้หมดแล้วนำมาตัดเป็นท่อนๆ ยาว 6-10 นิ้ว จุ่มด้วนน้ำยาเร่งรากประมาณ 10 นาที นำไปปักบนกระถาง ภายในตาข่ายพลางแสง วัสดุชำให้แกลบดำผสมทรายหยาบ รดน้ำให้ชุ่ม แต่ไม่ควรรดน้ำบ่อยจนเกินไปทำให้กิ่งเน่าง่าย หลังปักชำ 1 สัปดาห์ ถ้าต้นยังสดอยู่มีแนวโน้มรอดตายทิ้งไว้ 15 วัน ตาใบจะเริ่มแตกรอให้ใบแตกอย่างน้อย 4-5 ใบ เพราะใบช่วงแตกใบรากจะเริ่มแตกตามค่อยย้ายลงในถุงชำ วัสดุชำควรระบายน้ำง่ายไม่อุ้มน้ำเกินไป ควรใช้ดินร่วน, ปุ๋ยหมักและแกลบดิน หรือใช้ดินผสมใช้ปลูกไม้ประดับที่มีใบฉำฉาเป็นส่วนประกอบจะช่วยได้มาก

madearfalangkatang

ขั้นตอนการปักชำกิ่งมะเดื่อฝรั่ง

  1. ใช้กรรไกรริดก้านใบออกให้หมดป้องกันการคลายน้ำ
  2. การตัดกิ่งออกเป็นท่อนๆ ยาว 6-10 นิ้ว ยอดหนึ่งตัดเป็นกิ่งได้ประมาณ 3 ท่อน
  3. ปักชำในวัสดุชำเฉียง 60 องศา กดบริเวณโคลนกิ่งให้แน่น รดน้ำครั้งแรงให้ชุ่ม
  4. หลังปักชำ 1 สัปดาห์จะเริ่มแตกตุ่มตาใบ ทิ้งไว้อีก 15 วัน รอรากแตกออกมา

การต่อยอดมะเดื่อฝรั่ง
การต่อยอดมะเดื่อฝรั่งมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาให้ระบบรากมีความแข็งแรงโดยมีรากแก้ว ใช้ต้นต่อมะเดื่อป่าหรือเพื่อทำมะเดื่อแฟนซี คือมีหลากหลายสายพันธุ์ในต้นเดียวกัน แต่ควรเลือกพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตพอๆกัน เพื่อให้การเจริญเติบโตที่สมดุลย์กันทุกพันธุ์ แต่ไม่ควรจะเสียบพันธุ์มากเกินไป ต้นหนึ่งๆควรมี 2-3 สายพันธุ์

การเปลี่ยนยอดมะเดื่อสามารถเปลี่ยนในแปลงปลูกได้ โดยการปลูกมะเดื่อป่าลงในแปลงปลูกก่อนแล้วค่อยนำยอดเข้าไปเปลี่ยนภายหลังหรืออาจจะเปลี่ยนมะเดื่อฝรั่งจากพันธุ์ที่เราไม่ต้องการแล้ว ในกรณีที่พันธุ์ใหม่ที่มีดีกว่าเดิม ปัจจุบันสายพันธุ์มะเดื่อฝรั่งที่ปลูกในเมืองไทยมีจำนวนมาก
ต้นที่เหมาะสำหรับเปลี่ยนยอดควรเป็นต้นต่อที่เลี้ยงไว้อย่างน้อย 1 ปี มีความแข็งแรง เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่องจากต้นมะเดื่อฝรั่งลอกเปลือกง่ายเหมาะที่สุด ช่วงฤดูที่เหมาะสมควรทำช่วงต้นฤดูฝนถึงปลายฝน สามารถทำได้หลีกเลี่ยงเรื่องฝนชุกมากเกินไป อาจพบปัญหายอดเน่าบ้างก่อนที่แผลจะติด

madearfalangyod

** กรณีการเปลี่ยนแปลงต้นมะเดื่อฝรั่งแฟนซี ควรเตรียมต้นต่อให้มีหลายกิ่ง โดยการตัดยอดต้นต่อก่อนครบ 1 ปี เพื่อให้แตกยอดหลายกิ่ง และคัดเลือกไว้ประมาณ 3-4 กิ่ง เมื่อครบปีไปแล้วจะได้กิ่งนำที่แตกมาใหม่แล้วบำรุงให้ต้นต่อสมบูรณ์ ค่อยนำพันธุ์ที่ต้องการเปลี่ยนยอดและพันธุ์จะได้ทรงพุ่มที่สวย ถ้าเปลี่ยนเพียงพันธุ์เดียวสามารถทำได้ง่ายกว่า เพราะสามารถเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงกิ่งเดียว การเปลี่ยนแปลงมะเดื่อฝรั่งแฟนซีควรเปลี่ยนยอดระดับเดียวกันจึงจะขึ้นพุ่มพร้อมๆ ออกดอกติดผลใกล้เคียงกัน

madearfalangb

การต่อยอดแบบลอกเปลือก (เสียบข้าง)
ควรเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ถ้ากิ่งไม่ตั้งตรงควรทำด้ารบนของกิ่ง โดยใช้มีดกรีดขวางยาว 1 เซนติเมตรและกรีดขนาดเป็น 2 รอย ยาวลงมา 1.5 นิ้ว เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลอกเปลือกออก ระวังอย่าให้รอยแผลซ้ำ ตัดขวางด้านล่างเว้นไว้เป็นลิ้นคอยรับยอดเล็กน้อย ยอดพันธุ์ปาดรูปฉลามด้านหนึ่งยาวอีกด้านหนึ่งสั้น เสียบยอดพันธุ์ดีลงไป ใส่พลาสติกพันจากล่างขึ้นบน พันมิดยอดและพันรัดด้านบนให้แน่น ไม่ให้น้ำซึมเข้าแผลได้

หลังจากต่อยอดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้ายอดยังเขียวอยู่แสดงว่ามีโอกาสติดสูง ปล่อยไว้จึงสังเกตยอดพันธุ์ดีปลิดยอดออกมา แล้วค่อยเปิดแปลด้านบนเพียงเล็กน้อย ช่วยให้ยอดแทงออกมา ถ้าเปิดที่เดียวหมดอาจทำให้ยอดโดนแสงแดดทำลาย ยอดปรับตัวไม่ทันอาจแห้งตายได้

วิธีการต่อยอดแบบเสียบข้าง

  1. เตรียมต้นต่อมะเดื่อป่า บำรุงให้เต็มที่เพื่อรับยอดที่จะเสียบ (กิ่งจะมีสีน้ำตาลเข้ม)
  2. ใช้มีดที่คมสะอาดกรีดและลอกเปลือกอย่าระมัดระวัง อย่าให้ช้ำ แผลคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ควรทำแผลด้านบนของกิ่ง
  3. รอยแผลจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  4. เลือกยอดที่กำลังเจริญเติบโตกิ่งอวบอ้วนสมบูรณ์ ยอดควรยาว 3-4 นิ้ว ริดก้านใบออก
  5. ใช้มีดคมสะอาดปาดรอยแผลให้เรียบ ด้านหนึ่งยาวอีกด้านหนึ่งสั้น
  6. เสียบยอดพันธุ์ลงบนรอยแผลของต้นต่อพันด้วยพลาสติกใส ให้แน่น ปิดมิดยอดป้องกันคายน้ำ
  7. พันพลาสติกให้มิดยอดด้านบนควรรัดพันให้แน่นกันน้ำเข้า
  8. หลังจากต่อยอด 3 เดือน จะได้กิ่งสายพันธุ์ใหม่ขึ้นเป็นพุ่มแทน

madearfalangdok

ที่มา :
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ.การปลูกมะเดื่อฝรั่งเชิงพาณิชย์.วารสารเส้นทางกสิกรรม ฉบับพิเศษ.ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร.พิจิตร.2551.
แหล่งอ้างอิง : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, นิดดา หงษ์วิวัฒน์), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, www.organicfacts.net

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น