มะเฟือง ผลไม้ควบคุมน้ำหนัก

1 มีนาคม 2556 ไม้ผล 0

มะเฟืองเป็นผลไม้ที่รูปทรงผลสวย เมื่อหั่นแนวขวางได้เป็นรูปดาวห้าแฉก ภาษาอังกฤษ จึงเรียกว่า star fruit ผลดิบสีเขียว สุกเป็นสีเหลือง มีทั้งรสหวานและเปรียวแล้วแต่สายพันธุ์ ออกดอกและติดผลตลอดปี เป็นไม้ต้นพื้นเมืองของอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา เป็นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยา คุณค่าทางอาหาร คือ วิตามิน เอ วิตามินบี1 วิตามินบี 2 วิตามิน C ไนอะซีน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันเส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และสังกะสี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola L. ,วงศ์ Oxalidaceae
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Carambola, Star Fruit หรือ Star Apple
ชื่ออื่นๆ มะเฟืองส้ม (สกลนคร) มะเฟืองเปรี้ยว สะบือ เฟือง
ชื่อวงศ์ Oxalidaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-12 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสั้น เรือนยอดแน่นทึบ ลำต้นสีน้ำตาลอมแดง ผิวขรุขระ ใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แต่ละใบมีใบย่อย 3-11 ใบ ใบย่อยออกตรงข้ามกัน หรือเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน แถบใบหอก กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-9 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน ใบอ่อนสีเขียวอมแดง ใบย่อยตรงปลายใบมีขนาดใหญ่ ดอกช่อขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 กลีบ กลีบดอกสีชมพู ถึงม่วงแดง แต่ตอนโคนกลีบสีซีดจางเกือบขาว ปลายกลีบโค้งงอน ออกตามซอกใบที่มีใบติดอยู่ หรือใบร่วงหลุดไปแล้ว หรืออาจจะออกตามลำต้น กลีบเลี้ยงสีม่วงมี 5 กลีบ ปลายแหลม ก้านชูช่อดอกมีสีม่วง ผลสด รูปกลมรี อวบน้ำ มีสันเด่นชัด ลักษณะเป็นกลีบขึ้นเป็นเฟือง 5 เฟือง มองเห็นเป็นสันโดยรอบผล 5 สัน เมื่อผ่าตามขวางจะเป็นรูปดาว 5 แฉก ยาว 7-14 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองอ่อนอมส้ม เป็นมันลื่น เนื้อผลลักษณะชุ่มน้ำ รสหวานอมเปรี้ยวรับประทานได้ เมล็ดแบนสีดำ ยาวเรียวขนาด 0.5 เซนติเมตร มีหลายเมล็ด ผลและยอดอ่อนใช้รับประทานได้ ให้ผลตลอดปี บางชนิดรสหวาน บางชนิดรสเปรี้ยว ผลกินได้ทั้งขณะผลอ่อน และผลสุกแล้ว พบปลูกตามบ้านเรือน เรือกสวนทั่วไปเพื่อรับประทานผล

Exif_JPEG_PICTURE

สายพันธุ์มะเฟือง
ต้นมะเฟืองมีรูปทรงสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ หรือปลูกเป็นไม้เก็บผลก็ดี
ประเทศไทยปลูกมะเฟืองกันหลายสายพันธุ์ ได้แก่

  • มะเฟืองเปรี้ยว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย มีทั้งชนิดผลใหญ่และเล็ก
  • มะเฟืองพันธุ์ไต้หวัน ขนาดผลใหญ่พอประมาณ กลีบผลบาง ขอบบิด มีรสหวาน
  • มะเฟืองพันธุ์กวางตุ้ง มีสีขาวนวล ขอบกลีบผลสีเขียว มีรสหวาน
  • มะเฟืองพันธุ์มาเลเซีย ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำ น้ำหนักมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว

มะเฟืองสามารถกินเป็นผลไม้ก็ได้ ปรุงเป็นกับข้าวก็ดี
การกินมะเฟืองของคนไทยมีหลายรูปแบบ เช่น กินผลมะเฟืองสด ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร (เครื่องเคียงแหนมเนือง) หรือจะแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

mafuangdok

ใบอ่อนของมะเฟืองกินเป็นผักได้
ที่ต่างประเทศนำมะเฟืองมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด พบทั้งเป็นส่วนประกอบในสลัดกุ้งก้ามกราม เป็นเครื่องเคียงอาหารเนื้อสัตว์ (ปลา หมู ไก่) ใช้แทนสับปะรดในอาหารจำพวกผัดผัก และเมนูอาหารอบ ปรุงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ทำแยม ทาร์ตและเค้ก และพบในเครื่องดื่มต่างๆ

สรรพคุณทางยา
ภูมิปัญญาไทยมีการใช้มะเฟืองสืบทอดกันมา ดังนี้

  • ผลมะเฟือง ดับกระหาย แก้ร้อนใน ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้ขจัดรังแค บำรุงเส้นผม ช่วยให้เลือดแข็งตัวง่าย ช่วยระงับความฟุ้งซ่าน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน
  • ใบและราก ปรุงกินเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ใบสดตำใช้พอกตุ่มอีสุกอีใสและกลากเกลื้อน
  • ใบต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน
  • ใบอ่อนและรากมะพร้าว ผสมรวมกันต้มดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่
  • แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เส้นเอ็นอักเสบ

ประโยชน์ต่อสุขภาพ

มะเฟืองมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน

mafuangdoa

สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5 (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน
นอกจากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน มะเฟืองมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก คุมน้ำตาลในเลือด หรือลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกายและป้องกันการเกิดสิว

ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน
งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟืองมีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus

ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis)

เส้นใยอาหารจากมะเฟือง

งานวิจัยจากไต้หวันพบว่าเนื้อผลของมะเฟืองมีปริมาณเส้นใยไม่ละลายน้ำสูง ส่วนใหญ่เป็นเพ็กทินและเฮมิเซลลูโลส เส้นใยเหล่านี้มีค่าทางเคมีและกายภาพ ได้แก่ ค่าการอุ้มน้ำ คุณสมบัติในการบวม การแลกเปลี่ยนสารมีประจุ สูงกว่าค่าที่ได้จากเซลลูโลส ปัจจัยดังกล่าวทำให้เส้นใยมะเฟืองมีความสามารถในการดูดซับกลูโคส และลดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส จึงน่าจะช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้

mafuangpon

งานวิจัยดังกล่าวจึงแนะนำให้ใช้เส้นใยจากผลมะเฟืองเป็นสารพลังงานต่ำที่ทำให้อิ่มเร็ว ใช้กินโดยตรงหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้

จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักให้เลือกกินมะเฟืองผลไม้อุดมค่าชนิดนี้
คนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วก็น่าจะเพิ่มคุณค่าของมะเฟืองเป็นรายการผลไม้ประจำวันได้เพราะมะเฟืองให้ผลตลอดปี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น