มังคุดที่ปลูกในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นมังคุดพื้นถิ่น ทั้งบนที่ราบและทิวเขา และมักจะมีลักษณะเฉพาะตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศคือเป็นมังคุดมีลาย เปลือกบาง เนื้อแน่นและรสชาติหวาน… เย็น
มังคุดในสวนหม่อนไม้เป็นมังคุดที่อยู่ในสวนสมรมและสวนยางสมรม มีพืชผสมผสานหลากหลายในสวน และผลยังเป็นลายตามลักษณะเฉพาะของมังคุดนครศรีธรรมราช
ดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์ดังต่อไปนี้
- เมื่อหมดจากฤดูกาลออกผลจะทำการพักต้นประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นเริ่มใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพและปุ๋ยคอกที่หมักแล้วรอบทรงพุ่ม ตัดหญ้า และทำการใส่หมักชีวภาพทุก 2-3 เดือน
- เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลร้อน และอากาศสมดุล มังคุดที่สมบูรณ์จะเริ่มออกดอก ก่อนออกดอกจะเริ่มแทงช่อออกมาจากใบยอด จะเริ่มใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพทุก 15 วัน
- เมื่อมังคุดเริ่มออกดอก เมื่อดอกตูมมีขนาดเท่านิ้วก้อย ทำการฉีดใส่หมักชีวภาพ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงและน้ำส้มควันไม้ไปที่ดอกและยอดให้ทั่วทั้งต้นและอีกครั้งเมื่อดอกกลายเป็นผลขนาดนิ้วก้อย อาจฉีดอีกครั้งเมื่อผลมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรหากพบมีเพลี้ยระบาด
- เมื่อผลสุกประมาณ 70% หรือสีผลเริ่มเป็นสีม่วง จึงเริ่มเก็บด้วยไม้สอยหรือปีนต้นเก็บโดยไม่ให้ผลตกถึงพื้นเด็ดขาด (มังคุดสุกเมื่อตกถึงพื้นจากต้น จะทำให้เกิดยางสีเหลืองในผลเนื่องจากผลช้ำ) นำมาคัดขนาดแล้วใส่กล่องจัดส่งให้ถึงมือผู้บริโภคต่อไป
การเลือกมังคุดให้เหมาะกับการกินของเรา
- มังคุดที่เก็บที่ความสุก 70-80% ผลสีม่วงจนถึงสีม่วงเข้ม เก็บไว้จนลูกสีดำได้ประมาณ 7-10 วัน จะได้รสชาติหวานอมเปรี้ยว
- มังคุดที่เก็บที่ความสุก 80-95% ผลสีม่วงเข้มจนถึงสีม่วงดำ จะได้รสชาติหวานสนิท เก็บไว้จนลูกสีดำได้ประมาณ 7 วันเนื้อด้านในจะเริ่มหดลง
- มังคุดที่เก็บที่ความสุก 95-100% ผลสีดำ จะได้รสชาติหวานสนิทและเย็น ซึ่งต้องมารับประทานขณะสอยจากต้นเท่านั้น
หากถามชาวสวนว่า มังคุดแบบไหนอร่อย ชาวสวนมักจะตอบว่า ผลมังคุดที่มีกาก มีลายที่ผลเพราะจะมีรสชาติหวานกว่าปรกติ เนื่องจากแมลงเจาะกินน้ำที่ผิวเปลือกทำให้ผลแห้ง เนื้อของมังคดก็มีน้ำน้อยลงทำให้มีรสหวานขึ้น และเนื้อในก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด
มังคุดเราจึงเป็น มังคุดไว้ลาย จึงมักจะเป็นมังคุดที่เปลือกเป็นลาย เป็นกาก เปลือกไม่หนา เนื้อในฉ่ำแต่ไม่แฉะ ซึ่งมีรสชาติหวานและเย็น
ชาวสวนเกษตรอินทรีย์อยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานมังคดที่อร่อยและปลอดภัย ได้คุณประโยชน์จากผลไม้ธรรมชาติที่แท้จริง