มะเม่า ไม้ผลพื้นบ้านหลากสรรพคุณ

3 พฤษภาคม 2557 ไม้ผล 1

พืชในตระกูลมะเม่ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 170 ชนิด และกระจายอยู่ในเขตร้อนของเอเชีย อัฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาอินโดนีเซีย และเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะอยู่เพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้นที่พบได้มากในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ มะเม่าหลวง มะเม่าสร้อย มะเม่าไข่ปลา มะเม่าควาย และมะเม่าดง โดยจะมีความแตกต่างที่สังเกตได้ คือ ขนาดของผล โดยเม่าจะมีมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหลายจังหวัดแต่จะมีมากและเป็นพันธุ์ที่มีขนาดผลใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเรียกกันในท้องถิ่นว่า เม่าหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma ghaesembilla Gaertn.
ชื่อพ้อง Antidesma acidum Retz., Antidesma pubescens Roxb., Antidesma paniculatum Willd., Antidesma vestitum Presl.
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae
ชื่ออื่นๆ ขะเม่าผา เม่าไข่ปลา เม่าทุ่ง มังเม่า เม่าตาควาย เม่าสร้อย มะเม่าข้าวเบา

mamaos

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ กิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล

  • ใบเดี่ยว เรียงสลับ ในระนาบเดียวกัน แผ่นใบกว้างรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง 3.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบและด้านหลังใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสั้นนุ่มถึงเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร มีขนประปรายถึงหนาแน่น หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว 4-6 มิลลิเมตร ร่วงง่าย
  • ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ตามซอกใบใกล้ยอดและปลายกิ่ง ยาว 1-2 เซนติเมตร แยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกมีขนาดเล็กมาก มีดอกย่อยจำนวนมาก สีเขียว ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้มีช่อดอกยาว 4-6 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้ยาว 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ แยกจากกัน รูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลาแหลมถึงมน ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มี 4-6 อัน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขน อับเรณูมี 2 พู ค่อนข้างกลม สีขาว มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน รูปกรวยกลับ มีขนสั้นนุ่ม ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ช่อดอกยาว 2-3 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศเมียยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ แยกจากกัน รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือกลม มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มีออวุล 2 เม็ด
  • ผลเป็นช่อ ช่อผลยาว 4-7 เซนติเมตร ค่อนข้างกลมหรือรี ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร ผิวมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนสีขาว ผลสุกมีสีแดงคล้ำถึงดำ เมล็ดขนาดเล็ก 1-2 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ที่โล่งลุ่มต่ำ ป่าละเมาะ เรือกสวนทั่วไป และป่าพรุ ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม ใบอ่อนและผลดิบใช้ปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว ผลสุกมีรสเปรี้ยวรับประทานได้

mamaoton mamaodok mamaobai mamaopon

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะเม่า ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 75.2 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน 0.63 กรัม
  • เส้นใย 0.79 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัมมะเม่า
  • กรดแอสพาร์ติก 559.43 มิลลิกรัม
  • ทรีโอนีน 227.47 มิลลิกรัม
  • ซีรีน 285.75 มิลลิกรัม
  • กรดกลูตามิก 618,62 มิลลิกรัม
  • โพรลีน 234.94
  • ไกลซีน 250.23 มิลลิกรัม
  • อะลานีน 255.17 มิลลิกรัม
  • วาลีน 57.36 มิลลิกรัม
  • ซีสทีน 274.60 มิลลิกรัม
  • เมทไธโอนีน 22.87 มิลลิกรัม
  • ไอโซลิวซีน 226.78 มิลลิกรัม
  • ลิวซีน 392.53 มิลลิกรัม
  • ไทโรซีน 175.17 มิลลิกรัม
  • ฟีนิลอะลานีน 317.70 มิลลิกรัม
  • ฮีสติดีน 129.43 มิลลิกรัม
  • ไลซีน 389.08 มิลลิกรัม
  • อาร์จินีน 213.33 มิลลิกรัม
  • ทริปโตเฟน 189.00 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี1 4.50 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี2 0.03 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 8.97 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี 0.38 ไมโครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 13.30 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.44 มิลลิกรัม

ข้อมูลจาก : กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานสกลนคร

mamaoloogmamaopons

สรรพคุณของมะเม่า
ตำรายาไทย ใช้ ใบและผล ต้มน้ำอาบแก้อาการซีดเหลือง โลหิตจาง เลือดไหลเวียนไม่ดี เปลือกต้น ฝาดสมาน บำรุงกำลัง ใบ ทาแก้ปวดศีรษะ แก้โรคผิวหนัง ท้องบวม ผล ใช้ทำยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ แก้รังแค แก้ช่องท้องบวม ใช้ผสมกับน้ำอาบแก้อาการไข้ ต้นและราก รสจืด บำรุงไต ขับปัสสาวะแก้มดลูกพิการและตกขาว
ชาวเขาเผ่าแม้ว ใช้ ใบ และผล ต้มน้ำอาบแก้อาการโลหิตจาง ซีด เลือดไหลเวียนไม่ดี

  • ผลมะเม่าสุกจะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก้ชราได้อีกด้วย
  • รสฝาดของผลมะเม่าสุก จะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย
  • รสขมของมะเม่าจะมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลวได้
  • ทั้งห้าส่วนของมะเม่า ใช้ต้มดื่มเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะได้ (ผล,ราก,ต้น,ใบ,ดอก)
  • น้ำมะเม่าสกัดเข้มข้น ใช้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้ดีเหมือนน้ำลูกพรุนสกัดเข้มข้น ทีมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
  • มะเม่ามีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยังมีฤทธิ์ต้านเชื่อ HIV อีกด้วย (กัมมาลและคณะ (2546))
  • ช่วยบำรุงสายตา (ผลสุก)
  • ช่วยแก้กษัย (ต้น,ราก)มะเม่าหลวง
  • ช่วยขับโลหิต (ต้น,ราก)
  • มะเม่า สรรพคุณช่วยฟอกโลหิต (ผลสุก)
  • มีสรรพคุณทางยาช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)
  • ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผลสุก)
  • ช่วยขับปัสสาวะ (ต้น,ราก)
  • ช่วยแก้มดลูกพิการ (ต้น,ราก)
  • ช่วยแก้มดลูกอักเสบช้ำบวม (ต้น,ราก)
  • ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (ต้น,ราก)
  • ช่วยขับน้ำคาวปลา (ต้น,ราก)
  • ช่วยบำรุงไต (ต้น,ราก)
  • ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ (ต้น,ราก)
  • ช่วยแก้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้น,ราก)
  • ใบมะเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบใช้รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้ (ใบ)
  • ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ)
  • หมากเม่า ประโยชน์ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ หรือจะนำมาทำเป็นส้มตำมะเม่าก็ได้เช่นกัน
  • ยอดอ่อนของมะเม่าใช้รับประทานเป็นผักสดได้ (ยอดอ่อน)
  • ประโยชน์ของหมากเม่า สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำผลไม้ หรือนำไปทำเป็นไวน์เกรดคุณภาพสูง เป็นต้น
  • น้ำหมากเม่า หรือน้ำคั้นที่จากผลมะเม่าสุกสามารถนำไปทำสีผสมอาหารได้ โดยจะให้สีม่วงเข้ม แถมยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วยครับ
  • เนื้อไม้ของต้นมะเม่าสามารถนำมาใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้
  • พระสงฆ์ในแถบเทือกเขาภูพานใช้เป็นน้ำปาณะมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
  • ประโยชน์ของมะเม่า อย่างอื่นก็เช่น การปลูกเป็นไม้ปรับ หรือใช้ปลูกเพื่อเป็นร่มไม้ เป็นต้น

ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ก่อนแยกต้นปลูก เจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ ชอบแสงแดด ทนแล้งได้ดี

mamaokla

แหล่งอ้างอิง : กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการงานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรมผ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกองโภชนาการ สถาบันราชมงคลจังหวัดสกลนคร

ที่มา : http://frynn.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2/

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

1 ความคิดเห็น

  1. บันทึก ตุลาคม 30, 2557 ใน 19:39

    คัดลอกบทความมาแล้ว กรุณาให้เครดิตเว็บไซต์ต้นทางด้วยครับ http://bit.ly/1wJ2SC7

แสดงความคิดเห็น