มะเดื่อ ไม้มงคลปลูกทิศเหนือ

10 มิถุนายน 2557 ไม้ผล 0

มะเดื่อไทย หรือ มะเดื่อชุมพร หรือ มะเดื่ออุทุมพร ภาษาอังกฤษ Cluster fig, Goolar (Gular) Fig มะเดื่อชุมพรชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus racemosa Linn. แต่บางแห่งใช้ Ficus glomerata Roxb. และมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆอีก เช่น เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ), มะเดื่อน้ำ มะเดื่อหอม หมากเดื่อ เดื่อเลี้ยง (ภาคอีสาน), มะเดื่อ มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อชุมพร เดื่อน้ำ กูแซ (ภาคใต้), มะเดื่อดง เป็นต้น โดยจัดอยู่ในสกุล Ficus วงศ์ Moraceae มีถิ่นกำเนิดครอบคลุมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศจีน ส่วนสาเหตุที่มีชื่อว่า มะเดื่อชุมพร ก็เนื่องมาจากเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดชุมพรนั่นเอง และยังเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานอีกด้วย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

มะเดื่อไทย Ficus spp. ในที่นี้ขอใช้มะเดื่ออุทุมพรเป็นข้อมูล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus racemosa L.
วงศ์ : Moraceae
ชื่ออื่น : เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อ มะเดื่อชุมพร กูแซ เดื่อน้ำ (ภาคใต้) มะเดื่อน้ำ เดื่อเลี้ยง มะเดื่อหอม หมากเดื่อ (ภาคอีสาน) มะเดื่อดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะมะเดื่อชุมพร ต้นมะเดื่อไทย หรือ ต้นมะเดื่อชุมพร เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มกว้าง ใบหนาทึบ ลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลเกลี้ยง ส่วนใบจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามกิ่ง ใบเป็นรูปทรงรี หรือรูปหอก โคนใบมนหรือกลม ปลายใบแหลม ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนไม่หลุดร่วงง่าย ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงในใบประมาณ 6-8 คู่ และก้านยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนดอกมะเดื่อชุมพร จะออกดอกเป็นช่อยาวตามกิ่ง โดยแต่ละช่อก็จะมีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นกลุ่ม ดอกช่อจะเกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล และดอกมีสีขาวอมชมพู ลักษณะของลูกมะเดื่อชุมพร มีลักษณะทรงกลมแป้นหรือรูปไข่ ผลจะเกาะกลุ่มอยู่ตามต้นและตามกิ่ง ห้อยเป็นระย้าสวยงาม โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงม่วง มีรสฝาดอมหวาน สามารถรับประทานได้ ซึ่งดอกและผลนี้จะออกตลอดปี

madearton madearlam madearsoog

การปลูก
มะเดื่อขึ้นในธรรมชาติบริเวณป่าดิบชื้น บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ริมลำธาร หรือปลูกตามบ้านและริมทาง พบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

madearkla

ประโยชน์ของมะเดื่อไทย
มะเดื่อชุมพรใช้เป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้หัว ไข้กาฬ หรือไข้พิษทุกชนิด (ราก)

  • ช่วยกล่อมเสมหะ และโลหิต (ราก)
  • ช่วยแก้อาเจียน (เปลือก)
  • ช่วยแก้อาการร้อนใน (ในคาบสมุทรมลายู) (ราก)
  • ช่วยแก้ธาตุพิการ (เปลือก)
  • สรรพคุณมะเดื่อชุมพร ผลดิบช่วยแก้โรคเบาหวาน (ผลดิบ)
  • เปลือกต้นใช้รับประทานแก้อาการเสีย ท้องร่วง (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) (เปลือกต้น)
  • มะเดื่อชุมพร สรรพคุณช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
  • มะเดื่อไทยสรรพคุณ ผลสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)
  • ช่วยห้ามเลือด และชะล้างบาดแผล (เปลือกต้น)
  • มะเดื่อชุมพร สรรพคุณทางยาใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
  • ช่วยแก้ประดงเม็ดผื่นคัน (เปลือก)
  • ในคาบสมุทรมลายู จะใช้รากต้มกับน้ำปรุงเป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร (ราก)
  • ไม้มะเดื่อจัดเป็นไม้มงคลที่สามารถปลูกไว้ในบ้าน และยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในสมัยอดีตจะใช้ไม้มะเดื่อทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก ใช้ทำเป็นกระบวยตักน้ำเจิมถวาย และใช้ทำหม้อน้ำสำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี
  • ผลสุกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้หลายชนิด เช่น กระรอก นก หนู ฯลฯ แถมยังเป็นการขยายพันธุ์มะเดื่อชุมพรไปด้วยในตัว เพราะเมล็ดของมะเดื่อจะงอกดีมากขึ้นเพราะมีน้ำย่อยในกระเพาะของสัตว์
  • ยางเหนียวใช้ลงพื้นสำหรับปิดทอง
  • เนื้อไม้ของต้นมะเดื่อสามารถใช้ทำเป็นแอกไถ หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟันได้
  • ใบอ่อน ใช้นึ่งกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก
  • ยอดอ่อน ใช้ลวกกินกับน้ำพริก
  • ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
  • หัวใต้ดิน สามารถนำไปนึ่งรับประทานได้
  • ช่อดอก หรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยใช้จิ้มกับผัก หรือใช้ทำแกงอย่างแกงส้มก็ได้เช่นกัน

สรรพคุณทางยา

  • เปลือกต้น รสฝาด แก้ท้องร่วง ชะล้างบาดแผล สมานแผล แก้ประดง ผื่นคันแก้ไข้ท้องเสีย ไข้รากสาดน้อยและแก้ธาตุพิการ
  • ราก รสฝาดเย็น แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้ และแก้ท้องร่วง
  • ผล รสฝาดเย็น แก้ท้องร่วง และสมานแผล
  • ผลสุก เป็นยาระบาย

คติความเชื่อ
มะเดื่อเป็นไม้ดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับความเชื่อและประเพณีของคนไทย มะเดื่อเป็นไม้มงคลที่กำหนดปลูกในทิศเหนือ ได้ มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีรัตนโกสินทร์ว่า มีการนำไม้มะเดื่ออุทุมพรมาทำเป็นพระที่นั่ง กระบวยตักน้ำมันเจิมถวาย และหม้อน้ำที่กษัตริย์ใช้ถวายน้ำทำด้วยไม้อุทุมพร ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ มะเดื่อได้ถูกบันทึกไว้ในตำนานของชาวฮินดูว่าเป็นไม้มงคล และเป็นที่นับถือของคนไทย พม่า มอญ มาแต่โบราณ

madearpol

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน, เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น